• ปี 2561 ประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" งัดกลยุทธ์เปิด "ตลาดหุ้นเสรี" ดึงยักษ์ใหญ่ไอทีสัญชาติจีนที่ยกโขยงไป "นิวยอร์ก" ย้ายแหล่งทุนกลับบ้านเกิด
  • ผู้คลั่งไคล้ IPO ในดินแดนมังกร เสริมความมั่งคั่ง เพียงสัปดาห์เดียวถือกำเนิด "มหาเศรษฐีหุ้นพันล้าน" หน้าใหม่ถึง 3 ราย
  • บริษัท SMIC มีขนาด IPO ใหญ่ที่สุดบนกระดานหุ้นเทคโนโลยี Star Market ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้

การแตกร้าว ห้ำหั่น ระหว่างมหาอำนาจโลก "จีน" VS "สหรัฐอเมริา" ไม่หยุดอยู่แค่ "สงครามการค้า" แต่กลับลุกลามไปจนถึงโลกเทคโนโลยี แต่งานนี้มีหรือที่ประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" จะยอม งัดกลยุทธ์ "ตลาดทุน" ดึงยักษ์ใหญ่ไอทีกลับแหล่งทุนบ้านเกิด

ที่เรียกได้ว่า...ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม!!

และต้องบอกอีกด้วยว่า... "การสร้างความมั่งคั่ง" หรือ Wealth Creation ของจีน ได้ก้าวมาถึงเลเวลใหม่เรียบร้อยแล้ว

ย้อนกลับไปปี 2561 กระดานหุ้น Star Market ได้ถือกำเนิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ภายใต้แผนการผลักดันเปิดตลาดหุ้นเสรีของประธานาธิบดี "สี" หลังจากที่ตลอดปีที่ผ่านมาทำได้เพียงแค่เฝ้ามองดูบรรดาธุรกิจทั้งหลายยกโขยงไปเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในตลาดซื้อขายต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก มูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 31 ล้านล้านบาท

ง่ายๆ ว่าเป็นกลยุทธ์ "กีดกัน" ที่ใช้สกัดขาไม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสัญชาติจีนยกโขยงไปสร้างความมั่งคั่งในต่างแดน...(นั่นแหละ)

ส่วนประสบความสำเร็จแค่ไหน?...ก็เอาเป็นว่า กระดานหุ้นที่มีอายุ 1 ปีนี้ ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา มากกว่า 130 บริษัท สร้างมูลค่ารวมกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9 แสนล้านบาท! และการเสนอขายวันแรกของ SSE Star Market 50 Index หุ้นแต่ละตัวมีราคาสูงถึง 3 เท่า!

...

นี่นับเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ ที่บริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของจีนตกลงปลงใจเสนอขาย IPO ในประเทศ แทนที่จะพึ่งพาตลาดต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งหากไปดูช่วงวันที่ 13-19 กรกฎาคม 2563 บริษัท Semiconductor Manufacturing International Corp. (SMIC) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 5 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท กลายเป็นหนึ่งในการเสนอขาย IPO ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษของจีน

ส่วนอีกหนึ่งกระด้านหุ้นเทคโนโลยีอย่าง ChiNext ในตลาดหลักทรัพย์เสิ่นเจิ้น ก็มาแรงไม่แพ้กัน ราคาหุ้น 18 บริษัท ปิดตลาดเฉลี่ยเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน เพิ่มขึ้นถึง 212%

แน่นอนว่า กลยุทธ์ดึงยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีกลับแหล่งทุนบ้านเกิดของประธานาธิบดี "สี" ส่วนหนึ่งมาจากความบาดหมาง "จีน" กับ "สหรัฐอเมริกา" ที่เลวร้ายลง เกิดการแข่งขันระหว่าง 2 มหาอำนาจโลกมากขึ้น มีการกีดขวางบริษัทจีนไม่ให้แลกเปลี่ยนซื้อขายกับบริษัทอเมริกัน ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหลักทรัพย์ นับวันๆ มีแต่ตอกลิ่มให้ลึกยิ่งกว่าเดิม

เพราะแบบนี้... "จึน" ถึงต้องการ "ตลาดทุน"

อะไรที่ทำให้ "จีน" หาญกล้าก้าวเข้าสู่ "ตลาด" และรับประกันได้ว่า ตลาดที่ว่านั้นจะช่วยจัดหาเงินทุนให้กับบริษัทที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ในสภาวะที่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 (COVID-19) กัดเซาะเศรษฐกิจและหลายๆ บริษัทต่างเผชิญกับ "ภาระหนี้" ที่กำลังโตเอาๆ

คำตอบนั้นยังไม่แน่ชัด...

แต่จากกลยุทธ์ที่ปลุกปั้นมานานเกือบๆ 2 ปีของประธานาธิบดี "สี" ก็ได้สร้างความมั่งคั่งให้กับ "ท่านประธานบริษัท" ทั้งหลาย จนกลายเป็น "มหาเศรษฐีหุ้นพันล้าน" กันถ้วนหน้า แต่ที่ฮือฮา...เห็นจะเป็น 3 รายหน้าใหม่ล่าสุดที่ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกันภายในสัปดาห์เดียว!

ไปดูความมั่งคั่งของ "มหาเศรษฐีหุ้นพันล้าน" 3 รายหน้าใหม่กันหน่อยไหม?

คิดดูว่า...เพียงแค่ Hu Kun ประธานบริษัท Contec Medical Systems เสนอขาย IPO เท่านั้น เปิดตลาดวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2563 ตราสารทุนก็เพิ่มขึ้นฉับพลันมากกว่า 10 เท่า ทำสถิติดีดขึ้น 986% ในวันถัดมา และนั่นหมายความว่า เกือบตลอดคืนนั้น หุ้นที่ Hu ถือครอง 49% กับหุ้นของพ่อเขา เมื่อรวมกันมีมูลค่าความมั่งคั่งถึง 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท หรือแม้แต่ Wang Guili กรรมการบริษัท ที่ถือครองหุ้น 15% ก็มีโอกาสได้ขึ้นไปแตะสถานะ "มหาเศรษฐีหุ้นพันล้าน" ในช่วงสั้นๆ เช่นกัน ถึงปัจจุบันจะหล่นลงมา มีมูลค่าความมั่งคั่ง 947 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

...

โดยจากรายละเอียดในหนังสือชี้ชวนของบริษัท Contec ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องวัดออกซิเจน อุปกรณ์อัลตราซาวด์ และมอนิเตอร์ทางการแพทย์ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 130 ประเทศ รวมสหรัฐอเมริกา อินเดีย และแคนาดา พบว่า ปี 2562 รายได้เพิ่มขึ้น 6.8% มีมูลค่าถึง 387 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งกว่า 73% มาจากต่างประเทศ

อีกหนึ่งคนอย่าง Steven Yang ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัทอุปกรณ์ชาร์จโทรศัพท์ Anker Innovations Technology Co. ที่การเสนอขาย IPO เมื่อวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2563 ได้เพิ่มความมั่งคั่งให้กับเขา โดย 4 วันถัดมา มีมูลค่าความมั่งคั่งกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

สำหรับ Steven Yang มีความน่าสนใจในตัวตนให้ติดตามสักเล็กน้อย ซึ่งเขาเคยเป็นอดีตพนักงาน Google ก่อนจะลาออก แล้วใช้เงินออมของแม่มาก่อตั้งบริษัท Anker เมื่อปี 2554 จนปี 2560 รายได้ของ Anker เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 56% อยู่ที่ 3.9 พันล้านหยวน หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท มีกำไรเติบโต 9.9% อยู่ที่ 356 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.6 พันล้านบาท ซึ่งเกือบครึ่งของรายได้มาจากสหรัฐอเมริกา

เช่นเดียวกับบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ของจีน บริษัท Anker ของ Steven Yang ก็เดินตามเส้นทางของประธานาธิบดี "สี" ที่ต้องการบรรลุเป้าหมายผู้นำด้านการพัฒนา AI และแล็บพัฒนาระบบการจดจำใบหน้าที่มีจุดประสงค์ด้านความปลอดภัย

...

แต่ความน่าสนใจของ Yang คือ การฉกฉวยโอกาสจาก "ช่องว่าง" ในธุรกิจสมาร์ทโฟน ด้วยการครองตำแหน่ง White-Label ที่อยู่ระหว่างอุปกรณ์ชาร์จราคาแพงของ Apple กับอุปกรณ์ชาร์จคุณภาพต่ำ คือ สินค้าดีพอใช้และราคาใช้ได้ จนเอาชนะใจผู้บริโภค

หรือบอกได้ว่า Yang กำลังสวมบทบาทวางตัวเป็นกลาง

มาต่อที่อีกหนึ่งคน...

ก่อนปิดสัปดาห์วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2563 กับการก้าวขึ้นสู่สถานะ "มหาเศรษฐีหุ้นพันล้าน" ของ Dai Lizhong เจ้าของ Sansure Biotech Inc. ที่หุ้น 37% ของเขา มีมูลค่าถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาท หลังหุ้นดีดขึ้นถึง 156% ช่วงรอบการซื้อขายตอนเช้า

และพอหันมาดูรายชื่อบนกระดานครึ่งปีแรก 2563 แล้วก็พบว่า การเสนอขาย IPO เป็นช่องทางสำคัญในการสร้างความมั่งคั่ง หรือที่เรียกว่า Wealth Creation ในจีนเลยทีเดียว อีกทั้งการแพร่ระบาดครั้งใหญ่โควิด-19 ยังไม่ได้กีดขวางตลาดจากการสร้าง "มหาเศรษฐีหุ้นพันล้านหน้าใหม่" ให้ได้เชยชม แถมใน Exclusive Club ที่มีอย่างน้อย 24 ราย ก็มีทั้งอดีตครู นักบัญชี และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ความมั่งคั่งรวมกัน 70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.19 ล้านล้านบาท (ณ กลางเดือน ก.ค.)

ง่ายๆ ว่า "ตลาดหุ้นจีน" ผลิตมหาเศรษฐีพันล้านหน้าใหม่แทบจะทุกสัปดาห์

หรือเฉลี่ย 2 รายต่อสัปดาห์!!

อย่างช่วงเดือนเมษายน ที่พอ Zhong Shanshan ผู้มีฉายา "หมาป่าเดียวดาย" วัย 65 ปี ก็มีความมั่งคั่งอยู่ที่ 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.3 แสนล้านบาท หลังเสนอขาย IPO ทำให้หุ้นเพิ่มขึ้นกว่า 26 เท่า

...

ถ้าดูความพยายามของจีนในการเปิด "ตลาดทุน" เห็นได้ว่ามีการออกมาตรการที่ทำให้ง่ายต่อการเทรดหุ้น ทั้งมาตรการเร่งเสนอขาย IPO บนกระดานหุ้น Star Market ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ที่หลายบริษัทใช้เวลาเฉลี่ย 288 วันในการเสนอขาย IPO เทียบกับแหล่งอื่นๆ ที่บริษัทจีนเสนอขาย อยู่ที่ 754 วัน

และหากรวมทั้งตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเสิ่นเจิ้นแล้ว นับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงเดือนมิถุนายน กว่า 118 บริษัทที่เสนอขาย IPO ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.3 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของจำนวนรวมครึ่งปีแรกของปี 2562 และตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ยังเบียดตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กและฮ่องกง กลายเป็นแหล่งหุ้นอันดับ 1 ของโลก

แต่ด้วย...ผลตอบแทนขนาดใหญ่พิเศษและอุปสงค์จากนักลงทุนรายย่อยก็ทำให้เกิดความกังวลกันว่า ตลาดอาจเข้าสู่ "ภาวะฟองสบู่" และอาจเกิดถึง 2 รอบในระยะเวลาไม่ถึงทศวรรษ

แผนการในอนาคตที่ประธานาธิบดี "สี" และรัฐบาลจีนวางเอาไว้ในการเพิ่มการเข้าถึง "ตลาดทุนในประเทศ" จะเป็นอย่างไรต่อไป...ต้องติดตาม เพราะอย่างที่บอกว่านี่เป็นเลเวลใหม่ของ "การสร้างความมั่งคั่ง" ของดินแดนมังกร.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan
ข้อมูลอ้างอิง: Bloomberg Billionaires Index
หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยน 31.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ 4.60 บาทต่อหยวน