ความท้าทายของ 'ผู้นำสูงสุด' แห่ง 'เกาหลีเหนือ' กับ 'ข่าวลือ' สารพัดที่ถาโถม ท่ามกลางความตกต่ำทางเศรษฐกิจ และข้อกังขาจากนานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ไม่เชื่อว่าจะไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่รายเดียว

จากการเก็บตัวเงียบเมื่อหนก่อนของ 'คิม จอง อึน' ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ จนนำมาซึ่งเสียงซุบซิบ การส่งต่ออำนาจ ที่อาจใกล้เข้ามาแล้ว ซึ่งบุคคลที่ถูกจับจ้องมากที่สุดในเวลานั้นก็คือ 'คิม โย จอง' น้องสาวเขานั่นเอง

แต่พอมาหนนี้ กลับมี 'ตัวละคร' เพิ่มมาอีก 1 คน ที่นักวิเคราะห์จากหลายสำนักต่างคาดการณ์ว่า 'เขา' อาจก้าวขึ้นมาอยู่ระดับเดียวกับ 'คิม โย จอง' ในฐานะ 'ผู้ท้าชิง' ตำแหน่งผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือคนต่อไป

โดยก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับ ตัวละคร ที่ว่านั้น ลองมาไล่เส้นทางการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ผู้นำสูงสุด แห่งเกาหลีเหนือ เพื่อเทียบกันว่า ระหว่าง 'คิม โย จอง' กับ 'เขา' ใครมีโอกาสมากกว่ากัน?

ซึ่งนับตั้งแต่การก่อตั้ง 'เกาหลีเหนือ' หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการสืบทอดอำนาจ 'ผู้นำสูงสุด' เพียง 2 ครั้งเท่านั้น โดยระบบการส่งต่ออำนาจเป็นไปในรูปแบบจาก 'พ่อ' สู่ 'ลูกชาย' ทั้ง 2 ครั้ง เสมือนเป็น 'กฎตระกูลคิม'

เริ่มต้นที่ 'คิม อิล ซุง' ผู้นำสูงสุดคนแรกที่สถาปนาโดยสหภาพโซเวียต จากนั้นปี 2523 'คิม จอง อิล' ผู้เป็นลูกชาย ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงของพรรคแรงงานและกองทัพอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะขึ้นสู่ตำแหน่ง 'ผู้นำสูงสุด' ในปี 2537 เมื่อ 'คิม อิล ซุง' เสียชีวิต แต่แล้วเมื่อ 'คิม จอง อิล' สุขภาพแย่ลง ก็ถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ 'คิม จอง อึน' ในวัยเพียง 20 กลางๆ เท่านั้น ที่ก้าวสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2554 เมื่อ 'คิม จอง อิล' เสียชีวิต

...

และจาก 'ข่าวลือ' ที่แพร่สะพัดไปทั่วรอบใหม่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของ 'คิม จอง อึน' ก็เป็นที่จับตามองกันอีกว่า 'ทายาท' ที่จะสืบทอดตำแหน่ง 'ผู้นำสูงสุด' ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงจนถึงขั้นเลวร้ายที่สุดนี้ ...จะเป็นใคร? (แม้ว่าจะมีภาพแก้ต่างออกมายืนยันว่าแข็งแรงก็ตาม)

ซึ่งหากเป็นไปตาม 'กฎตระกูลคิม' ที่ส่งต่ออำนาจกันมา 2 ครั้งนั้น 'ผู้นำสูงสุด' คนต่อไปก็ควรจะเป็น 'ลูกชาย' ของ 'คิม จอง อึน'

เกิดเป็นคำถามต่อมาว่า "แล้ว 'คิม จอง อึน' มีลูกหรือไม่?"

เพราะตลอดที่ผ่านมา แม้แต่ 'สื่อท้องถิ่น' ก็ไม่เคยมีการรายงานหรือเอ่ยถึง...

จากการรายงานของ 'หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้' มีการประเมินว่า 'คิม จอง อึน' อาจมีลูก 3 คน โดยคนโตสุดอายุประมาณ 10 ขวบ และจากคำกล่าวเมื่อปี 2556 ของ 'เดนนิส ร็อดแมน' อดีตราชารีบาวน์และนักบาสเกตบอล บุคคลที่เคยมีโอกาสไปเยี่ยมเยือน 'คิม จอง อึน' ถึงแผ่นดิน 'เกาหลีเหนือ' ด้วยสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ที่ว่า เขาได้สวมกอด 'ลูกของผู้นำ' ไว้ในอ้อมแขน และลูกสาวมีชื่อว่า 'จู เอ' ก็ช่วยยืนยันได้ว่า 'คิม จอง อึน' มี 'ลูก' จริงๆ

หากเป็นไปตามที่ว่า การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง 'ผู้นำสูงสุด' ของลูกๆ 'คิม จอง อึน' ก็ดูจะเด็กเกินไปมากกับภาระหน้าที่ที่หนักหนานี้

ฉะนั้น สปอตไลต์จึงฉายไปที่ 'คิม โย จอง' น้องสาวของผู้นำสูงสุด

ส่วนเป็นไปได้ไหมที่ 'ผู้นำสูงสุด' จะมาจากครอบครัวอื่น?

อาจจะ...แต่ 'เครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อ' ก็จำเป็นต้องหาหนทางในการสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนแปลง 'เรื่องเล่า' ที่เป็นรากเหง้าของประเทศ ที่เรียกกันว่า 'สายเลือดเพ็กตู'

'เพ็กตู' เป็นชื่อภูเขาที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนระหว่างจีน มีความเชื่อกันว่าเป็น 'ตำนานแหล่งกำเนิด' ของชาวเกาหลี ซึ่งเล่าผ่านโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือต่อๆ กันมาว่าเป็นฐานที่มั่นกองกำลังนักรบของ 'คิม อิล ซุง' ในการก่อปฏิวัติ สืบต่อเรื่อยมาจากรุ่นสู่รุ่น สนับสนุนภาพลักษณ์ของ 'ตระกูลคิม' ให้เป็นดั่ง 'เซียน' ที่มีความยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์ บุคคลที่ถูกเลือกให้มาพิทักษ์ประชาชน
ไม่ง่ายเลย...สำหรับ 'คนนอก'

เอาละ! เมื่อเป็น 'คนนอก' นั้นยาก แล้วเราสามารถคัดค้านบุคคลที่จะขึ้นมาได้ไหม?

การก้าวสู่ตำแหน่ง 'ผู้นำสูงสุด' แห่งเกาหลีเหนือ เป็นที่พูดถึงกันมายาวนานจนถึงปัจจุบัน แต่นั่นก็แทบไม่มีพื้นที่สำหรับการ 'คัดค้าน' นั่นก็เพราะว่า ฝ่ายบริหารระดับสูงต่างรู้ดีถึงการรักษาสถานะ 'ชนชั้นนำ' ที่จะทำให้อยู่อย่างสุขสบาย และการจะรักษาเอาไว้ได้ พวกเขาก็จำเป็นที่จะต้องจงรักภักดีกับ 'ตระกูลคิม'

อ้อ! แต่ก็ใช่ว่าจะยินดี "ใช่ครับพี่! ดีครับผม!" ไปซะทุกคน ก่อนหน้านี้เคยมีคนออกมาตั้งคำถามอย่างเปิดเผยถึงคุณสมบัติของ 'ผู้นำสูงสุด' ซึ่งแน่นอนว่า การออกมาแสดงความเห็นย่อมมีความเสี่ยงทั้งต่อตัวเองและครอบครัวที่จะถูกห้อยป้ายสถานะ 'นักโทษการเมือง' (อย่างที่เราได้ยินข่าวกันมาเป็นระยะๆ)

...

หลายปีที่ผ่านมา...เราจึงเห็นภาพการ "อยู่เป็น" ของพวกเขาตามหน้าสื่อต่างๆ อยู่บ่อยๆ

จำเป็นไหมที่ 'ผู้นำสูงสุด' ต้องเป็นผู้ชาย?

บางทีอาจ "ไม่" ...หากว่าใน 'สังคมปิตาธิปไตย' แห่งนี้ 'สายเลือด' เหนือกว่า 'เพศ'

และถ้าเป็นไปตามนี้ 'คิม โย จอง' น้องสาวของผู้นำสูงสุด ก็เป็น 'ผู้ท้าชิง' ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะได้ตำแหน่งไป ที่หากพิจารณาในหลายๆ แง่แล้ว 'คิม โย จอง' บุคคลที่ใช้เวลาเกือบทศวรรษพัวพันอยู่กับระบบการปกครองของเกาหลีเหนือ ก็มีการเตรียมการผ่านบทบาท 'ผู้นำระดับสูง' มากกว่าที่ 'พี่ชาย' เคยเป็น เพียงแค่อายุ 30 ต้นๆ เธอก็ได้ไปยืนอยู่เคียงข้าง 'พี่ชาย' ภายในงานประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ 'โดนัลด์ ทรัมป์' และประธานาธิบดีจีน 'สี จิ้นผิง'

ไม่เพียงเท่านั้น 'หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้' ยังได้เปิดเผยรายงานสั้นๆ ต่อสภานิติบัญญัติสมัชชาแห่งชาติ ว่า 'คิม จอง อึน' ได้มอบอำนาจบางส่วนให้กับ 'คิม โย จอง' แล้ว โดยเฉพาะภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่าง 'โซล' และ 'วอชิงตัน'

หากยังจำกันได้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา บุคคลที่ตอบรับ 'จดหมาย' จากประธานาธิบดีสหรัฐฯ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ก็คือ 'คิม โย จอง' ซึ่งหนึ่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ มองว่า "นี่เป็นการตระเตรียมการกระจายอำนาจอย่างเป็นทางการมากกว่าที่เคยเป็นมา" โดยเฉพาะบทบาทการเจรจาทางการทูต

'จดหมาย' ที่ว่านั้นเกี่ยวกับอะไร?

จากการเปิดเผยของสำนักงานข่าวกลางเกาหลีเหนือ พบว่า จดหมายฉบับดังกล่าวเป็น "การยื่นข้อเสนอ" ของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อ 'คิม จอง อึน' ในการช่วยต่อสู้กับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโคโรนา แต่บุคคลที่ตอบรับจดหมายฉบับดังกล่าวกลับเป็น 'คิม โย จอง' ที่เธอมองว่า "การส่งจดหมายของประธานาธิบดีทรัมป์นับเป็นดุลพินิจที่ดีและเป็นการกระทำที่เหมาะสม"

...

ยังไงก็ตามแต่...สมาชิกคณะกรรมการข่าวกรองกลับมองว่า การเคลื่อนไหวของ 'คิม โย จอง' ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่า 'คิม จอง อึน' ลงมติยอมรับสถานะ 'ผู้นำสูงสุด' ให้กับเธอแล้ว เพราะ "อำนาจเด็ดขาด" และบุคคลที่ควบคุมขั้นสุดท้ายยังคงเป็น 'คิม จอง อึน'

แต่ก็มีความเป็นไปได้สำหรับแนวคิด "รักษาการชั่วคราว" ที่ 'คิม โย จอง' จะทำหน้าที่แทน "ทายาทผู้ชาย" ที่อ่อนเยาว์และอิทธิพลยังน้อยนักที่จะกุมอำนาจ ไปจนกระทั่ง 'ลูก' ของ 'คิม จอง อึน' โตพอที่จะเป็น 'ผู้นำ' ที่สามารถเดินต่อหน้าบุคคลภายนอกได้อย่างสง่าผ่าเผย

การออกมาเปิดเผยของ 'หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้' มีจุดมุ่งหมายอะไรหรือไม่?

เพราะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลัง 'คิม จอง อึน' ออกมากล่าวในการประชุมฝ่ายรัฐบาลในฐานะ "ผู้นำประเทศ" ว่า "กำลังเผชิญกับความท้าทายที่ไม่อาจคาดการณ์และหลีกเลี่ยงไม่ได้ในรูปการที่แตกต่างกันไป" แถมยังมีการประเมินอย่างตรงไปตรงมาอย่างน่าทึ่ง ว่า "ภาวะเศรษฐกิจเกาหลีเหนือ" อาจเข้าขั้นเลวร้ายที่สุดในรอบมากกว่า 2 ทศวรรษ ที่เป็นผลจากการคว่ำบาตร ภัยพิบัติน้ำท่วม และการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาครั้งใหญ่ และนั่นก็ทำให้ "เป้าหมายการพัฒนา" ที่เขาวางไว้ "ล่าช้า" ออกไปมาก

แน่นอนว่า 'คิม จอง อึน' ไม่พอใจ!

"เศรษฐกิจเกาหลีเหนือ" เลวร้ายมานานแค่ไหนแล้ว?

จากข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ คาดว่า "เศรษฐกิจเกาหลีเหนือ" อาจหดตัวมากที่สุดมานับตั้งแต่วิกฤติช่วงกลางปี 2533 พอถึงปี 2563 "เศรษฐกิจเกาหลีเหนือ" ที่ 'คิม จอง อึน' คิดว่าจะดีขึ้น กลับต้องเผชิญแรงกดดันจากการตัดสินใจ "ปิดพรมแดน" เพราะไวรัสโคโรนา จนทำให้ "การค้าตามกฎหมาย" ที่มีอยู่เล็กๆ น้อยๆ หยุดชะงักอย่างรุนแรง โดย Fitch Solutions ประมาณการว่า อาจส่งผลให้ "เศรษฐกิจเกาเหลีเหนือ" เข้าสู่ "ภาวะตกต่ำครั้งใหญ่" นับตั้งแต่ปี 2540 เลยก็ว่าได้

...

การปิดพรมแดนเพื่อ "โดดเดี่ยวตัวเอง" ของเกาหลีเหนือ ตัดโอกาสการได้รับรายได้จาก "การท่องเที่ยว" ที่ปกติจะมีการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านเขตแดนที่ติดกับ 'จีน' ซึ่งถือเป็นพันธมิตรที่มีค่าที่สุดสำหรับเกาหลีเหนือ โดยปี 2562 จีนได้ปรับข้อบังคับการอนุญาตประชาชนเข้าสู่เกาหลีเหนือเพิ่มเป็นวันละ 1,000 ราย ทำให้มีจำนวนรถทัวร์ข้ามพรมแดนเพิ่มมากขึ้น

แล้วใครรู้บ้างว่า 'เกาหลีเหนือ' มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาเท่าไร?

แต่ 'เกาหลีเหนือ' เขาคุยโวว่า "ตัวเลขเป็น 0" นะ

แน่นอนว่า 'สหรัฐอเมริกา' และ 'ญี่ปุ่น' ย่อมแคลงใจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่บอกว่ามี 'หลักฐาน' บางอย่าง...

แม้ว่าเขตแดน 'จีน' และ 'เกาหลีใต้' จะเป็นเหยื่อ 2 รายแรกของไวรัสโคโรนา แต่ 'เกาหลีเหนือ' กลับอ้างว่า สามารถหลบเลี่ยงการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้และไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อแม้สักรายเดียว สวนทางกับสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างแน่ใจว่าจะต้องมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาใน 'เกาหลีเหนือ' เพราะน่าสังเกตว่า กิจกรรมทางการทหารมีการล็อกดาวน์ไปประมาณ 30 วัน และเพิ่งเริ่มกลับมาฝึกประจำวันอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้เอง แถมไม่พบการขึ้นบินของเครื่องบินเป็นเวลา 24 วัน

แต่ 'เกาหลีเหนือ' ยังมีปัญหาที่น่าห่วงมากกว่านั้นซ่อนอยู่อีก

เมื่อ 'ฝน' ถล่มเกาหลีเหนืออย่างรุนแรงเสมือนฟ้ารั่ว ได้ล้างบางที่ดินเพาะปลูกหายไปแทบเกลี้ยง ทำให้ "ความไม่มั่นคงทางอาหาร" เพิ่มสูงขึ้น จนอยู่ในสถานะที่น่าห่วงเป็นพิเศษ

โดยข้อมูลโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ (WFP) พบว่า จากการพังทลายของระบบสาธารณสุข มาตรการคว่ำบาตรทางการค้า และเป็นทศวรรษแห่งการบริหารระบบเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ทำให้ชาวเกาหลีเหนือถูกทอดทิ้งให้ต้องเผชิญกับภาวะขาดสารอาหารเรื้อรังและเสี่ยงโรคมากกว่า 40%

ที่สำคัญ 'เกาหลีเหนือ' ยังมีการจัดการการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาที่เลวร้ายที่สุด จนอาจนำไปสู่ความพินาศทาง 'มนุษยธรรม' ที่ต้องสูญเสียชีวิตมหาศาลและทอดทิ้งให้กลายเป็นดั่งแหล่งรวมโรค ซึ่งจากความกังวลที่ว่าได้กระตุ้นให้หลายๆ องค์กรและประเทศพันธมิตร เช่น 'รัสเซีย' ต่างรีบอาสาช่วยเหลือจัดหาทรัพยากรทางการแพทย์และอื่นๆ ทันที

ถึงเวลาเปิดตัว 'ตัวละคร' ผู้ท้าชิง!

เขาคนนั้นคือ 'คิม พยอง อิล' บุคคลรายล่าสุดที่รู้กันดีว่าเป็น 'ลูกชาย' ของผู้ก่อตั้งเกาหลีเหนือ ที่ยัง "รอดชีวิต" ในวัย 65 ปี ซึ่งได้หวนคืนกลับ 'เปียงยาง' เมื่อปีที่แล้ว หลังออกไปอยู่ต่างประเทศราว 4 ทศวรรษ ในฐานะ 'นักการทูต' ทั้งฮังการี, บัลกาเรีย, ฟินแลนด์, โปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก

โดยเมื่อปี 2513 'คิม พยอง อิล' ได้หลุดออกจากสถานะ "คนโปรด" และยังไม่ได้รับการสนับสนุนอำนาจอย่างเพียงพอจาก 'โช รยอง แฮ' บุคคลที่มีสถานะเป็นผู้นำระบบพิธีการและ 'ผู้นำ' ลำดับ 2 ของเกาหลีเหนือ และยังมี 'ข่าวลือ' ว่า ลูกชายของเขาอาจแต่งงานกับ 'คิม โย จอง'

ส่วนเหตุผลที่ 'คิม พยอง อิล' ถูกจับตามองว่าอาจเป็น 'ผู้ท้าชิง' กับ 'คิม โย จอง' คือ เขามีสายเลือด 'ตระกูลคิม' และเขาเป็น 'ผู้ชาย'

เมื่อปี 2513 'คิม ซง เอ' ภรรยาคนที่ 2 ของผู้ก่อตั้งประเทศ และเป็นแม่ของ 'คิม พยอง อิล' เคยผลักดันให้เขาขึ้นสู่อำนาจ แต่ก็ไม่สำเร็จ เมื่อผู้ถูกเลือกเป็นผู้สืบทอด คือ 'คิม จอง อิล'

สำหรับหนนี้ 'คิม พยอง อิล' ถูกมองเป็น 'ผู้ท้าชิง' คนสำคัญ จากการที่สายอนุรักษ์นิยมในเปียงยางออกมาต่อต้านการยกอำนาจให้กับ 'คิม โย จอง' ด้วยการยกเหตุผลเรื่อง 'เพศ' และมีอายุเพียง 30 ปี เพราะมองว่า หาก 'คิม โย จอง' มีอำนาจควบคุมเกาหลีเหนืออาจเป็นไปแบบไม่ยั่งยืน และการวางบทบาทให้เป็น 'หุ่นเชิด' ก็อาจนำไปสู่ความยุ่งเหยิงในอนาคต

แต่ก็มีบางคนมองว่า การรับช่วงต่อของ 'คิม พยอง อิล' เป็นเพียงทฤษฎีขำขัน เพราะหากว่าตามจริงแล้ว การที่ 'คิม พยอง อิล' รอดชีวิตจากการถูกกำจัดออกจากอำนาจในตระกูล อาจบ่งชี้ได้ว่า 'คิม จอง อึน' ไม่เคยเหลียวมองเขาเป็นคู่แข่งเลย ที่สำคัญ...แทบไม่มีความเป็นไปได้เลยว่า 'คิม พยอง อิล' จะมีสายสัมพันธ์หรือฐานสนับสนุนที่เพียงพอที่อยากให้เขาเป็น 'ผู้นำสูงสุด' ของเกาหลีเหนือคนต่อไป อีกทั้ง 'คิม โย จอง' ยังมีสถานะพิเศษภายใต้ระบบการปกครองเกาหลีเหนือ ที่จะทำให้สายสัมพันธ์ของเธอต่อ 'ตระกูลคิม' เหนือกว่า 'เพศ' ของเธอ

สำหรับโลกภายนอกแล้ว 'เกาหลีเหนือ' เปรียบเหมือน 'กล่องดำปริศนา' ที่ได้แต่คาดเดาภายใต้ข้อมูลต่างๆ รอบตัว แต่มิอาจรู้ความจริง...ที่เกิดขึ้น.

ข่าวอื่นๆ :