หลายวันก่อน กระทรวงยุติธรรม ได้แถลงผลการทำงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้แถลงอายัดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติดรายหนึ่ง ซึ่งได้ทรัพย์สินกว่า 500 ล้าน!
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ หรือ ศอ.ปส. ได้แถลงด้วยตัวเอง และยังเผยด้วยว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีในการสืบสวนไล่ล่า ส่งผลให้ปีนี้คาดว่าจะสามารถอายัดทรัพย์ได้กว่า 2 พันล้าน!
หากยังจำกันได้ เมื่อราวเกือบ 10 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไล่จับและอายัดทรัพย์ “เจ้าฟูเฉิน” นายชาญณรงค์ มูเซอ หรือ ชาญณรงค์ เกษมทัศน์ อดีตมือขวาของราชายาเสพติด “ขุนส่า”
ย้อนกลับไปช่วงนั้น ในช่วงปี 2551 “เจ้าฟูเฉิน” นั้นเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากพ้นโทษในคดียาเสพติดที่เมืองลุงแซม เขาก็กลับมาไทยแลนด์ แต่พฤติกรรมยังไม่เปลี่ยน ยังคงวนเวียนสายงานเดิม ด้วยเหตุนี้ “อดีตมือขวา” ของขุนส่า จึงต้องถูกไล่ล่าอีกครั้ง
ปฏิบัติการลับล่าแก๊งยานรกจึงเริ่มต้นขึ้น “รองโด่ง” หรือ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งหน้าที่ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เล่าเบื้องหลังครั้งก่อนจะตามจับกุม “เจ้าฟูเฉิน” ได้สำเร็จว่า “เป้าหมายหลักของภารกิจ คือ “เจ้าฟูเฉิน” นายชาญณรงค์ มูเซอ หรือ ชาญณรงค์ เกษมทัศน์”
...
เบื้องหลังการไล่ล่า “เจ้าฟูเฉิน” เริ่มต้นที่ สหรัฐอเมริกาทำเรื่องมาถึงไทย โดยทีแรก เจ้าฟูเฉิน เคยถูกจับในไทยและส่งตัวไปดำเนินคดีที่สหรัฐอเมริกา ในข้อหาค้ายาเสพติด เมื่อปี 2537 ภายใต้ Operation Tiger Trap ฐานนำเข้าเฮโรอีน น้ำหนัก 486 กิโลกรัม และพ้นโทษกลับไทย ปี 2544
แต่ภายหลังพ้นโทษ แต่ทางสหรัฐฯ ยังสืบรู้ว่า “เจ้าฟูเฉิน” ยังมีพฤติกรรมไม่ต่างจากเดิม.. จึงประสานมายังไทยอีกครั้ง โดยมี พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นหัวหน้าชุดจากดีเอสไอ จึงหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ปฏิบัติการนี้เริ่มต้นด้วยการ “แฝงตัว” โดยทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในขณะนั้น ได้ประสานงานกับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งหากเป็น ดีเอสไอ เพียวๆ อาจจะไม่มีอำนาจในการสั่งการจับกุม..
เราใช้เวลาแฝงตัวพักหนึ่ง กระทั่งสายลับเราทำสำเร็จ โดยมีการนัดแนะเจรจาต่อรองซื้อเฮโรอีน
“การแฝงตัวซื้อยาเสพติด เป็นงานที่อันตรายมาก เพราะหากผิดแผนนั่นหมายถึงชีวิต จะทำอะไรต้องใจเย็น รีบเร่งบีบรัดมากก็ไม่ได้..เพราะพวกนี้มันก็มีชั้นเชิง เราก็ต้องมีเหมือนกัน” รองโด่ง กล่าว
เมื่อปฏิบัติการราบรื่น คราวนี้แก๊งยาเสพติดเริ่มไว้เนื้อเชื่อใจ แต่..ขั้นตอนก็ไม่ได้จบลงแค่นั้น เพราะต้องมีการนัดเจรจากันหลายหน เริ่มตั้งแต่เชียงใหม่ถิ่นของกลุ่ม “เจ้าฟูเฉิน” บางครั้งก็นัดที่โรงแรมที่เชียงราย หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ โดยการนัดเจอแต่ละครั้งคนที่เข้าพูดคุยต้องระวังตัว และเนียนที่สุด เพื่อไม่ให้สงสัย
กระทั่ง..มีการต่อรองซื้อของลอตแรก..เงินจำนวนมาก พร้อมเฮโรอีนหลายสิบแท่ง (เฮโรอีนอัดแท่ง 1 แท่ง หนัก 780 กรัม)
เบื้องหลังการเจรจาที่เกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องหนักใจ พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า สิ่งที่แก๊งยาเสพติดต้องการ มีเงื่อนไขอยู่อย่างหนึ่งคือ การซื้อสินค้าทุกครั้ง ต้อง “จ่ายเงินก่อน”
เอาล่ะสิ..แล้วเงินจำนวนมากนี้จะไปหามาจากไหน เครื่องหมายคำถามตัวโตๆ อยู่บนหัวเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังต้องคิดว่า...“ถ้าเอาเงินให้มันก่อน แล้วมันเกิดหายเข้ากลีบเมฆไปจะทำยังไง เสียเงินแล้วไม่ได้ของ ตามจับไม่ได้ด้วย?”
...
ด้วยเหตุนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ป.ป.ส. จึงนำเรื่องเข้าหารือกับ สำนักงานปราบปรามยาเสพติดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ หรือ United States Drug Enforcement Administration (DEA) ที่อยู่ในประเทศไทย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้อำนวยการภูมิภาคแห่งสำนักงานปราบปรามยาเสพติดประจำประเทศไทย โดยจะขอยืมเงินจำนวนหนึ่งมาใช้ล่อซื้อยาเสพติด
แต่การจะใช้เงินจำนวนมากซื้อในครั้งแรกเลยก็ดูจะไม่ปลอดภัย จึงมีการเปลี่ยนแผนด้วยการเริ่มต้นซื้อเฮโรอีน 1 แท่งก่อน
ผลคือ...แก๊งยานรกยอมขายให้ เราก็ส่งเงินให้มัน มันก็ส่งของมาให้...
พ.ต.ท.บรรจบ อยู่ยืนยง ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ เขตพื้นที่ที่ 7 ซึ่งเคยรับผิดชอบคดีนี้ เผยว่า หลักการล่อซื้อเราต้องทำแบบยื่นหมูยื่นแมว..แต่เรื่องแบบนี้ไม่มีหรอก เพราะคนร้ายส่วนใหญ่จะเอาตังค์เราก่อน เราต้องหาจุดกลางให้ได้ เช่นต่อรองการส่งของและจ่ายเงินภายในวันเดียว แต่ “ไม่มีการโอนเงิน” แน่นอน เพราะจะถือเป็นหลักฐานเอาผิดได้ แต่การจะถือเงินเยอะๆ มันก็เสี่ยง แต่บางครั้งมันก็จำเป็น
เพราะ..สิ่งที่แก๊งยาเสพติดอยากได้คือ “เงิน” ฉะนั้น เราต้องมีเงินก่อน เมื่อมันเห็นเงิน กลิ่นเงินมันล่อใจ ทั้งที่เราก็รู้แหละว่า มันยังไม่มีของ แต่ถ้ามันอยากได้มันจะติดต่อกลับมาเอง
“เจ้าฟูเฉิน” ก็เปรียบเสมือนนายหน้า เป็นเซลส์ขายของ ตอนเป็นมือขวาให้กับ “ขุนส่า” ก็ทำหน้าที่เจรจาต่อรองซื้อขาย เมื่อแยกตัว ก็ยังคงทำเช่นเดิม เพราะโรงงานยาเสพติดส่วนใหญ่ จะอยู่แถวชายแดน ฉะนั้นหากอยากได้เงินก็ต้องหาของให้ได้ก่อน หากมีการซื้อขาย เซลส์ก็จะเป็นคนทำหน้าที่รับเงิน เพราะมันต้องหักค่าหัวคิว”
...
“การตามจับคดียาเสพติด ใช่ว่าการล่อซื้อจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป เพราะหากเป็นการกระทำ “ล่อใจ” ให้เขากระทำผิดกฎหมาย ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติมาก่อน บางครั้งเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่สุดแล้วอาจจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยได้ แต่..สำหรับ “เจ้าฟูเฉิน” หาใช่เป็นเช่นนั้น เพราะเขามีประวัติที่โชกโชน ที่สำคัญคือ..เขาติดต่อสายลับกลับมา บอกว่ามีของจะขาย” พ.ต.ท.บรรจบ กล่าว
หลังจากมีการติดต่อกลับมาเพื่อจะซื้อขาย เฮโรอีน 1 แท่ง แก๊งยาเสพติดนัดกลับมาว่าจะส่งของที่ห้างแห่งหนึ่งใจกลางเมือง
และเมื่อวันเวลานัดมาถึง ชายคนหนึ่งก็เดินดุ่มๆ เข้ามาพร้อมถุงกระดาษ..
“มาถึงก็โยนแหมะไว้...จากนั้นเดินหนีหายไป” เมื่อเปิดดูก็พบว่าของที่มาส่งคือ “เฮโรอีน” อัดแท่ง 1 แท่ง ซึ่งคนที่มาส่งนั้นไม่ใช่ “เจ้าฟูเฉิน” แต่คือ “ตี๋ บางขวาง” หรือ นายธีระยุทธ แพทย์ศกล
พ.ต.ท.บรรจบ เล่าว่า ตอนนั้นเมื่อได้หลักฐานแล้ว “รองโด่ง” ก็สั่งการทันทีให้นำหลักฐานทั้งหมดไปตรวจลายนิ้วมือ ทั้งในถุงกระดาษ และถุงที่ใส่เฮโรอีน ที่บรรจุมา
จากนั้นเราก็พยายามล่อซื้ออีกในลอตใหญ่ ประมาณ 30-40 แท่ง แต่ว่าทางแก๊งยานรกก็ขอวิธีเดิม โดยการให้เราต้องจ่ายเงินก่อน แต่ด้วยเงินมันสูงจึงไม่เสี่ยง..
เมื่อได้หลักฐานในระดับหนึ่ง เช่น หลักฐานการติดตามเป้าหมาย ภาพถ่ายวันนัดเจรจา หลักฐานการส่งเงิน หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมาย จึงมีการดำเนินการขอเป็น “คดีพิเศษ”
...
และเมื่อเป็นคดีพิเศษแล้ว พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้ไปรับสำนวนจาก บช.ปส. มาทำต่อ ก่อนจะออกหมายจับในที่สุด โดยมีการประสานงานกับหน่วยอื่นๆ อาทิ ปปง. ป.ป.ส. โดยจับใหญ่และยึดทรัพย์ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย จ.นครสวรรค์ ได้เงินกว่า 60 ล้าน และยังมีทรัพย์สินอื่นๆ อีกมากมาย เป็นการทลายเครือข่ายยาเสพติดที่มีเงินหมุนเวียนกว่าพันล้านบาท
“หลักฐานที่มัดแก๊งยาเสพติด คือ ลายนิ้วมือ โดยเฉพาะ นายธีระยุทธ ที่มีลายนิ้วมือเป็นหลักฐาน ในขณะที่ “เจ้าฟูเฉิน” เราตามเก็บหลักฐานการล่อซื้อตลอดเวลา ทำให้มีหลักฐานมัด อาทิ เบอร์โทรศัพท์ การที่มาตามสถานที่นัดหมาย การเจรจาก็ไม่ได้เจรจาครั้งเดียว ก็ทำให้มีหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตามเก็บไว้หมด” รองโด่ง กล่าว
ที่สุดแล้วคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตามรวบผู้เกี่ยวข้องได้เกือบหมด และศาลลงโทษแก๊งยาเสพติดเกือบทุกคน มีเพียงบางรายเท่านั้นที่หลุดรอด เพราะหลักฐานสาวไปไม่ถึง แต่ตัวละครสำคัญๆ ไม่สามารถหลบหนีความผิดไปได้ โดยเฉพาะ “เจ้าฟูเฉิน” และ “ตี๋ บางขวาง”
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun