ถือเป็นช่วงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด สำหรับสภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด ทุกสาขาอาชีพในประเทศล้วนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จนหลายๆ คนรู้สึกกลัวว่า ประเทศไทยจะกลับมาเจอวิกฤติเศรษฐกิจอย่างปี 2540

เมื่อมองรอบตัว เราจะเห็นช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจ "อสังหาริมทรัพย์" เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลายบริษัทชั้นนำของประเทศผุดโครงการใหม่ๆ ขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่เมื่อ "เติบโต" ก็ย่อมมีวัน "ถดถอย" ข้อมูลจากศูนย์อสังหาริมทรัพย์พบว่า ช่วงครึ่งแรกปี 2563 ผู้ซื้อมีความสามารถในการจ่ายน้อยลง หรือขอสินเชื่อไม่ผ่านเกณฑ์

ขณะที่ หลายบริษัทเริ่มมาตรการรัดเข็มขัดหลายโครงการที่จะผุดขึ้นในปีนี้ได้เลื่อนเปิดตัวปีหน้า ชะลอการเปิดโครงการใหม่ทั้งอาคารชุดและบ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เหลือจำนวน 126 โครงการ มีปริมาณ 26,301 หน่วย มูลค่ารวม 159,470 ล้านบาท ซึ่งลดลง 23.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2562

นอกจากนั้น บริษัทอสังหาฯ ยังเร่งปล่อยสต๊อกในมือ ด้วยการออกโปรโมชันลด แลก แจก แถม

ทั้ง "ราคาขาย" จากข้อมูลของ "พลัส พร็อพเพอร์ตี้" พบว่าราคาคอนโดมิเนียมปรับลดลง 7-15% จากราคาเปิดขายให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าที่แท้จริง (Real Demand) และค่าโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ในภาพรวมก็ยังลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.2% อยู่ที่ 88,336 หน่วย มูลค่ารวม 270,435 ล้านบาท โดยมีการโอน "ห้องชุด" มากที่สุดคิดเป็น 48% ช่วงนี้จึงถือเป็นโอกาสทองของกลุ่มคนกระเป๋าหนักที่จะสามารถซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ในราคาไม่แพง หรือซื้อเพื่อการลงทุนเก็งกำไรในอนาคต

ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์ส่วนตัวระบุว่า "เบื้องหลังของยอดโอนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของแสนสิริ ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจดี แต่บริษัทอสังหาริมรัพย์อยากได้ 'เงินสด' เพื่อเตรียมรับมือภาวะที่เลวร้ายที่สุด"

...

อย่างไรก็ดี ธุรกิจอสังหาฯ ในปีนี้ยังคงน่าเป็นห่วงและต้องการแรงหนุนจากรัฐ...

: ทำความเข้าใจ "เงินสด" สำคัญกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างไร

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นธุรกิจใหญ่และใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้น การประกอบธุรกิจประเภทนี้จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงวิธีการ "กู้เงิน" มาลงทุนได้ จากนั้นเมื่อขายได้ก็จะนำเงินมาชำระหนี้ แต่...หากเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้น ผู้บริโภคจะลดการใช้จ่าย ยอดขายสินค้าจึงไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้บริษัทต้องแบกภาระดอกเบี้ยเงินกู้

ดังนั้น หากเกิดสภาวะวิกฤติ การที่ธุรกิจมีเงินสดในมือจะมีข้อดี คือ จะทำให้บริษัทนั้นๆ มีเงินใช้จ่ายภายใน เช่น จ่ายเงินเดือนพนักงาน โดยไม่ต้องไป "กู้เงิน" มาใช้ในช่วงระยะสั้น อีกทั้งยังต้องแบกภาระดอกเบี้ยเพิ่มหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก

ในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ เราจึงได้เห็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งทำสงครามราคายอมเฉือนเนื้อตัวเอง เพื่อแย่งส่วนแบ่งผู้ที่มีกำลังซื้อ เปลี่ยน "สต๊อก" เป็น "เงินสด" เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจไม่คาดฝัน

จากข้อมูลงบการเงินของ 10 บริษัทแนวหน้าในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ช่วงครึ่งแรกปี 2563 พบว่า เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทอสังหาฯ แนวหน้า ถือเงินสดรวมกัน 26,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.2% โดยบริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถือเงินสดเพิ่มขึ้นจากเดิมมากที่สุดถึง 249.3% จากเดิมที่มี 414 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 1,447 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่มีเงินสดมากที่สุดคือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 4,776 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.1%

ในจำนวนนี้มีเพียงบริษัทเดียวที่ "ขาดทุน" คือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ขาดทุนสุทธิ 424 ล้านบาท ลดลง 220.6% โดยนายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารชี้แจงว่า "ที่บริษัทขาดทุนเป็นเพราะต้นทุนธุรกิจให้บริการก่อสร้างสูงกว่ารายได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทและบริษัทในเครือให้บริการก่อสร้างไม่มีแผนจะรับงานเพิ่มเติมอีก"

ส่วนบริษัทที่ทำกำไรเพิ่มขึ้นมากที่สุดในสภาวะวิกฤตินี้ คือ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เพิ่มขึ้น 26.5% กำไรสุทธิ 756 ล้านบาท

...

: ปัจจัยหนุนภาคอสังหาริมทรัพย์

เนื่องจากปี 2562 ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีสัญญาณชะลอตัว รัฐจึงออกมาตรการกระตุ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ด้วยการยืดระยะเวลาลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ถึงเดือนธันวาคม ปี 2563 โดยมีข้อกำหนดว่าราคาซื้อขายต้องไม่เกิน 3 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังยืนยันมาตรการ LTV กำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำ ซึ่งที่ผ่านมามีการผ่อนปรน 2 ครั้ง โดยให้กู้ได้ 100% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และกู้เพิ่มได้ 10% สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นในการเข้าอยู่ เช่น ตกแต่งและซ่อมแซมบ้าน ทั้งยังเพิ่มเงินกู้บ้านหลังที่สองเป็น 90%

ในช่วงที่ไทยปิดประเทศ ผู้ประกอบการจึงหันไปพึ่งเทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) มาช่วยกระตุ้นยอดขายออนไลน์เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าต่างชาติกลับมา ด้วยการเปิดเยี่ยมชมห้องตัวอย่างและมีพนักงานขายดูแลอย่างใกล้ชิด นับเป็นการพลิกโฉมหน้าใหม่ของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นการขายแบบออฟไลน์ทั้งหมด

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังส่งผลสะท้อนกลับไปหาอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโดยรวม ถ้าสัญญาณอสังหาริมทรัพย์ซบเซาระยะยาวและไม่เกิดการลงทุนโครงการใหม่ อาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง สถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ มีโอกาสเสี่ยงตกงานสูง บริษัทส่วนใหญ่จะลดการจ้างงานพนักงานใหม่และหักค่าสวัสดิการเพื่อประคองตนเองให้อยู่รอด.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ข่าวอื่นๆ:

...