'ภาพยนตร์' สื่อบันเทิงระดับโลกที่ทำเงินมหาศาล ทุกวันนี้...คนติดตามวงการ 'ฮอลลีวูด' (Hollywood) ของสหรัฐอเมริกา เป็นอันดับ 1 มีเม็ดเงินรวมกันทั่วโลกกว่า 1.2 ล้านล้านบาท รองลงมาเป็นประเทศจีน และอันดับ 3 เป็น 'บอลลีวูด' (Bollywood) ที่สร้างรายได้มากกว่า 7.6 หมื่นล้านบาท
'บอลลีวูด' (Bollywood) ก็คือ 'ฮอลลีวูด' (Hollywood) ของอินเดีย แต่เปลี่ยนจาก H เป็น B ตามชื่อเมืองบอมเบย์ (หรือมุมไบ) เมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีมหาเศรษฐีมากที่สุดของประเทศ โดยภาพจำของคนไทยแล้ว สไตล์ภาพยนตร์อินเดียมักจะเป็นการเต้น...วิ่งหลบหลังต้นไม้ แต่ความเป็นจริงนั้น 'บอลลีวูด' ก็เสนอเรื่องราวที่เข้มข้นไม่แพ้ภาพยนตร์อินเตอร์จากเมืองมะกันเลย รวมไปถึงมีการหยิบยกประเด็นทางสังคมอย่าง เพศ สีผิว เชื้อชาติ และศาสนามานำเสนอ
แต่ที่หนักหนาสาหัสกว่าคือ ภาพยนตร์อินเดียมีการพูดถึง 'วรรณะ' ที่มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง 'ฮินดู'
แต่ประเด็นที่กำลังเป็นดราม่าในดินแดนภารตะอยู่ในขณะนี้ ก็คือ "การทาสีผิวนักแสดง" เพื่อบ่งบอกสัญญะการแบ่งชนชั้นและฐานะทางสังคมของตัวละคร โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง Bala ที่โด่งดังมากๆ เมื่อปี 2561 กับการนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงที่ต้องทนทุกข์จากการถูกเหยียดสีผิว นำแสดงโดย "นักแสดงหญิงผิวขาว" Bhumi Pednekar ซึ่งหลังจากฉายออกไปก็ถูกกระแสต่อว่าอย่างรุนแรงจากสื่อท้องถิ่น นักวิจารณ์หนัง และโซเชียลมีเดีย
การวิพากษ์วิจารณ์ไม่เว้นแม้แต่ "โปสเตอร์โปรโมตหนัง" ที่นักแสดงสาวรายล้อมไปด้วย "เครื่องสำอางไวเทนนิง" บ่งชี้ถึงความย้อนแย้งของผู้กำกับที่เลือกนักแสดงผิวขาวมาแต่งหน้าและทาผิวให้คล้ำ
...
จากประเด็นที่ว่านั้น ผู้กำกับเคยออกมาชี้แจงว่า "ผมเองเคยคิดเลือกนักแสดงที่มีผิวสีเข้ม แต่เมื่อจัดออดิชันนักแสดง ผมรู้สึกว่า Bhumi เหมาะสมกับบทตัวละครนี้มากที่สุด"
ขณะที่ นางเอกสาว Bhumi เองก็ออกมาให้ความเห็นเข้าข้างผู้กำกับว่า "การที่ผู้กำกับเลือกฉันก็เพราะว่า การแสดงของฉันมีคุณค่ากับหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะรูปร่างภายนอกหรือสีผิว"
"วรรณะ" ผูกโยง "สีผิว" ฝังรากในศาสนา หล่อหลอมเป็น "สังคมอินเดีย"
ประเด็นความเชื่อ "คนผิวขาว" สูงส่งกว่า "คนผิวสี" ไม่ใช่เรื่องใหม่ในอินเดีย เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่โบราณ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความเชื่อทางศาสนาที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ และ "มันเลวร้ายลงอีก" เมื่ออินเดียกลายเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
"นิยามของสีผิวถูกพูดถึงในคัมภีร์พระเวทของศาสนาฮินดู โดยมีการระบุถึงลักษณะคนแต่ละวรรณะ เช่น วรรณะ 'ศูทร' จะมีรูปร่างน่าเกลียด ตัวดำ จากการตรากตรำทำงานหนักใต้แสงแดด ส่วน 'คนผิวขาว' เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการมีวรรณะที่สูงกว่า ที่สำคัญ คัมภีร์ยังสอนว่า มนุษย์ได้ถูกกำหนดวรรณะมาแล้วตั้งแต่เกิด" Sanjay Srivastava นักสังคมวิทยาของสถาบันการเติบโตทางเศรษฐกิจในนิวเดลี กล่าว
ช่วงศตวรรษที่ 18 การมาถึงของชาวอังกฤษผิวขาวในยุคล่าอาณานิคม มีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมการเหยียดสีผิว และมีส่วนทำให้การแบ่งชนชั้นในอินเดียเลวร้ายยิ่งขึ้น
"ยุคล่าอาณานิคมเป็นช่วงที่มีการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวมากที่สุด เพราะมีการให้กำเนิดลูกผสมระหว่างแองโกล-อินเดีย ส่งผลให้เกิดความหลากหลายของเชื้อชาติและวรรณะในสังคมอินเดียมากขึ้น ซึ่งเด็กที่มีผิวขาวและมีลักษณะใกล้เคียงกับบรรพบุรุษฝั่งแองโกลจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง" Sanjay กล่าว
แม้ภายหลังอินเดียจะประกาศเอกราชในปี 2490 และได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดให้การเลือกปฏิบัติตามวรรณะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่การเลือกปฏิบัติยังคงมีอยู่ในบางพื้นที่ โดยจากรายงานโลกประจำปี 2562 ของ Human Rights Watch ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ชนชั้น 'ฑลิท' (Dalit) หรือ 'จัณฑาล' ยังคงถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งด้านการศึกษาและการทำงาน
แหวกม่านวงการ 'บอลลีวูด'
กลับมาที่วงการ 'บอลลีวูด' มีหนังหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เช่น Super 30 ที่สร้างจากชีวิตประวัติของ Anand Kumar นักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียที่เปิดโรงเรียนสอนเด็กยากไร้ 30 คน และ Gully Boy หนังเสียดสีสังคมที่ใช้เพลงฮิปฮอปเดินเรื่อง ซึ่งก็ใช้เทคนิค "ทาสีผิว" เช่นเดียวกัน
...
ทั้ง 2 เรื่องเข้าฉายเมื่อปีที่แล้ว และติดอันดับหนังทำเงินที่กวาดรายได้มากกว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7.7 แสนล้านบาท ชี้ให้เห็นว่า วงการบอลลีวูดยังคงไม่ได้รับผลกระทบหรือแรงกดดันจากสาธารณะกรณีการทาสีผิว เพราะผู้ชมมองข้ามการแต่งหน้า แต่สนใจที่การเล่าเรื่องของหนังมากกว่า ทั้งที่หลายคนแสดงความเห็นว่า การทาสีผิวเป็นการเหยียดเชื้อชาติและน่ารังเกียจก็ตาม
Neeraj Ghaywan ผู้กำกับที่มีพื้นเพมาจากกลุ่มนอกวรรณะ หรือ 'ฑลิท' (จัณฑาล) ซึ่งเป็นชนชั้นต่ำที่สุดในอินเดีย กล่าวว่า การเลือกปฏิบัติระหว่างชนชั้นเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมอินเดียไปแล้ว แม้แต่หนังอมตะอย่าง 'ธรณีกรรแสง' (Mother India) ที่ฉายปี 2500 ก็มีการทาสีผิวนักแสดงนำหญิง Sunil Dutt ให้มีผิวเข้มขึ้นเพื่อแสดงบทชาวนา
"การตัดสินใจเลือกนักแสดงผิวขาวแทนที่จะเป็นนักแสดงผิวเข้มธรรมชาติ เพราะมันคือโอกาสสร้างหนังทำเงิน"
เมื่อปีก่อน Neeraj เคยทวีตข้อความเชิญชวนคนที่มีพื้นเพจากวรรณะล่างให้มาสมัครทำงานกับเขาในตำแหน่งผู้ช่วยคนเขียนบทและผู้ช่วยผู้กำกับ
ชีวิตรันทด...สังคมนิยมความขาว
...
Seema Hari หญิงสาวที่เกิดและเติบโตในมุมไบ เล่าว่า เธอเผชิญกับการเหยียดผิวอยู่ตลอด ในช่วงวัยเด็ก เธอมักถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน เพราะเธอมีสีผิวเข้มกว่าเพื่อน แม้แต่คนแปลกหน้าที่เดินสวนกันบนถนนก็ทักว่า เธอจะนำโชคร้ายมาให้เมื่อเห็นหน้าเธอ
"ตอนที่ฉันยังเป็นเด็ก ไม่มีวันไหนเลยที่ฉันจะไม่รู้สึกหดหู่และไร้ค่า" Seema เล่าในขณะนี้เธอทำอาชีพนางแบบและวิศวกรซอฟต์แวร์ให้กับ Snapchat อาศัยอยู่ที่ลอสแอนเจลิส
เธอเข้าร่วมการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดสีผิวและชี้ว่า นอกจากหนังบอลลีวูดแล้ว ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวขาวที่วางอยู่บนชั้นของร้านขายยาและห้างสรรพสินค้ายังแสดงถึงการเหยียดสีผิวอีกด้วย Seema ให้ความเห็นว่า "ดารามีชื่อเสียงในวงการบอลลีวูด คือ ปัจจัยหนึ่งที่สร้างความนิยมผิวขาวในสังคม ด้วยการเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์ไวเทนนิง"
Seema แสดงความเห็นว่า ดาราบอลลีวูดสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ เพื่อที่จะเปลี่ยนทัศนคติของคนในประเทศให้ยอมรับคนที่มีผิวสีเข้ม ลองนึกภาพดาราใหญ่อย่าง Shah Rukh Khan ออกมาปฏิเสธโฆษณาสินค้าที่ทำให้ผิวขาว คงจะทำให้หลายคนเปลี่ยนความคิดในเรื่องนี้
Shah Rukh Khan ราชาแห่งวงการบอลลีวูด ที่มีค่าตัวสูงสุด 38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.21 พันล้านบาท อดีตพรีเซ็นเตอร์โฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อความ "ขาวและหล่อ" สำหรับผู้ชาย เคยให้สัมภาษณ์ 'เดอะ การ์เดียน' ในปี 2559 ว่า ตัวเองไม่เคยคิดจะใช้ผลิตภัณฑ์นั้นเลย
แต่ Shah Rukh Khan ก็ไม่ปฏิเสธที่จะเป็นเครื่องมือสร้างค่านิยมความขาวให้กับสังคมอินเดีย ส่งผลให้ยอดขายผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวขาวเติบโตเป็นอย่างมาก โดยจากรายงานบทวิเคราะห์อุตสาหกรรมโลกคาดการณ์ว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ผิวขาวทั่วโลกจะเติบโตมากกว่า 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2568
...
"ค่านิยมความขาว" มันซึมลึกในสังคมอินเดียมากกว่าครีมบำรุงผิวแล้ว แต่ไปถึงขั้นเปลี่ยนสีผิวด้วยการศัลยกรรม
"เรามีคนไข้ 2 กลุ่ม กลุ่มที่ต้องการเข้าวงการบอลลีวูด และกลุ่มที่นิยมชมชอบผิวขาวมากๆ ลูกค้ามักจะถามฉันว่า จะทำให้เธอผิวขาวขึ้นแบบดาราผิวสีบางคนได้อย่างไร" Dr.Sujata Chandrappa แพทย์ผิวหนังที่เปิดคลินิกในเมืองบังกาลอร์ กล่าว
มันแสดงถึงความเชื่อฝังลึกในสังคมอินเดียที่คิดว่า การมีผิวขาวเป็นสิ่งจำเป็นถ้าอยากเข้าวงการบอลลีวูด
Dr.Sujata เล่าว่า เธอพยายามโน้มน้าวลูกค้าบางรายให้เปลี่ยนความคิดอยากมีผิวขาวและแนะนำวิธีการทำให้กระจ่างใสขึ้นสำหรับคนที่มีปัญหาผิว เช่น ฝ้า กระ จุดด่างดำ และริ้วรอยเหี่ยวย่น หากลูกค้าคนไหนไม่มีปัญหาผิวหนัง แต่ต้องการแค่ความขาว เธอจะปฏิเสธการรักษาทันที
"ฉันรู้สึกว่าสิ่งที่จะทำเป็นการส่งเสริมการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว ซึ่งฉันยอมรับไม่ได้"
ในปัจจุบัน การพูดคุยเรื่องการเหยียดสีผิวในสังคมเริ่มที่จะมีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในอินเดีย ชื่อ "Women of Worth" ก่อตั้งโครงการ "Dark is Beautiful" เพื่อรณรงค์ต่อต้านการเหยียดสีผิว โดยจัดทำเวิร์กช็อปในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน และในชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้และเปิดมุมมองใหม่ต่อการมีผิวสีเข้ม ทั้งยังเรียกร้องให้วงการโฆษณา โดยเจาะจงไปที่ Shah Rukh Khan ยุติการโฆษณาโปรโมตครีมผิวขาว
Nandita Das นักแสดงสาวตัวแทนของโครงการ "Dark is Beautiful" กล่าวว่า การรณรงค์นี้ต้องการให้คนที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกเหยียดสีผิวได้มาแบ่งปันเรื่องราวของตัวเอง และเปิดเผยความคลั่งผิวขาวในสังคมอินเดีย
"เราพบว่า การเหยียดสีผิวถูกแฝงอยู่ในโฆษณางานแต่งงาน เครื่องสำอาง มาอย่างยาวนาน จนเรามองว่าเป็นเรื่องปกติ จนตัวเองก็รู้สึกแปลกใจว่า ทำไมเราไม่พูดถึงปัญหานี้"
เธอเล่าว่า สีผิวของเธอ "เหมาะ" ที่จะแสดงบทคนวรรณะล่างหรือมีสถานะต่ำต้อยในสังคม แต่เมื่อเธอต้องเล่นบท "คนมีการศึกษาหรือชนชั้นกลาง" ทั้งผู้กำกับ คนตัดต่อ หรือช่างแต่งหน้าจะบอกเธอว่า "ไม่ต้องเป็นห่วงนะ เราจะทำให้ผิวเธอขาวขึ้นเอง"
เธอเชื่อว่า ผู้กำกับในบอลลีวูดมีอิสระที่จะเลือกนักแสดงที่ชอบ แต่พวกเขา "ควรจะคิดให้ดีว่ามันคือการสร้างความไม่เท่าเทียม" จากการคลุกคลีในวงการมานาน ทำให้เธอรู้ว่า "เส้นทางยังอีกยาวไกล" กว่าที่อุตสาหกรรมหมื่นล้านนี้จะเปิดโอกาสให้นักแสดงผิวเข้มโดยธรรมชาติได้รับบทนักแสดงนำ
การทาสีผิวในวงการหนังบอลลีวูดเท่ากับการเหยียดเชื้อชาติ?
Sanjay นักสังคมวิทยาให้คำตอบว่า "มันเป็นความคิดที่ถูกฝังรากจนกลายเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งแก้ไขและเปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะที่ผ่านมา บอลลีวูด ไม่เคยพูดถึงปัญหานี้เลย เพราะสังคมอินเดียเองก็เพิกเฉย
"การทาสีผิวให้กับนักแสดง พวกเขาไม่เคยคิดว่าเป็นสิ่งผิด...ซึ่งนั่นแหละที่เป็นปัญหาใหญ่" Neeraj ผู้กำกับหนังแนวอินดี้ ที่มีต้นกำเนิดในวรรณะต่ำสุดของอินเดีย กล่าวทิ้งท้าย.
ข่าวอื่นๆ: