• ทำความรู้จักผู้หญิงเก่งและแกร่งใน "วงการแพทย์" ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารและตับ มากว่า 10 ปี
• 11 ปี แห่งความมุ่งมั่น เรียน "แพทย์" สาขาโรคคนไทยป่วยมาก แต่หมอขาดแคลน
• หลักจริยธรรมทางการแพทย์ เมื่อจำเป็นต้องบอกข่าวร้ายคนไข้
สัปดาห์นี้ “มาดามริชชี่” พาไปรู้จักผู้หญิงเก่งและแกร่งใน "วงการแพทย์" ซึ่งเชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารและตับ มากว่า 10 ปี ซึ่งกว่า พญ.กัลยาณี พรโกเมรกุล หรือ หมอกัล จะได้เป็น “แพทย์เฉพาะทาง” ถูกยอมรับ มีคนให้เกียรติ และคาดหวังสูงกับผลการรักษานั้น ต้องมุมานะกว่า 11 ปี
แรงบันดาลใจที่หมอกัลมุ่งมั่นอยากเป็นแพทย์ เริ่มขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก หลังป่วยและเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ ได้รับการรักษาจากคุณหมอจนหาย รู้สึกดีและอยากเป็นหมอช่วยรักษาคนอื่น จึงมุ่งมั่นเรียน “แพทยศาสตรบัณฑิต” มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หลักสูตรการเรียน 6 ปี จนจบใน พ.ศ.2546
...
: 11 ปี มุ่งมั่นเรียน "แพทย์" เลือกสาขา โรคคนป่วยมาก :
หลังเรียนจบแพทย์ปฏิบัติหน้าที่ใช้ทุนคืนครบ 3 ปี หมอกัลเลือกเรียนต่อ “เฉพาะทาง” อายุรกรรม อีก 3 ปี เป็นการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มผู้ใหญ่ในโรคอายุรกรรมต่างๆ จากนั้นเลือกเรียนเฉพาะทางลึก “ทางเดินอาหารและตับ” อีก 2 ปี จนจบในปี พ.ศ.2556 ด้วยเห็นความสำคัญในกลุ่มโรคทางเดินอาหารและตับ ไม่ว่าจะเป็นโรคกระเพาะ โรคลำไส้ โรคตับ และมะเร็งในช่องท้อง เป็นกลุ่มโรคที่คนไข้ค่อนข้างมีปัญหาเยอะ จึงอยากดูแลและช่วยเหลือคนไข้กลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด อีกทั้งสาขา “ทางเดินอาหารและตับ” หมอไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นเรื่อยๆ
“รุ่นหมอ สมัยนั้นทั้งประเทศมีคนเรียนทางเดินอาหารและตับ 24 คน น้อยมากเมื่อเทียบกับจบแล้วไปรักษาคนทั้งประเทศ เข้าใจว่าที่จำกัดด้วยสถานที่เทรนนิ่ง เพราะ รพ.ที่จะเทรนได้ต้องเป็น รพ. โรงเรียนแพทย์ เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทำให้ระบบการเรียนการสอนรับได้ไม่เยอะมาก”
: แพทย์ทางเดินอาหารและตับ เรียนหนักทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ :
2 ปีในการเรียนแพทย์เฉพาะทาง “ทางเดินอาหารและตับ” หมอกัลเรียนหนักทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ โดยทางเดินอาหารเรียนเกี่ยวกับกระเพาะ ลำไส้ และส่องกล้อง เพื่อวินิจฉัยข้อสรุปชัดเจน นำไปสู่กระบวนการรักษาต่อไป ในกรณีรักษาด้วยยาไม่ดีขึ้น เพราะคนกลัวเป็น “มะเร็ง” ส่วนตับ เรียนทั้งเรื่องการวินิจฉัย ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และรักษาคนไข้ในกรณีเจอก้อนที่ตับ และเป็นมะเร็งตับ
“การเรียนแพทย์เฉพาะทาง มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ต้องให้ความสำคัญทุกส่วน ทั้งการรักษา และตัวโรค ต้องรู้ให้ลึกซึ้ง และต้องพยายามอัปเดตความรู้ตัวเองอยู่สม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์สูงสุดกับคนไข้ เพราะวิทยาการเปลี่ยนไปทุกวัน” หมอกัลอธิบายถึงความสำคัญของหมอเฉพาะทาง
: สุขหัวใจ คนไข้ส่งต่อความรู้หมอ สู่คนรอบข้าง :
11 ปีที่เรียน “แพทย์” ต้องเหนื่อยเพราะเรียนหนัก และเมื่อได้เป็นแพทย์เฉพาะทาง ในแต่ละวันต้องพบผู้ป่วยหลากหลายอารมณ์จนเครียด หรือมีปัญหาและอุปสรรคระหว่างทำงาน อาทิ คนไข้มีปัญหาตับจากการดื่มเหล้า ไม่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ หลังรักษาให้ดีขึ้นกลับไปกินเหล้าจนอาเจียนเป็นเลือด แต่หมอกัลก็มุ่งมั่นรักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์ต่อไปตามเจตนารมณ์ และพลังใจจากคนไข้ก็เป็นสิ่งสำคัญ
...
“ทำงานแบบนี้เครียด เหนื่อยอยู่แล้ว แต่พอได้พักก็ดีขึ้น เวลารักษาคนไข้ดีขึ้น หายป่วย รู้สึกมีความสุข อิ่มเอมใจ เคยรักษาคุณป้าท่านหนึ่ง ตัวเหลือง มีภาวะตับอักเสบรุนแรง เฉียดตับวาย ก็ดูแลรักษาทันท่วงที ได้กลับไปอยู่กับลูกหลาน มีคุณภาพชีวิตดี ไม่เป็นโรคอันตรายเรื้อรัง ตอนนี้คุณป้าก็ส่งต่อความรู้เตือนคนในครอบครัว คนรู้จัก ญาติๆ ให้ระวังเรื่องกินยา กินอาหารเสริม”
: หลักจริยธรรมทางการแพทย์ เมื่อจำต้องบอกข่าวร้ายคนไข้ :
การทำงานของ “แพทย์เฉพาะทาง” นอกจากต้องเจอเคสคนไข้ เจอการตัดสินใจเฉพาะหน้าภายใต้สภาวะต่างๆ ที่ไม่เพียงรักษาคนไข้ตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เรียนมาเท่านั้น หมอกัลบอก ต้องนำหลักจริยธรรมทางการแพทย์มาใช้ร่วมด้วย เพราะคนไข้ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะตัวโรคเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น สังคม เศรษฐกิจ ฐานะ ญาติ
รักษาอาการป่วยทางกายแล้ว ต้องประมวลรักษาทางจิตใจด้วย เนื่องจากคนป่วยมักมีโรคทางใจ หวาดกลัว วิตกกังวล กรณีต้องบอกข่าวร้าย หรือ Bad News กับคนไข้ว่าเป็นมะเร็ง ต้องวางแผนว่า คนไข้อยู่ในสถานะมีสติ มีกำลังพอที่จะสามารถรับข่าวร้ายหรือไม่ หากคนไข้อายุเยอะให้แจ้งข้อมูลพื้นฐานกับญาติมาประชุมร่วมกันในการวางแผนการรักษา กรณีคนไข้อายุไม่มาก ให้อธิบายถึงโรคว่าอยู่ในขั้นไหน ต้องรักษาตามขั้นตอนวิธีใด
...
“การบอกข่าวร้ายต้องบอกทีละสเต็ป หมอต้องเป็นทั้งผู้ให้ ผู้รับฟังที่ดี ให้คนไข้ไว้ใจว่าช่วยเหลือเขาได้ ถ้าคนไข้รับฟังก็จะเชื่อมั่น เชื่อใจ ทำตามที่หมอบอก”
: ตรวจอุจจาระทุกปี สกัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ เจอเร็ว รักษาหายขาดได้ :
จากประสบการณ์ “แพทย์เฉพาะทาง” ที่ให้การรักษาผู้ป่วยทางเดินอาหารและตับ มากว่า 10 ปี “หมอกัล” เล่าถึงปัญหาสุขภาพคนไทยซึ่งพบบ่อยในลำดับต้นๆ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีคือ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” โดยเพศชายพบมากเป็นอันดับ 3 และในเพศหญิงพบเป็นอันดับ 5
อายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไปให้เฝ้าระวังมะเร็งลำไส้ หรือหากคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ความอ้วน ชอบกินของหมักดอง ของมัน ปิ้งย่าง อาหารย่อยยาก ของแปรรูป ต้องเฝ้าระวัง อาการสัญญาณมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเกี่ยวข้องกับระบบขับถ่าย เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรืออุจจาระมีเลือดปน
...
มะเร็งลำไส้ใหญ่ หากตรวจเจอพบเร็ว วินิจฉัยได้เร็ว สามารถรักษาหายขาดได้ และมีอายุยืนยาวมากกว่า 5 ปีเกินกว่า 95% ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแรกทำได้ โดยส่องกล้องทางทวารหนักทุกๆ 3-5 ปี ส่องกล้องลำไส้ฝั่งซ้าย (Flexible Sigmoidoscopy) ทุก 5 ปี, ตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ตลอดแนว ทุก 5-10 ปี หรือ ตรวจหาเลือดในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test) ทุกปี
“การตรวจหาเลือดในอุจจาระไม่ใช่เรื่องยาก ราคาไม่แพง ช่วยคนไข้ได้เยอะ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติพยายามเชิงรุกไปตรวจตามหมู่บ้านเพื่อคัดกรอง ถ้าอุจจาระมีเลือดปนก็ส่งไปรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามจังหวัด เมืองไทยทำมาตลอด แต่ด้วยระบบต่างๆ ยังเข้าถึงได้ไม่เต็มที่ จริงๆ เป็นการตรวจที่ดี ไม่ได้ลงทุนเยอะ และช่วยคนไข้ได้เยอะ”
: หลักการใช้ชีวิต ห่างไกลโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ :
ด้วยความห่วงใยสุขภาพของคนไทย หมอกัลแนะให้ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานความไม่ประมาท จะสามารถป้องกันโรคต่างๆ ได้ โดยเริ่มตั้งแต่เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีคุณภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นปัจจัยกระตุ้นสารก่อมะเร็ง ออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งโดยเฉลี่ยออกกำลังกาย 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดในสมองกับหัวใจ พักผ่อน 6-8 ชั่วโมง ไม่เครียด และหมั่นตรวจเช็กสุขภาพทุกปี
สำหรับสุขภาพของ “แพทย์” ที่ต้องดูแลรักษาคนไข้ การเตรียมร่างกายให้พร้อมและแข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญ หมอกัลให้ความสำคัญกับอาหารมื้อเช้า และกินครบ 5 หมู่ ปรุงให้น้อยเพื่อความปลอดภัย ออกกำลังกาย 45 นาทีต่อครั้ง
“โรคทางเดินอาหารและตับเป็นกลุ่มโรคใหญ่ เป็นปัญหาใหญ่ของคน คนมาเรียนด้านนี้ ต้องใจรัก พอมีความรักก็จะไม่ยาก และต้องทุ่มเท งานเยอะเพราะเป็นคนไข้กลุ่มใหญ่ แต่อวัยวะต่างๆ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แค่ชอบในสิ่งที่รัก รักจะทำ รักที่จะเรียนสิ่งไหน ถ้ามีความสุข ต่อให้เหนื่อยหนักขนาดไหนก็จะผ่านไปได้ และทำได้ด้วยความสุข”
จะเห็นได้ว่ากว่า "พญ.กัลยาณี พรโกเมรกุล" แพทย์ศูนย์อายุรกรรม ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ รพ.ยันฮี จะมาเป็น “แพทย์เฉพาะทาง” ดูแลรักษาคนป่วยโรคทางเดินอาหารและตับได้นั้น ต้องทุ่มเททั้งกายและใจ อีกทั้งแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ยังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นคนไทยควรหันมาดูแลสุขภาพตัวเองตามที่คุณหมอแนะนำกันเถิด เพื่อห่างไกลโรคร้ายต่างๆ.
ผู้เขียน : มาดามริชชี่
กราฟิก : Supassara Traiyansuwan