• เปิดแนวคิด ดร.สุปิยา กับเบื้องหลังคิดค้นและพัฒนา AI อาหารและสุขภาพเพื่อคนไทยมากว่า 15 ปี

• Thai School Lunch ตัวช่วยครูจัดสำรับอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียน 

• KidDiary แอปพลิเคชันที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องมี เพื่อลูกสุขภาพดีสมวัย

ยิ่งโลกก้าวหน้า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence : AI) ก็ยิ่งถูกนำมาใช้เพื่อยกระดับขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล และโปรแกรม AI ที่คิดค้นพัฒนายังส่งผลดีต่อสุขภาพคนไทยในระยะยาว

AI เทคโนโลยีที่มาพร้อมขีดความสามารถในการปรับปรุงกระบวนการการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย และปรับเปลี่ยนศักยภาพ สุขภาพของคนไทยอย่างไร วันนี้มาดามริชชี่ พาไปรู้จัก ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ หรือ ดร.ปูเป้ หัวหน้าทีมวิจัยการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์จากเนคเทค ผู้อยู่เบื้องหลังคิดค้นและพัฒนา AI สร้างโปรแกรมต่างๆ ด้านอาหารและสุขภาพที่ดีเพื่อคนไทยมากว่า 15 ปี

ชีวิตพลิกผัน จากคนชอบเล่นเกมส์ สู่ผู้เชี่ยวชาญ AI

...

เส้นทางกว่าจะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ AI ของ ดร.ปูเป้ นั้น สุดพลิกผัน เพราะไม่น่าเชื่อว่าจากคนชอบเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ ชอบแก้โจทย์ปัญหาต่างๆ ที่เป็น logic และชอบเล่นเกมปริศนา (puzzle game) กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เรียนจบปริญญาเอก Computer Science ด้าน AI and Evolutionary Computation จาก University College London (UCL) ที่อังกฤษ และเรียนปริญญาตรีและโทที่ Imperial College London

"เป้อยู่อังกฤษ 15 ปี ตั้งแต่จบ ม. 2 ก่อนยุคที่จะมีอีเมล์ พอกลับมาไทย แรกๆ ต้องปรับตัวเยอะเหมือนกัน จากที่ชอบเดินไปไหนมาไหน ก็ต้องใช้รถ ตอนนั้นคนไทยยังไม่รู้จัก AI ก็จะถูกถามบ่อยว่าเรียนอะไรมา จบอะไรมา" ดร.ปูเป้ย้อนเล่าเหตุการณ์

เมื่อกลับมาไทยก็ได้มาทำงานที่เนคเทคในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งในสมัยนั้นประเทศไทยยังไม่รู้จักเรื่อง AI เท่าไหร่นัก ผลงานแรกด้าน AI ที่ได้รับมอบหมาย คือ ร่วมทำวิจัยเรื่อง Hydrolnformatics โดยนำ AI เข้ามาช่วยในการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน จากนั้นได้ทำโปรแกรมต่างๆ ด้านอาหารและสุขภาพที่ดีเพื่อคนไทย

ถึงเป็น ดร. แต่ไม่หยุดเพิ่มพูนความรู้

ผลงานล่าสุดของ ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยติดตามสุขภาพและรูปแบบการดําเนินชีวิต ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ คือ โปรแกรม Thai School Lunch ที่วิจัยและพัฒนาด้วยหัวใจมา 8 ปี จากความร่วมมือของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดยเปลี่ยนจาก Thai School Lunch ที่ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบโปรแกรมในแผ่นซีดี ซึ่งใช้งานไม่สะดวก ให้เป็นระบบออนไลน์ โดยใช้เวลา 3-4 เดือน ทำโปรแกรมใหม่ขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2555

เนื่องจากในการทำโปรแกรม Thai School Lunch มีส่วนนอกเหนือไปจากความรู้ที่เรียนมา ต้องเกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ แต่ ดร.ปูเป้ ก็มีแนวทางในการศึกษาข้อมูลเพิ่ม ซึ่งสิ่งสำคัญคือการ การสร้างเครือข่ายทางแพทย์ที่ต้องทุ่มเทเวลาเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ กับแพทย์เฉพาะทางที่หลากหลาย

"พันธมิตรสำคัญมากๆ ถ้าเราสนใจเรื่องไหนให้หาความรู้เพิ่ม แล้วเราจะพบว่ามีอะไรมากมายให้ได้เรียนรู้ ความรู้ของเราจะไม่มีวันหมด เพราะมีคนอื่นมาเติมอยู่ตลอด ตอนแรกก็คุยกับหมอไม่รู้เรื่อง เหมือนคุยคนละภาษา แต่พอเรียนรู้ สุดท้ายก็ไปต่อได้เอง "

ตัวช่วยอัจฉริยะ จัดอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ถูกหลักโภชนาการ  

โปรแกรม Thai School Lunch นอกจากเป็นระบบแนะนำครูในการบริหารจัดการเลือกเมนูอาหารกลางวันในแต่ละวันให้แก่เด็กนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักโภชนาการ โดยในระบบมีกว่าพันเมนูให้เลือกแล้ว ยังพัฒนาให้โรงเรียนใส่สูตรอาหารตัวเองได้ เพื่อคำนวณหลักโภชนาการที่เหมาะสมกับเด็ก รวมถึงให้สิทธิ์ต้นสังกัด หรือผู้มีหน้าที่ติดตามการจัดอาหาร ได้ดูแบบ Real Time ว่าโรงเรียนไหนจัดอาหารกลางวันเป็นอะไรบ้าง คุณภาพดีหรือไม่

...

ข้อดีของโปรแกรม Thai School Lunch นอกจากช่วยลดเวลาคุณครูในการมานั่งคิดเมนู ยังช่วยประมาณการงบประมาณค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบที่เหมาะสมด้วย เพราะหลังเลือกเมนู โปรแกรมจะคำนวณและพิมพ์รายงานปริมาณวัตถุดิบจำเป็นที่ต้องจัดซื้อเพื่อปรุงเมนูที่เลือก

"เราดึง AI มาจัดเมนูอาหารแทนนักโภชนาการทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่ดี ครบถ้วนตามงบที่ได้รับ โปรแกรมจะคำนวณเมนูที่เลือกหากโปรตีน พลังงาน แคลเซียมยังไม่พอ ก็จะบอกเพื่อให้เลือกเมนูเพิ่ม เช่น แคลเซียมไม่พอก็เลือกนมเพิ่มเข้าไป โปรแกรมนี้เลือกจัดเมนูอาหารกลางวันได้ล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ เดือน หรือวันต่อวัน ขึ้นอยู่กับการบริหารของแต่ละโรงเรียน แต่โดยมากจัดเป็นเทอม” ดร.สุปิยา เล่าถึงการทำงานโปรแกรม Thai School Lunch ที่ปัจจุบันมีบริการในโรงเรียนทุกสังกัด สพฐ.

...

แจ้งเตือนมือถือพ่อแม่ โหลดแอปฯ ตามติดสุขภาพลูก

คุณค่าของโปรแกรมดีต่อเด็กนักเรียนแล้ว ในมุมผู้พัฒนาโปรแกรมนี้ ดร.สุปิยา บอกว่า ยังได้พัฒนาโปรแกรมให้คนทั่วไป พ่อแม่ หรือผู้ปกครองเข้าไปค้นหาโรงเรียนแล้วดูเมนูที่ทางโรงเรียนจัด เพื่อช่วยกันตรวจสอบ เพราะพ่อแม่ก็มีสิทธิ์รู้ว่าโรงเรียนจัดอาหารอะไรให้ลูกกินบ้าง

นอกจากนี้ ดร.สุปิยา ยังคิดค้นพัฒนาโปรแกรม KidDiary มาเชื่อมโยงโปรแกรม Thai School Lunch ช่วยบันทึก ติดตาม เฝ้าระวังพัฒนาการทุกย่างก้าวให้เด็กไทยเติบโตดี มีพัฒนาการสมวัย ซึ่งข้อมูลจะเชื่อมโยงกันทั้งจากบ้าน โรงเรียน และโรงพยาบาล โดยคุณครูใส่รายชื่อเด็กนักเรียน น้ำหนัก ส่วนสูง โปรแกรมจะประเมินภาวะโภชนาการของเด็ก เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้รู้และเห็นพัฒนาการของลูก จะมีข้อมูลแจ้งเตือนไปยังมือถือพ่อแม่ หากผู้ปกครองดาวน์โหลด KidDiary ไว้ในมือถือ

4 แอปฯ อัจฉริยะ ช่วยให้คนไทยสุขภาพดี

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่ไปเรียนอยู่อังกฤษตั้งแต่ ม.2 จนจบปริญญาเอก ดร.สุปิยา ยังมีผลงานอีกมากมายเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย อาทิ

...

พ.ศ.2551 คิดค้นพัฒนาโปรแกรม SizeThailand เป็นระบบติดตามสุขภาพและสรีระ 3 มิติ โดยเครื่อง 3D Body Scanner วัดมวลไขมัน มวลกล้ามเนื้อ สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการลดน้ำหนัก รวมถึงองค์กรที่ต้องการส่งเสริมสุขภาพบุคลากรทางการแพทย์ หรือนักโภชนาการที่ต้องการติดตามคนไข้ ฟิตเนส

พ.ศ.2552 คิดค้นพัฒนาโปรแกรม MyHealth Thailand สำหรับโรงพยาบาล หรือหน่วยงานต่างๆ ใช้ติดตามดูแลผู้ป่วย โดยให้ผู้ป่วยสแกนรูปร่าง บันทึกข้อมูลผลการตรวจสุขภาพ แล้ว AI วิเคราะห์ผลเชื่อมไปยังคุณหมอ จากนั้นคุณหมอจะเขียนคำแนะนำในการดูแลสุขภาพผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนแบบอัตโนมัติด้วยคิวอาร์โค้ด

พ.ศ.2554 คิดค้นพัฒนา FoodiEat แอปพลิเคชันสำหรับคนรักสุขภาพ โดยผู้ใช้ต้องบันทึกและรับคำแนะนำการกินและออกกำลังกายในแต่ละวัน เพื่อเป็นแนวทางดูแลสุขภาพ โดยโปรแกรมจะคำนวณดัชนีมวลกาย (BMI) และอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายในแต่ละวัน (BMR) ทำให้ผู้ใช้ทราบว่าอาหารที่บริโภคเหมาะสมกับความต้องการพลังงานของร่างกายหรือไม่ 

พ.ศ.2558 คิดค้นพัฒนาโปรแกรม Food Choice เป็นแอปพลิเคชันสำหรับทุกเพศทุกวัย เพื่อให้มีความรู้ด้านโภชนาการ โดยเมื่อสแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์จะปรากฏผลข้อมูลพลังงาน ไขมัน น้ำตาล โซเดียม เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าให้เหมาะกับสุขภาพของแต่ละคน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขนำร่องไปใช้ในโรงเรียน สพฐ.ทั่วประเทศ เพื่อสอนเด็กให้อ่านฉลากเป็น และจะมีการแถลงข่าวการดำเนินการ app Food Choice อย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้

กว่า 15 ปี ดร.ปูเป้ คิดค้นพัฒนากว่า 10 แอปพลิเคชันเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย  เนื่องจากทำงานระดับชาติในส่วนงบประมาณนั้นได้รับจากพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนกว่า 20 ล้าน

“จริงๆ แล้วคนไทย ถ้ารู้ว่าอ้วนลงพุงกว่า 30% ขึ้นไป ก็จะนำไปสู่เรื่องการกำหนดนโยบายของประเทศ เพราะโรคอ้วนจะเป็นสิ่งที่ก่อเกิดโรคต่างๆ ตามมา เรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคน ดร.มีลูกด้วย ก็อยากดูแลลูก พอได้ทำงานกับแพทย์จำนวนมาก ก็อยากทำระบบให้คนเข้าถึงองค์ความรู้ด้านสุขภาพ " นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ ดร.สุปิยา ผู้เชี่ยวชาญ AI ไม่เคยหยุดพัฒนาแอปพลิเคชัน

อนาคต AI ในไทย ผู้หญิงยุคใหม่ ควรหันมาเรียน 

และอนาคต AI ในประเทศไทย จะถูกนำมาใช้เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยด้านอื่นๆ ดร.สุปิยา เผยว่า ปัจจุบันเริ่มคิดค้นพัฒนาเพื่อวินิจฉัยโรคต่างๆ เช่น อ่านผล x-ray ปอด หรือ screening เบาหวานขึ้นตา โดยทีมจะนำ AI มาช่วยคุณหมอเฉพาะทางในการตัดสินใจแนวทางรักษา เช่น โรคหัวใจในเด็ก สำหรับเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ เช่น เด็กอ้วน เด็กผอม เด็กเตี้ย ก็จะนำ AI มาออกแบบโปรแกรมการกินและการออกกำลังกาย โดยอิงตามความชอบและพฤติกรรมของเด็ก

“ยุคปัจจุบัน AI จำเป็นมาก จริงๆ แล้ว AI เห็นอยู่ทั่วไปในทุกอย่าง เข้ามาในทุกวงการ แม้กระทั่งของเล็กๆ น้อยๆ รถที่จอดได้เอง ตอนนี้ผู้หญิงรุ่นใหม่ สนใจเรียน AI มากขึ้น เพราะการเรียน coding ก็สนุกสำหรับผู้หญิงได้เหมือนกัน ต่อไปองค์ความรู้ต่างๆ จะถูกนำมาพัฒนาก็จะเกิดผลงานต่างๆ ที่อัจฉริยะมากขึ้น” 

นอกจากนี้ ดร.สุปิยา ได้ฝากถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ หากอยากประสบความสำเร็จในชีวิตให้หาตัวเองให้เจอว่าชอบอะไร จงอย่าทำงานไปวันๆ เพราะสุดท้ายจะหมดไฟ ให้พาตัวเองไปเจอพันธมิตรใหม่ๆ ได้โจทย์มาทำวิจัยจริงๆ ไม่เช่นนั้นงานวิจัยจถูกขึ้นหิ้ง ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ใดๆ  

"อย่าหวังแค่เขียน paper เพื่อเลื่อนตำแหน่ง การได้เจอพันธมิตรใหม่ๆ เราอาจไปเจออะไรที่เติ้มเต็มเราได้มากกว่า ได้ทำประโยชน์ให้คนอื่น และส่วนรวมได้ มันจะทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเราเอง ซึ่งจะเป็นความสุขที่ยาวนานและถาวร" 

ได้รู้จักแนวคิดและวิธีการทำงานของ ดร.สุปิยา แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกเช่นเดียวกับมาดามริชชี่ว่า ในการทำงานใดๆ ถ้าไม่ท้อหรือเลิกล้มความตั้งใจ และค้นพบตัวตนของตัวเอง แล้วเดินตามฝัน ความสำเร็จเกิดขึ้นในชีวิตแน่นอน

ผู้เขียน : มาดามริชชี่

กราฟิก : sathit chuephanngam