MONDAY SHARES วันนี้ เป็นเรื่องราวดีๆ ที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง ของ ดร.นันทนา ทัพทะมาตย์ หรือ นัน ที่แม้จะเกิดมา “ยากจน” แต่ต่อสู้ชีวิตจนประสบความสำเร็จ ได้ทุนไปศึกษาต่อ สหรัฐฯ และจบปริญญาโทด้วยเกรด 4.00 อีกทั้งได้ทุนเอนเดเวอร์จากรัฐบาลออสเตรเลีย จนเรียนจบปริญญาเอก University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย
ดร.นันทนา ย้อนเล่าเรื่องราวชีวิตในตอนเด็กว่า เป็นคน จ.หนองบัวลำภู เกิดมาในครอบครัวฐานะยากจน พ่อแม่มีอาชีพทำนาและรับจ้างทั่วไป ด้วยฐานะยากจนจึงต้องช่วยพ่อแม่หาเงินตั้งแต่เรียนประถมฯ ทุกวันหลังเลิกเรียนเธอต้องช่วยงานบ้าน ช่วยแม่ทำกับข้าว และมัดผักช่วยแม่จนดึกเพื่อนำไปขายในตลาดที่อยู่ห่างจากบ้านเกือบ 10 กิโลฯ ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์ต้องรับจ้างทุกอย่างเพื่อช่วยพ่อแม่หาเงิน
ฐานะยากจน น้อยใจในโชคชะตา แต่ไม่หยุดฝัน
ตอนเป็นเด็กเธอใฝ่ฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพราะอยากค้นพบ หรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ และชอบภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิม เพราะอยากเก่ง อยากสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ เวลาไปรับจ้างเก็บผัก เก็บพริกตามท้องนา หรือเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ในวันเสาร์ อาทิตย์ เธอเรียนรู้ฝึกหัดภาษาอังกฤษด้วยการฟังสถานีวิทยุ กศน. ที่สอนวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ ส่วนตอนเย็นฟังสถานี Voice of America ภาคภาษาลาว
...
เธอไม่เคยได้เรียนพิเศษเพราะไม่มีเงิน เวลาที่ได้ใส่ใจการเรียนจริงๆ สำหรับเธอคือในห้องเรียน ซึ่งเธอรู้สึกไม่มั่นใจในทักษะการพูดภาษาอังกฤษเลย แต่ก็ยอมรับจุดด้อย และพยายามเอาชนะความอาย โดยพยายามคุยกับเพื่อนต่างชาติ พยายามออกจาก comfort zone ตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
เธอยอมรับกับบางครั้งรู้สึกน้อยใจในโชคชะตาตามประสาเด็ก และรู้สึกอายที่ต้องทำงานหนักและมีฐานะยากจน แต่เธอก็ไม่เคยคิดท้อแท้ ยอมรับในโชคชะตาและสู้ชีวิตต่อไป กระทั่งวันหนึ่งเกิดจุดพลิกผันในชีวิต ขณะรับจ้างถางหญ้าในสถานีอนามัยพร้อมพ่อกับแม คุณครูที่สอนมาสถานีอนามัย เธอรู้สึกอายจึงวิ่งไปแอบ จังหวะนั้นเธอเหลือบเห็นสายตาเศร้าละห้อยของพ่อแม่ที่มองมายังเธอเพราะรู้สึกสงสารลูกตัวเอง เธอจึงเปลี่ยนความคิดเลิกแคร์ความรู้สึกตัวเอง เลิกอาย และบอกตัวเอง "ชีวิตต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ให้ได้"
ชีวิตลิขิตเอง สอบชิงทุนเรียนฮาวายได้ ทั้งที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ
จากนั้นเธอลิขิตชีวิตตัวเอง โดยขณะเรียนมัธยมฯ โรงเรียนประจำอำเภอ เธอสอบชิงทุนรัฐบาลไทยไปเรียนที่ราชภัฏอุดรธานี วิทยาศาสตร์เคมี กับ ป. บัณฑิตวิชาครู เป็นเวลา 5 ปี พอจบ ไปรับราชการครูสอนเคมีตามสัญญาทุน สควค. (โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์) ที่จังหวัดสกลนครประมาณ 5 ปี จึงสอบชิงทุน Ford Foundation's International Fellowships Program (IFP) ของมูลนิธิ Ford Foundation ได้ด้วยคะแนนสอบโทเฟลสูงถึง 623 เป็นทุนเต็มจำนวนให้เปล่า ไปเรียนที่ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา 2 ปี พร้อมเพื่อนคนไทย รวมทั้งหมด 4 คน
กว่าจะได้ไปเรียนที่ฮาวาย เธอต้องไปติวเข้มภาษากับอาจารย์จากอเมริกาและจากอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งการสอบชิงทุนได้ครั้งนี้ นอกจากตัวเธอเองที่มุ่งมั่นแล้ว ยังมีเพื่อนๆ IFP รุ่น 6 ช่วยเหลือแบ่งปันแหล่งเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น ไฟล์เสียง วิดีโอหนังภาษาอังกฤษ เพื่อฝึกทักษะการฟัง ช่วยกันติวสอบ TOEFL (TOEFL : Test of English as a Foreign Language หรือการสอบสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่)
"5 เดือนทำข้อสอบเยอะมากจริงๆ ดูหนังเรื่องเดิมซ้ำๆ กลับไปกลับมา ฟังไฟล์เสียงตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับ หูฟังนี่ใส่ไว้ตลอด ให้คุ้นภาษา คุ้นสำเนียงภาษาอังกฤษ เพื่อจะสอบ TOEFL ให้ได้อย่างน้อย 550 คะแนน โชคดีหน่อยสอบได้ 623 คะแนน ไม่ใช่เก่งภาษาขั้นเทพนะ แต่ข้อสอบ TOEFL จะถามไม่กี่เรื่องของอเมริกา เช่น วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ศิลปะ”
...
เปิดชีวิตนักเรียนหอ ทุนเรียนฮาวาย
ตลอดสองปีที่เรียนอยู่ฮาวาย เธออาศัยในหอพัก 12 ชั้น ที่มีคนมาจากหลายประเทศทั่วโลกมากกว่า 200 คน ตามกฎระเบียบ เพื่อนที่มาจากประเทศเดียวกันต้องแยกกันอยู่ ที่นี่ทำให้เธอเกิดมิตรภาพใหม่ๆ ได้ฝึกภาษาและเรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันและกัน ซึ่งช่วยทำให้มุมมองของเธอที่มีต่อโลกกว้างขึ้น ได้เรียนรู้ที่จะชื่นชมคนที่คิดต่าง และทำต่างจากที่เธอเคยคิด มีโอกาสสร้างมิตรภาพที่เหนียวแน่นทั้งกับเพื่อนคนไทยและคนต่างชาติ
เพราะรู้ตัวยังพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก แต่เมื่อได้รับโอกาสที่ดี เธอจึงพยายามพัฒนาตัวเองทุกชั่วขณะ และนำคำสอนของครูต่างชาติที่เคยบอกไว้ก่อนได้ทุนไปเรียนปริญญาโทที่สหรัฐฯ มาใช้
"พอไปเรียนฮาวายต้องปรับตัวมาก ชนิดกลับหน้าเป็นหลัง กลับหัวเป็นหาง เพราะต้องคุยกับเพื่อนต่างชาติ และคะแนนการมีส่วนร่วมในห้องเรียนก็มีความสำคัญมาก ต้องพูดแสดงความคิดเห็น ต้องเรียนรู้และปรับไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ โชคดีหน่อยทักษะการเขียนพอมีบ้าง ระบบการคิดก็ต้องปรับใหม่ ฝรั่งเขาชอบให้เราตั้งคำถาม นันคิดว่าเราต้องกล้า การพูดภาษาอังกฤษตะกุกตะกัก ทำให้เราเรียนรู้มากขึ้น ถ้าไม่กล้า มัวแต่กลัวผิด อาย ก็จะไม่เกิดการปรับตัว ไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ”
...
โอกาสนอกจากหาให้ตัวเอง ต้องหาจากคนอื่น
หลังเรียนจบจากสหรัฐฯ เธอกลับมาสอนที่โรงเรียนเดิม ประมาณ 4 ปี ก็ตัดสินใจสอบชิงทุน Endeavour Postgraduate Scholarship จากรัฐบาลออสเตรเลีย ได้ไปเรียนปริญญาเอกที่ออสเตรเลียและพอเรียนจบก็ได้ทำงานที่ออสเตรเลียจนถึงวันนี้ เป็นงานสอนและวิจัยในมหาวิทยาลัย ซึ่งติด 1 ใน 50 มหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยที่ดีที่สุดในโลก
เธอบอกว่าทั้งหมดทั้งมวลจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าเธอไม่เดินตามความฝัน ไม่ได้รับแรงบันดาลใจและแหล่งข้อมูลจาก "สมพร นากลาง" ที่ได้รู้จักขณะเธอเรียนที่สหรัฐฯ คอยพูดบ่อยๆ "เธอต้องทำได้"
"เราไม่รู้ว่าโอกาสที่เราได้มาจะพาเราไปเจออะไร ดังนั้นเราควรเสาะหาโอกาสเสมอ กัลยาณมิตรนี่ยิ่งสำคัญ และเหนือสิ่งอื่นใด พัฒนาตัวเองให้พร้อมเสมอ เตรียมเครื่องมือสอยโอกาสของเราให้พร้อม ถึงแม้ผิดหวังบ้าง อย่าหยุดเรียนรู้ เพราะโอกาสมันจะเข้ามาเรื่อยๆ สำหรับคนที่พยายามตามหา และเมื่อมันมา มันต้องมีสักครั้งที่เราสามารถคว้ามันได้"
...
อุปสรรคเรียนปริญญาเอก 4 ปีที่ออสเตรเลีย
การเรียนปริญญาเอก 4 ปีที่ออสเตรเลียไม่ได้รับเกรด ทุกภาคการศึกษา จบหรือไม่จบวัดจากการส่งเล่มวิทยานิพนธ์ ทำให้เธอรู้สึกกังวลว่าจะจบหรือไม่ เพราะเธอไม่ได้อ่านและทำงานหนักเท่าเพื่อนๆ คนอื่นที่เรียนด้วยกัน และเธอต้องไปสัมมนาหรือไปโครงการแลกเปลี่ยนที่ยุโรป สองสามครั้ง ครั้งละเดือน หรือสองเดือนบ้าง
นอกจากนี้พ่อไม่สบายต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อย หลานสาวต้องผ่าตัดตั้งแต่แรกเกิดและต้องไปหาหมอตลอด บางทีต้องบินด่วนกลับไทยเพราะพ่ออาการทรุด ทุกเช้าสิ่งที่ทำทุกครั้งหลังลืมตาขึ้นมาคือดูโทรศัพท์ว่าน้องจะแจ้งอะไรมาไหม และเธอจะส่งข้อความถามว่า ทุกคนสบายดีไหม
"การอยู่ไกลบ้านไกลครอบครัว คือสิ่งลำบากสุด โดยเฉพาะสองเดือนสุดท้ายก่อนส่งเล่มวิทยานิพนธ์เพื่อสอบจบ ต้องบินกลับไทยด่วน ไปดูแลพ่อ และหลาน ตลอดเวลาเดือนครึ่งไม่มีเวลาเขียนวิทยานิพนธ์เลย ในที่สุดก็ต้องเขียนสามบทสุดท้าย รวมทั้งปรับแก้บทอื่นๆ ให้เข้ากันในเวลาสามอาทิตย์ มันเป็นอะไรที่เครียดมากที่สุดในชีวิตเลย"
4 เทคนิคจบปริญญาโท เกรด 4.00
แม้ต้องเจอปัญหาทั้งการเรียนและปัญหาชีวิต แต่สุดท้ายเธอก็ก้าวข้ามผ่านปัญหาต่างๆ มาได้ด้วยดีจนเรียนจบปริญญาโท เกรด 4.00 ด้วย 4 เทคนิค คือ
1. strategic thinking การคิดแบบมีกลยุทธ์ วิเคราะห์งานที่จะทำ และคิดหาวิธีและวางแผนที่จะทำให้หลากหลาย แล้วเลือกกลยุทธ์ที่ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงสุด
2. มีการคิดสะท้อนกลับ เมื่อทำไปแล้วประเมินผล ว่าทำอะไร ผลเป็นยังไง ครั้งหน้าควรทำแบบนี้ไหม ควรทำอะไรที่ต่างจากนี้บ้าง เพื่อให้ผลมันดีขึ้น
3. Resilience คือ ท้อได้แต่อย่าถอย ทุกความล้มเหลวเป็นบทเรียน หากคิดเช่นนี้จะไม่เคยรู้สึกว่าแพ้ แม้แต่ความล้มเหลวก็สอนได้มากโข
4. การคบกัลยาณมิตรที่ดี คอยช่วยเหลือแนะนำสิ่งดีๆ
วันนี้ความฝันของ ดร.นัน เป็นจริงและเธอประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เธอบอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ความสำเร็จในวันนี้คือความสำเร็จของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน เพราะถ้าพ่อแม่ไม่ให้กำเนิด ไม่เลี้ยงดู ไม่สอนให้รู้จักความลำบากในวัยเด็ก ไม่ส่งเสียให้เรียนมัธยมศึกษา และไม่สอนให้คิดถึงคนอื่นนอกจากความต้องการของตนเอง เธอคงไม่มีวันนี้
ะถึงแม้วันนี้พ่อได้จากเธอไปแล้ว แต่เธอเชื่อว่าพ่อภูมิใจกับทุกความสำเร็จของเธอ เพราะทุกครั้งที่มองรอยยิ้มของแม่ เธอจะเห็นรอยยิ้มของพ่อด้วยเสมอ
"พ่อและแม่คือแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้ทำตามความฝัน พ่อแม่จะบอกเสมอ ให้คิดดี พูดดี ทำดี ทำตามสิ่งที่เห็นว่าสมควร นันพยายามให้ได้ทุนเรียนเต็มจำนวนทุกระดับ เพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้าน นันเชื่อว่าถ้าเราไม่เดินตามฝัน เราก็จะอยู่จุดนั้นตลอดไป ถ้าเราเอาชนะความกลัวและเริ่มก้าวเดิน ทุกย่างก้าวคือการเรียนรู้ เราไม่รู้ว่าก้าวนั้นจะพาเราไปจุดไหน และเราก็ไม่รู้ว่ามันจะพาเราไปถึงจุดหมายหรือไม่ แต่อย่างน้อย เรารู้ว่า มันจะพาเราออกจากจุดเริ่มต้นของเราแน่นอน"
นี่คือเรื่องราวบางส่วนของ ดร.นัน "นักสู้หัวใจแกร่ง" สำหรับผู้ที่มีฝัน แต่ไม่กล้าเดินตามฝัน ติดตามฟังสัมภาษณ์เสียงโดย "จงจิตร บิวแคนแนน" จาก "วิทยุเอสบีเอส ภาคภาษาไทย" ประจำประเทศออสเตรเลีย ได้ที่ลิงค์ https://www.sbs.com.au/language/thai/audio/poverty-is-not-the-end-but-motivation เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และพิชิตความสำเร็จในชีวิตได้เช่น "ดร.นัน"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ