4 กันยายน ของทุกปี คือ “วันเรือดำน้ำ” ในปีนี้จะเป็นปีที่ครบ 83 ปี นับตั้งแต่ 4 กันยายน 2480 ประเทศไทย เคยมีเรือดำน้ำ 4 ลำ ผลิตโดยบริษัท มิตซูบิชิ แห่งเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น

โดยมีการทยอยส่งมอบ ครั้งละ 2 ลำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ และอีก 2 ลำ คือ เรือหลวงสินสมุทร และเรือหลวงพลายชุมพล

ออกเดินทางจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2481 และเดินทางถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2481 ตามลำพังโดยปราศจากเรือพี่เลี้ยง ซึ่งยังความประหลาดใจแก่ชาวญี่ปุ่นและชาวอเมริกันเป็นอันมากเพราะเรือดำน้ำขนาดเล็กเช่นนี้ต่างประเทศย่อมมีเรือพี่เลี้ยงทั้งสิ้น

3 นาทีคดีดัง โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่านดำดิ่ง ย้อนประวัติศาสตร์ ศตวรรษกาลกับอาวุธพิฆาต "เรือดำน้ำ"

ความจริงแล้ว “เรือดำน้ำ” ที่เอ่ยถึงในสยามประเทศ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 หรือช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่มีการพูดถึงกันมาก ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษายังประเทศยุโรป คือ อังกฤษ เยอรมนี และรัสเซีย โดยพระราชโอรส 4 พระองค์ ชุดแรกที่เสด็จฯ ไปอังกฤษ แต่ไม่มีใครศึกษาการทหารเรือเลย

ต่อมา ในปี 2436 ในหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงส่งพระราชโอรสอีก 2 พระองค์ไปอังกฤษเพื่อศึกษาการทหารเรือ ซึ่งก็คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ หรือรัชกาลที่ 6 และพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ หรือ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บิดาแห่งกองทัพเรือไทย

...

ในเวลาต่อมา รัชกาลที่ 6 ได้ทรงเปลี่ยนสายศึกษาจากนายเรือ มาศึกษาโรงเรียนนายร้อย แทน

ในขณะที่ เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ ยังคงทรงศึกษาทหารเรือและทอดพระเนตรกิจการทหารเรือหลายสาขา เมื่อทรงศึกษาจบได้เสด็จกลับเมืองไทยในปี 2443

ในช่วงปี 2448 ในระหว่างที่เสด็จเตี่ย ทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ได้ทรงร่างโครงการ “ระเบียบจัดการป้องกันฝ่ายทะเล”

ซึ่งหนึ่งในแผนคือ การจัดซื้อเรือผิวน้ำ ได้แก่ เรือปืนหนัก เรือปืนเบา เรือตอร์ปิโดใหญ่และเล็ก แต่ไม่ปรากฏว่ามีเรือดำน้ำ

เมื่อนำเรื่องกราบบังคมทูลถึงพระเจ้าแผ่นดิน และมีพระราชหัตถเลขาตอบ “จำเป็นต้องหารือกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ”

ต่อมา เมื่อในหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต และรัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเสด็จเตี่ย ได้ทรงร่วมกับคณะกรรมการอีก 2 ท่าน ได้จัดทำ “โครงการสร้างกำลังทางเรือฉบับสมบูรณ์” เสนอขึ้นไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยนอกจากเรือผิวน้ำแล้ว คณะกรรมการยังให้ชื่อเรืออีกประเภทนี้ว่า “เรือ ส.” ซึ่งมีการตีความว่าเป็น “เรือดำน้ำ” 

แต่รายงานดังกล่าว และแนวคิด การจัดซื้อเรือดำน้ำ ได้ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก ส่วนหนึ่งเพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มสงบ นอกจากนี้ยังมีนายทหารระดับสูง ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ยุโรป แนวคิดการจัดซื้อเรือดำน้ำ จึงแปรเปลี่ยนเป็นเรือปืน 

ต่อมา หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แนวคิดการจัดซื้อเรือดำน้ำ ก็กลับมาอีกครั้ง เป็นที่มาของเรือดำน้ำ 4 ลำแรกของไทย ที่จัดซื้อมาจากประเทศญี่ปุ่น ประเทศไทย เป็นชาติที่สองในเอเชียที่มีเรือดำน้ำ ต่อจากประเทศญี่ปุ่น แถมด้วยการปฏิบัติการจริงในช่วงเวลาพิพาทอินโดจีนกับฝรั่งเศส ในยุทธนาวี “เกาะช้าง” ปี 2484 โดยกองทัพเรือไทยได้ใช้เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ตระเวนข่มขวัญฝรั่งเศสในทะเลอ่าวไทย จนต้องรีบถอนกำลังกลับไปกรุงไซ่ง่อน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลง เรือดำน้ำ ของทหารเรือไทยก็ยังประจำการอยู่ แถมยังเดินเครื่องยนต์ส่งกำลังไฟฟ้าไปยังการไฟฟ้านครหลวง ในช่วงที่กรุงเทพฯ ขาดแคลนกำลังไฟฟ้า เรือดำน้ำ ประจำการในกองทัพเรือไทย 13 ปี สาเหตุที่ปลดประจำการในวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 2494 เพราะญี่ปุ่นแพ้สงคราม เรือดำน้ำไทยขาดแคลนอะไหล่ซ่อมบำรุง

...

เรือดำน้ำ ห่างหายจากกองทัพเรือไทย ไปนานกว่า 72 ปี และกำลังจะได้เรือดำน้ำลำแรก ในปี 2566 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า

พล.ร.อ.สุริยะ พรสุริยะ อดีตผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ เคยให้ความเห็นช่วงตอนที่ขอซื้อ “เรือดำน้ำ” ในปี 2560 ว่า เรือดำน้ำ ไม่ได้ใช้ในยามสงครามอย่างเดียว ยามสงบ เราก็ใช้ เปรียบเหมือน “ดวงตา” ที่อยู่ใต้ผืนน้ำ ใครที่จะทำผิดในพื้นที่ทางทะเล คนพวกนี้จะไม่รู้ว่าเรามีตาลึกลับเฝ้ามองอยู่ ฉะนั้น “นาโต” เขาก็ใช้สุ่มสอดแนม หาข่าวของกลุ่มก่อการร้ายทั้งหลาย เรียกว่ามีประโยชน์ทั้งยามสงครามและสงบ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สังคมตั้งคำถามอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่ว่า “เรือดำน้ำ” จำเป็นหรือไม่

แต่เป็นการซื้อ “เรือดำน้ำ” เพิ่มในเวลาที่ประเทศกำลังประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ประชาชนกำลังลำบากยากเข็ญ มันเหมาะสมหรือไม่มากกว่า..

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือนาวิกศาสตร์

...

ภาพ : สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ 

ชม 3 นาทีคดีดังเรื่องที่น่าสนใจ