ถ้ายังจำกันได้ที่สหรัฐฯ สั่งแบนผู้นำเทคโนโลยี 5G อย่าง Huawei แถมยังชักนำพันธมิตรให้ร่วมหัวจมท้ายกับแผนการตัวเองด้วย มาคราวนี้ "ท่านผู้นำเมืองมะกัน" ก็ออกมาเมินหน้าใส่ TikTok ถอดออกจาก Store ทั้งของ Android และ iOS นานถึง 45 วัน
คนไทยคงคุ้นเคยกันดีสำหรับ TikTok แพลตฟอร์มคลิปวิดีโอสั้นๆ ความยาว 15 วินาทีถึง 1 นาที ที่มีคอนเทนต์หลากหลายให้รับชม ทั้งสอนเต้น ร้องเพลงลิปซิงก์ ข่าวสาร หรือแม้แต่ขำขันตลกโปกฮาก็มี ซึ่งปัจจุบันกำลังเติบโตมากที่สุดในกลุ่มวัยรุ่น Gen Z ทั่วโลก มีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 500 ล้านคน และในจำนวนนี้กว่า 80 ล้านคนอยู่ในสหรัฐฯ จนกลายเป็นแหล่งช่องทางใหม่ที่หลายแบรนด์กำลังทำการตลาดออนไลน์อย่างเข้มข้น แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้น... เมื่อ TikTok เป็นแอปพลิเคชันสัญชาติจีนที่กำลังตกเป็นเป้าของสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ
โดยผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนอย่างน่ากลัวว่า "TikTok จากบริษัท ByteDance อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือปล่อยข่าวลวง และล้วงข้อมูลผู้ใช้งานพลเมืองสหรัฐฯ ไปให้รัฐบาลจีน!!"
ร้อนถึงซีอีโอ "จาง อี้หมิง" ที่ต้องมาปฏิเสธทันควันว่า "บริษัทของเราโปร่งใส เป็นกลาง และปกป้องผู้ใช้งานทุกคน"
แน่นอน...มิได้นำพา
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ "โดนัลด์ ทรัมป์" ทำทีเข้ามาช่วยเจรจาพร้อมยื่นข้อเสนอแก่ ByteDance ว่า "หากอยากให้มี TikTok ในสหรัฐฯ ก็ต้องขายให้กับบริษัทสัญชาติอเมริกัน ที่สำคัญ กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ควรได้ค่าธรรมเนียมจากการต่อรองครั้งนี้ด้วย เพราะเป็นคนอนุญาตให้พวกคุณเข้ามา ไม่อย่างนั้น TikTok จะถูกลบหายไปจากสหรัฐฯ..."
...
พูดง่ายๆ ว่า หาก ByteDance อยากให้ TikTok ใช้การต่อไปได้ ก็ต้องขายให้กับบริษัทสัญชาติอเมริกัน และต้องดำเนินการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กันยายนนี้ด้วย!!
ยื่นข้อเสนอมาแบบนี้ "หู สีจิน" บรรณาธิการฝีปากกล้าแห่ง Global Times สำนักข่าวภายใต้การอุปถัมภ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ถึงกับควันออกหู ออกมาประณามการเจรจาซื้อขายครั้งนี้ ว่า "นี่มันปล้นกันชัดๆ!!"
และใช่! TikTok ไม่มีทางยอมตกเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ยื่นฟ้อง "รัฐบาลทรัมป์" ต่อศาลในรัฐแคลิฟอร์เนียทันที โดยให้การว่า "เราต้องการให้ทรัมป์เจรจาอย่างสร้างสรรค์ มันไม่ยุติธรรมเลยที่สหรัฐฯ จะใช้อำนาจที่อ้างว่าเพื่อความมั่นคงมาบังคับแบนบริษัทของเรา ที่สร้างงานให้กับชาวอเมริกันกว่า 10,000 คน และยังเป็นแอปเพื่อความบันเทิงที่เชื่อมโยงชาวอเมริกันหลายล้านคนให้ผ่านบรรยากาศความหดหู่ในช่วงที่เกิดโรคระบาดใหญ่ไปได้"
แต่อันที่จริงแล้ว กรณีที่ว่านี้ "รัฐบาลจีน" เองก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบเช่นกัน เมื่อตัวเองก็ปฏิเสธบริษัทต่างชาติอย่าง Facebook, Twitter, Google และบริษัทของสหรัฐฯ อีกหลายเจ้า ที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงในจีน โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของชาติเช่นกัน
ต่างคนต่างอ้าง...โดยใช้ "เทคโนโลยี" เป็นเครื่องมือ แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่? ก็น่าคิด...
เอาล่ะ!! ถือว่าโจมตีกันหมัดต่อหมัดระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจ เพราะนอกเหนือจากในสนามเทคโนโลยีแล้ว ความขัดแย้งระหว่างทั้งคู่ยังลามไปหลายเรื่อง อย่างการที่สหรัฐฯ ตั้งข้อกล่าวหาจีน อาทิ การตั้งกำแพงภาษีแล้วกล่าวหาว่า จีนกีกขังชาวมุสลิมชาติพันธุ์อุยกูร์ในเขตซินเจียง การเข้าไปแทรกแซงระบบการปกครองของเกาะฮ่องกง และยังส่งทหารไปเป็นทัพเสริมในทะเลจีนใต้
ยังไม่นับรวมที่สถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 มีต้นกำเนิดมาจากจีน แต่การระบาดในสหรัฐฯ กลับรุนแรงที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันสะสมในสหรัฐฯ จำนวนมากกว่า 5 ล้านรายแล้ว ขณะที่ จีนมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 8 หมื่นกว่าราย
ทั้งหมดทั้งมวลนั้น "แซม แซคส์" เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทางไซเบอร์ของสถาบันอิสระ ก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะของสหรัฐฯ ว่า "รัฐบาลสหรัฐฯ มีความเชื่อพื้นฐานอยู่แล้วว่า รัฐบาลจีนเป็นภัยคุกคามความมั่นคงที่อาจก้าวเข้าไปแทรกแซงบริษัทเอกชนต่างๆ ผ่านนโยบาย ด้วยเหตุนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนทั้งหลายจึงตกเป็นเป้าการโจมตี"
...
ในมุมมองสหรัฐฯ TikTok มีภัยคุกคามคนละแบบกับ Huawei ที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม ซึ่งถูกฝ่ายบริหารของทรัมป์สั่งคว่ำบาตร ทั้งยังบอกต่อกลุ่มพันธมิตรให้มาร่วม "เลิกคบ" ไปด้วย เพราะหากปล่อยให้ Huawei เป็นผู้นำการสร้างโครงข่าย 5G ในประเทศ ก็อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงด้านการสื่อสารในประเทศ ส่วนที่ตัดสินใจแบน TikTok เพราะกลัวว่ารัฐบาลจะได้ข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองสหรัฐฯ ไปใช้ประโยชน์
อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจจาก "อดัม ซีกัล" ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยบนไซเบอร์ของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็ได้ออกมากล่าวว่า "มันไม่สมเหตุสมผลที่จะแบน TikTok แต่เหตุที่ทรัมป์เป็นกังวลก็เพราะ TikTok เป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มแรกจากจีนที่มีผู้ใช้งานไปทั่วโลก"
การแบน TikTok เป็นหนึ่งในเกมการค้าระหว่าง 2 ขั้วอำนาจที่เป็นศัตรูกัน โดยไม่กี่ปีมานี้ คณะกรรมการเพื่อการลงทุนจากต่างประเทศของสหรัฐฯ มีการสกัดกั้นไม่ให้นักลงทุนจีนเข้าซื้อสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ในอเมริกา และยังขู่ว่าจะเพิกถอนบริษัทจีนที่มีเปิดเผยข้อมูลการเงินไม่ครบจากตลาดหุ้น
"โอริท เฟรนเคิล" อดีตพนักงานสภาการค้าสหรัฐฯ ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านนโยบายการค้ากับเอเชียมากกว่า 30 ปี ให้ความเห็นว่า ทัศนคติเรื่องการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนไป "เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่มีใครเคยพยากรณ์ว่า เราจะมาถึงจุดนี้ จุดที่เราเริ่มจะก้าวสู่สงครามเย็น ซึ่งไม่เป็นผลดีนัก"
...
คำถามที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือทั้งสองฝ่ายจะหมางเมินต่อกันถึงขั้นไหน? และใครจะเป็นผู้โชคร้ายรายต่อไป
ทั้งที่จีนเองเป็นกลุ่มผู้ลงทุนเงินหนาที่มีตัวประกันอยู่ในมือ อย่างบริษัท Tencent เจ้าเทคโนโลยีที่เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของแพลตฟอร์ม Reddit เว็บบอร์ดที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลก (ลักษณะคล้ายกับเว็บ Pantip ในไทย) และ Wanda Group ที่เป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ AMC รวมถึงค่ายหนังของฮอลลีวูด Legendary Entertainment ที่สร้างหนังฟอร์มยักษ์อย่าง จูราสสิค เวิลด์ และก๊อตซิลลา
ขณะนี้นักวิเคราะห์กำลังจับตาดูว่า รัฐบาลจีนจะตอบโต้บริษัทสหรัฐฯ ที่เข้าไปบุกตลาดจีนอย่างไร เช่น Apple, Microsoft และ Intel ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการค้ากับเอเชีย โอริท กล่าว "ระวังให้ดี เราเคยเห็นวิธีการตาต่อตา ฟันต่อฟัน ของจีนกับสหรัฐฯ มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา"
ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นนี้มาหลายสิบปีแล้ว สหรัฐฯ โจมตีจีนหลายด้าน ทั้งการปิดสถานกงสุลของอีกฝ่ายและไล่นักข่าวกลับประเทศ สั่งแบนนักศึกษาจีนที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพ คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตซินเจียง และกำลังพิจารณาห้ามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งสมาชิกครอบครัวของพวกเขา จำนวนกว่า 92 ล้านคน ไม่ให้เข้าประเทศ
...
แล้วสหรัฐฯ ได้ประโยชน์อะไรจากการโจมตีจีน...?
บางคนคาดเดาว่าทรัมป์รีบหงายการ์ด “โจมตี” เพราะหวังผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ หากแพ้ให้ “ไบเดน” อีกฝ่ายอาจกลับไปสร้างสัมพันธ์ครั้งใหม่กับจีน ตามคำกล่าวอ้างที่ทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “จีนจะครอบครองสหรัฐฯ หากผมไม่ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้”
"ในขณะที่ยังเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทรัมป์ต้องทำลายความสัมพันธ์กับจีนให้มากที่สุด จนเป็นเรื่องยากที่จะกลับมาขอสานสัมพันธ์อีกครั้ง" อดัม ซีกัล วิเคราะห์
หรือ..มันอาจจะเป็นฉากแสดงอำนาจความเป็นผู้นำของทรัมป์ โดยสร้าง “ซีน” ให้รัฐบาลของเขาสามารถเจรจากับจีนได้สำเร็จ เพื่อสื่อว่ามีแต่ “รัฐบาลของทรัมป์” ที่จะสยบจีนได้
ท่ามกลางสงครามเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ เปิดศึกกับจีน ไม่นานนี้สหรัฐฯ เพิ่งต่อสายตรงถึงจีน รื้อฟื้นเจรจาข้อตกลงการค้า “เฟส 1” อีกครั้ง
จากที่ทั้งสองฝ่ายจับมือกันเซ็นสัญญาไปเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ เพื่อสงบศึก “สงครามการค้า” ที่ปะทุครั้งใหญ่สองปีที่แล้ว โดยจีนรับปากว่าจะนำเข้าสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ถึงปี 2565 แลกเปลี่ยนกับที่สหรัฐฯ จะลดกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน จาก 15% เป็น 7.5%
แต่เกินครึ่งปี 2563 มาแล้ว จีนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะควักกระเป๋าถึงตามเป้าที่ตกลงกันไว้ ทำให้นักวิเคราะห์ต่างคาดเดาว่าข้อตกลงนี้คงล้มเหลว
ซึ่งการเจรจาผ่านโทรศัพท์ครั้งนี้ ประกอบด้วยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ “สตีเวน มนูชิน” ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ “โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์” และรองนายกรัฐมนตรีจีน “หลิว เหอ” โดยทั้งสองฝ่ายต่างแสดงท่าทีมั่นใจให้สาธารณะและตลาดการเงินเชื่อมั่นว่า “ข้อตกลงเฟส 1” ยังคงเป็นไปตามแผนเดิม
“ทั้งสองฝ่ายมองเห็นความก้าวหน้าของแผนการและมุ่งมั่นที่จะทำให้ข้อตกลงนี้บรรลุผล” ระบุในแถลงการณ์ของฝ่ายผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และการเจรจาครั้งนี้ยังกล่าวถึงประเด็นที่จีนจะนำเข้าสินค้าตามข้อตกลง ปกป้องทรัพย์ทางปัญญาของสหรัฐฯ และทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเป็นมิตรกับผู้ลงทุนอเมริกันและชาติอื่นๆ
ส่วนแถลงการณ์ของฝ่ายกระทรวงพาณิชย์จีน ระบุว่า “การเจรจาครั้งนี้ดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์ และยังคงผลักดันข้อตกลงการค้าต่อไป”
“จีนกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน แม้จะไม่ลงรอยกันในเรื่องความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน แต่ในตอนนี้ทั้งคู่ยังเห็นตรงกันว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของพวกเขายังมั่นคง” เดวิด ดอลลาร์ พนักงานอาวุโสในสถาบัน John L. Thornton China Center กล่าว
สุดท้ายแล้ว แม้จะดูเหมือนว่าสหรัฐฯ กับจีนจะยังคงเข้าหน้าไม่ติดในหลายๆ เรื่อง แต่ข้อตกลงการค้าระหว่างสองประเทศที่สัญญาสงบศึกยังคงอยู่ โดยจีนได้สั่งซื้อสินค้าการเกษตรนำเข้าจากสหรัฐฯ ไปแล้วหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ดูจะมีสายสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและคบหากันบนผลประโยชน์ที่เห็นอยู่ตรงหน้าเท่านั้น ซึ่งมีทั้งวันดี คืนร้าย แต่ถึงกับทำให้ทั้งโลกต้องหวาดระแวงตามไปด้วย เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก