เมื่อ 'ตลาดหุ้น' กลายเป็นสนามที่ท้าทายนักลงทุน ท่ามกลางพิษร้ายโควิด-19 และไฟการเมืองที่ลุกลาม จับตาทิศทางและ 'ตัวไหน' ที่ยังปลอดภัยในภาวะเช่นนี้...
ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา เราได้พบปรากฏการณ์ 'ตื่นทอง' ที่เป็นผลจากการหนีเข้า SAFE HAVEN ของบรรดานักลงทุนที่หวาดผวา 'ตลาดหุ้น' จนทำให้ราคาทะยานทะลุ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เป็นประวัติศาสตร์
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในปัจจัยหลักที่มีผลต่อการตอบสนองของ 'ตลาดหุ้น' ก็คือ การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 (COVID-19) ที่หากย้อนดูตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อยืนยัน/เสียชีวิต และข้อมูลผลตอบแทนตลาดหุ้นของ 64 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่ 22 มกราคม ถึง 17 สิงหาคม จะพบ 'ความสัมพันธ์' ที่น่าสนใจว่า "เมื่อใดก็ตามที่ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันมีการเติบโตขึ้น ตลาดหุ้นจะมีการตอบสนองไปในทิศทางลบทันที"
ที่สำคัญยังมีจุดที่น่าสนใจว่า 'ตลาดหุ้น' จะมีปฏิกิริยากับการเติบโตของตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันมากกว่าการเติบโตของตัวเลขผู้เสียชีวิต
โดยจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่าจากพิษโควิด-19 ทำให้มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทย ไตรมาสแรก ปี 2563 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2562 เกือบ 28% หรือสูญไปกว่า 5 ล้านล้านบาท
ไม่เพียงเท่านั้น อีกปัจจัยที่มีส่วนสั่นคลอนความเชื่อมั่นนักลงทุนก็คือ 'ไฟการเมือง' ที่กำลังร้อนแรง
จาก 2 ปัจจัยนี้ ทำให้ 'ตลาดหุ้น' มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง เรามาลองแกะรอยย้อนดูในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมากัน ...ก่อนที่จะไปเสาะแสวงหา 'หุ้น' ที่ยังปลอดภัย
แน่นอนว่า 'วัคซีน' ยังเป็นความหวังของทุกคน ที่ไม่เพียงในแง่สาธารณสุข แต่ ตลาดหุ้น ก็ด้วยเช่นกัน เพราะเพียงแค่มีข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ก็ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ดีดเพิ่มขึ้น 18.71 จุด ปิดที่ 1,377 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 64,234.77 ล้านบาท
...
ต่อมาเมื่อมีการประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดประยุทธ์ 2/2 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม แม้จะแรงซื้อเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังได้รับแรงกดดันและแรงขายทำกำไรจาก Sell on fact ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันที่เพิ่มขึ้นในหลายๆ ประเทศ ก็ทำให้ดัชนีหุ้นไทยปิดลบ 4.13 จุด อยู่ที่ 1,333.22 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 55,061.19 ล้านบาท
และหลังจากปิดลบต่อเนื่องหลายวัน พอมาวันที่ 13 สิงหาคม ตลาดหุ้นไทยก็กลับมาเคลื่อนไหวแดนบวกตลอดทั้งวัน จากข่าวดี 'รัสเซีย' ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,346.69 จุด เพิ่มขึ้น 9.85 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 77,812.76 ล้านบาท
แต่เพียงไม่นานมาวันที่ 19 สิงหาคม ดัชนีหุ้นไทยก็ดิ่งหนัก เกือบหลุดกรอบ 1,300 ต่ำสุดอยู่ที่ 1,301.97 จุด มีการเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงบ่ายที่มีแรงเทขายอย่างหนัก หลัง 'กรมควบคุมโรค' ได้รับรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่เคยอยู่ State Quarantine ครบกำหนด 14 วัน และเมื่อออกมาใช้ชีวิตปกติได้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปิดลบ 21.44 จุด อยู่ที่ 1,308.67 จุด มูลค่าซื้อขาย 57,283.62 ล้านบาท
ก่อนจะหลุดกรอบ 1,300 ในวันต่อมา (20 ส.ค.) ที่ยังแรงกดดันจากรายงานการพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,296.79 จุด ลดลง 11.88 จุด มูลค่าซื้อขาย 49,084.96 ล้านบาท
จากนั้น 2 วันถัดมา ก็เริ่มกลับมาเคลื่อนไหวในแดนบวก โดยวันที่ 24 สิงหาคม มีแรงซื้อหุ้นใหญ่หนุน รวมถึงแรงซื้อเก็งกำไรจากฟุตซี่รับน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทย (มีผลบังคับใช้ 18 ก.ย.) และการคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ครม.ชุดใหม่ ส่งผลให้ปิดบวก 17.85 จุด อยู่ที่ 1,317.11 จุด มูลค่าซื้อขาย 57,078.23 ล้านบาท
และสัปดาห์สุดท้ายสิ้นเดือน วันที่ 28 สิงหาคม ตลาดหุ้นไทยมีการเคลื่อนไหวทั้งแดนบวกและลบ แม้ช่วงแรกจะมีแรงหนุนจากความคืบหน้าอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่ช่วงบ่ายกลับมีแรงเทขายทำกำไร ทำให้ดัชนีหุ้นไทยพลิกลบ 3.50 จุด อยู่ที่ 1,323.31 จุด มูลค่าซื้อขาย 54,673.10 ล้านบาท
แล้วทิศทาง 'ดัชนีตลาดหุ้นไทย' จะเป็นอย่างไร?
จากการคาดการณ์ของบรรดา บล. แล้ว ประเมินกันไว้ว่า ช่วงสัปดาห์นี้จะมีแนวรับอยู่ที่ 1,310 จุด และแนวต้าน 1,335 จุด ซึ่งประเด็นที่ต้องจับตาหลักๆ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 53,786.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.73%
...
ส่วนทิศทาง 'หุ้น' แต่ละกลุ่มจะเป็นอย่างไร?
เปิดบทวิเคราะห์จาก กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)ฯ
กลุ่มธนาคารและประกัน: ปกติเป็นกลุ่มที่มีผลต่อบอนด์ยีลด์ที่เขยิบขึ้น ฉะนั้น เวลาที่บอนด์ยีลด์บวกขึ้นจะบวกต่อการเก็งกำไรในกลุ่มธนาคารและประกัน แต่ถามว่า "อะไรดูดีกว่า?" ตอบเลย "ประกันดูดีกว่า!" ผลคือ ภาพของกำไรประกันชีวิตเป็นขาขึ้นอยู่ ในขณะที่ กำไรของกลุ่มธนาคารเป็นขาลง กำไรในไตรมาส 2 แย่กว่าไตรมาส 1 กำไรในไตรมาส 3 แย่กว่ากำไรในไตรมาสที่ 2 กำไรในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ น่าจะยังแย่ที่สุดของปี ฉะนั้น กลุ่มธนาคารยังเดินหน้าไปสู่กำไรที่เลวร้ายกว่านี้ ลักษณะนี้การฟื้นกำไรของธนาคาร ที่เทคนิคคอลรีบาวน์ขึ้นได้ในขาลง แต่ไม่ใช่การปรับแนวโน้มไปเป็นขาขึ้นง่ายๆ แต่ถามว่า "ฟื้นได้ไหม?" ฟื้นได้ เพราะบอนด์ยีลด์หนุน และสถานะของนักลงทุนที่มีในกลุ่มธนาคารน่าจะน้อยมาก ถ้าเอาปลอดภัย เอาสบายใจ ก็ BBL เพราะว่า BBL เวลามีการเปลี่ยนแปลงยีลด์ ราคาหุ้นค่อนข้างมีการตอบรับตอบสนองที่ดี ขณะเดียวกันเชิงปัจจัยพื้นฐาน ผลกระทบที่จะเกิดมองว่ามีน้อยกว่าธนาคารอื่นๆ ส่วนกลุ่มประกัน ชอบหุ้นประกันภัยมากกว่าประกันชีวิต อย่าง TIP และ THRE ช่วงสั้นฟื้นได้หมด
...
กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี: เงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้เงินบางส่วนจะไหลเข้าเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันดิบได้ แต่ต้องดูด้วยว่า "คนเชื่อไหมว่าเศรษฐกิจดีจริง?" คิดว่าคนไม่เชื่อ คนคิดว่าเงินเฟ้อมา แต่ไม่ได้น่ากลัวมากนัก จะเกิน 2 บ้างก็นิดหน่อย นักลงทุนมองในเรื่องของการขึ้นของยีลด์ก็จริง แต่ไม่ได้เชื่อในเรื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ลักษณะแบบนี้ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีจะฟื้นได้ แต่ก็จะฟื้นแบบเหนื่อยๆ
กลุ่มโรงไฟฟ้า: ระยะสั้นอาจเป็นลบ เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นจะทำให้อัตราคิดลดสูงขึ้น จะส่งผลลบต่อการประเมินผลหุ้นในกลุ่มไฟฟ้าและกลุ่มที่ซื้อขายที่แพง เพราะฉะนั้น ระยะสั้นระวังนิดนึงว่าหุ้นที่แพงอาจเหวี่ยงได้ไกลเลย
กลุ่มสื่อสาร/กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/กองรีทส์: จริงๆ แล้วพวกนี้มีลักษณะที่คล้ายพันธบัตรนิดนึง ซึ่งการขึ้นของพันธบัตรเป็นลบกับการประเมินมูลค่าหุ้นในกลุ่มสื่อสาร/กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/กองรีทส์ แต่คิดว่าผลกระทบเชิงลบดังกล่าวน้อยมาก ขณะเดียวกันเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นพวกนี้ด้วย อย่างกองรีทส์และโครงสร้างพื้นฐานปัจจุบัน บางทีได้ 7% ในขณะที่ซื้อบอนด์ที่เป็นพันธบัตรจริงๆ อาจได้ 2-3% ถึงแม้ระยะสั้นจะทำให้กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากบอนด์ยีลด์ที่ขยับขึ้น แต่จะเป็นการลงที่เป็นโอกาสในการซื้อหุ้นกลุ่มนี้ โดย WHAUP เป็นตัวหนึ่งที่ชอบ
...
ภาพรวมแล้วการเก็งกำไรยังคงควรระวังความผันผวนระยะสั้นจากทิศทางค่าเงินสหรัฐฯ และผลตอบแทนพันธบัตรที่มีโอกาสปรับขึ้น โดยหุ้นแนะนำเก็งกำไรยังเป็น TIP, CRC, CPF และ TU
"ถ้าใครเก็งกำไรกลุ่มการบิน ผลจากสายการบินเข้าพบนายกรัฐมนตรี ภาพรวมก็อาจเป็นบวก แต่ถ้าเลือกเก็งกำไรจากกลุ่มนี้ก็ควรเลือกที่เป็นจ่าฝูง AAV มีโอกาสในการที่จะเป็นผู้ชนะของอุตสาหกรรมการบินหลังทุกอย่างกลับมาเป็นปกติแล้ว ซึ่งไม่ง่ายและไม่เร็ว ถ้าเก็งกำไรก็ต้องหลับตาเลือกไปข้างหนึ่งเลย".
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์