ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา พวกเราต่างใช้ชีวิตอยู่กับความหวาดระแวงมาโดยตลอด ท่าทีที่เหมือนจะสงบ สักพักคลื่นโควิด-19 (COVID-19) ลูกใหม่ก็ซัดถล่มมาอีก... "โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไรบ้าง?"
จากข้อมูลของ 'จอห์น ฮอปส์กิน' (John Hopkins) ทั่วโลกมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมสูงถึง 23 ล้านราย และเสียชีวิตแล้วกว่า 8 แสนราย กราฟขยับอย่างต่อเนื่อง...ไม่รู้จะจบที่ตรงไหน? ซึ่งประเทศที่ต้องจับตามากเป็นพิเศษเวลานี้ คือ 'เกาหลีใต้' ที่การแพร่ระบาดกลับมาอีกครั้ง และการมาของคลื่นลูกนี้ไม่ได้มาธรรมดา แต่มาแบบ "เต็มกำลัง"
โดยเมื่อวันพุธที่ 19 สิงหาคม มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่สูงถึง 297 ราย นับเป็นตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ประจำวันที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม รวมแล้วตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 1,300 ราย
บอกเป็นนัยได้ว่า "การแพร่ระบาดภายใน 'เกาหลีใต้' ยังไม่มีสัญญาณการชะลอตัว!"
ซึ่ง 'คิม กัง ลิบ' (Kim Gang-lip) รองรัฐมนตรีสาธารณสุข ก็ออกมายอมรับว่า "นี่เป็นสถานการณ์อันตราย การแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงโซล มีความเป็นไปได้ว่าอาจนำไปสู่ 'คลื่นลูกใหม่' ของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ทั่วประเทศ"
เกิดอะไรขึ้นกับ 'เกาหลีใต้' ประเทศที่ถูกยกย่องว่ามีการจัดการโควิด-19 ยอดเยี่ยมและประสบความสำเร็จ?
...
ก่อนหน้านี้ 'เกาหลีใต้' เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ นอกจีน ที่พบการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ด้วยการแกะรอยและทดสอบที่เข้มข้นจนนำไปสู่การควบคุมได้ในที่สุด และบรรเทาการแพร่ระบาดในเวลาต่อมา
แต่แล้ว... เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันครบ 75 ปี การยอมจำนนของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และสิ้นสุดการปกครองอาณานิคม ก็ได้มีการเข้าร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลของนักเทศน์ฝ่ายขวาของโบสถ์แห่งหนึ่งจำนวนมาก จนเกิดการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะรถโดยสารเขตการเดินรถประจำโบสถ์ ได้วิ่งรับพวกเขาจากทั่วประเทศ อาทิ 'ปูซาน' ก่อนจะเข้ามาตัวเมือง
ซึ่งจากบรรดาผู้ติดเชื้อรายใหม่ 297 ราย มีรายงานว่ามาจาก 'โซล' 150 ราย และ 94 ราย ยืนยันว่ามาจากจังหวัดใกล้เคียงอย่าง 'คยองกี'
ณ เวลานี้ หาก 'เกาหลีใต้' ปราศจากการแกะรอยอย่างแข็งขัน ก็อาจจะต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยติดเชื้ออย่างฉับพลันและต่อเนื่อง เหมือนอย่างที่ "สหรัฐอเมริกาและยุโรป" เจอ
แน่นอนว่า รองอธิบดีศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลีใต้ 'ควอน จุน อุค' (Kwon Jun-wook) ไม่ยอมให้เป็นแบบนั้น ออกมาประกาศให้ผู้เดินขบวนทั้งหมดเข้ารับการทดสอบกับหน่วยงานสาธารณสุขใกล้เคียงอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะแพร่กระจายไปมากกว่านี้ โดยจากการแกะรอยของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สามารถทำการทดสอบได้แล้ว 3,275 ราย ซึ่งกว่า 17% มีผลเป็นบวก
ไม่เพียงเท่านั้น 2 สัปดาห์ถัดจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขยังขอความร่วมมือผู้พำนักในกรุงโซลให้ "อยู่บ้าน" (Stay-at-home) ออกข้างนอกเท่าที่จำเป็น เช่น ไปทำงาน, ซื้อของใช้ และไปโรงพยาบาล อีกทั้งยังเข้มงวดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มากขึ้น รวมถึงห้ามชุมนุมกลางแจ้งเกิน 50 คน และชุมนุมในร่มเกิน 100 คน
ปัจจุบัน 'เกาหลีใต้' มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสม 16,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 300 ราย
อีกหนึ่งประเทศที่น่าห่วงไม่แพ้กัน คือ 'อังกฤษ'
ที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกประเมินว่า "เศรษฐกิจอังกฤษ" จะไม่กลับไปสู่ระดับเดิมเหมือนก่อนหน้าโควิด-19 แพร่ระบาด และมีแนวโน้มตกต่ำเป็นประวัติการณ์ไปยาวๆ อย่างน้อย 2 ปี หรือจนกว่าปี 2564
ส่วนที่มีการถามกันว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะงัด 'อัตราดอกเบี้ยติดลบ' (Negative Interest Rate) ออกมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนอย่างธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือไม่?
ดูแววแล้วมีโอกาสเบาบางมาก... ค่าเฉลี่ยความน่าจะเป็นจากนักเศรษฐศาสตร์มีแค่ 22.5% เท่านั้น และมีเพียง 2 คน ที่มองว่ามีอัตราต่ำกว่า 0
...
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Bank Rate) อยู่ที่ 0.10% ไปจนถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย
เมื่อไตรมาสแรก อังกฤษมีการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นเพื่อลดการแพร่กระจายโควิด-19 จนเศรษฐกิจหดตัว 20.4% ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่า "การทรุดตัวอย่างรุนแรงเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ที่ยาวนาน และไม่อาจหลีกหนีความที่จริงที่ว่า รัฐบาลอังกฤษเองในช่วงแรกของการแพร่ระบาดก็รับมือได้ 'อ่อนหัด' พอสมควร"
ยิ่งกว่านั้น ภาวะการตกงานในอังกฤษก็เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นแล้ว โดยจากข้อมูลเดือนมิถุนายน มีอัตราว่างงานแบบฉับพลันถึง 3.9% และไตรมาส 4 อาจเห็นจุดสูงสุดที่ 8.0% แม้จะมีการเข็น "มาตรการรักษาการจ้างงาน" ที่เรียกว่า Job Retention Scheme ออกมาในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.-พ.ย.) ก็อาจต้องพบกับบางสิ่งที่เลวร้ายที่สุดอยู่ดี
มาต่อกันที่...
'โควิด-19' กับการเชื่อมโยง "ความรุนแรง"
ที่จากรายงานของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (The International Committee of the Red Cross-ICRC) พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ มากกว่า 600 รายของเคสการใช้ความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการสร้างตราบาป มากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19
แต่ก็มีการเตือนออกมาอีกว่า "ตัวเลขจริงอาจสูงมากกว่านั้น!"
โดยมากกว่า 20% ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบเป็นการทำร้ายทางร่างกาย อีก 15% เป็นการทำร้ายทางวาจาหรือคุกคาม และอื่นๆ เป็นความกลัวจากการถูกแบ่งแยก
สุดท้ายกับความน่ากลัวของ "เศรษฐกิจยูโรโซน"
จากการสอบถามนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกลุ่มยูโรโซนจะกลับมาอยู่ระดับเดียวกับก่อนโควิด-19 ต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีหรือมากกว่านั้น แม้ว่าจะมีข่าวของวัคซีนออกมาเป็นระยะๆ แต่ก็ยังไม่มีอันไหนที่มีประสิทธิภาพและสามารถใช้ได้จริงเลยสักอัน
...
ดังนั้น จับตาเลยว่า คลื่นลูกที่ 2 ของการตกงาน จะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้ คือ สิ้นปีและลากไปถึงปี 2564.
ข่าวอื่นๆ: