บาดแผลความรุนแรงทางเศรษฐกิจที่เกิดจากไวรัสร้ายโควิด-19 ค่อยๆ ปรากฏให้เห็นเด่นชัดแล้ว "เหล่าพี่น้องอาเซียน" กอดคอกันดิ่งเหว เผชิญ "ความเลวร้ายที่สุด" เป็นประวัติศาสตร์
ผ่านมากว่า 8 เดือนของการแพร่ระบาด 'ไวรัสโคโรนา' หรือ 'โควิด-19' (COVID-19) ที่ระยะเวลาเท่านี้หากเป็นเมื่อปี 2546 ก็สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสซาร์ส (SARS) ได้แล้ว แต่สำหรับวิกฤติปี 2563 กลับไม่เป็นเช่นนั้น การแพร่ระบาดยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในบางพื้นที่ คลื่นลูกแรก ลูกที่ 2 ลูกที่ 3 ตามมาไม่หยุดหย่อน โผล่ตรงนั้นที ตรงนี้ที ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะสงบลงเมื่อไร...
นอกจากฟากฝั่งอเมริกาและยุโรปแล้ว "ภูมิภาคอาเซียน" เองก็หนักหน่วงไม่แพ้กัน มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมเกือบ 4 แสนราย และเสียชีวิตรวมกันร่วมหมื่นราย โดยจุดที่หนักหนาสาหัสที่สุด คือ 'ฟิลิปปินส์' ประเทศที่ "ล็อกดาวน์" (Lockdown) เข้มงวดและยาวนานที่สุด มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมมากกว่า 1.7 แสนราย และอาจเข้าขั้นเลวร้ายที่สุดที่จะมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมถึง 2 แสนราย ภายใน 2 เดือนนี้ ซึ่งมาตรการล็อกดาวน์ที่ว่านั้น ก็เป็นผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ต้องหยุดชะงัก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) ไตรมาส 2 ปี 2563 (ช่วงเม.ย.-มิ.ย.) ดิ่งฮวบ -16.5% เรียกว่ามีอัตราการเติบโตเลวร้ายที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ จากการคาดการณ์จีดีพีทั้งปีอาจติดลบประมาณ 8% ตัวเลขใกล้เคียงกับประเทศไทย ที่มองดูแล้วตัวเลขจีดีพีทั้งปีก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน
แต่ก่อนจะพูดถึงเศรษฐกิจไทย นักวิเคราะห์มีการเปรียบเทียบประเด็นที่น่าสนใจของ 'ฟิลิปปินส์' อยู่ประการหนึ่ง นั่น พิษเศรษฐกิจที่เกิดจาก "มาตรการล็อกดาวน์" อันยาวนานและเข้มงวด
...
โดยความน่าสนใจของ "มาตรการล็อกดาวน์" ที่ว่านั้น เมื่อนำมาเทียบกับประเทศในอีกภูมิภาคหนึ่งที่ถูกกล่าวขานกันตั้งแต่คลื่นไวรัสโควิด-19 ลูกแรกเริ่มระบาดจนถึงปัจจุบัน ว่า ยึดมั่นมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดแบบแสนชิล ปราศจากการล็อกดาวน์ใดๆ นั่นคือประเทศ 'สวีเดน' ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมราว 8 หมื่นราย น้อยกว่าฟิลิปปินส์กว่าครึ่ง และจีดีพีของไตรมาส 2 ยังหดตัวน้อยกว่า อยู่ที่ -8.6% แต่ปกติแล้ว เศรษฐกิจสวีเดนมีขนาดใหญ่กว่าฟิลิปปินส์ถึง 1.47 เท่า มีมูลค่าจีดีพีเบื้องต้นประมาณ 16.6 ล้านล้านบาท ส่วนฟิลิปปินส์มีมูลค่า 11.2 ล้านล้านบาท
ขอแทรกข้อมูลภูมิภาคยุโรปเล็กน้อย...แม้ว่า 'สวีเดน' ที่มีจีดีพีของไตรมาส 2 อยู่ที่ -8.6% ซึ่งเป็นจีดีพีที่หดตัวเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังดีกว่าอีก 4 เพื่อนบ้านใกล้เคียงที่มีการล็อกดาวน์เข้มงวด (อาจไม่นานเท่าฟิลิปปินส์) อย่าง สเปนที่ตกต่ำ -18.5%, โปรตุเกส -14.1%, ฝรั่งเศส -13.8% และเยอรมนี -10.1%
กลับมาหา "พี่น้องอาเซียน"
อย่างที่มีการคาดการณ์ว่า จีดีพีทั้งปีของฟิลิปปินส์อาจจะหดตัวใกล้เคียงกับ "ประเทศไทย" ที่ล่าสุด สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ออกมาแถลงตัวเลขไตรมาส 2 ที่ไม่ผิดจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ คือ หดตัว -12.2% เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541 ที่ถูกวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย หรือ 'ต้มยำกุ้ง' โจมตีมาตั้งแต่ปี 2540 และจีดีพีทั้งปีอาจติดลบ 7.5% (แต่...นักวิเคราะห์จากต่างประเทศคาดการณ์ว่า ไทยอาจติดลบถึง 8.5%)
ซึ่งตลอดที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยจะมีภาพความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่มุมมองนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันการเงินญี่ปุ่น 'โนมุระ' กลับมองว่า "เศรษฐกิจไทย" เหมือนกำลังขับรถผ่านถนนสายหลักก่อนที่จะเข้าสู่ถนนชนบทลูกรัง
เพราะอะไรทำไมถึงคิดแบบนั้น?
เขาอธิบายว่า "หัวรถจักร" ของเศรษฐกิจไทย คือ "การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง" ฉะนั้น เมื่อการท่องเที่ยวถูกทุบพังทลาย และค่อยๆ ล้มลง กว่าจะกลับมาฟื้นกลับสู่สภาพปกติได้ก็จนกว่า "วัคซีน" จะสำเร็จ หรือสามารถผ่อนคลายมาตรการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศได้ แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ที่ว่า "นักท่องเที่ยวจะกลับมา..."
...
อ้างอิงจากรายงานการแถลงด้านการค้าและการพัฒนาของสหประชาชาติ (UN) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่มีการระบุว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะต้องเผชิญความทุกข์ทรมานจากพิษเศรษฐกิจที่ถูกทุบจนพังทลายครั้งใหญ่ที่สุด จากการ "สูญเสียนักท่องเที่ยว" หากมองในแง่ดี ประเทศไทยอาจสูญเสียมูลค่าจีดีพีประมาณ 9% หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
'มาเลเซีย' ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวและการค้าสูง เมื่อมีมาตรการ 'ชัตดาวน์' (Shutdown) ภาคธุรกิจ และให้ประชาชนอยู่บ้าน ก็ทำให้อุปทานและอุปสงค์ตกอยู่ใน "สภาวะช็อก!!"
เศรษฐกิจเสียหายหนัก จีดีพีของไตรมาส 2 หดตัว -17.1% เป็นครั้งแรกนับจากเกิด "วิกฤติการเงินโลก" เมื่อปี 2552 และเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิด "วิกฤติต้มยำกุ้ง" หรือเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 20 ปี ที่ธนาคารกลางมาเลเซียคาดการณ์ว่า จีดีพีทั้งปีอาจหดตัวมากกว่า -3.5% ถึง -5.5%
ปัจจุบัน มาเลเซียมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมกว่า 9,000 ราย และเสียชีวิตรวม 125 ราย
...
ส่วนประเทศเล็กๆ อย่าง 'สิงคโปร์' ที่มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วนมาสักพัก มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมมากกว่า 5 หมื่นราย ก็จีดีพีของไตรมาส 2 ก็หดตัวถึง -13.2% นับว่าหนักหนาสาหัสมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2519
ขณะที่ ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนอย่าง 'อินโดนีเซีย' ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมกว่า 1.5 แสนราย จากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ก็ส่งผลให้จีดีพีของไตรมาส 2 ติดลบ 5.3% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบมากกว่า 2 ทศวรรษ หรือนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2542 ช่วงหลังเกิด "วิกฤติต้มยำกุ้ง"
โดยนักวิจัยจาก Capital Economics มองว่า นี่เป็นผลจากความล้มเหลวในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และนโยบายที่จะใช้ประคับประคองเศรษฐกิจก็ยังไม่เพียงพอ จนทำให้ยอดขายค้าปลีกและอุตสาหกรรมการผลิตพังทลายอย่างรุนแรง และอาจมีความเป็นไปได้ที่อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตช้าที่สุดในอาเซียน
เมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารกลางอินโดนีเซียหั่นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ของปี และเข็นแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อหวังเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการชัตดาวน์ จนทุบภาคการท่องเที่ยวจนยับ มีคนตกงานหรือว่างงานชั่วคราวหลายล้านคน คาดการณ์จีดีพีทั้งปีอาจหดตัว -0.4%
...
และจากบรรดาพี่น้องอาเซียน ก็มีเพียง 'เวียดนาม' เท่านั้น ที่ก่อนหน้านี้ได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลกว่ามีการจัดการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างมีประสิทธิผล มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมประมาณพันราย ซึ่งเศรษฐกิจก็ดูจะมีทิศทางที่ดีกว่าเพื่อน ด้วยการล็อกดาวน์เพียงบางส่วน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวอยู่ที่ 0.36% แต่ก็ถือว่ายังหืดจับอยู่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคอาเซียนยังคงมีความน่าห่วงหลังจากนี้ จากการที่การท่องเที่ยวถูกทุบอย่างรุนแรงและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและอุปโภคของครัวเรือนที่ลดลง เพราะมีการจำกัดกิจกรรมนอกบ้านของประชาชนและกิจกรรมทางธุรกิจ จึงมีความเสี่ยงมากๆ ที่เม็ดเงินจากทั่วโลกอาจหนีการลงทุนออกจากภูมิภาคนี้ หากว่าสถานการณ์ยังดำเนินไปในทิศทางที่เลวร้ายเช่นนี้ต่อไป.
ข่าวน่าสนใจ: