ถ้าไม่มีโควิด-19 ยุคนี้คงจะเรียกได้ว่าเป็นยุคทองแห่งการจัดคอนเสิร์ต เป็นยุคที่อุตสาหกรรมการแสดงดนตรีสดทั่วโลกกำลังพุ่งทะยาน แต่ใครจะไปคิดว่าสถานการณ์จะหักมุม ดิ่งลง “ศูนย์” ไม่ทันตั้งตัวทั่วโลก

เมื่อการรวมตัวกันกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ทำให้อุตสาหกรรมการแสดงคอนเสิร์ตและงานอีเวนต์ต่างก็บาดเจ็บหนักไปตามๆ กัน จากเดิมที่เคยวาดฝันถึงอัตราการเติบโตของรายได้ต่อปี 3.33% จากปี 2561-2566 โดยในปี 2566 คาดว่าทั่วโลกจะขายตั๋วชมคอนเสิร์ตได้ถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 7.8 หมื่นล้านบาท

ตามแผนการเดิมในปีนี้ เมืองแห่งดนตรีอย่าง “กรุงเทพมหานคร” จะมีงานคอนเสิร์ตทั้งศิลปินไทยและเทศรวม 14 งาน แต่เมื่อโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ทำให้คอนเสิร์ตทั้งหมดถูกเลื่อน โดยมีศิลปิน 2 กลุ่มขอ “ยกเลิก” ส่งผลกระทบต่อรายได้กว่า 2,500 ล้านบาท ที่คาดว่าจะสดใสในปี 2563

แม้แต่บริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Live Nation ที่รับจัดคอนเสิร์ตและขายตั๋วให้กับศิลปินดังทั่วโลกยังประสบปัญหาเดียวกัน ผลประกอบการในไตรมาสที่สองลดลงถึง 98% เทียบกับช่วงเดิมปีที่แล้ว เพราะในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนของทุกปี จะเป็นช่วงเทศกาลดนตรี จัดมหกรรมคอนเสิร์ตสุดยิ่งใหญ่ เคยมีรายได้จากการขายตั๋วไตรมาสสอง 371 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย 1.1 หมื่นล้านบาท พอมาปีนี้ บริษัท Live Nation นอกจากขายตั๋วไม่ได้แล้ว ยังต้องควักเนื้อในการจัดการธุรกิจอีก 87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 2,700 ล้านบาท สาเหตุเพราะคอนเสิร์ตถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไป

...

แต่แน่นอนว่า บริษัทอีเวนต์ ศิลปิน ค่ายเพลง และคนร่วมอุตสาหกรรมการจัดคอนเสิร์ตย่อมมีการปรับตัวไปตามสถานการณ์ เพื่อประคองให้ธุรกิจของตัวเองยังไม่ล้มหายตายจากไปในช่วงวิกฤติครั้งใหญ่นี้ ด้วยการรังสรรค์งานคอนเสิร์ตออกมาเป็นรูปแบบใหม่ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งช่วยหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมไปพลางๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual) อย่าง AR และ VR รวมถึงมิวสิกสตรีมมิง หรือการรับชมดนตรีบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้เข้ามาเป็นตัวช่วยในการจัด “คอนเสิร์ตออนไลน์” สร้างสีสันและประสบการณ์การรับชมดนตรีแบบใหม่ ทั้งยังได้กลุ่มผู้ชมจากทั่วโลก จากรายงานของ Live Nation ในไตรมาสสอง มีแฟนเพลง 67 ล้านคน เข้าชมคอมเสิร์ตและเทศกาลดนตรีออนไลน์กว่า 18,000 งานทั่วโลก

สิ่งที่เปลี่ยนไปหลังเชื้อไวรัสระบาด คือ อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกมองโอกาสในการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในช่วงมาตรการปิดเมือง เราได้เห็นศิลปินหลากหลายสัญชาติพากันสตรีมการแสดงดนตรีสดผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและมิวสิกสตรีมมิง เพื่อพูดคุยกับแฟนเพลง จัดมินิคอนเสิร์ต จนกระทั่งออกแบบงานคอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งใหญ่ โดยนำเทคโนโลยีเสมือนจริง AR และ VR มาสร้างบรรยากาศ ธีมการแสดงบนเวที เรียกได้ว่า “ทุ่มทุนสร้างแบบจัดเต็ม” เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกสมจริงมากที่สุด

เสียงตอบรับจากการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเลย เพราะมีแฟนเพลงที่ต้องการดูคอนเสิร์ตของศิลปินที่ชื่นชอบไม่ว่าจะผ่านช่องทางไหน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ จากตัวเลขรายได้การแสดงล่าสุดของนักร้องคันทรี “Tim McGraw” ในคอนเสิร์ตออนไลน์ “Here On Earth” โดยมิวสิกสตรีม Maestro จำหน่ายตั๋วที่ราคา 15 เหรียญสหรัฐฯ

ซีอีโอของบริษัทมิวสิกสตรีม Ari Evans ให้ข้อมูลว่า โดยปกติแล้วไลฟ์คอนเสิร์ตจะมีผู้ชมประมาณ 0.5% - 2% จากกลุ่มผู้ติดตามอินสตาแกรมของศิลปิน 2.7 ล้านคน หากลองคำนวณผู้ติดตามของ Tim จำนวน 0.5% - 2% ที่ดูคอนเสิร์ต แล้วเก็บค่าตั๋ว 15 เหรียญสหรัฐฯ การจัดคอนเสิร์ตออนไลน์จะสร้างรายได้ตั้งแต่ 200,000 ถึง 810,000 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่เขาทัวร์คอนเสิร์ตปกติจะได้ 916,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อการแสดง

คอนเสิร์ต ไดร์ฟ-อิน ไม่คุ้ม จัดแล้วเจ๊ง..

ในช่วงโควิดระบาดนี้ นอกจากโรงหนังไดร์ฟ-อิน กลับมาฮิตกันอีกครั้งในหลายประเทศ ยังมีคนนำแนวคิดนี้มาประยุกต์เป็นการจัดคอนเสิร์ตแบบไดร์ฟ-อิน เพื่อให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมโดยใช้ตัวรถเป็นขอบเขต

ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดคอนเสิร์ตรูปแบบนี้ เพื่อเป็นการขอบคุณหมอและพยาบาล กลุ่มแนวหน้าที่ต้องรับมือโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา จากนั้นก็มีการจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบไดร์ฟ-อิน ในสถานที่อื่นๆ ด้วย

คีธ เออร์บัน และ ดีเจ ดี-ไนซ์ ถือเป็นหนึ่งในศิลปินชื่อดังกลุ่มแรกที่จัดแสดงคอนเสิร์ต ไดร์ฟ-อิน ในสหรัฐฯ

“ผมเชื่อว่า นี่แหละเป็นหนทางของการจัดคอนเสิร์ตในยุคนี้และในอนาคต ปกติถ้าผมแสดงในคลับหรืองานอีเวนต์ ผมจะรับรู้พลังงานที่ผู้ชมปล่อยออกมา พอเป็นคอนเสิร์ตในรูปแบบนี้ก็เลยขอให้คนดูบีบแตรให้ เป็นช่วงเวลาที่เราได้พูดคุยตอบโต้กัน” ดี-ไนซ์ กล่าว

การจอดรถเพื่อดูคอนเสิร์ตเป็นช่องทางใหม่ที่จะจัดงานคอนเสิร์ตอีกครั้งโดยไม่ละเมิดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะที่ จิมมี วาร์กัส หนึ่งในทีมผู้จัดงานคอนเสิร์ตไดร์ฟ-อิน เล่าว่า มีจุดที่ต้องคำนึงในการจัดงานคือ ต้องจอดรถเว้นให้ห่างกันประมาณ 2 เมตร ในกรณีที่ผู้ชมลดกระจกลง และจัดงานภายในหนึ่งชั่วโมงเพื่อให้คนดูไม่จำเป็นต้องลุกไปเข้าห้องน้ำ โดยจะมีวิธีกระจายเสียงไปยังคลื่นวิทยุบนรถอย่างทั่วถึง มีการแจกหน้ากากอนามัยเมื่อขับรถเข้ามา และขึ้นป้ายไฟ “ขอความกรุณาให้อยู่แต่บนรถ”

...

จิมมี กล่าวว่า “มันเป็นการเปิดประสบการณ์ดนตรีแบบใหม่ของผู้คนในเมือง”

ไม่นานมานี้ในไทยเองก็มีการจัดคอนเสิร์ตบนรถให้เห็น แต่เป็นการจัดบนรถ “ตุ๊กๆ” ที่จอดเว้นระยะห่างไว้แล้วให้คนมางานเลือกจับจองที่นั่ง ถือเป็นการสร้างสรรค์งานคอนเสิร์ตที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย และยังเอาชนะปัญหาเรื่องอากาศร้อนจัดในไทยได้อีกด้วย

แต่ดูเหมือนว่าหลังจากที่ได้ทดลองจัดคอนเสิร์ตไดร์ฟ-อิน ฝ่ายผู้จัดงานทุกที่มีความเห็นตรงกันว่าวิธีการจัดคอนเสิร์ตแบบนี้มัน “เข้าเนื้อ” ตัวเองซะมากกว่า เพราะการเว้นระยะห่างทำให้จำนวนผู้ร่วมงานมีจำกัด และการตั้งราคาค่าตั๋วสูงก็จะยิ่งลดจำนวนผู้ชมที่จ่ายไหว การจัดคอนเสิร์ตไดร์ฟ-อินจึงอาจจะหายไปเหมือนกับที่โรงหนังไดร์ฟ-อินเลิกฮิตนั่นแหละ

แกะรอยพฤติกรรมคนดูคอนเสิร์ต หาทางออกป้อง “โควิด-19”

มหาวิทยาลัย Halle ได้ทำการวิจัยศึกษาพฤติกรรมการแพร่กระจายของโควิด-19 เพื่อหาแนวทางป้องกันการแพร่เชื้อในคอนเสิร์ต โดยเปิดโอกาสให้แฟนเพลงในเมืองไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี กว่า 1,500 คน เข้าร่วมชมคอนเสิร์ต Tim Bendzko แต่มีข้อแม้คือ กลุ่มตัวอย่างจะได้รับหน้ากากอนามัย เจลล้างมือที่ใส่สารฟลูออเรสเซนซ์ หรือสารเรืองแสง เพื่อ “สะกดรอยตาม” พื้นผิวต่างๆ ที่ถูกสัมผัสบ่อยครั้ง และ "เครื่องจับเคลื่อนไหว" เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่จับสัญญาณการเคลื่อนไหว เพื่อศึกษาดูพฤติกรรมของแต่ละคนในช่วงระหว่างการแสดงคอนเสิร์ตว่ามีการใกล้ชิดกันในสถานที่และช่วงเวลาใดเป็นพิเศษ

...

นักวิจัยคาดว่าจะใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อหาหนทางให้กิจกรรมอีเวนต์ขนาดใหญ่กลับมาจัดงานอีกครั้งอย่างปลอดภัยมากขึ้น ศาสตราจารย์ Michael Gekle คณบดีคณะแพทยศาสตร์ สาขาสรีรวิทยา จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน อธิบายว่า การวิจัยครั้งนี้เพื่อเตรียมการให้พร้อมมากที่สุดเพื่อจะได้รู้วิธีการป้องกัน ก่อนจะมีการจัดอีเวนต์ใหญ่ในช่วงสิ้นปีนี้

"เราแบกรับมาตรการปิดเมืองไม่ไหวอีกต่อไป เราจึงต้องเก็บข้อมูลสำคัญในตอนนี้เพื่อการคาดการณ์ที่ถูกต้องในอนาคต ยังไงซะการใช้ชีวิตธรรมดาทุกวันก็ไม่ได้แปลว่าคุณมีความเสี่ยงเท่ากับศูนย์ เราอยากทำงานวิจัยนี้เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล เมื่อต้องเลือกว่าควรอนุญาตให้มีการจัดอีเวนต์ต่อไปหรือไม่ หากเกิดการแพร่เชื้อในงานจะสามารถคาดการณ์ได้ว่าการระบาดจะหนักแค่ไหน เพื่อสรุปว่าเมืองพร้อมจะจัดคอนเสิร์ตในปลายปีนี้หรือไม่" Michael กล่าว

การทดลองจะกำหนดให้กลุ่มตัวอย่างทำตามสามสถานการณ์ที่กำหนดไว้แตกต่างกัน..

แบบที่หนึ่ง จำลองการไปคอนเสิร์ตก่อนการระบาด ให้ทุกคนทำตัวตามปกติเหมือนตอนที่ไปคอนเสิร์ตเมื่อปีที่แล้ว ก่อนโรคระบาดจะอุบัติขึ้น

...

แบบที่สอง จำลองคอนเสิร์ตระหว่างสถานการณ์การระบาด ให้ทุกคนใส่ใจเรื่องสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และแบบสุดท้าย ทำเหมือนกัน แต่ลดจำนวนผู้ร่วมงานลง

นักวิจัยเชื่อว่านี่คือ การทดลองที่ใหญ่ที่สุดครั้งแรกในยุโรป แต่ผลการวิจัยครั้งนี้ก็ยังมีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถสรุปวิธีการแพร่เชื้อได้ทุกสถานการณ์ ซึ่งผลลัพธ์ของการแพร่ระบาดของโรคจะเปลี่ยนไปถ้าอยู่ในสถานการณ์งานอีเวนต์ต่างกัน พฤติกรรมของผู้มาคอนเสิร์ตต่างกัน เช่น ถ้าในงานอนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการทดลองครั้งนี้จะมีการควบคุมตัวแปรหลายอย่าง แต่นอกจากงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว นักวิจัยก็พยายามสร้างบรรยากาศภายในงานคอนเสิร์ตก็ทำให้เหมือนปกติที่สุด

จากการให้สัมภาษณ์ของกลุ่มตัวอย่างในการทดลอง ทำให้รู้ว่าการใช้ชีวิตในปัจจุบันของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปมากหลังเกิดการระบาดของโควิด-19

นักร้องในงาน Tim Bendko กล่าวว่า "นี่เป็นเสียงปรบมือของจริงจากแฟนเพลงที่ผมไม่ได้ยินมาหลายเดือน บรรยากาศแบบนี้มันดีมาก ทำให้เกือบรู้สึกว่ามันคือคอนเสิร์ตจริงๆ ผมหวังว่าเราจะได้เล่นคอนเสิร์ตของจริงในเร็ววันข้างหน้า แต่ผมก็เข้าใจว่าเราต้องอาศัยอยู่กับไวรัสและต้องแบกรับความเสี่ยงในการจัดงาน"

ส่วนผู้ร่วมทดลอง แฟนเพลงสาววัย 20 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า "บรรยากาศมันดีมาก เราสนุกไปกับเสียงเพลง มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากเมื่อได้ฟังเพลงสดหลังจากที่ห่างหายไปนาน 6 เดือน"

ยังมีสาววัย 26 ปีที่มากับสามี เธอบอกว่า "มันเป็นความรู้สึกที่บ้ามาก ในช่วงการจำลองการจัดคอนเสิร์ตแบบก่อนมีโรคระบาด ที่พวกเรานั่งใกล้กันได้ ฉันรู้สึกผิดแปลกที่พวกเรานั่งอยู่ใกล้กันมาก เราคิดว่านี่เป็นความฝันรึเปล่า เพราะเราไม่ได้รับอนุญาตให้นั่งชิดกันขนาดนี้ หลังจากที่คอนเสิร์ตดำเนินต่อไป ฉันก็รู้สึกดี ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเรากำลังดูคอนเสิร์ตแบบสด"

เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อจริงๆ นั่นแหละ ที่ตอนนี้การได้นั่งใกล้ชิดกันในที่สาธารณะกลายเป็นความรู้สึกแปลกไปแล้ว

ในขณะเดียวกันภูมิภาคอื่นที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มผ่อนคลายและรับมือไหว ก็เริ่มกลับมาทดลองจัดคอนเสิร์ตแบบกลางแจ้งโดยสร้างพื้นที่เพื่อการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันของตัวเอง และตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้างาน

ส่วนในประเทศไทยที่ตอนนี้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไม่น่ากังวลแล้ว ก็คาดว่าจะได้เห็นคอนเสิร์ตของศิลปินไทยที่เลื่อนมาจัดช่วงครึ่งปีหลังนี้กลับมาโปรโมตงานกันอีกครั้ง แต่ยังเข้มงวดเรื่องการเว้นระยะห่างและเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคระบาดของรัฐ หมายความว่าในฮอลล์คอนเสิร์ตจะยังไม่สามารถจุคนได้เต็มที่ แม้ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมเพลงจะเริ่มฟื้นตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ยังไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ 100%.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน