- ห้องน้ำสาธารณะทั่วญี่ปุ่นเกือบ 40% ยังใช้สุขภัณฑ์แบบดั้งเดิม
- หากคิดอยากใช้งาน SMART TOILET สิ่งสำคัญที่สุดต้องไม่ลืมกดปุ่มล็อกประตูเด็ดขาด
- 'บัน ชิเกรุ' นำ Paper Tube มาทำโครงสร้างที่พักชั่วคราวให้ผู้ลี้ภัยและผู้ประสบภัยพิบัติ จนได้รับรางวัลระดับโลก Pritzker Prize ปี 2014
"ห้องน้ำสาธารณะ" ไม่ว่าจะที่ใดในโลก มักจะมีจุดร่วมที่เหมือนๆ กัน นั่นก็คือ?
มืด สกปรก และอันตราย
แต่ "กรุงโตเกียว" กำลังจะเปลี่ยนทัศนคติของชาวโลกที่มีต่อห้องน้ำสาธารณะไปตลอดกาล ด้วยอะไรที่แตกต่างออกไป
"สำหรับด้านหนึ่ง มันคือความสว่างไสวและเต็มเปี่ยมไปด้วยสีสัน ส่วนอีกด้านหนึ่ง มันคือความโปร่งใส"
ทั้งหมดตามบรรทัดข้างต้น คือ จุด START ของแนวคิดที่จะทำให้ผู้คนที่คิดจะเข้าไปใช้บริการห้องน้ำสาธารณะ สามารถใช้สายตาตรวจสอบความสะอาด รวมถึงความปลอดภัย ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปสำรวจหรือแตะต้องอะไรก็ตาม...ที่อยู่ภายใน
ที่ผ่านมา "ห้องน้ำสไตล์ญี่ปุ่น" ตามความรับรู้รับทราบของเราๆ ท่านๆ มักจะมีความแตกต่างจากห้องน้ำของชาวโลกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอะไรบ้างล่ะ? สารพัดปุ่มกดเพื่ออำนวยความสะอาดหลังการปลดทุกข์ ฝาชักโครกแบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ และโถนั่งที่แสนอบอุ่น
แต่สำหรับห้องน้ำสาธารณะใหม่นี้ ซึ่งถูกออกแบบโดย 'บัน ชิเกรุ' (Ban Shigeru) สถาปนิกชาวญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลระดับโลกอย่าง Pritzker Prize แล้วมันมีอะไรที่เหนือชั้นกว่านั้นเยอะ เพราะมันใช้ SMART GLASS ที่สามารถเปลี่ยน "ความโปร่งใส" ให้เป็น "ความหนาทึบ" ซึ่งเป็นเทรนด์เดียวกันกับที่บรรดาออฟฟิศและอาคารชิคๆ ยุคนี้คลั่งไคล้ เพื่อซ่อนเร้นความเป็นส่วนตัวของคุณได้ในเวลาที่คุณ อืม...ต้องการปลดทุกข์
...
โดย 'บัน ชิเกรุ' เปิดปากถึงกรอบแนวคิดในการออกแบบ ห้องน้ำโปร่งใสนี้ เอาไว้ว่า...
"มี 2 ข้อที่คนเรามักจะรู้สึกกังวลเวลาที่จะเข้าไปใช้บริการห้องน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ ข้อแรกคือ 'สกปรก' และข้อที่ 2 คือ 'มีใครอยู่ข้างในหรือเปล่า?'
ซึ่งกำแพงโปร่งใสนี้สามารถขจัดความกังวลทั้ง 2 ข้อได้ไปอย่างหมดสิ้น เพราะมันสามารถเฉลยให้ผู้คนที่ต้องการเข้าไปใช้บริการเห็นอย่างหมดเปลือกว่ามีอะไรอยู่ด้านในบ้าง?"
โดยห้องน้ำสาธารณะมากสีสันนี้ถูกนำไปติดตั้งในพื้นที่กรุงโตเกียวตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตามแคมเปญระดับชาติ "เรามาเลิกใช้ห้องน้ำสาธารณะ old-fashioned เพื่อมุ่งหน้าไปสู่กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพกันเถอะ..."
โดยห้องน้ำสาธารณะ COLORFUL ถือเป็นหนึ่งในแผน RENOVATE ห้องน้ำสาธารณะ 17 แห่ง จาก 16 ศิลปินชาวญี่ปุ่น ในชิบูย่า ย่านแห่งสีสันของมวลหมู่วัยรุ่นทั้งมวล ซึ่งจะว่าไปก็ถือเป็นสถานที่ที่สุดจะลงตัวเสียเหลือเกินสำหรับการนำเอา "ห้องน้ำ" ที่ดูภายนอกราวกับภาพวาดแนว Mondrian Style ของศิลปิน 'พีต มองเดรียน' (PITE MONDRIAN) มาประดับเอาไว้ในย่านที่สุดจี๊ดจ๊าดแบบนี้ ซึ่งหลังจากที่มันเปิดให้ใช้บริการมาตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา มันได้กลายเป็นจุดแชะแล้วแชร์ที่น่าตื่นเต้นของผู้คนไปโดยปริยาย
เมื่อคุณได้เห็นห้องน้ำสาธารณะที่โดดเด่นราวกับงานศิลปะนี้ คุณคงอยากรู้แล้วใช่ไหมว่า มันทำงานอย่างไร?
เพียงแค่คุณเดินเข้าไปและล็อกประตูกระจกของห้องน้ำจะเปลี่ยนจากโปร่งแสงเป็น "ทึบแสง" โดยอัตโนมัติ จากนั้นเมื่อคุณทำธุระส่วนตัวเสร็จสิ้น และเดินไปปลดล็อกประตู SMART GLASS ก็จะเปลี่ยนเป็น "กระจกโปร่งแสง" เหมือนเดิมทันที
โดยห้องน้ำที่ถูกถอดมาจากมันสมองของ 'บัน ชิเกรุ' นี้ ถือเป็นเพียงหนึ่งในความพยายามของชาวญี่ปุ่นในการอวดศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่ล้ำยุค เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และงดงาม มีคุณค่าทางศิลปะ เพื่อหวังอวดชาวโลกที่จะเดินทางมาเยือนในช่วงมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่(อาจจะ)มีขึ้นในเร็วๆ นี้ (ถ้ามันยังสามารถจัดได้อยู่อ่ะนะ)
เอาล่ะ เห็นแบบนี้แล้ว เชื่อเหลือเกินว่า "คุณ" น่าจะเป็นคนหนึ่งที่อยากจะบินไปญี่ปุ่นเพื่อลองใช้บริการดูสักครั้งใช่ไหม? แต่แน่นอน COVID-19 คงจะกางกั้นเราไว้อีกนานพอดู...
เช่นนั้นแล้วเราลองไปฟังรีวิวจากชาวญี่ปุ่นที่ได้ไปลอง SMART TOILETS ที่ถูกนำไปติดตั้งแล้วที่ Yoyogi Fukamachi Mini Park และ Haru no Ogawa Community Park ในชิบูย่า กันดีกว่า....
...
โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ @yukio ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ตอนที่ไปลองใช้บริการก็รู้สึกกังวลอยู่ไม่น้อยเลยว่า เจ้ากระจกปรับสีอัตโนมัตินี้มันจะทรยศเธอขึ้นบ้างหรือเปล่า?
ส่วนผู้ใช้ทวิตเตอร์อีกคนที่มีชื่อว่า Ming Cheng ซึ่งมีอาชีพเป็นสถาปนิกอยู่ที่กรุงลอนดอน ก็ยอมรับเหมือนๆ กันว่า ยังรู้สึกกังวลเวลาที่ใช้งานมันอยู่ และคงอาจต้องใช้เวลาสักระยะสำหรับการทำความเข้าใจไอเดียแหวกแนวแบบนี้ ถึงแม้ว่ามันจะ COOL แค่ไหนก็ตาม!
ซึ่ง "ความรู้สึกไม่มั่นใจ" เวลาที่จะใช้งานนี้ มันไม่ได้แตกต่างจากรายงานของสำนักข่าว CNN ที่สัมภาษณ์ผู้ที่เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่ที่ระบุเหมือนกันว่า มันเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ตัวเองมั่นใจได้ว่า กระจกโดยรอบนี้ที่เคยโปร่งใสก่อนหน้านี้ได้เปลี่ยนเป็นทึบแสงแล้วในเวลาที่กำลังจะใช้งาน นอกจากนี้ยังพบเห็นอีกว่า มีผู้ใช้งานบางคนลืมกดล็อกประตู จนทำให้คนภายนอกได้เห็นอะไรในสิ่งที่ไม่อยากจะเห็นเข้าเต็มสองตา!
ด้วยเหตุนี้ หาก "คุณ" คิดอยากจะเข้าไปใช้งานห้องน้ำสุดชิคนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องไม่ลืมเด็ดขาด คือ อย่าลืมกดปุ่มล็อกประตูก่อนใช้งาน
ส่วน SERAH COPPERWHITE วัย 28 ปี พนักงานบริษัทด้านเทคโนโลยีในกรุงโตเกียว บอกเล่าว่า โดยปกติเธอเป็นคนที่มักจะหลีกเลี่ยงการใช้บริการห้องน้ำสาธารณะ แต่หลังจากได้ลองใช้ SMART TOILETS นี้แล้ว เธอคิดว่าจะลองกลับมาใช้บริการมันอีกครั้ง เพราะนอกจากมันจะไม่มืดทึบแล้วมันยังสะอาดมากอีกด้วย
...
ส่วนที่คนอื่นๆ รู้สึกกังวลเรื่องที่อาจโดนกระจกอัตโนมัติทรยศเวลาที่กำลังใช้งานนั้น เธอเอ่ยเพียงสั้นๆ ว่า "ฉัน เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์"
ปัจจุบัน หลายฝ่ายพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนและปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่กรุงโตเกียว เพื่อรองรับจำนวนประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี นั่นเป็นเพราะห้องน้ำสาธารณะในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังมีข้อบกพร่อง เช่น บางแห่งยังคงใช้โถส้วมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ที่มีลักษณะโถหน้าคว่ำ ราบไปกับพื้น ซึ่งต้องอาศัยการนั่งยองๆ ถ่ายทุกข์ ซึ่งไม่เหมาะกับการให้บริการชาวต่างชาติ รวมถึงคนญี่ปุ่นในยุคใหม่ ซึ่งคุ้นชินกับสุขภัณฑ์แบบตะวันตกเต็มรูปแบบไปแล้ว
เห็นได้จากเมื่อเร็วๆ นี้ มีโรงเรียนอนุบาลชานกรุงโตเกียวแห่งหนึ่งถึงกับไม่ยอมพาเด็กเข้าไปเที่ยวชมสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง เนื่องจากพบว่า ห้องน้ำในสวนสาธารณะดังกล่าวยังคงใช้โถส้วมแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ซึ่งเด็กๆ ไม่คุ้นชิน แล้วเปลี่ยนไปสวนสาธารณะอีกแห่งหนึ่งที่มีส้วมสไตล์ตะวันตกแทน
แต่เดิม ห้องน้ำสาธารณะทั้งหมดทั่วประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนมากเกือบ 40% ยังคงใช้สุขภัณฑ์แบบดั้งเดิม มากกว่าสุขภัณฑ์สไตล์ตะวันตก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องเร่งมืออย่างหนักในการปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะเหล่านั้น เพื่อเตรียมรับรองผู้คนที่จะหลั่งไหลมาจากทั่วโลกในช่วงกีฬาโอลิมปิก
ทำให้ปัจจุบัน ตามข้อมูลของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นรายงานว่า มีห้องน้ำสาธารณะในประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 300 แห่ง ได้รับการปรับปรุงให้เป็นสุขภัณฑ์แบบตะวันตกแล้ว นับตั้งแต่ปี 2017-2019 เป็นต้นมา
แต่แน่นอน เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ ภายใต้ฉาบเคลือบของความทันสมัยและเจิดจรัสนั้น อีกด้านมันถูกตั้งเครื่องหมายคำถามจากคนญี่ปุ่นเช่นกัน!
...
โดยชาวโตเกียวส่วนหนึ่งมองว่า ห้องน้ำสุดชิคนี้ถูกนำมาตั้งไว้ผิดที่ผิดทาง และมันดูจะไม่เหมาะสมนัก (ในแง่ของการใช้งาน) หลังจับมาตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะแบบนี้
โดย 'ซาจิโกะ อิชิคาวา' (Sachiko Ishikawa) นักเขียนวัย 32 ปี ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจในประเด็นนี้ว่า เธอคงไม่นำความเป็นส่วนตั๊วส่วนตัวมาเสี่ยงกับใครบางคนที่เพียงแค่คิดอยากจะสร้าง fancy toilet แบบนี้แน่นอน
เพราะสิ่งที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด คือ กรณี human error นั้น มันย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ และหากมันเกิดขึ้นมาจริงๆ ผู้ที่เข้าไปใช้บริการแทบจะไม่มีโอกาสได้ตั้งตัว สำหรับการหาทางช่วยเหลือตัวเองจากสายตาคนที่อยู่ด้านนอกได้เลย นอกจากนี้ โครงสร้างที่เป็นลักษณะโปร่งใสแบบนี้อาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการก่อเหตุอาชญากรรมเพิ่มขึ้นด้วย เช่น คนร้ายอาจจะมารอก่อเหตุตอนที่คุณกำลังจะเดินออกมาจากห้องน้ำ
ห้องน้ำสาธารณะโปร่งใสในลักษณะที่ใกล้เคียงกับที่กรุงโตเกียวนี้ เคยถูกนำไปติดตั้งที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาแล้วเมื่อปี 2002 ด้วยฝีมือของ Olivier Rambert ดีไซเนอร์ชื่อดัง
โดยมันถูกออกแบบภายใต้ CONCEPT "ทดสอบความกล้าของผู้ใช้" โดยกระจก 2 ชั้นของห้องน้ำจะปิดทึบโดยอัตโนมัติ เมื่อมีผู้เข้ามาใช้งานเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี มันถูกตั้งคำถามเรื่องระบบความปลอดภัยที่อาจนำไปสู่ "ความขายหน้าของผู้ใช้งาน" เช่นเดียวกับกรณีห้องน้ำสาธารณะไฮเทคที่โตเกียว เนื่องจากมันถูกออกแบบให้ทั้งประตูและกระจกจะถูกเปิดออกและเปลี่ยนจากทึบแสงเป็นโปร่งแสงโดยอัตโนมัติ หากระบบ SENSOR ที่ถูกติดตั้งไว้ไม่พบผู้ใช้งานมีความเคลื่อนไหวเกิน 10 นาที ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ "เหล่าขี้ยา" แอบเข้ามาใช้งาน รวมถึงกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่ผู้ใช้งานเกิดหมดสติและต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ เป็นต้น
ที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับการถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวในห้องน้ำสาธารณะด้วย ยกตัวอย่างเช่นที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่พบว่า มีการแอบติดตั้งกล้องวงจรปิดขนาดเล็กเอาไว้ตามห้องน้ำสาธารณะ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าตามร้านค้าและโรงแรม อย่างมากมาย จนกระทั่งเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนถึงขนาดรัฐบาลต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กว่า 8,000 คน ออกตรวจสอบตามห้องน้ำสาธารณะเมื่อปี 2018
นอกจากนี้ ในงาน World Toilet Day ในปี 2015 ซึ่งได้มีการทดสอบโดยการสร้างห้องน้ำที่ถูกรายล้อมด้วยกระจก ซึ่งคนใช้จะมองเห็นคนที่อยู่ภายนอก แต่คนภายนอกจะมองไม่เห็นคนที่อยู่ด้านใน กลางสวนสาธารณะ Washington Square ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ผู้คนได้ทดลองประสบการณ์การปลดปล่อยตัวเองภายใต้มุมมองสาธารณะ (การปลดทุกข์ในที่สาธารณะนั่นแหละ)
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้พบว่า คนที่เข้าร่วมถึง 200 คน ขอยุติการทดสอบกลางคัน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า พวกเขารู้สึกไม่สบายใจนักหากจะต้องปลดทุกข์ท่ามกลางผู้คนที่รายล้อมอยู่ แม้จะรู้ดีกว่าคนเหล่านั้นมองไม่เห็นตนเองก็ตาม
ก็น่าคิดนะ...ท่ามกลางสิ่งที่สายตาเรามองเห็นโดยรอบกลางสถานที่สาธารณะ คุณจะรู้สึกเช่นไร? ในเวลาที่ อืม...กำลังปลดทุกข์
อย่างไรก็ดี แม้จะยังคงมีข้อถกเถียงในประเด็นเหล่านี้อยู่ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงมีแผนที่จะเดินหน้าติดตั้งห้องน้ำสาธารณะสุดแหวกแนวที่จะมาจากอีก 16 สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงในระดับโลกต่อไป
สำหรับ "ห้องน้ำสาธารณะ" ที่อยู่ในโครงการ RENOVATE ครั้งใหญ่ เพื่อต้อนรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนี้ นอกเหนือจากผลงานของ 'บัน ชิเกรุ' แล้ว ยังมีอีก 3 แห่งที่เปิดให้ใช้งานแล้ว เช่น ผลงานที่มีชื่อว่า "Squid Toilet" จากมันสมองของสุดยอดสถาปนิกที่มีชื่อว่า FUMIHIKO MAKI ซึ่งถูกติดตั้งอยู่ที่ Ebisu East Park โดยมันมีเอกลักษณ์โดดเด่น คือ ลูกเล่นในการออกแบบหลังคาที่สุดแหวกแนว
คลิกชมภาพ: ebisu_east_park
ส่วนอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่สถานีรถไฟ Higashi Sanchome ผลงานของศิลปินที่มีชื่อว่า NAO TAMURA ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ รูปทรงสามเหลี่ยมสีแดงโดดเด่น ภายใต้แนวคิดโอบกอดคนทุกชนชั้นและทุกเพศทุกวัย
คลิกชมภาพ: higashi_sanchome
ส่วนลำดับต่อไป คือ ผลงานที่มีชื่อว่า WONDER WALL ของ Masamichi Katayama ศิลปินนักออกแบบภายใน ซึ่งถูกตั้งเอาไว้ที่ Ebisu Park
คลิกชมภาพ: ebisu_park
ส่วนอีก 2 ผลงานที่กำลังจะเกิดให้บริการเร็วๆ นี้ ชิ้นแรกเป็นของศิลปินที่ชื่อว่า Takenosuke Sakakura ซึ่งเปิดให้บริการที่ Nishihara Itchome Park ในวันที่ 31 สิงหาคม ส่วนของศิลปิน Tadao Ando จะเปิดให้บริการที่ Jingu-Dori Park ในวันที่ 7 กันยายน ส่วนผลงานที่เหลือจะค่อยๆ ทยอยเปิดให้บริการจนครบภายในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2021 นี้ต่อไป
ผู้เขียน: นายฮกหลง
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
END CREDIT:
สำหรับประวัติของ 'บัน ชิเกรุ' (Ban Shigeru) สถาปนิกผู้ออกแบบห้องน้ำสุด COLORFUL นั้น เขาเกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1957 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Cooper Union School of Architecture ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1984
โดย 'บัน' ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในโลกของสถาปนิก คือ การที่เขาสามารถนำองค์ประกอบการออกตามแนวทางของญี่ปุ่นดั้งเดิมมาผสมผสานกับแนวทางของฝั่งตะวันตกได้อย่างลงตัว อีกทั้งสถาปนิกเลือดอาทิตย์อุทัยผู้นี้ยังเป็นผู้บุกเบิกการนำ Paper Tube หรือแผ่น Cardboard รีไซเคิล มาประยุกต์ใช้สำหรับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม
โดยผลงานที่สร้างชื่อให้เขาเป็นอย่างมาก คือ การนำ Paper Tube มาทำเป็นโครงสร้างที่พักชั่วคราวให้กับผู้ลี้ภัยและผู้ประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่ๆ มาแล้วหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศราวันดาในปี 1994 หรือเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ เมื่อปี 1995 จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และได้รับรางวัลระดับโลกอย่าง Pritzker Prize ในปี 2014.