ปัง! เสียงปืน 1 นัด ดังขึ้นที่บ้านพักกลางป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ห้วยขาแข้ง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533 ทำให้สังคมไทยขาดหายบุรุษที่ลุ่มหลงรักธรรมชาติมากที่สุด

ครบ 30 ปีแล้ว ที่ “สืบ นาคะเสถียร” ลาลับ แต่ผืนป่าของทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้ง ก็ยังคงเขียวขจี เป็นมรดกโลกอยู่คู่กับประเทศไทย

ไม่แน่ถ้าวันนั้น “สืบ” ไม่ใช้ชีวิตแลก ผืนป่าตะวันตกที่อุดมด้วยธรรมชาติ พงไพร และสัตว์ป่า อาจไม่เป็นดังเช่นทุกวันนี้

แต่...ที่มันยังคงอยู่ได้ เพราะมีคนสานต่อ “ปณิธาน” ของ “สืบ” อยู่นี่เอง

ถามว่า 30 ปีแล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คำตอบที่ได้คือ “มันก็ทรงๆ”

นี่คือคำตอบจาก “เพื่อน” ที่ชื่อ “จิระนันท์ พิตรปรีชา” เจ้าของรางวัลกวีนิพนธ์ “ใบไม้ที่หายไป” จนได้รับรางวัล “ซีไรต์” ในปี 2532 ที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยใน “วันมหาวิปโยค” 14 ตุลาคม 2516

เธอเป็นถึงอดีตดาวจุฬาฯ อดีตภรรยา นักคิดนักเขียน “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ แต่ถ้าพูดถึงคนรุ่นใหม่ คงไม่มีใครไม่รู้จักลูกชายของเธอ ก็คือ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล”

ปัจจุบัน “จิระนันท์” ดำรงตำแหน่งกรรมการในมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้บอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปในการทำงานด้านอนุรักษ์ และในช่วงชีวิตหนึ่งก็เคยล้อมวงกินข้าว ปรับทุกข์กับ “สืบ นาคะเสถียร” ท่ามกลางพงไพร นอนหลับในป่าเขา

...

จี๊ด จิระนันท์ บอกเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้เจอกับคุณสืบ ก่อนที่ฮีโร่ผืนป่าจะลาลับ 1 ปี หรือช่วงปี พ.ศ.2532 หลังออกจากป่าแล้วหลายปี และพวกเรา “เหล่าสหาย” ได้กลับมารำลึกถึงการใช้ชีวิตอยู่ในป่ายาวนานถึง 5 ปี ซึ่งการหวนคืนป่าอุทยานแห่งชาติห้วยขาแข้ง ก็เพราะมีความหลังยังค้างความทรงจำในช่วงสุดท้ายก่อนจะตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตปกติ

“ที่นี่คือ สถานที่ที่เรากับอาจารย์เสก (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) ลงมามอบตัว เมื่อปี 2523 เรารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ “สมชาย ปรางนาค” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขณะนั้น เขาพาเราขึ้นรถ เอาผ้าขาวม้าให้ห่มปิดบังใบหน้า แฝงตัวเป็นชาวบ้าน พาพวกเราไปส่งกับ ผู้ว่าฯ การที่เราต้องปลอมตัวเป็นชาวบ้าน เพราะเส้นทางที่ต้องผ่าน คือค่าย ตชด. เรียกว่า วันนั้นเป็นวันที่เราออกจากป่าหลังอยู่มานาน 5 ปี ซึ่งกลุ่มพวกเราไม่ได้อาศัยอยู่ห้วยขาแข้งนะ แต่อยู่ที่อุ้มผาง เรียกว่าต้องเดินเท้าเป็นเวลากว่า 10 วัน กว่าจะมาถึง ห้วยขาแข้ง เพื่อให้คุณสมชายพาเราลงมามอบตัว”

นี่คือความประทับใจ และมีความรู้สึกว่า..อยากจะทำอะไรเพื่อตอบแทนผืนป่าเขตนี้...

บรรยากาศวันนั้น ในปี 2532 หลังแคมป์ปิ้งกันเสร็จ กำลังจะเข้านอนในเวลา 3 ทุ่ม แต่...จู่ๆ หัวหน้าสืบฯ ขับรถกลับเข้ามาจากราชการด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เหมือนดีใจที่พบอะไรบางอย่าง จากนั้นก็มาเคาะประตู เรียกพวกเรา 20 กว่าคน...

คุณสืบบอกว่า “มีอะไรอยากจะให้ดูกัน...”

คุณสืบพาพวกเรามาดูภาพสไลด์ ซึ่งเป็นภาพสัตว์นานาชนิด ทั้ง เสือ กระทิง และอื่นๆ พร้อมพูดคุยบรรยายเรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ซึ่งตอนนั้นแทบไม่มีใครรู้จัก “ความหลากหลายทางชีวภาพ” มาก่อน

คุณสืบ พูดคุยกับ อาจารย์เสก และพวกเราอย่างออกรส

“ตอนนั้นประทับใจมาก สามทุ่มแล้ว สำหรับค่ำคืนในป่า มันเป็นเวลาที่ดึกมาก แต่คุณสืบเรียกมาดูสไลด์” จิระนันท์ หัวเราะเสียงดัง ภาพในหัววันวานคืนกลับมาให้ระลึกถึง

จิระนันท์ รู้สึกว่า คุณสืบเป็นคนที่จริงจัง มีไฟ จิตวิญญาณในการทำงาน ถือเป็นนักวิชาการที่รักธรรมชาติและสัตว์ป่าจริง...

สืบ นาคะเสถียร
สืบ นาคะเสถียร

...

อาจารย์เสก คุยกับคุณสืบว่ามีอะไรให้ช่วย คุณสืบพูดถึงความยากลำบากของ “เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า” คนคนเดียวต้องรับผิดชอบนับ 10 ตร.กม. ของกินแทบไม่ค่อยมี ส่วนของติดตัวมีเพียงผ้าขาวม้า ปืนเก่าๆ และใส่รองเท้าแตะ

“บางครั้งเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ออก ผมต้องขับรถไปยืมเงินพ่อที่ปราจีนบุรีมาให้ก่อนเลย” นี่คือคำพูดของสืบที่เล่าในวงแคมป์ปิ้ง ซึ่งยังก้องในหูยันทุกวันนี้..

อืม...คือฟังแล้วรู้ว่า “โคตรอนาถ” จิระนันท์ นึกย้อนไปถึงกับสบถออกมา

หลังจากวันนั้นพวกเรากลับกรุงเทพฯ เราระดมคนจัด “คอนเสิร์ตคนรักป่า” ศิลปินดังๆ สมัยก่อน ทั้ง แอ๊ด คาราบาว ศุ บุญเลี้ยง วงโฮป และอื่นๆ จัดงานที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้เงินมากว่า 2 แสนบาท แต่พอจะเอาเงินไปให้ก็รับเงินไม่ได้อีก ต้องนำเงินสดไปเข้าส่วนกลาง ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการลิสต์รายการที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้อยากได้ คือ ผ้าขาวม้า 50 ผืน รองเท้าผ้าใบ กางเกงสีกากีไซส์ต่างๆ

“ถามว่าเค้ายากจนข้นแค้นแสนสาหัสหรือเปล่า ก็เรียกว่าไม่ถึงขั้นนั้น แต่เขาขาดแคลนอุปกรณ์การทำงาน ยารักษาโรค ไม่มีสวัสดิการใดๆ” แต่หลังจากนำสิ่งของมามอบให้ จากนั้นอีกไม่นาน ก็มีโอกาสได้คุยกันอีกครั้ง ก่อนที่แกจะเสีย

...

“แกมานั่งบ่นให้ฟังเรื่องงาน การจับกุมคนร้าย แล้วก็มีคนมาช่วยคนผิด..จากนั้นไม่กี่สัปดาห์ เสียงปืนก็ดังขึ้นกลางป่า แกก็จากไปไม่มีวันกลับ”

การที่จิระนันท์ เลือกที่จะมาทำงานด้านอนุรักษ์ เธอเล่าให้ฟังว่า อยากให้คนตระหนักและรู้คุณค่าของป่า ตอนที่เราอาศัยอยู่ในป่า 5 ปี ทำให้เรามีความคิดด้านอนุรักษ์อยู่แล้ว แต่การที่เราได้เจอกับคุณสืบ ได้พูดคุย “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ทำให้เราแน่วแน่ และชัดเจนในการทำงานมากขึ้น รู้อะไรมากขึ้น ไม่ใช่สักแต่อนุรักษ์โดยที่ไม่รู้ เราได้รู้ว่าผู้พิทักษ์ป่าทำงานหนักแค่ไหน มีศักยภาพเพียงใด สิ่งที่เราทำตรงนี้อย่าเรียกว่าเป็นนักวิชาการเลย เพราะไม่ถึง เราทำได้แค่เป็นเชียร์ลีดเดอร์ด้านสิ่งแวดล้อม” นักเขียนซีไรต์หญิง เจ้าของผลงาน บทกวีใบไม้ที่หายไป กล่าว

สิ่งที่คุณสืบเป็นห่วงก็คือเรื่องธรรมชาติและสัตว์ป่า ด้วยที่เขาเป็นนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เขาตระหนักและรู้ก่อนว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับโลกเรา เช่น ภัยแล้ง มลพิษในอากาศ น้ำท่วมฉับพลัน คุณสืบพูดถึงเรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ในวันที่พวกเรายังไม่รู้เรื่องเลยว่ามันคืออะไร ดังนั้นสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องดูแลคือรักษาป่าและสัตว์ป่าไว้...ซึ่งคุณสืบก็อยากจะทำให้ป่าห้วยขาแข้งเป็นโมเดลให้กับป่าอื่นๆ

จิระนันท์ พิตรปรีชา เจ้าของรางวัลกวีนิพนธ์ “ใบไม้ที่หายไป”
จิระนันท์ พิตรปรีชา เจ้าของรางวัลกวีนิพนธ์ “ใบไม้ที่หายไป”

...

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องของการอนุรักษ์ป่า ถือว่าดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก โดยหน่วยงานทางราชการ และหน่วยงานสายอนุรักษ์ได้ร่วมมือกันอย่างดีในการดูแลป่า ราชการ มีการจัดการเรื่องการเข้าออกป่าอย่างเป็นระบบ มีการห้ามล่าสัตว์ ห้ามเข้าป่าบางช่วงเวลา ป่าไหนเข้าได้ ป่าไหนต้องห้าม

“เดี๋ยวนี้เจ้าหน้าที่ดูแลป่า เขามีเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น นอกจากมี เครื่องแบบแล้ว ยังมีอุปกรณ์ให้ใช้” กวีซีไรต์ ปี 2532 กล่าวจบพร้อมกับอมยิ้ม 

ปัจจุบัน ปัญหาของป่ายังมีอยู่มาก กำลังคนที่มีไม่เพียงพอ ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่มูลนิธิสืบฯ จะเร่งทำคือการสร้างเครือข่ายในการดูแลรักษาป่า ที่ผ่านมา ภาครัฐมีการเปิดป่าชุมชน ให้ชาวบ้านทำประโยชน์ได้ เราจึงก่อตั้งเครือข่ายป่าชุมชน ซึ่งมีสมาชิกนับหมื่นคน โดยมีมูลนิธิสืบฯ คอยให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในด้านการอนุรักษ์ดูแลป่า ดูภาพรวมเหมือนมีเยอะ แต่คนของมูลนิธิสืบฯ จริงๆ มีประมาณแค่ 30 คน รวมกับคนที่กำลังต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ด้วย

ปัญหาสำคัญจริงๆ ที่มูลนิธิสืบฯ อยากจะไปคือ การหลุดพ้นปัญหาจาก “สิ่งที่ภาครัฐไม่ทำ" นั่นก็คือ “สวัสดิการของผู้พิทักษ์ป่า”

ทำไมทุกๆ ปี เราต้องมารณรงค์ขอเงินช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่า เพราะเป็นสิ่งที่ภาครัฐไม่ทำ ไม่ดูแลพวกเขาให้ดี 30 กว่าปีแล้ว “ราชการ” ก็ยังดูแลพวกเขาไม่ได้ดี (เหมือนเคย) สาเหตุเพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ใช่ราชการ เป็นแค่ “ลูกจ้างรายวัน” แต่กลับต้องตระเวนเดินไปตามป่า เสี่ยงตาย จับกุมบุคคลที่ทำผิดกฎหมาย

แต่ละปีคนเหล่านี้ต้องถูกยิงบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือแม้แต่เป็นไข้ป่าตายไป โดยไม่สวัสดิการจากทางภาครัฐช่วยเหลือ

“หลายวันก่อน เพิ่งจะมีข่าวว่าผู้พิทักษ์ป่าถูกยิงตาย หรือแม้แต่ทุนการศึกษาของบุตรของผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบฯ ก็ช่วยเรียนจนปริญญาตรี”

ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต จำนวน 18 ราย โดยส่วนมากเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและโรคประจำตัว ซึ่งมูลนิธิฯ ได้มอบเงินช่วยเหลือทุกราย ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ทางมูลนิธิ ได้มอบทุนการศึกษาให้กับบุตร เดือนละ 1,000 จนเรียนจบ

ศศิน เฉลิมลาภ
ศศิน เฉลิมลาภ

สำหรับภาพรวมของป่าไม้ของไทย ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้สรุปว่า หลังจากผ่านไป 30 ปี ที่สืบเสียชีวิต ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่ทั้งหมด 102.48 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 31.68% ของพื้นที่ประเทศ

ศศิน กล่าวว่า พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอยู่ในสถานะที่ทรงตัว มีเพิ่ม มีลด ในบางปี  

ในทรรศนะของประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มองว่า นโยบายของภาครัฐก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เช่น การเพิ่มพื้นที่เขื่อน เพิ่มการตัดถนนหนทาง จะเป็นสาเหตุให้พื้นที่ป่าลดลงไปจากที่มีอยู่

“สิ่งสำคัญในวาระ 30 ปี สืบ นาคะเสถียร คือธรรมาภิบาลของการรักษาป่า คนทำงานต้องสร้างระบบตรวจสอบ ต้องเกิดการถ่วงดุลจากสาธารณชน องค์กร ช่วยกันดูแลรัฐบาลที่ว่าเข้ามาทำหน้าที่ได้ดีเพียงไร จะทำอะไรที่ก่อให้เกิดผลกระทบอีกหรือไม่ ซึ่งถ้าพื้นที่ป่าเกิดลดลงไปมากกว่านี้ ก็ต้องถือเป็นความล้มเหลวของทั้งรัฐบาลและสังคมไทยทั้งหมด” ศศิน กล่าว

ในขณะที่ สืบ นาคะเสถียร เคยพูดไว้ หลังเข้ามารับตำแหน่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งว่า...

“ถ้าเรามีพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดคือห้วยขาแข้งแล้วเรายังไม่รักษา แม้แต่กรมป่าไม้เองก็ยังไม่สนใจรักษา ก็อย่าหวังว่าจะรักษาที่อื่นให้รอดได้”

ผู้เขียน : อาสาม

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun