เปิดการไต่สวนที่ทั่วโลกจับจ้อง แม้ ‘4 เจ้าพ่อเทคโนโลยียักษ์ใหญ่’ จะไม่ได้ตบเท้าเรียงแถวเข้า ‘อาคารรัฐสภา’ ที่แคปิตอล ฮิลล์ แต่ก็เข้าให้การผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กันอย่างพร้อมหน้า...บอกเลยว่า งานนี้...ถูกรัวคำถาม บี้ทุกเม็ดทุกข้อกล่าวหา

แล้ว ‘4 เจ้าพ่อเทคโนโลยียักษ์ใหญ่’
ที่ว่านั้น...มีใครบ้าง?

แน่นอนหนึ่งในนั้นต้องมี ‘มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก’ (Mark Zuckerberg) ผู้บริหารสูงสุดและผู้ร่วมก่อตั้ง ‘เฟซบุ๊ก’ (Facebook) บุคคลที่มีความมั่งคั่ง 8.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.7 ล้านล้านบาท

ส่วนอีก 3 คน ก็คือ ‘ซุนดาร์ พิชัย’ (Sundar Pichai) แห่ง ‘กูเกิล’ (Google), ‘ทิม คุก’ (Tim Cook) ซีอีโอ ‘แอปเปิล’ (Apple) และ ‘เจฟ เบซอส’ (Jeff Bezos) แห่ง ‘อเมซอน’ (Amazon) บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ความมั่งคั่ง 1.8 แสนล้านบาท หรือราว 5.7 ล้านล้านบาท

หลายคนที่เห็นรายชื่อ ‘4 เจ้าพ่อเทคโนโลยียักษ์ใหญ่’ ที่ว่านี้ ก็คงพอคุ้นเคยและทราบกันอยู่แล้วว่า ‘พวกเขา’ ไม่ได้เป็นแค่ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลในระดับโลก

แน่นอน...เมื่อ ‘สภาคองเกรส’ เปิดการไต่สวนที่มี ‘4 เจ้าพ่อเทคโนโลยียักษ์ใหญ่’ เป็นผู้เข้าให้การ ‘มหากาพย์ข้อกล่าวหา’ ทุกสายตาก็ต้องจับจ้อง สั่นสะเทือนวงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย

แล้ว ‘ข้อกล่าวหา’ ที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง?

...

แล้ว ‘พวกเขา’ ให้การต่อข้อกล่าวหานั้นอย่างไร?

‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ ไล่ดูทีละข้อหา...ถอดคำต่อคำ!!

เบิกคำให้การรายแรกกันที่ ‘อเมซอน’ (Amazon) อาณาจักรอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) ที่มีรายได้กว่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.7 ล้านล้านบาท กับข้อกล่าวหา ‘ขูดรีด’ ค่าธรรมเนียมผู้ค้า

กลายเป็น ‘นายทุนหน้าเลือด’ ทันที สำหรับ ‘เจฟฟ์ เบซอส’ เจ้าพ่ออาณาจักร ‘อเมซอน’ ที่ให้การยืนยันว่า ที่ ‘อเมซอน’ มีการเก็บ ‘ค่าธรรมเนียมผู้ค้า’ เพิ่มขึ้น ก็เพราะว่ามีบริการให้ ‘ผู้ค้า’ ได้เลือกใช้จำนวนมากขึ้น และการจ่ายเงินเพิ่มก็ถือเป็นการสนับสนุน ‘โดยอ้อม’ ให้คำสั่งซื้ออื่นๆ มีประสิทธิผลมากกว่าเดิม

เหมือนจะเคลียร์ แต่...

สมาชิกสภาฯ ก็โต้กลับด้วยการอ้างอิงรายงานของสถาบันเพื่อการพึ่งตนเองของท้องถิ่น (Institute for Local Self-Reliance) ที่พบว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา ‘อเมซอน’ ทำรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมผู้ค้ากว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนของรายได้ทั้งหมดก็สูงถึง 21% ทีเดียว

ที่สำคัญยังพบอีกว่า ‘อเมซอน’ มีการเรียกเก็บ ‘เปอร์เซ็นต์’ จากยอดขาย เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือ จาก 19% ดีดขึ้นไปเป็น 30%!!

‘เจ้าพ่ออเมซอน’ ก็ไม่รอช้า รีบอธิบายทันทีว่า การเก็บค่าธรรมเนียมหรือเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้น ทาง ‘ผู้ค้า’ เองก็จะได้รับบริการที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่น บริการคลังสินค้า, ร้านค้า และการขนส่งสินค้าในนามบุคคลที่ 3 (คล้ายๆ กับบ้านเราที่กดเลือกรูปแบบการจัดส่งนั่นแหละ)

"แต่ก่อน... ‘ผู้ค้า’ ต้องขนส่งสินค้าด้วยตัวเอง จากคลังสินค้าของตัวเอง และก็ต้องจ่ายค่าดำเนินการต่างๆ เองทั้งหมด ...แต่ตอนนี้ ‘ผู้ค้า’ สามารถใช้บริการคลังสินค้าโดย ‘อเมซอน’ ได้"

แถม ‘เจ้าพ่ออเมซอน’ ยังแอบขายของนิดๆ ผ่านการให้การด้วยว่า ‘อเมซอน’ ยังมีตัวเลือกการบริการที่น่าสนใจให้ผู้ค้าอีกหลายอย่าง เช่น ‘Buy Box’ ที่ ‘ผู้ใช้’ สามารถกดคลิกสินค้าได้เลยจากแถบด้านข้าง ถือเป็นการสนับสนุนผู้ค้า ‘โดยอ้อม’ (นะรู้ไหม...)

"ทาง ‘อเมซอน’ คัดสรรสินค้าอย่างพิถีพิถันสำหรับ ‘Buy Box’ ทั้งการพยากรณ์ถึงสินค้าที่ลูกค้าอาจถูกใจมากที่สุด รวมถึง ‘ราคา’ ด้วย อีกทั้งยังมีการขนส่งรวดเร็ว และหากว่าเป็น ‘สมาชิกชั้นเยี่ยม’ มาตลอด ก็จะมี ‘ไอเท็ม’ ที่คุณสมบัติเหมาะสมกับระดับ ‘ชั้นเยี่ยม’ นั้นเช่นกัน"

...

สูดลมหายใจพักได้แปปเดียว... ‘เจ้าพ่ออเมซอน’ ก็ถูกรัวคำถามอีก คราวนี้ข้อกล่าวหาคือ ปล่อยให้มี ‘ขโมย’ และ ‘ปลอมแปลง’ สินค้า บนอาณาจักร ‘อเมซอน’

งานนี้ ‘เจฟฟ์’ ไม่ได้ตอบแบบฟันธงยืนยัน แต่ก็อ้อมแอ้มมาว่า "ผมเชื่อว่า ‘อเมซอน’ มีเงื่อนไขกำหนดให้ ‘ผู้ค้า’ ต้องใช้ชื่อจริงและที่อยู่จริง แต่ก็ไม่แน่ใจว่า ‘เบอร์โทรศัพท์’ มีการกำหนดเงื่อนไขไว้หรือเปล่า?"

อ้าว...?

แต่ ‘เขา’ ไม่ยอมจำนนคนเดียวนะ ลากเพื่อนๆ ซีอีโอมาด้วย ด้วยการหวดแรงซัดไปทาง ‘คู่แข่ง’ เฉพาะเจาะจงไปที่แพลตฟอร์ม ‘โซเชียลมีเดีย’ ว่า การแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเป็น ‘อันตราย’

แถมยังตัดพ้ออีกด้วยว่า ตัวเขาก็เริ่มจะมีอาการท้อแท้และหมดกำลังใจเล็กๆ แล้ว ต้นเหตุก็เพราะ ‘โซเชียลมีเดีย’ ที่เป็นเหมือนดั่งเครื่องจักรทำลายล้าง

...

"...และผมไม่คิดว่า นั่นเป็นการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย"

คำวิจารณ์ของ ‘เจ้าพ่ออเมซอน’ ซัดออกมาโต้งๆ แบบไม่สนว่ายักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดีย ‘เฟซบุ๊ก’ (Facebook) จะอยู่ตรงนั้นด้วย

แล้ว ‘คนที่เหลือ’ คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้?

‘ทิม คุก’ ให้ความเห็นว่า "หากคุณเป็น ‘ใครสักคน’ ที่มีมุมมองที่แตกต่าง และถูก ‘คว่ำบาตร’ ...ผมไม่คิดว่านั่นเป็นเรื่องที่ดี ผมคิดว่า มันคงจะดีหากว่าประชาชนจะได้รับฟังมุมมองที่แตกต่างและตัดสินใจด้วยตัวของพวกเขาเอง"

แล้วเจ้าของแพลตฟอร์ม ‘โซเชียลมีเดีย’ ล่ะคิดอย่างไร?

"ผมกังวลมากๆ เกี่ยวกับการบังคับให้เป็น ‘อเสรีนิยม’ ผมเห็นว่า ประเทศของเราควรผลักดันการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ"

เคลียร์ไหมกับข้อกล่าวหานี้?

เคลียร์แล้ว แต่ยังไม่จบ...

เมื่อสมาชิกสภาฯ ซัดอีกข้อกล่าวหา 'เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก' ยินยอมให้แพลตฟอร์มของตัวเองเป็นแหล่งกำเนิดการให้ข้อมูลผิดๆ เพื่อผลกำไรของบริษัทตัวเอง!!

...

"ไม่ได้บีบบังคับให้ 'คุณ' ต้องเป็น 'ตำรวจ' ประจำแพลตฟอร์ม แต่... แม้ในระหว่างที่เกิดวิกฤติสาธารณสุขระหว่างประเทศที่หนักหนาที่สุดในชีวิตของพวกเรา 'คุณ' ก็ยังยอมให้มีบทความที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตเราอยู่บนแพลตฟอร์ม จนยอดอ่านเป็นหลักล้าน!"

โดยข้อกล่าวหาที่ว่านี้ ทางสมาชิกสภาฯ ได้อ้างอิงถึงบทความที่มียอดอ่านทะลุหลักล้าน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘โควิด-19’ (COVID-19) มาประกอบ เช่น บทความที่บอกว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) กำลังพิจารณาการใช้ยาฆ่าเชื้อภายในร่างกาย หรืออย่างบทความที่กล่าวหาว่า ‘ไวรัสโคโรนา’ (Coronavirus) เป็นเพียงแค่โฆษณาเกินจริง ที่หวังผลหลอกลวงทางการเมือง

แต่ ‘เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก’ ก็ให้การยืนยันว่า ‘เฟซบุ๊ก’ มีการจัดอันดับการแสดงผลบนหน้าฟีดโดยมีพื้นฐานมาจากอะไรก็ตามที่มีประโยชน์มากที่สุดต่อผู้ใช้แต่ละคน

แถมยังแก้ตัว...เอ๊ย! ปกป้อง ‘นโยบายเฟซบุ๊ก’ ด้วยว่า มีการแยกข้อมูลปลอมที่อาจเป็นอันตราย และทำไฮไลท์สำหรับโพสต์ที่มีความน่าเชื่อถือแทน

แต่ก็โดนสมาชิกสภาฯ สวนกลับด้วยการหยิบยกวิดีโอของเว็บไซต์อนุรักษ์นิยม ‘เบรตบาร์ต’ (Breitbart) ที่มีเนื้อหาพยายามลดทอนความจำเป็นของ ‘หน้ากาก’ (Mask) และยังเรียก ‘ไฮดรอกซีคลอโรควิน’ (Hydroxychloroquine) ว่าเป็น ‘ยารักษาโควิด-19’ กว่าที่ ‘เฟซบุ๊ก’ จะลบออก ยอดก็พุ่งทะยานนานหลายชั่วโมงแล้ว

งานนี้ ‘เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก’ ก็ให้การอ้อมแอ้มว่า "ก็เพราะมีคนแชร์เยอะ ยอดก็เลยพุ่ง แต่สุดท้ายก็เอาลงนะ เพราะละเมิดนโยบายเฟซบุ๊ก"

แน่นอนว่า ‘เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก’ ไม่พ้นที่จะถูกตอกกลับอีกรอบ โดยสมาชิกสภาฯ ได้แย้งถามกลับไปว่า "...หลังจากที่มีคนเห็นแล้ว 20 ล้านคน และหลังจากที่แสดงผลมากว่า 5 ชั่วโมงน่ะหรือ? ไม่แสดงความเห็นอะไรหน่อยหรือ ‘มิสเตอร์ซักเกอร์เบิร์ก’ แพลตฟอร์มของ ‘คุณ’ ใหญ่มาก มีนโยบายสิทธิคอยควบคุม แต่ ‘คุณ’ ก็ยังไม่สามารถยับยั้งคอนเทนต์ที่เป็นอันตรายได้เลยไม่ใช่หรือ?"

เจ็บแบบคันๆ...

มาต่อกันอีกข้อหาแบบไม่ต้องเบรก ที่คราวนี้โดนกันถ้วนหน้าทั้ง 4 คน กับกรณี ‘รัฐบาลจีน’ ขโมยเทคโนโลยีสหรัฐอเมริกา

คำกล่าวหาแรงที่กระทบกับอีกซีกโลก มีเพียง ‘มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก’ ผู้บริหารสูงสุด ‘เฟซบุ๊ก’ เพียงคนเดียวเท่านั้น ที่เอ่ยปากบอกว่า มีข้อมูลสนับสนุนที่บอกได้ว่า ‘รัฐบาลจีน’ ขโมยเทคโนโลยีจากบริษัทอเมริกัน

แตกต่างกับอีก 3 คน ที่ให้การแบบอ้อมๆ แอ้มๆ ว่า

‘ทิม คุก’ ที่ให้การว่า "ผมไม่มี ‘ความรู้ส่วนบุคคล’ เกี่ยวกับการขโมยเทคโนโลยีของจีน"

‘เจฟฟ์ เบซอส’ ที่ให้การว่า "ผมเคยอ่านมาหลายรายงานที่เกี่ยวกับการขโมยเทคโนโลยี โดย ‘ปักกิ่ง’ (Beijing) แต่ยังไม่มีประสบการณ์ตรง นอกจากการขายสินค้าปลอมแปลงบน ‘อเมซอน’ เท่านั้น"

แล้ว ‘ซุนดาร์ พิชัย’ ที่ตอนแรกก็ไหลไปทางเดียวกับ ‘ทิม คุก’ แต่ภายหลังมีการรวบรวมบันทึกที่มีการยืนยันในปี 2552 ถึงกรณี ‘จีน’ ขโมยข้อมูล ‘กูเกิล’ ในการโจมตีทางไซเบอร์ที่เป็นที่รู้กันทั่ว

และปิดท้ายกับข้อกล่าวหานี้ ด้วยการย้อนถามกลับไปยังสมาชิกสภาฯ ของ ‘4 เจ้าพ่อเทคโนโลยียักษ์ใหญ่’ ว่า "รัฐสภาจะช่วยปกป้องบริษัทอเมริกันจากต่างชาติไม่ให้ถูก ‘ขโมย’ เทคโนโลยีอย่างไร?"

คงต้องรอคำตอบ...

มาถึงคิวของ ‘เจ้าพ่อแอปเปิล’ กันบ้าง ที่โดนข้อกล่าวหา ‘กีดกันคู่แข่ง’ ด้วยการลบแอปพลิเคชันออกจาก ‘แอปสโตร์’ (App Store)

ย้อนไปเดือนกันยายน 2561 ‘แอปเปิล’ เปิดตัวแอปพลิเคชันของตัวเองที่เรียกว่า Screentime ที่อนุญาตให้ผู้ปกครองจำกัดเวลาการใช้สมาร์ทโฟนของลูกๆ ได้ และหลังจากนั้นไม่นาน ‘แอปเปิล’ ก็แอบลบแอปพลิเคชันคล้ายๆ กันของคู่แข่งที่กำลังเป็นที่นิยมออกจาก ‘แอปสโตร์’ ทันที จนถึงขั้นมีการยื่นคำร้องทุกข์ไปยังคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)

แน่นอนว่า ‘เจ้าพ่อแอปเปิล’ ให้การว่า "ถอดออกเพราะกังวลความเป็นส่วนตัว พวกเรากังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเด็ก"

แต่ก็โดนสมาชิกสภาฯ ย้อนถามกลับไปว่า "แล้วทำไม ‘แอปเปิล’ ถึงไม่ถอดแอปพลิเคชัน Absher ที่สร้างโดย ‘รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย’ ซึ่งใช้เทคโนโลยีเดียวกัน? ฟังแล้วคล้ายกับว่า ‘คุณ’ นำกฎที่แตกต่างกันมาใช้กับแอปพลิเคชันที่เป็นแบบเดียวกัน"

แปลไทยเป็นไทยก็คือ ‘เลือกปฏิบัติ’ หรือมีอะไรแอบแฝง?

ซึ่ง ‘เจ้าพ่อแอปเปิล’ ก็ยืนยันว่า "ไม่เคยมีความสนิทสนมส่วนตัวกับ Absher เลยจริงๆ กฎที่พวกเรานำมาใช้กับนักพัฒนาแอปพลิเคชันทั้งหลายก็เป็นไปอย่างเท่าเทียม"

ต่อกันที่ ‘เจ้าพ่อกูเกิล’ กันบ้าง ที่ถูกข้อกล่าวหา ‘ขโมยคอนเทนต์’

ซึ่ง ‘เจ้าพ่อกูเกิล’ ก็ยืนกรานปฏิเสธเสียงแข็งว่า "ไม่เคยมีการขโมยคอนเทนต์จากเว็บไซต์อื่นๆ เพราะพวกเราโฟกัสอยู่กับการจัดหาคอนเทนต์ที่มีความสัมพันธ์กันที่สุดเพื่อตอบสนองผู้ใช้"

แต่สมาชิกสภาฯ แย้งว่า มีหลักฐานที่เห็นได้ว่า ‘กูเกิล’ นำคอนเทนต์มาจากเว็บไซต์อื่นๆ และยังมีการเอาการสั่งซื้อโฆษณามาวางบนหน้าผลการค้นหาด้วย แสดงชัดว่า ‘กูเกิล’ มีการแบ่งแยกพื้นที่ต่างๆ บนหน้าแรกของผลการค้นหาเป็นผลิตภัณฑ์ของตัวเอง สร้างรายได้ให้บริษัทมากมาย

ทาง ‘เจ้าพ่อกูเกิล’ ก็โต้กลับว่า พวกเขามีการแข่งขันกับแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซอื่นๆ เช่น ‘อเมซอน’ ที่ส่วนมากผู้ใช้จะเข้าไปที่หน้าหลักของเว็บไซต์โดยตรง

"การดำเนินธุรกิจของ ‘กูเกิล’ ผมจะมุ่งการโฟกัสไปที่การทำให้ผู้ใช้ได้สิ่งที่ต้องการ พวกเรามองเห็นการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งการท่องเที่ยวหรืออสังหาริมทรัพย์ และพวกเรายังทำงานอย่างหนักในการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ"

เรียกว่าการไต่สวนเป็นไปอย่างดุเดือดเข้มข้น ที่ในบ้านเราไม่เคยจะมีให้เห็น นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น การไต่สวนนานหลายชั่วโมง กับคำให้การของ ‘4 เจ้าพ่อยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี’ คุณคิดเห็นอย่างไร?.

ข่าวอื่นๆ: