เมื่อประเทศที่กำลังจะกลายเป็น "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์" (Aged Society) ในปี 2564 กลับมีฝุ่นตลบอบอวล แตกตื่นกันถ้วนหน้า ที่อยู่ดีๆ ก็มีประกาศ "เลื่อน" จ่าย "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" เดือนกันยายนออกไป เพราะงบประมาณไม่พอ...

ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร...ไล่เรียงไปพร้อมๆ กัน

ตามปกติแล้ว "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" จะได้รับพร้อมกับ "เบี้ยความพิการ" ในวันที่ 10 ของทุกเดือน โดยในส่วนของ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" บุคคลที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และจำนวนเงินเป็นแบบขั้นบันได ตั้งแต่ 600-1,000 บาทต่อเดือน

ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมาของปี 2563 "ผู้สูงอายุ" ได้รับ "เบี้ยยังชีพ" มาอย่างต่อเนื่องทุกเดือนไม่ขาด แต่พอมาเดือนกันยายน กลับชะงัก!... กรมบัญชีกลางออกมาประกาศ "เลื่อน" ออกไป โดยไม่สามารถโอน "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ได้ทันภายในวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมาได้

ส่วนเหตุผลก็เพราะ...ติดขัดขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณไป-กลับระหว่างกรมบัญชีกลางและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

หรือพูดง่ายๆ ว่า "งบประมาณของเดือนกันยายน ปี 2563 ไม่เพียงพอ!!"

จะว่าไป...ก็เริ่มส่อแววมาตั้งแต่ "เดือนสิงหาคม" ที่ผ่านมา

ที่กรมบัญชีกลางพบว่า งบประมาณในบัญชีเงินฝากขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางแห่ง "ไม่เพียงพอจ่ายเงิน" ต้องวิ่งวุ่นจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม จนสุดท้ายก็สามารถจ่าย "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ได้ตามกำหนดเดิมวันที่ 10 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 16:00 น. เป็นต้นไป

...

และยืนยันว่า เดือนกันยายนจะยังคงจ่าย "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ตามกำหนดเดิม คือ วันที่ 10 ตามระยะเวลาเดิม

แต่อย่างที่ทราบกัน...เมื่อมาถึงวันที่ 10 กันยายน บัญชีของ "ผู้สูงอายุ" ที่มีสิทธิบางราย กลับเงียบกริบ ไร้เสียงแจ้งเตือนเงินเข้า กลายเป็นเรื่องร้อนบนโซเชียลมีเดีย หวาดระแวง "รัฐบาลถังแตก!" จนอาจทำให้ไม่ได้รับ "เบี้ยยังชีพ" ตลอดไป

ถึงที่สุด กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก็ออกมายืนยันว่าจะเร่งรัดให้จ่ายเงินแล้วเสร็จภายในวันที่ 22 กันยายน เช่นเดียวกับ กรมบัญชีกลางที่ก็ออกมายืนยันว่าจะพยายามดำเนินการจ่ายให้ผู้มีสิทธิอย่างเร่งด่วนภายในเดือนกันยายนนี้

แน่นอนว่า "ผู้สูงอายุ" คงทำได้เพียงแต่ "รอ"

และภายใต้คำว่า "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ก็มีอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ การก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงวัย"

ที่ปัจจุบัน มี "ผู้สูงอายุ" (60 ปีขึ้นไป) มากถึง 12 ล้านคน และคาดว่า ในปี 2578 จะเพิ่มขึ้นถึง 22.8% ไม่เพียงเท่านั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ยังประมาณการว่า อัตราการพึ่งพา "ผู้สูงอายุ" ของไทยจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ในปี 2593

ซึ่งการที่ "ไทย" ก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" นั่นหมายความว่าจะเกิดการถดถอยของ "ประชากรวัยแรงงาน" อย่าง "ไทย" เองก็เป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังจะตกอยู่ในสภาวะการขาดแคลนเด็กเกิดใหม่ หรือที่เรียกว่า "Baby Bust"

ก่อนหน้านี้ สหประชาชาติ หรือ "ยูเอ็น" (UN) ได้มีการประเมินตัวเลข "ผู้สูงอายุ" ของ "ไทย" และประมาณการว่า ในปี 2573 ประชากรไทยมากกว่า 1 ใน 4 จะมีอายุมากกว่า 60 ปี โดย IMF มองว่า การหดตัวของกำลังแรงงานในไทยจะเป็นตัวขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ทุกประเทศบนโลกมี "อัตราการเกิด" ลดลง อีกทั้งยังเกิดการเปลี่ยนแปลงการย้ายถิ่นฐานของประชากร "ผู้หญิง" เข้าถึงการศึกษาและการคุมกำเนิดมากขึ้น และด้วยสภาพแวดล้อม ทำให้หลายๆ ครอบครัวมองว่า การมี "ลูก" น้อยๆ เป็นเรื่องดี อีกทั้งในแง่การเลี้ยงดู พวกเขาก็มองว่า หากไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะสามารถให้ชีวิตที่ดีแก่ "ลูก" ได้ก็ไม่อยากมีมากมาย ...แต่ "ผลลัพท์ทางเศรษฐกิจ" กลับเป็นอีกอย่าง เมื่อมีผู้บริโภคและแรงงานน้อยลง ก็ทำให้มีผู้จ่ายภาษีน้อยลงด้วย

...

ตลอด 2 ทศวรรษ "อัตราการเจริญพันธุ์" ของไทยลดลงจาก 6.6 เป็น 2.2

และปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 ต่ำกว่าจีนที่อยู่ 1.7 เรียกว่า เกือบจะต่ำที่สุดในบรรดาประเทศอื่นๆ ในโลก

ฉะนั้น การเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" จึงเป็นเรื่องที่หนักหนามากๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมแบบนี้ และยิ่งหนักเข้าไปอีกหากว่ามี "ฐานะยากจน"

อย่างที่บอกตอนต้นว่า "ไทย" กำลังจะกลายเป็น "สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์" ในปี 2564 ซึ่งหากสถานการณ์ทาง "การคลัง" ยังเป็นแบบโปะซ้ายโปะขวาแบบนี้อยู่...ก็ดูแล้วน่าหวาดหวั่นใจเหลือเกิน.