เหตุการณ์ “ช็อกโลก” สารเคมีระเบิด กลางเมืองหลวงของ “เลบานอน” เมืองเกือบทั้งเมือง พังทลายภายในไม่กี่วินาที ยอดคนตาย เจ็บ หรือ ไร้ที่อยู่ ยังพุ่งไม่หยุด
เมื่อหันกลับมามองบ้านเรา...เหตุสารเคมีระเบิด ก็เคยเกิดขึ้นกลางกรุงเทพฯ ใกล้กับชุมชน ในช่วงบ่าย วันที่ 2 มีนาคม 2534
3 นาทีคดีดัง โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอย้อนรอยเหตุการณ์ เหตุสารเคมีระเบิด ที่คลังสินค้าหมายเลข 3 ในท่าเรือเก็บสินค้า บริเวณท่าเรือคลองเตย
โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด เมื่อจู่ๆ มีเสียงระเบิด เปลวไฟดั่งเพลิงนรก พุ่งขึ้นฟ้า ก่อนร่วงลงสู่คลังสินค้าอื่นๆ ลุกลาม เผาผลาญบ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็ว
เสียงกรีดร้อง ความวุ่นวายของชาวบ้านดังสนั่น และต่างวิ่งหนีตายอย่างอลหม่าน เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทั่วกรุงเทพฯ มุ่งตรงเข้าควบคุมเพลิง จนกระทั่งทำสำเร็จในเวลาต่อมา
ซากความเสียหาย แผ่ขยายเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในชุมชนเกาะลาว บ้านเรือนพังราบ 625 หลัง มีผู้เดือดร้อน 5,417 คน เสียชีวิตทันที 5 ศพ บาดเจ็บ 27 คน เบื้องต้น ตำรวจสรุปสาเหตุการระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ว่า เกิดจากสารเคมีที่นำมาเก็บไว้ในคลังเก็บสินค้า ซึ่งวางทับกันเป็นชั้นๆ เกิดความร้อน แล้วทำปฏิกิริยาลุกไหม้ขึ้นเอง และในการดับเพลิงครั้งนี้ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะสารเคมีบางชนิดเมื่อถูกน้ำจะลุกเป็นไฟขึ้นได้
...
ส่วนในคลังที่เกิดระเบิดนั้น มีการเก็บสารเคมีอันตรายถึง 23 ชนิด ทั้งที่เป็นของแข็ง ของเหลว และแก๊ส ที่ใช้ในอุตสาหกรรม
สิ่งที่ตามมา คือ ปัญหาสารพิษจากสารเคมีฟุ้งกระจายทั่วไปในอากาศ และครอบคลุมไปทั่วบริเวณชุมชนเกาะลาวและบริเวณใกล้เคียง
จากการตรวจสุขภาพของประชาชน โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เป็นโรคผิวหนัง 719 คน โรคระบบทางเดินหายใจ 659 คน โรคระบบประสาท 84 คน โรคระบบทางเดินอาหาร 121 คน โรคตา 94 คน และ โรคระบบทางเดินปัสสาวะ 4 คน
นอกจากนี้ จากการตรวจเลือดพบผู้ป่วยที่มีสารเคมีที่ใช้ในทางการเกษตรในร่างกาย เกิน 3% จำนวน 25 คน เมื่อตรวจปัสสาวะพบผู้ป่วยที่มีสารพิษที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม มากกว่า 300 PPM จำนวน 70 คน และที่น่าเศร้าคือ ทารกที่อยู่ในครรภ์เสียชีวิต 4 ศพ
หลังระเบิด การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับสินค้าอันตราย 3 ประการคือ
1. สินค้าอันตรายที่จะเป็นอันตรายต่อชุมชนค่อนข้างรุนแรง ให้เจ้าของสินค้านำออกจากพื้นที่ของการท่าเรือทันทีที่ขนถ่ายจากเรือ
2. สินค้าอันตรายที่จะเป็นอันตรายไม่รุนแรง ให้นำออกจากเขตพื้นที่ของการท่าเรือ ภายใน 3 วัน นับจากวันเสร็จสิ้นการขนถ่าย หากไม่นำออก ให้สามารถขายทอดตลาดหรือทำลายต่อไป
3. ให้การท่าเรือและกรมศุลกากรร่วมกันพิจารณาแก้ไขระเบียบวิธีปฏิบัติของทั้งสองหน่วยงานให้สอดคล้องกับมาตรการในข้อ 1 และ 2 โดยเร็ว
ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้นในเวลานั้น การเคหะแห่งชาติจะสร้างที่พักกึ่งถาวร จำนวน 700 ยูนิต เพื่อให้ชาวชุมชนแออัดพักอาศัยในระยะ 1 - 2 ปี โดยจะสร้างในที่ว่างในที่ดินของ การท่าเรือฯ และที่ว่างในชุมชน 3 แห่ง โดยการท่าเรือฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย 35 ล้านบาท และหลังจากจัดให้ชาวชุมชนเข้าอยู่ในที่พักชั่วคราวแล้ว การเคหะแห่งชาติจะสร้างแฟลตจำนวน 4,600 ยูนิต เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะโอนให้ชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราวเข้ามาอยู่ในแฟลตนี้แทน
สถาบันปลาสเตอร์แห่งประเทศฝรั่งเศส นำตัวอย่างน้ำที่เก็บจากบริเวณชุมชนเกาะลาวไปวิเคราะห์ ผลปรากฏว่าน้ำบริเวณดังกล่าวมีสารพิษเจือปนอยู่ 100% และพบว่ายังมีสารเคมีใช้ผสมยาฆ่าแมลงเจือปนอยู่ในน้ำในระดับที่สูงกว่าปกติ สารดังกล่าวเมื่อละลายในน้ำจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ทางสถาบันปลาสเตอร์ได้แนะนำว่า น้ำในบริเวณเกาะลาวในรัศมี 1 - 2 กม. ห้ามประชาชนสัมผัสโดยเด็ดขาด และไม่ควรให้น้ำในบริเวณดังกล่าวไหลลงแม่น้ำลำคลองต่างๆ ด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้น ถือเป็นบทเรียนราคาแพง ที่ประเทศไทย ในเวลานั้นกำลังเดินหน้าเป็นสังคมอุตสาหกรรม และไม่ระมัดระวัง ด้วยการนำเข้าสารเคมีมาเก็บไว้ใกล้กับชุมชน
...
สิ่งที่เหลืออยู่ในวันนี้ คือ สารพิษ ที่ยังคงแฝงร่างกับผู้เดือดร้อน บางคนป่วย ตายไปแล้ว บางคนต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก.. ฉะนั้น สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องป้องกัน ระมัดระวังในการจัดเก็บ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ชม 3 นาทีคดีดังที่น่าสนใจ