แม่แชร์อุทาหรณ์ ลูกถูกเขย่าตัว หรือ “Shaken Baby Syndrome” จนเลือดออกในสมอง หมอบอกให้ทำใจ เพราะเป็นตายเท่ากัน แต่แม่ไม่ยอมแพ้ รีบย้าย รพ. รักษา ลูกรอดปาฏิหาริย์
ใครมีลูกเล็ก หากคนรู้จักหรือญาติ รัก เอ็นดู เล่นกับลูกโดย "เขย่าตัวทารก" หนักมือ หรือพ่อแม่จับตัวลูกเขย่าแรงๆ ด้วยอารมณ์โกรธเพียงชั่ววูบ พึงระวัง เพราะลูกอาจเกิด Shaken Baby Syndrome จนเกือบไม่รอดชีวิต
หมอบอกให้ "ทำใจ" ลูกวัย 5 เดือน โคม่า
อุทาหรณ์ครั้งนี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ได้รับการเปิดเผยจากคุณแม่ท่านหนึ่งใน กทม. เล่าประสบการณ์เฉียดตายของลูกด้วยภาวะ Shaken Baby Syndrome ว่า ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ลูกวัย 5 เดือน เกิดอาการผิดปกติ แหวะนมและนอนกระตุก เธอพาไป รพ.ใกล้บ้านทันที
ในระหว่างนี้ลูกมีอาการผิดปกติเพิ่มคือ ร้องไห้หนัก และบางครั้งกลั้นหายใจ แพทย์ตรวจอาการแล้วระบุสาเหตุ ท้องอืดเพราะนมไม่ย่อย แต่เธอรู้สึกเอะใจ เพราะผลตรวจเลือดผิดปกติ จึงขอย้ายลูกด่วนไปรักษา รพ. อื่น
...
เมื่อถึง รพ. ลูกถูกนำเข้าห้อง ไอซียู (Intensive Care Units หรือ ICU ) คือ ห้องดูแลผู้ป่วยหนักทันที ลูกถูกเจาะน้ำไขสันหลัง และถูกส่งต่ออีก รพ. ทันทีเนื่องจากลูกชัก และทำ ซีที สแกน (Computerized Tomography Scan หรือ CT SCAN) คือ การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พบ "เลือดออกในสมอง" สาเหตุจากเด็กถูกเขย่ารุนแรงเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และหมอบอกให้ทำใจเพราะเป็นตายเท่ากัน
ลูกรอดปาฏิหาริย์ โชคดี "แม่" ตัดสินใจเร็ว
ลูกแอดมิทใน ICU เป็นเวลา 7 วัน หัวอกคนเป็นแม่สุดระทมด้วยความเป็นห่วง กินไม่ได้ นอนไม่หลับจนร่างกายผ่ายผอม แต่อาจด้วยแรงอธิษฐานของเธอ และลูกที่ใจสู้ ไม่นานความกังวลของเธอก็หมดไปเมื่อหมอบอกข่าวดี ลูกตอบสนองการรักษาได้ดีกว่าที่คิด และนำมารักษาที่ห้องพักฟื้นทั่วไป
เวลาผ่านไปเดือนกว่าลูกของเธอหายดี และกลับบ้านได้ ปัจจุบันลูกอายุ 1 ขวบกว่า พัฒนาการเป็นไปตามวัย แต่ยังต้องกินยาประจำและพบหมอติดตามอาการทุกเดือน
“ตอนลูกอยู่ในห้องไอซียู มีเครื่องมือเยอะแยะไปหมด เป็นห่วงลูกมาก ไม่คิดเลยว่าแค่เขย่าตัวลูกจะมีผลรุนแรงขนาดนี้ โชคดีที่ตัดสินใจเร็ว ขอย้าย รพ. ไม่งั้นลูกคงไม่รอดเพราะไม่มีเครื่องมือและหมอเฉพาะทาง พ่อแม่มือใหม่ อย่าให้อารมณ์ชั่ววูบทำลายลูกทางอ้อมได้ ต้องมีสติให้มาก” เธอกล่าวทิ้งท้าย
ปัจจัย สาเหตุ ตั้งใจ หรือเผลอ เขย่าตัวลูกแรง
ในทางการแพทย์การจับตัวเด็กเขย่าแรงๆ (Shaken Baby Syndrome) กลุ่มอาการมีอะไรบ้าง และต้องระมัดระวังลูกน้อยอย่างไร แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ในสมองเด็กแบเบาะมีส่วนที่เป็นน้ำมากกว่าส่วนเนื้อสมอง รวมถึงกล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรง ศีรษะจึงพยุงเองไม่ได้
เมื่อทารกวัยไม่เกิน 1 ขวบ โดยเฉพาะวัย 3-8 เดือนถูกเขย่าจนคอและหัวเหวี่ยงไปมา มีผลให้เนื้อสมองแกว่งไปมา แล้วกระทบกระแทกกับกะโหลกศีรษะจนสมองชอกช้ำเสียหาย ส่งผลให้เส้นเลือดใหญ่ในสมองที่ยังไม่แข็งแรงของเด็กอ่อนแตกปริ ฉีกขาดมีเลือดออกในสมอง
...
“เขย่าตัวทารก” หรือ Shaken Baby Syndrome มักเกิดในเด็กอ่อนวัยไม่เกิน 1 ขวบ สาเหตุเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อารมณ์ชั่ววูบของผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดู หรือพ่อแม่มือใหม่มีภาวะเครียดสะสม เมื่อลูกร้องไห้ลั่นบ้านจึงอยากให้ลูกหยุดร้องไห้ หรือบางครั้งเล่นโลดโผนเกินไป เช่น จับกระแทกกับที่นอน หมอน ของแข็ง หรือโยนลูกอายุไม่ถึง 1 ขวบ ขึ้นไปกลางอากาศแล้วคอยรับเพื่อความสนุกสนาน
สังเกตอาการ ลูกรัก เสี่ยงอันตราย Shaken Baby Syndrome
เด็กที่ถูก Shaken Baby Syndrome อาการเริ่มแรก คือ อาเจียน หายใจลำบาก ไม่ยอมดูดนม เซื่องซึม เรียกแล้วไม่ตอบสนอง ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย หากลูกมีอาการดังกล่าวให้รีบพาไปพบแพทย์และต้องบอกคุณหมอว่าเด็กถูกเขย่าอย่างรุนแรง เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยอาการได้ถูกต้องและรักษาอย่างทันท่วงที
1 ใน 3 ของเด็กที่เป็น Shaken Baby Syndrome สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ด้วยการรักษาตามสภาพการออกของเลือดโดยให้กินยา หรืออาจต้องผ่าตัด แต่หากได้รับการรักษาช้าอาจเสียชีวิต หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลมชัก ซึ่งมักมีผลต่อการเรียนรู้หรือสติปัญญาต่อไป หรือเส้นเลือดในจอตาขาดจนอาจตาบอด กลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต
...
5 วิธี สยบลูก หยุดร้องไห้
ตัวกระตุ้นให้พ่อแม่หงุดหงิดจนเผลอเขย่าตัวลูกอย่างรุนแรงบ่อยครั้ง คือลูกร้องไห้งอแงไม่ยอมหยุด แพทย์หญิงพรรณพิมล แนะวิธีสยบลูกให้หยุดร้องไห้ ดังนี้
1. ปลอบโดยหาสิ่งของมาล่อ
2. หาสาเหตุที่ลูกร้อง เพราะอาจเกิดจากการเจ็บป่วยทางกาย แต่หากไม่แน่ใจให้รีบพาไปพบแพทย์
3. ตั้งสติ และพักสงบสติอารมณ์ทันที โดยหายใจเข้าออกลึกๆ นับ 1-10
4. เรียกคนใกล้ชิดอื่นๆ มาช่วยปลอบแทน
5. หลังสงบสติอารมณ์เรียบร้อย จึงกลับมาดูแลเด็ก
...
“การป้องกันการเขย่าตัวทารก นอกจากพ่อ แม่ คนในครอบครัว หรือพี่เลี้ยงเด็ก ต้องเข้าใจว่าการร้องไห้เป็นธรรมชาติของทารกที่ต้องการสื่อสารออกมา เช่น ร้องเมื่อหิว แต่หากลูกกินอิ่ม จับอุ้มเรอสักพักก็จะหยุดร้องไปเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีสติ อย่าให้อารมณ์เพียงชั่ววูบมาทำร้ายลูก รักษาไม่ทันจนอาจทำให้ลูกเสียชีวิตได้” แพทย์หญิงพรรณพิมลให้คำแนะนำ
ข่าวน่าสนใจ