- แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา) เดินทางกลับบ้านเกิดกว่า 310,000 ราย
- แรงงานเมียนมาที่ลงทะเบียนกลับประเทศ ต้องจ่ายค่ารถโดยสาร 1,050 บาทต่อราย
- ข้อมูลลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว ณ เดือนธันวาคม 2562 มีจำนวน 2,788,316 ราย
ความกลัวโควิด-19 การตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว กดดัน 'ต่างด้าว' แห่กลับประเทศบ้านเกิด จนอาจส่งผลกระทบที่ไม่คาดคิด ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมเสี่ยงตกอยู่ภาวะ "ขาดแคลนแรงงาน"
ย้อนกลับไปช่วงกลางเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (COVID-19) ในไทยเรียกว่าน่าวิตกที่สุด ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ จนกระทั่งกลางเดือนมิถุนายนมียอดสะสมสูงถึง 3,000 กว่าราย แม้จะเป็นอัตราการติดเชื้อที่ต่ำกว่ามากๆ หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ทะลุหลักหมื่นไปจนหลักล้าน แต่กลับสร้างความตื่นตระหนกและความวิตกให้กับประชาชนในประเทศไม่น้อย
สภาวะแวดล้อมต่างๆ ทั้งคำสั่งล็อกดาวน์กรุงเทพฯ บางส่วน คำสั่งปิดจุดพรมแดน 18 แห่งของกระทรวงมหาดไทย กลายเป็นแรงกดดัน ที่นำไปสู่ความกลัวว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งใหญ่อาจเลวร้ายกว่าเดิม จนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด 'แรงงานต่างด้าว' จำนวนมากสัญชาติกัมพูชา, สปป.ลาว และเมียนมา ทั้งที่ตกงานและคาดว่าจะตกงาน แห่เดินทางกลับประเทศบ้านเกิด
โดยช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน 2563 มียอดการกลีบคืนสู่ประเทศบ้านเกิดสูงที่สุด แม้จะไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทย แต่จากการรายงานของกัมพูชา, สปป.ลาว และเมียนมา บ่งบอกได้ว่าช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน มี 'แรงงานต่างด้าว' ที่เดินทางกลับประเทศอย่างน้อย 310,000 ราย แบ่งเป็น กัมพูชามากกว่า 90,000 ราย, สปป.ลาว เกือบ 120,000 ราย และที่เหลืออีก 100,000 รายกลับเมียนมา
...
อย่าง 'เมียนมา' ที่มีการเปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์กลับบ้านเกิดผ่านทางสถานทูต แค่ช่วงกลางเดือนมิถุนายนก็มียอดแห่ลงทะเบียนแล้วมากกว่า 30,000 ราย โดยจะส่งกลับประเทศผ่านด่านตรวจแม่สอดและระนองวันละ 1,500 รายโดยประมาณ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรถโดยสารอยู่ที่ 1,050 บาทต่อราย
ตัวเลขการไหลออกของ 'แรงงานต่างด้าว' ที่เกิดขึ้น ถือว่าสูงกว่าที่ทางการมีการประเมินเอาไว้ เป็นนัยสำคัญที่บอกได้ว่า มีการ "ลักลอบ" ข้ามพรมแดน
จากตัวเลขการลงทะเบียนของ 'แรงงานต่างด้าว' ณ เดือนธันวาคม 2562 ในประเทศไทย ที่มี 2,788,316 ราย (ยังมีบางส่วนที่เป็นแรงงานนอกระบบ) เมื่อนำมาเทียบกับตัวเลขการไหลออกก็บ่งชี้ได้ว่า มี 'แรงงานต่างด้าว' ในระบบเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดราว 10%
และเมื่อเทียบจำนวน 'แรงงานต่างด้าว' ก่อน (ธ.ค. 62) และหลังเกิดโควิด-19 (มิ.ย. 63) เห็นได้ว่า จ.เชียงใหม่ สระแก้ว จันทบุรี ระยอง และสุราษฎร์ธานี ลดลงมาถึง 10,000-30,000 รายต่อจังหวัด ซึ่งแต่ละประเภทมีภาพรวมเป็นไปในทิศทางลบทั้งหมด โดยเฉพาะมาตรา 64 ประเภทคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับหรือตามฤดูกาล ที่จาก 65,991 ราย กลับกลายเป็น 0 แต่นี่ก็ถือว่าไม่มากนัก หากเทียบกับมาตรา 59 ประเภทพิสูจน์สัญชาติและประเภทนำเข้าตาม MOU ที่รวมกันแล้วลดลงมากถึง 447,536 ราย
เช่นเดียวกับ 'แรงงานไทย' ที่ไปเป็นแรงงานต่างด้าวในหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยปี 2562 มีแรงงานไทยออกไปทำงานมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก แต่หากดูจำนวนกลับมีเพียงประมาณ 100,000 รายเท่านั้น น้อยกว่า 'แรงงานต่างด้าว' ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยถึง 30 เท่า จากพิษโควิด-19 ก็ทำให้ช่วงวันที่ 4 เมษายน ถึง 18 มิถุนายน มีแรงงานไทยเดินทางกลับประเทศรวมทั้งหมด 39,511 ราย แต่...ไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่า "มีแรงงานไทยทั้งหมดเท่าใด?"
แน่นอนว่า การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจที่มีผลสืบเนื่องจากโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อ 'เศรษฐกิจไทย' โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงหนักหนาสาหัสที่สุดจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่ว่านี้ เมื่อรวมกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้า และการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในหลายๆ ประเทศ ทำให้มีการประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ 'จีดีพี' (GDP) อาจหดตัวถึง 8.5%
และจากการประเมินของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็คาดว่าจะมีแรงงานเสี่ยงตกงานมากถึง 8.4 ล้านราย โดยในจำนวนนี้กว่า 2.5 ล้านรายอยู่ในภาคการท่องเที่ยว (ไม่รวมค้าปลีก-ค้าส่ง) อีก 1.5 ล้านรายอยู่ในภาคอุตสาหกรรม และ 4.4 ล้านรายอยู่ในภาคบริการอื่นๆ
ยังไงก็แล้วแต่...จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการว่ามี 'แรงงานต่างด้าว' ตกงานอยู่ที่เท่าไร ซึ่งจากการประมาณการของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ คาดว่านับตั้งแต่มีการล็อกดาวน์ในเดือนมีนาคม 'แรงงานต่างด้าว' ตกงานแล้วกว่า 700,000 ราย ที่สำคัญแรงงานเหล่านี้กำลังอยู่ในสภาวะที่โหดร้ายยากที่จะหางานใหม่ แถมการกลับประเทศบ้านเกิดก็เป็นอย่างจำกัด ต้องทนอยู่ต่อไปภายใต้สภาวะบีบคั้น และมีการร้องขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อสำหรับมือ และอาหารแห้ง กว่า 200,000 ราย
...
แต่...ก็ยังพอมีบางส่วนที่ 'โชคดี' อยู่บ้างที่ยังคงการจ้างงาน
หากประเมินคร่าวๆ จากตัวเลข 'แรงงานต่างด้าว' รายภาคธุรกิจ สะท้อนสิ่งที่น่าจับตามองถึงกลุ่มแรงงานเสี่ยงที่อาจมีสถานะผิดกฎหมายหรือไม่มีนายจ้างระยะหนึ่งจากการล็อกดาวน์ธุรกิจบางส่วนช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก อย่างภาคบริการที่กระทบ 'แรงงานต่างด้าว' ทันทีกว่า 16,000 ราย
หรือแม้แต่การได้รับเงินเยียวยา ที่ 'แรงงานต่างด้าว' เหล่านี้ไม่มีโอกาสได้รับ ต้องใช้เงินออมของตัวเองในการดำเนินชีวิต ที่อย่างน้อยต้องมี 15,000-21,000 บาทถึงจะอยู่ได้ โดยจากการประเมินของ Thailand Development Reseaech Institute (TDRI) แบ่งค่าใช้จ่าย แรงงานต่างด้าว ออกเป็น 5 ส่วน คือ 1. ค่าห้องพัก 1,500-2,000 บาทต่อเดือน, 2. ค่าน้ำค่าไฟ 600-1,000 บาทต่อเดือน, 3. ค่าอาหาร 80-100 บาทต่อวัน, 4. ค่ายา/ค่าเสื้อผ้า 300-400 บาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ 300-400 บาทต่อเดือน (ไม่รวมค่านายหน้า)
ไม่เพียงเท่านั้น 'แรงงานต่างด้าว' กำลังเผชิญกับปัญหาที่น่าหวาดหวั่นหลายๆ อย่าง
...
จากการลงสำรวจและสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ 'แรงงานต่างด้าว' ของ ILO อย่างเร็วๆ ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม พบว่า กว่า 32% ต้องเผชิญกับการข่มเหงในการทำงาน เช่น ไม่สามารถปฏิเสธการทำงานช่วงล็อกดาวน์ได้ ถูกบีบให้ออกโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ถูกนายจ้างยึดเอกสารส่วนตัว ไปจนถึงการข่มขู่และการใช้ความรุนแรง
ที่ย่ำแย่พอๆ กันคือ การปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง (Distancing) นับว่าเป็น "เรื่องยาก" ที่จะทำได้หากมองไปที่บริเวณที่พักอาศัยของ 'แรงงานต่างด้าว' ทั้งหอพักที่คับแคบและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ภายในที่พักที่อยู่ในสภาวะย่ำแย่
อย่างไรก็ตาม แม้การอยู่อาศัยจะเป็นไปอย่างเลวร้าย แต่กลับไม่พบการติดเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ภายในหอพักและที่อยู่อาศัยรูปแบบอื่นๆ ของ 'แรงงานต่างด้าว' โดยเฉพาะภาคก่อสร้าง มีเพียงการรายงานการติดเชื้อโควิด-19 ที่ศูนย์กักกันคนเข้าเมือง (ตม.) เท่านั้น
'แรงงานต่างด้าว' กับความเสี่ยง ที่ยิ่งกว่าโควิด-19
'ภาคการก่อสร้าง' เป็นภาคที่พึ่งพา 'แรงงานต่างด้าว' หนักมากๆ จำนวนมากทำงานบนอาคารสูง 23 เมตรขึ้นไป ที่มีเพียงการสวมหน้ากากหรือการใช้ผ้าพันคอรอบจมูกและปากเท่านั้น แถมยังต้องทำงานโดยไม่มีวันหยุดและทำงานลากยาวหลายชั่วโมงโดยไม่มีการจ่ายเงินพิเศษ แม้ 'แรงงานต่างด้าว' จะมีสิทธิ์เข้าถึงประกันสังคม เช่น การดูแลสุขภาพและการลาป่วย (ได้รับเงินค่าจ้าง) เช่นเดียวกับแรงงานไทย แต่ในความเป็นจริง...กลับถูกกีดกันออกไปจำนวนมาก
...
โดยเฉพาะ 'แรงงานต่างด้าว' ที่เป็นแรงงานประจำทำงานในบ้าน เกษตรกรรม และประมง ล้วนถูกกดขี่จากนายจ้าง ทั้งไม่มีการสมัครระบบประกันสังคมให้ ไม่มีการพิสูจน์แรงงานต่างด้าว ทำให้กลุ่มเหล่านี้ถูกจำกัดการเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ไปจนถึงไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขภาพขั้นพื้นฐานได้
ยิ่งกับ 'ผู้หญิง' ยิ่งหนัก
ในสภาวะแวดล้อมปกติ แรงงานต่างด้าวผู้หญิงมีความเสี่ยงหลายๆ อย่างรวมกัน ทั้งการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงโดยมีพื้นฐานจากเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สัญชาติ อายุ สถานะต่างด้าว หรืออัตลักษณ์ทางเพศ โดยช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 กระจายไปทั่วโลก พบว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากการจำกัดอิสระ ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และการถูกโดดเดี่ยวของผู้หญิง แม้จะไม่มีข้อมูลทางการเปิดเผยแน่ชัด แต่จากการประสานงานบริการขั้นพื้นฐานพบว่า แรงงานต่างด้าวผู้หญิงกำลังเผชิญกับความรุนแรง
ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ...
ความกังวลของนายจ้างที่การไหลออกของ 'แรงงานต่างด้าว' อาจส่งผลต่อ "การขาดแคลนแรงงาน" หลังจากเศรษฐกิจเริ่มกลับมาขับเคลื่อนอีกครั้ง ในภาวะที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาดอยู่ พรมแดนที่ยังไม่เปิดต้อนรับ รายได้ที่ไม่หมุนเวียน คงต้องมีการแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างประเทศเพื่อให้ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมแต่ละประเทศเดินต่อไปได้เหมือนเดิม.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
ข้อมูลอ้างอิง: International Labour Organization (ILO)