ในที่สุด "การบินไทย" ก็ได้รับการอนุมัติแผนฟื้นฟู หลังขาดทุนมาตลอด 7 ปี แบกภาระหนี้รวมกว่า 3.3 แสนล้านบาท ขาดสภาพคล่องการเงินจนบริษัทสอบบัญชีขยาด นับจากนี้ต้องเร่งลิสต์เจ้าหนี้ ที่คาดว่าอาจยืดเยื้อนานถึง 7 ปีถึงจะเคลียร์จบ
14 กันยายน 2563 นับเป็นฤกษ์งามยามดีที่ "การบินไทย" รอคอย...
เมื่อศาลล้มละลายกลางอนุมัติคำร้องของ "การบินไทย" ในการขอปรับโครงสร้างองค์กร หรือเรียกง่ายๆ ว่า "แผนฟื้นฟู" ที่เพียงข่าวเล็ดลอดออกมา หุ้นการบินไทย ก็พุ่งขึ้นไปกว่า 10.7% อยู่ที่ 3.74 บาท มากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยหนึ่งในปัญหาที่ "การบินไทย" หยิบยกมากล่าวอ้างในการยื่นแผนฟื้นฟูก็คือ วิกฤติโควิด-19 (COVID-19) ที่เป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดเป็นประวัติศาสตร์รอบ 60 ปี ทำลายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกจนเกือบย่อยยับ แถมยังบีบสายการบินต่างๆ (ทางอ้อม) ให้ต้องยกเลิกเที่ยวบินชั่วคราว ไปจนถึงการ "ปลดพนักงาน" ออกนับหมื่นคน
"ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของแผนได้ ต้องรอศาลพิจารณาก่อน"
...
คำกล่าวจาก นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI) ที่ยืนยันว่า กระบวนการจัดทำแผนฟื้นฟูจะแล้วเสร็จและพร้อมเสนอต่อศาลภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ และหากศาลเห็นชอบก็จะเริ่มกระบวนการฟื้นฟูตามแผนภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564
"หลังจากนี้จะเปิดให้เจ้าหนี้ยื่นขอรับการชำระหนี้ตั้งแต่วันนี้ (14 ก.ย.) เป็นต้นไป เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้การบินไทยรวบรวมเจ้าหนี้ทั้งหมดว่ามีกี่รายและคิดเป็นมูลหนี้มากน้อยเพียงใด แต่ต้องเป็นเจ้าหนี้จริง ไม่ใช่เจ้าหนี้ปลอม หากปลอมถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ส่วนเจ้าหนี้ที่เป็นลูกค้าถือบัตรโดยสาร ไม่ต้องมายื่นเอกสาร การบินไทยจะมีมาตรการดูแลแยกจากเจ้าหนี้ปกติ และยืนยันว่า ไทยสมายล์จะยังมีอยู่ เนื่องจากเป็นบริษัทลูกที่การบินไทยถือหุ้น 100%"
เอาล่ะ!...บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย มาแบบนี้แล้วมีแนวโน้มว่า กระบวนการฟื้นฟูอาจยืดเยื้อและต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี เพราะเอาตามตรงการจะทำแผนจัดการหนี้สินที่เจ้าหนี้มีทั้งธนาคาร ผู้ให้เช่าเครื่องบิน ผู้จัดหาวัตถุดิบ และรายย่อยอื่นๆ ให้พึงพอใจได้นั้น เป็นอะไรที่ยากลำบากมาก เหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขาเลยก็ว่าได้...
โดยจากตอนนี้คาดการณ์ว่า คณะกรรมการจะเริ่มกระบวนการฟื้นฟูได้ในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน ปี 2564 และหากว่ากระบวนการไม่มีอะไรติดขัด "การบินไทย" จะใช้เวลาในการฟื้นฟูราว 5 ปี หรือหากยืดเยื้อหน่อยก็บวกไปอีก 2 ปี รวมๆ ก็อย่างที่บอกว่าประมาณ 7 ปี (ตามบรรทัดข้างบน)
แล้ว "การบินไทย" มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากการบริหารงานที่ไม่ค่อยเข้ารูปเข้ารอยนัก หนึ่งในเหตุผลก็คือ "บนโต๊ะใต้โต๊ะ"
ที่ก่อนหน้านี้เคยเล่าไปบ้างแล้วเล็กน้อยกับข่าว(ลือ)คอร์รัปชันฉาวโฉ่ ที่จนถึงวันนี้ก็ยังมีคนพูดถึงกันอยู่ ทั้งการสั่งซื้อเครื่องบินมาจอดทิ้งไว้ หรือแม้แต่การติดสินบนโรลส์รอยซ์ และล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ที่กระทรวงคมนาคมพบข้อบ่งชี้ความเป็นไปได้ของการคอร์รัปชัน อย่างการกดราคาตั๋วโดยสาร และการจ่ายเงินพิเศษล่วงเวลา หรือ "ค่าโอที" ที่มากเกินความจำเป็นจนไม่คิดว่าจะเป็นไปได้
เอาเป็นว่าย้อนหลังแค่ 3 ปี เห็นตัวเลขขาดทุนก็ปาดเหงื่อแล้ว ไล่เรียงตั้งแต่ปี 2562 ขาดทุนสะสม 1.2 หมื่นล้านบาท, ปี 2561 ขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท และปี 2560 ขาดทุน 2 พันล้านบาท
ส่วนปี 2563 แค่ครึ่งปีแรกก็ขาดทุนไปกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท มากกว่าขาดทุนสุทธิของช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 4 เท่า!! (-6.4 พันล้านบาท) แบ่งเป็น ไตรมาสแรกขาดทุน 2.3 หมื่นล้านบาท และไตรมาส 2 ขาดทุน 5.3 พันล้านบาท ซึ่ง "การบินไทย" ก็อ้างว่าเกิดจากการจำกัดการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
แน่นอนเมื่อขาดทุนมากขนาดนี้ "ภาระหนี้" ที่แบกบินไปบินมาจนปีกแทบหักก็ต้องไม่น้อยไปกว่ากัน
...
โดยจากข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน พบว่า "การบินไทย" สายการบินแห่งชาติที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 7 ปี มี "ภาระหนี้" มีมากถึง 3.3 แสนล้านบาท!!
และจากการแถลงเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็พบว่า "การบินไทย" มีการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้และหุ้นกู้รวมทั้งหมด 8.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 33.1% ของทรัพย์สินทั้งหมด
ซึ่งปัจจุบัน "การบินไทย" ได้สูญเสียสถานะการเป็น "รัฐวิสาหกิจ" ไปแล้ว โดยเมื่อเดือนสิงหาคม กระทรวงการคลังถือครองหุ้นเพียง 48% เท่านั้น จากเดิมที่ถือครองมากกว่า 50% ส่งผลให้ "สหภาพการบินไทย" ต้องสลายไปแบบอัตโนมัติ
ย้อนกลับไปนิดช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา... คงพอจำกันได้กับข่าวบริษัทสอบบัญชี Deloitte Touche Tohmatsu Jaiyos Co. Ltd. ปิดงบประมาณการเงินครึ่งปี 2563 ของ "การบินไทย" ไม่สำเร็จ ด้วยการอ้างความกังวล 3 ข้อ ที่หลักๆ คือ "การบินไทยขาดสภาพคล่องการเงิน" โดยมีเหตุมาจากการดำเนินงานขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2556 และวิกฤติสาธารณสุข ที่จำกัดการดำเนินงานของการบินไทย แม้จะเดินหน้าได้เล็กน้อยจาก "ไทยสมายล์" แต่ก็มีการจำกัดเที่ยวบิน และการจำกัดตัวเลือกการสร้างรายได้ของการบินไทยก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินเช่นกัน
...
หากถามว่า นับจากนี้จะเกิดอะไรกับ "การบินไทย" บ้าง?
แน่นอนว่า การขาดทุนที่ยาวนานกว่า 7 ปี ทำให้เห็นภาพชัดแล้วว่า "การบินไทย" จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานใหม่ แม้ความจริงที่กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ มีแววว่าอุปสงค์การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะยังคงถูกกดดันไปอีกปีหรือ 2 ปี
ที่สำคัญ "การบินไทย" อาจต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่างกับ "กองบิน" ที่มีอยู่ประมาณ 75 ลำ ที่คนมักแซวๆ กันว่า "กองบินการบินไทย" แอบให้อารมณ์เหมือนกับพิพิธภัณฑ์แสดงวัตถุต่างๆ (ฮา)
โดยคอลเลกชันผสมปนเปกันไป ทั้ง Boeing 747-400s, Airbus A330s, Boeing 787-9s และ Airbus A380s ซึ่งลำเก่าที่สุดคือ Boeing 747s
...ซึ่งหากไปดูเอกสารการส่งมอบเครื่องบินของ IATA ก็จะเห็นว่า หลายๆ สายการบินเริ่มมีการปรับลดขนาดกองบินกันบ้างแล้ว ทั้งการเลื่อนการรับมอบออกไป หรือถึงขั้นยกเลิกไปเลยก็มี ด้วยการเดินทางที่ย่นระยะเดินทางมากกว่าเดิม อาจต้องปรับขนาดเล็กลง บางประเภทอาจจะไม่จำเป็นด้วยซ้ำ เพราะมีไปก็มีแต่เสียค่าบำรุง ค่าเชื้อเพลิงเปล่าๆ
...
ดังนั้น "การบินไทย" เองก็ต้องวางแผนปลดระวางเครื่องบินบางประเภทเอาไว้บ้าง อาจจะภายในปี 2567 หรือเร็วกว่านั้น หรืออาจจะช้ากว่านั้น โดยจากการคาดการณ์ภาพรวมกองบิน มีการพุ่งเป้าไปที่ Airbus A380 ว่าอาจเป็นผู้รับเคราะห์ในครั้งนี้.
ข่าวอื่นๆ :
- "การบินไทย" แบกหนี้ปีกหัก เส้นทาง "แผนฟื้นฟู" ในมรสุม "โควิด-19"
- ชะตากรรม "อุตสาหกรรมการบิน" เจ็บหนักทั้งโลก ความสูญเสียที่ไม่จบแค่ปี 2563
- "สี จิ้นผิง" อัปเลเวลสร้างความมั่งคั่ง กลยุทธ์กำเนิด "เศรษฐีหุ้นพันล้าน"
- "หวยล็อก" เลขเด็ดคว่ำเจ้ามือ
- "ต่างด้าว" ทนอยู่ถูกกดขี่ ไหลออกกว่า 3 แสน ธุรกิจป่วนเสี่ยงขาดแคลนแรงงาน