เพิ่งเปิดตัว "Apple Iconsiam" ได้ไม่ถึง 2 ปี กลางปีนี้ก็ได้ประกาศเปิด "Apple Central World" เป็น Flagship Store แห่งที่ 2 มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ด้วยสถานการณ์ของโรคระบาด "โควิด-19" ทำให้บรรยากาศวันแรกของสาขานี้แตกต่างจากการเปิดตัวสาขาอื่นที่จะมีคนมาต่อคิวรอกันตั้งแต่เย็นวันก่อนหน้า

"แอปเปิล สโตร์" สาขาเซ็นทรัลเวิลด์เป็นรูปแบบ Flagship Store ที่ตัวร้านแยกออกมาจากส่วนของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งอยู่บนลานกิจกรรมหน้าห้างฯ ทำเลทองใจกลางเมือง ติดสี่แยกราชประสงค์ เดินทางไปสะดวก อยู่ระหว่างสถานีรถไฟฟ้า (BTS) สยามและชิดลม

"แอปเปิล เซ็นทรัลเวิลด์" เป็นสาขาที่ 4 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมี 2 สาขาในไทย และอีก 2 สาขาในสิงคโปร์ การที่ "แอปเปิล" ตัดสินใจเปิดสาขาอีกหนึ่งแห่งในกรุงเทพฯ อาจจะเป็นเพราะว่า แอปเปิลต้องการขยายฐานผู้ใช้งานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเพราะกรุงเทพฯ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก จากผลสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางของโลกปี 2562 โดยมาสเตอร์การ์ด (GDCI) กรุงเทพฯ เป็นเมืองอันดับ 1 ที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาพักแรม จำนวน 22.78 ล้านคน นี่อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ "แอปเปิล" กล้าตัดสินใจลงทุนเปิดอีกหนึ่งสโตร์ในกรุงเทพฯ

...

สโตร์ที่ไม่ได้เป็นแค่ "ร้านขายของ"

ก่อนปี 2540 "แอปเปิล" วางขายสินค้าของตัวเองกับพาร์ทเนอร์ร้านค้าปลีกเจ้าใหญ่กว่า 20,000 แห่งในอเมริกา แต่แล้วกลับพบปัญหาเมื่อพนักงานขายในร้านไม่เข้าใจการทำงานของระบบปฏิบัติการ MacOS เท่ากับ Window ที่เป็นเจ้าใหญ่ในตลาด พนักงานขายจึงแนะนำเครื่อง Window ให้กับลูกค้ามากกว่า

ในปี 2541 "ทิม คุก" ที่เข้ามารับตำแหน่งรองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการทั่วโลกในขณะนั้น ได้มองเห็นถึงปัญหา จึงประกาศตัดความสัมพันธ์กับพาร์ทเนอร์ร้านค้าปลีกกว่าครึ่ง

"เพราะพวกเขาไม่ได้ให้ประสบการณ์การซื้อที่ดีแก่ลูกค้าตามแบบที่ 'แอปเปิล' คาดหวัง"

จึงเป็นจุดเริ่มต้นความคิดที่ "แอปเปิล" ต้องการสร้างร้านค้าปลีกของตัวเอง หลังจากนั้น "แอปเปิล" ได้ยื่นข้อเสนอสัญญากับร้านขายปลีกในรูปแบบใหม่ ด้วยการ "เปิดร้านข้างในร้าน" (Store in Store) ขอส่วนแบ่งพื้นที่ในร้านเพื่อเปิดร้านของตัวเอง แล้วฝึกพนักงานขายให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในสินค้าของ "แอปเปิล" ซึ่งต่างจากพนักงานในร้านค้าปลีกคนอื่นที่จะขายสินค้าโดยรวม

ปี 2542 "สตีฟ จ๊อบส์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแอปเปิลในขณะนั้น เชิญชวนกลุ่มผู้บริหารร้านค้าปลีกมากความสามารถจาก Gap และ Target เข้ามาร่วมระดมความคิดเพื่อวางแผนกลยุทธ์การสร้างร้านค้าปลีก ทั้งยังจ้างทีมสถาปนิกและดีไซเนอร์เพื่อออกแบบ "แอปเปิล สโตร์"

ในที่สุดเดือนพฤษภาคมปี 2544 ชาวอเมริกันก็ได้ยลโฉม "แอปเปิล สโตร์" อย่างเป็นทางการ 2 สาขาแรก ที่เมืองแฟร์แฟ็กซ์ เคาท์ตี รัฐเวอร์จิเนีย และเมืองเกลนเดล รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีสื่อและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างปรามาสว่า "นี่จะต้องเป็นความล้มเหลวของแอปเปิล"

ทว่า "แอปเปิล สโตร์" สาขาแรกก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ด้วยยอดขายมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน 3 ปีแรก และเป็นร้านค้าแรกที่ทำได้ในประวัติศาสตร์

เป้าหมายในการสร้างสโตร์อย่างเป็นทางการของ "แอปเปิล" คือ การสร้างความสัมพันธ์และมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ด้วยการบริการครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการขายผลิตภัณฑ์แอปเปิล อุปกรณ์เสริม รับซ่อม เคลม และให้คำแนะนำเทคนิคการใช้อุปกรณ์ ในแต่ละสาขา "แอปเปิล" จ้างพนักงานมากกว่า 100 คน ที่พร้อมให้บริการรวมทั้งหมด 44 ภาษา ตอนนี้ "แอปเปิล สโตร์" นับเป็นร้านค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในอเมริกาที่มีมากถึง 511 สาขาใน 5 ทวีป 

...

และ "แอปเปิล เซ็นทรัลเวิลด์" คือ สาขาที่ 511

ทั้งนี้ แนวคิดการทำ "แอปเปิล สโตร์" ในยุคหลังปี 2559 ยังมีการเพิ่มคอนเซปต์ การทำสโตร์ให้เป็น "Town Square" เพื่อเป็นพื้นที่รวมกลุ่มของคนในชุมชน โดย ‘แองเจล่า อาห์เรนด์ทส’ อดีตรองประธานอาวุโสฝ่ายค้าปลีกและออนไลน์ เป็นผู้ประกาศความคิดนี้ "เราต้องการให้คนพูดว่าเจอกันที่แอปเปิล" ทำให้สโตร์เป็นที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ โดยจะมีการจัดกิจกรรมที่เรียกว่า "Today at Apple" เป็นการจัดงานอีเวนต์ บรรยาย จัดสอนเขียนโค้ดและเทคนิคการใช้งานอุปกรณ์ โดยศิลปิน นักดนตรี และครีเอทีฟแถวหน้าของเมือง

"แอปเปิล สโตร์" แบบใหม่จะมีโซนที่สร้างเป็น Video Wall จัดเก้าอี้นั่งชมด้านหน้า ทั้งยังปรับปรุงร้านให้มีต้นไม้เพื่อเพิ่มความเป็นมิตรกับผู้คนและเพิ่มพื้นที่นั่ง ทำให้ Genius Bar โซนบริการให้คำปรึกษาเรื่องการซ่อมแซม - แก้ปัญหาการใช้อุปกรณ์ เปลี่ยนชื่อเป็น Genius Grove (สวน, ป่าเล็กๆ)

นอกจากนั้น "แอปเปิล" ยังเล็งเห็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการและนักพัฒนา จึงสร้างส่วนที่เป็น Boardroom เพื่อเป็นพื้นที่ให้คำปรึกษาเรื่องอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจ และจัดการประชุมโดยมีอุปกรณ์ตัวอย่างของ "แอปเปิล" พร้อมใช้งาน

...

ส่องดีไซน์ "แอปเปิล เซ็นทรัลเวิลด์"

"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร. จิรันธนิน กิติกา อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรมหลัก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกี่ยวกับความเห็นเชิงการออกแบบของ "แอปเปิล สโตร์" สาขาใหม่ล่าสุดในไทย

"แอปเปิล สโตร์" ส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (Central Business District) หรือเป็นการปรับปรุงอาคารเก่าแล้วคงภาพลักษณ์ภายนอกเอาไว้

"มันค่อนข้างน่าสนใจและท้าทาย เพราะการก่อสร้างที่อยู่ตรงแยกและบนลานกว้างๆ ทำให้สามารถเล่นกับงานออกแบบได้มาก" ดร. จิรันธนิน บอกเล่าความรู้สึกแรกที่ได้เห็น "แอปเปิล สโตร์" สาขานี้ เรียกได้ว่า "แอปเปิล" อยากจะสร้างออกมาเป็นรูปร่างอะไรก็ได้บนลานนั้น

ซึ่งปกติแล้วลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์มักจะถูกใช้เป็นลานกิจกรรมตลอดทั้งปี มีการจัดตลาดร้านค้า กิจกรรมวันคริสต์มาสและปีใหม่ ที่ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติแวะมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก

...

"ผมคิดว่าคาแรกเตอร์ 'หัวกลมของตัวอักษรไทย' น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบอาคารหลังนี้" จากที่สาขาไอคอนสยามมีการสร้างพยัญชนะ อ อ่าง ตามเส้นโลโก้ลูกแอปเปิล และที่ "แอปเปิล เซ็นทรัลเวิลด์" มีการเขียนชื่อกรุงเทพฯ อยู่ใจกลางโลโก้ แล้วโยงต่ออักษรเป็นชื่อเต็มจังหวัด โอบล้อมตึกเป็นวงกลม เป็นการสร้างฟอนต์ไทยเพื่อเล่าเรื่องราวของสโตร์ในไทย และใช้กราฟิกเพื่อตอกย้ำความเป็นทรงกลม

"แอปเปิล เซ็นทรัลเวิลด์" เป็นสโตร์หนึ่งที่สะท้อนคาแรกเตอร์ดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ "แอปเปิล" ในปัจจุบัน ที่เน้นความเรียบง่าย สะอาดตา และความนีโอ-มินิมอล "เป็นการกลับไปหาฟอร์มที่เรียบง่ายของรูปทรง สี่เหลี่ยม วงกลม เส้น สีขาว" คล้ายกับ Steve Jobs Theater หอประชุมใน Apple Park สำนักงานแห่งใหม่ของ "แอปเปิล" ในเมืองคูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นการออกแบบคาแรกเตอร์ในยุคใหม่ที่ต้องการนำเสนอเส้นโค้ง มากกว่าความมินิมอลที่เป็นกล่อง

แม้ทางกายภาพเราจะเห็นว่า ลักษณะของอาคารทั้งสองที่เป็นทรงกลมเหมือนกัน แต่คอนเซปต์ในการออกแบบรวมทั้งเทคโนโลยีในการสร้างต่างกันโดยสิ้นเชิง "ในความคิดของผม Norman Foster + Partners ต้องการสร้าง Steve Jobs Theater เป็นพื้นที่ว่างเปล่า มีโครงสร้างที่เรียบเนียนด้วยกระจกและหลังคาคาร์บอนผืนใหญ่ห่อหุ้มพื้นที่กว้างให้เป็นเหมือน Spaceship ดังนั้นทุกอย่างในโถงกลางอาคารจึงทำให้โล่งมากที่สุด ไม่มีการสร้างเสา ปล่อยพื้นที่ว่างเพื่อทำกิจกรรมแทนที่จะวางเฟอร์นิเจอร์ใดๆ ลงไป แต่กลับให้โถงอาคารนี้เป็นลานอเนกประสงค์ และเป็นตัวรับแสงให้ส่องลงไปใต้ดินได้ดี เพื่อเน้นให้เกิดกิจกรรมเฉพาะที่ใต้ดิน"

ในทางกลับกัน "แอปเปิล เซ็นทรัลเวิลด์" มีแนวคิดการออกแบบเพื่อให้เข้ากับคอนเซปต์การเป็นแอปเปิลสโตร์ที่มีความสัมพันธ์กับบริบทของพื้นที่เมือง สโตร์จึงปรากฏในรูปลักษณ์ตึกทรงกระบอกที่มีผนังกระจกรอบทิศ เพื่อกลมกลืนตัวเองไปกับสภาพแวดล้อมด้วยความไร้ด้าน "เมื่ออาคารเป็นทรงกลม การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ก็มีความน่าสนใจ พอไม่มีด้านที่เป็นด้านปิดเลยมองเห็นทั้งในและนอก ความรู้สึกในการใช้งานจะต่างกับความเป็นเหลี่ยม เพราะมันทำให้เกิดการเชื่อมต่อของสองพื้นที่ได้ดีกว่า"

ที่แน่ๆ งบประมาณในการสร้างทั้งสองที่ก็ต่างกันมาก เพราะเทคโนโลยีการสร้างหอประชุม Steve Jobs Theater ใช้การออกแบบกระจกพิเศษเพื่อรับน้ำหนักโครงสร้างของหลังคาคาร์บอนไฟเบอร์ ขณะที่ในไทยมีโครงสร้างเหล็กของโครงบันไดตรงกลางอาคาร เป็นแกนกลางรับน้ำหนักและใช้กระจกทรงโค้งแบบบางเป็นผนัง "ซึ่งการสร้างแอปเปิลสาขานี้น่าจะมีราคาสูงกว่าสาขาแรกหลายเท่า ด้วยความยากด้านโครงสร้างอาคารและเทคนิคการก่อสร้าง"



นอกจากนี้ การออกแบบอาคารแห่งนี้ยังคำนึงถึงการเชื่อมต่อของเมือง (Urban Connection) โดยพยายามให้ระบบขนส่งสาธารณะจากรถไฟฟ้าสามารถเดินเชื่อมเข้ามาชั้น 2 ของอาคารได้ และทำทางเข้าจากลานที่ชั้น 1 "ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเมืองทั้งในระดับถนนและทางเดินลอยฟ้า" เมื่อการสร้างอาคารสานต่อกับบริเวณโดยรอบได้ดี จะทำให้การเดินทางไปที่ร้านไม่มีสะดุด

เมื่อ "แอปเปิล สโตร์" เลือกตั้งติดแยกราชประสงค์และลานกิจกรรม "แอปเปิล" จึงมีความพยายามออกแบบให้อาคารเป็นส่วนหนึ่งกับเนื้อเมือง (Urban Fabric) ด้วยการออกแบบทรงกระบอกให้เกิดความลื่นไหล และสร้างพื้นที่สาธารณะรอบข้างด้วยร่มเงาของต้นหูกระจง ทำให้เนื้อเมืองบริเวณนี้ไม่แปลกแยกไปจากบริบทโดยรอบมากนัก

ดร. จิรันธนิน ให้ความเห็นว่า เป็นแนวทางที่ดีที่การสร้างเชิงพาณิชย์มีความรับผิดชอบต่อสังคม และต่อคนในพื้นที่ "การที่ 'แอปเปิล' สร้าง Town Square เพื่อเป็นพื้นที่ศูนย์กลางชุมชน ถือเป็นการสร้างตัวอย่างที่ดีให้กับเอกชนรายอื่น รวมทั้งรัฐที่ต้องมีส่วนในการสร้างพื้นที่แบบนี้ให้กับสาธารณะ".

ช่างภาพ: ชุติมน เมืองสุวรรณ

ข่าวอื่นๆ:

เปรียบเทียบราคาทุกร้าน >>> คลิกที่นี่