สิ้นสุดการถูกล้อ ศัลยกรรมเปลี่ยนชีวิต จากอดีตสาวคางยื่น พูดไม่ชัด หายใจลำบาก แม้แต่ไส้กรอกยังกัดขาดไม่ได้ ทุ่มเงินหลายแสน ผ่าตัดศัลยกรรมจนชีวิตเปลี่ยน
หากใช้คำว่า ศัลยกรรมเปลี่ยนชีวิต ดูเป็นเรื่องไม่เกินความจริงสำหรับเรื่องราว MONDAY SHARES ของ สตางค์ หรือ น.ส.พรชิตา รุจิรประเสริฐ นักศึกษาทุน ป.ตรี ปี 3 มหาลัย Harbin engineering university คณะการตลาดภาคจีน ที่กลับไทยเมื่อ ธ.ค. 62 ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 ในจีน และตัดสินใจผ่าตัดศัลยกรรมขากรรไกรในวัย 20 เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองให้มั่นใจขึ้น หลังถูกล้อ ถูกทักหน้าแปลก ไม่เหมือนคนปกติมาตั้งแต่เรียนอนุบาลสอง
“ช่วงประถมฯ มัธยมฯ เพื่อนล้อ คางยาว คางยื่นเหมือนแม่มด รู้สึกน้อยใจแต่ไม่คิดมาก เพราะรู้ว่าเพื่อนพูดเล่น แซวเล่น แต่ที่เขาพูดนั้นก็เป็นความจริง เลยบอกแม่อยากแก้ปัญหานี้” สตางค์ สาว กทม. เปิดใจถึงความรู้สึกกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
...
แม้แต่ไส้กรอกยังกัดให้ขาดไม่ได้ แม่ทุ่มเงินหลายแสนรักษา
ปัญหาขากรรไกรล่างเกยขากรรไกรบนจนทำให้คางมีลักษณะยื่นยาวเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ตามวัยที่โตขึ้น สตางค์ไม่เพียงถูกล้อ แต่ยังมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้านอื่นๆ นอกจากพูดไม่ชัดและพูดเหมือนน้ำลายจะไหลออกมาทุกครั้ง นอนอ้าปาก หายใจขณะนอนหลับ สิ่งลำบากที่สุดคือปัญหาในการขบเคี้ยวอาหาร
“เวลากัดอาหารให้แบ่งออกเป็นสองท่อน กัดกินทีละคำๆ จะกัดไม่ได้ เหมือนกินไส้กรอก ต้องหั่นก่อนแล้วค่อยกิน มะม่วงหรืออาหารแข็งๆ ก็กินไม่ได้ ต้องเลี่ยงกิน หรือหั่นเป็นชิ้นแล้วค่อยกิน” สตางค์ เล่าถึงปัญหา
ด้วยความกังวลผลกระทบการใช้ชีวิตประจำวันลำบากในตอนแก่ ขณะเรียน ม.ต้น สตางค์จึงปรึกษาแม่ และแม่เร่ิมหาข้อมูลการรักษา โดยติดต่อคุณหมอแห่งหนึ่งของรัฐฯ แนะให้อายุครบ 18 ปี จึงจะผ่าตัดรักษาได้ กระทั่งรอนานหลายปีจนอายุครบ 18 ปี แต่ยังไร้วี่แววได้คิวรักษา แม่จึงตัดสินใจพามารักษาที่ ศูนย์ศัลยกรรมขากรรไกร โรงพยาบาลยันฮี ด้วยการจัดฟัน 2 ปี หลังจากนั้นผ่าตัดแก้ไขขากรรไกรทั้งล่าง บน พร้อมตกแต่งคาง วงเงินรักษาสูงหลายแสน เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 63 ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอม
ศัลยกรรมเปลี่ยนชีวิต กลัวการผ่าตัด แต่สู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
สตางค์ในวัย 20 ซึ่งไม่เคยผ่าตัดใดๆ มาก่อนในชีวิต เผยความรู้สึกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ก่อนเข้ารับการผ่าตัดขากรรไกร รู้สึกตื่นเต้น สั่นกลัว สอบถามพยาบาลเจ็บไหม เมื่อเข้าห้องผ่าตัด ถูกวางยาสลบก็ไม่รู้สึกอะไร กระทั่งผ่านไปเกือบ 3 ชั่วโมง การผ่าตัดเสร็จสิ้นในเวลา 5 ทุ่ม เธอนอนห้องพักฟื้น 15 นาที จากนั้นถูกพามาห้องพัก นอน รพ. 1 อาทิตย์
หลังออก รพ. จากเดิมตั้งใจพักฟื้นที่ไทย 1 เดือน แต่เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันสตางค์จึงพักฟื้นอยู่ที่ไทยเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว สตางค์เผยความในใจกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ถึงการเปลี่ยนแปลงของรูปหน้าว่า ดีใจมาก ชีวิตเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลายด้าน มั่นใจในตัวเองมากขึ้น กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
...
“ดีใจที่สุดคือกินข้าวได้ แฮปปี้ กัดของกินแข็งๆ ขาดแล้ว หายใจดีขึ้น คล่องขึ้น เวลานอนก็ไม่อ้าปากเหมือนแต่ก่อน ไม่ถูกล้อเหมือนแต่ก่อนแล้ว” สตางค์ บอกเล่าด้วยน้ำเสียงดีใจ
ขากรรไกรผิดปกติ ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ช่วงอายุชาย หญิงเห็นคางยื่นชัดเจน
เพื่อทำความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ สอบถามจาก ผศ.ดร.ชาญชาย วงศ์ชื่นสุนทร แพทย์ศูนย์ทันตกรรม และศูนย์ศัลยกรรมขากรรไกร ศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิโลเฟเซียล พ.ศ. 2550 หนึ่งในทีมแพทย์ผ่าตัดศัลยกรรมแก้ไขกรามให้กับสตางค์ เปิดเผยว่า สาเหตุขากรรไกรยื่นผิดปกติ เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อาจเป็นปู่ ย่า ตายาย พ่อแม่
การเปลี่ยนแปลงของขากรรไกรนั้น มาพร้อมการเจริญเติบโตของร่างกาย ในผู้หญิงจะเห็นความผิดปกติชัดเจนในช่วงอายุ 13-14 ปี ส่วนผู้ชายจะชัดเจนในวัย 15-16 ปี และจะหยุดการเปลี่ยนเแปลงเมื่ออายุ 18-20 ปี กรณีของสตางค์ มีปัญหาการสบฟันจึงผ่าตัดเลื่อนทั้งขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง กระดูกขากรรไกรล่างยื่นผิดปกติค่อนข้างเยอะ รุนแรงในระดับหนึ่งต้องผ่าตัดกระดูกขากรรไกรล่างออกบางส่วน แล้วถอยขากรรไกรล่างเข้าไป เพื่อให้ฟันสบกันได้เหมือนคนปกติ
...
ส่วนกระดูกขากรรไกรบนเล็กเกิน ทำให้ใบหน้ายุบ รูปหน้าไม่สวยงาม ต้องผ่าตัดด้วยการดึงยื่นขากรรไกรบนออกเพื่อให้รูปหน้าสมส่วนขึ้น ไม่ให้ริมฝีปากบนยุบเกินไป และแต่งรูปคางเดิมค่อนข้างใหญ่ ยาวให้เล็กลงเข้ากับใบหน้า เพื่อการสบฟันที่ดี นอกจากส่งผลดีต่อระบบการเคี้ยวอาหาร การย่อยอาหารดีขึ้น ส่ิงที่ตามมาคือรูปหน้าสมส่วน สวยงามเหมือนคนปกติทั่วไปด้วย
ป่วย แต่ไร้ทุนทรัพย์ รพ.รัฐ ช่วยรักษาได้
ปกติการผ่าตัดขากรรไกรโดยทั่วไปใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง ผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าทำให้การวางแผนผ่าตัดขากรรไกรสะดวก รวดเร็ว ช่วยลดเวลาในการวางแผนผ่าตัดและเวลาในการผ่าตัด เนื่องจากใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยวางแผน อีกทั้งแผลผ่าตัดอยู่ในช่องปากทั้งสิ้น ไม่มีแผลภายนอก เพราะฉะนั้นหมดกังวลเรื่องการมีรอยแผลเป็นภายนอก
...
หลังผ่าตัดฟันสบกันลงล็อกดี โอกาสคืนกลับมาเป็นเหมือนเดิมแทบเป็นศูนย์ สำหรับปัญหาขากรรไกรผิดรูปในคนไทยหรือคนเอเชีย พบความผิดปกติบ่อย มีคนไข้มาปรึกษาเรื่อยๆ แต่ไม่ได้เป็นโรคที่พบได้ในเปอร์เซ็นต์มาก ในการผ่าตัดรักษาต้องให้ร่างกายหยุดเจริญเติบโต ซึ่งผู้หญิงอยู่ในช่วงอายุ 18 ปี หากผ่าก่อนร่างกายหยุดเจริญเติบโตจะมีโอกาสขากรรไกรกลับมายื่นใหม่ได้
การผ่าตัดรักษาความผิดปกติของขากรรไกรมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องรักษาร่วมกับการจัดฟัน สำหรับผู้ไม่มีทุนทรัพย์ ทุนทรัพย์น้อย มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายจริงๆ สามารถเข้ารับการรักษาใน รพ.ของรัฐฯ ได้ ซึ่งอาจต้องรอคิวนาน แต่การผ่าตัดรักษาสามารถทำได้แม้อายุเพิ่มขึ้นๆ
“อายุไม่เป็นปัญหาในการผ่าตัดรักษาผู้มีปัญหาขากรรไกรยื่นยาวผิดปกติ หากคนไข้ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ดี ไม่มีโรคประจำตัว รพ.เคยผ่าตัดรักษาคนไข้อายุ 40-50 กว่า” ผศ.ดร.ชาญชาย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ