- แนวคิดฝังชิปในสมองเริ่มมีเมื่อมนุษย์รู้จักคอมพิวเตอร์
- ประโยชน์ที่จากการฝังชิป จะช่วยรักษาโรค อาทิ ตาบอด อัมพาต
- ประเด็นที่กังวล คือล่วงล้ำสิทธิความเป็นมนุษย์ หรือกลัวถูกควบคุม
ล้มเหลวบ้าง ประสบความสำเร็จบ้าง แต่..ถ้างานไหนประสบความสำเร็จ เรียกว่า ฮือฮาไปทั่วโลก!
ณ นาทีนี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก “ไอเอิร์น แมน” (Iron Man) แห่งโลกจริง ชายที่คิดจะพลิกชีวิตคนทั่วโลกด้วยเทคโนโลยี นาม “อีลอน มัสก์” (Elon Musk) ผู้ที่อยากจะไปใช้ชีวิตและแก่ตายบนดาวอังคาร
เมื่อสัปดาห์ก่อน เขาจัดแถลงข่าวใหญ่และกลายเป็นที่จับตาของคนทั่วโลก ด้วยการ “โชว์หมู 3 ตัว” พร้อมอุปกรณ์ไฮเทค Neuralink’s Bot V2 ที่ใช้ฝังชิปในสมอง
แน่นอน เมื่อ “มัสก์” ขยับสปอตไลต์ทุกดวงย่อมส่องไปหาเขา เพราะเขากำลังโชว์ความสำเร็จในการเชื่อมต่อสมองหมูกับคอมพิวเตอร์
สำหรับ ผู้ที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ดี ต้องเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการวิทยาศาสตร์ นั่นก็คือ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล เอกอุที่ติดตามข้อมูลวิทยาศาสตร์โลกอย่างใกล้ชิด
...
ดร.ชัยวัฒน์ เริ่มต้นอธิบายถึงแนวคิดเกี่ยวกับการฝังชิปไว้ในสมองมนุษย์ว่า แนวคิดนี้มีมากในนิยายวิทยาศาสตร์และหนังวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องมากๆ แต่ในความเป็นจริง คือ เริ่มมีแนวคิดฝังชิปไว้ในสมองมนุษย์ เมื่อเริ่มคิดค้นคอมพิวเตอร์ได้ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ในยุคที่สามารถผลิตไมโครชิป ได้สำเร็จ
ที่ผ่านมา มีการใช้ไฟฟ้าไปกระตุ้นสมอง โดยมีการทดลองกับ “สุนัข” ก่อน เวลาทดลองกับสุนัข ผลลัพธ์ที่ได้คือ เมื่อนำไฟฟ้าไปกระตุ้นแล้ว ขาสุนัขก็จะกระดิกได้ ซึ่งต่อมาก็ได้ขยายขอบเขตการทดลอง ด้วยการเริ่มทดลองกับมนุษย์
“มัสก์”โชว์ เกลือจิ้มเกลือ ไม่ไว้ใจ AI ต้องสู้ด้วย AI
กูรูวิทยาศาสตร์ อธิบายสิ่งที่ มัสก์ กำลังทำคือ “เกลือจิ้มเกลือ” ที่ผ่านมา เขาแสดงออกมาตลอดว่าเขาไม่ไว้ใจเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI เขาเตือนมาตลอดว่าระวัง “อนาคตอาจจะเป็นเหมือนหนังคนเหล็กฯ หรือ Terminator มนุษย์อาจจะกลายเป็นทาสของมันได้” แต่เขาก็ไม่สามารถต่อต้านเรื่องนี้ได้ เพราะรู้ดีถึงความจำเป็น ด้วยเหตุนี้ ในปี 2016 เขาถึงตั้งบริษัท Neuralink เพื่อจริงจังในการพัฒนา AI ในแนวของเขา
แต่สิ่งที่มัสก์จะทำ มิใช่เพื่อการพัฒนา AI ให้ก้าวล้ำหน้าอย่างเดียว สิ่งที่เขาเลือกทำคือ การพัฒนา AI เพื่อใช้พัฒนาหรือเสริมสร้างสมองเพื่อมาสู้กับระบบ AI
“เขาไม่ได้ใช้ AI พัฒนาสมองให้ก้าวล้ำ แต่เป็นการเสริมศักยภาพสมอง โดยมีเป้าหมายหลัก ในการช่วยดูแลด้านสุขภาพ เช่น คนป่วยตาบอด มองไม่เห็นเพราะเกิดปัญหาขึ้นที่สมอง หรือ ช่วยคนที่เป็นอัมพาต ช่วยคนพิการ บางคนเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ แต่จะใช้วิธีฝังชิปในสมอง ให้สมองสั่งการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ เช่น แขนขาเทียม หากใช้สมองสั่งการแขนเทียมให้เคลื่อนไหวได้”
คำอธิบายการทำงานของชิปและสมอง
จอมวิทยาศาสตร์ชื่อดัง อธิบายการทำงานระหว่างชิปกับสมองว่า สมองสามารถสั่งงานผ่านชิป ด้วยระบบเส้นประสาทด้วยการส่งสัญญาณไฟฟ้ามาถึงชิป โดยระหว่างเส้นประสาทจะส่งสัญญาณเคมีบางชนิดช่วยกระตุ้น ฉะนั้น หากมีการฝังชิปในสมองส่วนต่างๆ ก็เหมือนกับการเชื่อมระหว่างสมองผ่านมายังระบบคอมพิวเตอร์
หากสมองส่วนไหนบกพร่องหรือพิการ ชิปส่วนนี้จะทำหน้าที่ทดแทนได้ เช่น คนที่มีปัญหาด้านการมองเห็น อธิบายง่ายคือ ส่วนที่ทำให้เรามองเห็นประกอบด้วย 3 ส่วน
1.แสง
2.ระบบของตา
3.เส้นประสาทรับสัญญาณแสงจาก “เรตินา” ไปให้สมองส่วนการมองเห็น จากนั้นส่วนการมองเห็นจะตีออกมาเป็นภาพในสมอง
...
สรุปคือ สิ่งที่เราเห็น..ไม่ได้เห็นจากดวงตา แต่เป็นภาพในสมอง ฉะนั้น การมองเห็นบางครั้งมันอาจจะมาจากความเป็นจริงตรงหน้า หรือ บางทีเป็นสิ่งที่เราจินตนาการขึ้นมา
หากเส้นประสาทตาพิการ เราอาจจะฝังชิปที่ไปสมองในส่วนการมองเห็น หรือ แม้แต่ช่วยเส้นประสาทในการรับสัญญาณแสงก็ได้ ก็จะทำให้ผู้มีปัญหาด้านการมองเห็น กลับมาเปิดโลกเห็นภาพอีกครั้งหนึ่ง..
พอจะเห็นข้อดีของการ “ฝังชิป” ในสมองแล้วหรือยัง...
“เกอร์ธรูด”โชว์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีความนัยที่แอบซ่อน
อาจารย์ชัยวัฒน์ มองว่า การแถลงข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน “ไม่ได้โชว์เทคโนโลยีใหม่” แต่เป็นการโชว์ผลลัพธ์จากบริษัท Neuralink โดยมีการนำหมู 3 ตัวมาแสดง ตัวแรก ไม่เคยได้รับการฝังอุปกรณ์ใดๆ ลงไปในสมอง ตัวที่สอง เคยผ่านการฝังและถอดอุปกรณ์ออกแล้ว เพื่อดูว่าในอนาคตหากมีการถอดอุปกรณ์ออกหมูจะเป็นอย่างไร ส่วนตัวที่ 3 ชื่อว่า "เกอร์ธรูด" เป็นหมู่ที่กำลังมีอุปกรณ์ชิปอยู่ในสมองซึ่งฝังไว้เมื่อ 2 เดือนก่อน
...
กูรูวิทยาศาสตร์โลกชาวไทย กล่าวต่อว่า การที่เลือก “หมู” มาเป็นสัตว์ทดลอง เพราะสมองของหมูมีความใกล้เคียงกับมนุษย์มาก แต่..ที่ผ่านมาก็มีการนำสัตว์มาทดลองหลายชนิด เช่น หนู กระต่าย ลิง รวมถึงหมู ซึ่งสัตว์ทุกชนิดก็ยังคงถูกทดลองอยู่ ส่วนกรณีของ “มัสก์” ที่เลือกเจ้า “เกอร์ธรูด” โดดเด่นที่สุด เพราะมีการฝังชิปไว้ที่เส้นประสาทตรงจมูกที่เชื่อมต่อกับสมอง เวลาที่เจ้าเกอร์ธรูดมีปฏิกิริยา กินนั่นกินนี่ หรือ ดมอะไรก็ตาม ก็จะมีปฏิกิริยากับสมอง ซึ่งเราก็จะเห็นว่ามันสามารถสื่อสารกันได้จริงๆ แต่ถามว่าน่าตื่นเต้นหรือเปล่า ก็ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะเคยมีคนทำมาแล้ว และสามารถพัฒนาได้ไกลกว่านี้ คือ การใช้สมองสั่งการคอมพิวเตอร์ได้
“ผมก็ยังงงอยู่ว่า ทำไมเขาเอาหมู 3 ตัว มาโชว์” อาจารย์ชัยวัฒน์ กล่าวพลางหัวเราะเล็กน้อย ก่อนจะทายใจ อีลอน มัสก์ ว่า สิ่งที่เขาต้องการโชว์ให้รู้คือ หมู 2 ตัว คือ ตัวที่เคยผ่านการฝังชิปมาแล้ว กับตัวที่ยังฝังอยู่ เพราะเขาต้องการแสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 ตัวก็ยังดูปกติ เมื่อเทียบกับหมูที่ไม่ได้ผ่านการฝังชิป
...
ที่ผ่านมา เคยมีการทดลองเชื่อมต่อสมองกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น แขนขาเทียม เมาส์ คอมพิวเตอร์ หรือ แม้แต่เคอร์เซอร์ให้พิมพ์เป็นคำๆ ก็ยังทำได้แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ อีลอน มัสก์ มาโชว์ คือ สิ่งที่เขาอยากจะบอกว่า “เขาก็ทำได้”
นอกจากนี้ สิ่งที่ภายในงานไม่ได้บอกคือ เขาพยายามชักชวนคนเก่งๆ มาร่วมงานกับ Neuralink ซึ่งเดิมก็เป็นบริษัทไม่ใหญ่แต่อุดมไปด้วยคนเก่งๆ
ความหวาดระแวง AI คาบเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์
การที่หลายบริษัทได้มีการทดลองกับสัตว์ต่างๆ เพื่อฝังชิปในสมองนั้น ทำได้เพราะ “เป้าหมายทางการแพทย์” จอมวิทยาศาสตร์ เล่าเบื้องหลังการทำงานพัฒนาเทคโนโลยีของโลกว่า สาเหตุที่หลายๆ บริษัทนี้ยังทำงานได้ เพราะได้รับอนุญาตจาก องค์การอาหารและยา ของสหรัฐฯ โดยมีเหตุผลในการช่วยเหลือผู้คนจากความเจ็บป่วย ตาบอด อัมพาต การพัฒนาช่วยเหลือผู้พิการ หรือแม้แต่ “สตีเฟน ฮอว์กิง” (นักฟิสิกส์ ระดับโลกที่ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง) หากยังมีชีวิตอยู่ก็คงได้รับประโยชน์ไปด้วย ตรงนี้เองจึงเป็นเป้าหมายหลักของมัสก์ คือ การพยายามทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง
แต่..การทำแบบนี้ใช่ว่าไม่มีคนค้าน
ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า มีหลายๆ คน ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ โดยหยิบยกประเด็นด้านจริยธรรม เพราะกลัวว่าการใช้เทคโนโลยีล่วงล้ำสิทธิความเป็นมนุษย์ เช่น ถูกควบคุม ซึ่งเรื่องแบบนี้มีในหนังหลายเรื่อง ที่ดังและดี คือ The Manchurian Candidate หนังปี 1962 มี แฟรงก์ ซินาตรา เป็นดารานำ สร้างใหม่ ปี 2004 มี เดนเซล วอชิงตัน เป็นดารานำ
ประเด็นที่กังวลกันมาก หรือ แม้แต่สิ่งที่ “อีลอน มัสก์” อยากทำคือการเสริมศักยภาพสมองมนุษย์ให้เก่งกว่า AI ก็ยังถูกตั้งคำถามว่า “สมควรทำ” หรือไม่.. “มีประโยชน์” จริงหรือเปล่า..
หากการทดลองฝังชิปในสมองสำเร็จ จะส่งผลดีกับมนุษยชาติขนาดไหน ถึงขั้นซ่อมแซมร่างกายได้ทุกส่วนไหม อาจารย์ชัยวัฒน์ ขยับแว่นเล็กน้อย ก่อนตอบว่า ตอนนี้ก็ถือว่าทำสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงขั้นทำสำเร็จแล้วใช้งานอย่าง “สะดวกสบาย” อย่างไรก็ตาม ในโลกของการวิจัย Brain-computer interface เป็นอะไรที่กว้างมาก แต่เป้าหมายที่ทุกคนยอมรับว่าดี คือ การทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
“แต่สำหรับแนวคิดจะพัฒนาสมองให้เป็น Super Brain ผมเองก็ไม่เห็นด้วย เพราะความเสี่ยงกับการได้คนสมองเหนือมนุษย์ แต่เป็น Super Brain ที่ใช้ในทางที่ผิด ส่วนเรื่องการซ่อมแซมร่างกายคงทำได้ แต่ทำได้ระดับไหน แล้วคุ้มหรือไม่ เพราะอาการป่วยบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องทำ”
นักวิทยาศาสตร์อยากไขปริศนา “จิตใต้สำนึก”
“ผมว่ามีประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งที่เขาไม่ได้พูดถึงในงานแถลงครั้งนี้ คือ การทำงานของสมอง ที่เรียกว่า “จิตสำนึก” คำถามคือ “จริงหรือไม่ที่มีแค่มนุษย์ที่มีจิตสำนึก” ดร.ชัยวัฒน์ บอกเหตุผลว่า ที่ผ่านมาวงการวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายการทำงานอวัยวะทุกส่วนในร่างกายมนุษย์ได้ทั้งหมดรวมทั้งสมองด้วย แต่ในส่วนที่เรียกว่า “จิตสำนึก” เป็นอะไรที่อธิบายได้ยากมาก ย้ำว่า “ยากมากจริงๆ” ถึงวันนี้เรายังไม่รู้เลยว่า “จิตสำนึก” และ “จิตใต้สำนึก” เกิดขึ้นได้ยังไง เกี่ยวกับสมองอย่างไร?
จากคำอธิบายทั่วไปว่า อาจจะบอกได้เพียงว่าเป็นเรื่องของสมอง ที่เจอประสบการณ์ต่างๆ เข้ามาในชีวิต ส่งผลให้คิดเรื่องต่างๆ กลายมาเป็นความรู้สึกและกลายเป็นจิตสำนึก..
ดร.ชัยวัฒน์ เน้นว่า สำหรับวงการวิทยาศาสตร์คำอธิบายดังกล่าว “ไม่พอ” การคิดแบบวิทยาศาสตร์จะอธิบายแบบคลุมๆ ไม่ได้ เพราะการอธิบายลักษณะนี้ไม่เกิดประโยชน์ เราต้องอธิบาย หรือเขียนออกมาเป็นสมการได้ ฉะนั้น หากถอดสมการ ที่มาที่ไปของ “จิตสำนึก” ได้
การใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตถือเป็นเรื่องที่สมควรจะทำ ที่ผ่านมา การพัฒนา “Brain-computer Interface” ก็ก้าวหน้ามาตลอด แต่ที่ยังถกกันค่อนข้างน้อย คือ ประเด็นเกี่ยวกับ “จริยธรรม” ของการใช้เทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพ ของมนุษย์ว่า ควรจะเป็นอย่างไร และจะบังคับใช้อย่างไร..
ผู้เขียน : อาสาม