ยายวัย 71 ปี จากป่วยโรคซึมเศร้า หายภายใน 4 เดือน สู่ผู้นำชุมชน ส่งเสริมให้คนสูงวัยในหมู่บ้านไร้โรคคุกคามหนักยามชรา แทนการไปพบหมอเพื่อรักษา

นางบุปผา ดวงมะยศ วัย 71 ปี คือผู้สูงอายุต้นแบบในการดูแลตนเองเพื่อห่างไกลโรคต่างๆ และยังสามารถชนะ โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ (Late-life depression) ได้โดยใช้ “การออกกำลังกาย” แทนการไปพบหมอเพื่อรักษา

สาเหตุป่วยโรคซึมเศร้า นางบุปผา อาศัยที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เปิดใจกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ย้อนเล่าไปเมื่อตอนอายุเกือบ 70 ก่อนสามีเสียชีวิต ได้ฝากให้ดูแลพ่ออายุ 100 กว่าปีที่ป่วยติดเตียง

ตลอดเกือบครึ่งปี นางบุปผา ทำหน้าที่ลูกสะใภ้ที่ดี คอยดูแลพ่อสามีอย่างดีทุกอย่าง ตั้งแต่ป้อนข้าว อาบน้ำ แต่งตัว พาไปหาหมอตามนัด ให้ยากินตามเวลา คนรอบข้างและคนในชุมชนต่างชื่นชมในความดี แต่ใครจะคาดคิดว่าการดูแลคนป่วยทุกๆ วัน เป็นเวลาหลายเดือนนั้น มีอันตรายร้ายคืบคลานเข้ามาในชีวิตโดยไม่รู้ตัว จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า

นางบุปผา ดวงมะยศ ชนะ โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ (Late-life depression) ได้โดย “การออกกำลังกาย”
นางบุปผา ดวงมะยศ ชนะ โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ (Late-life depression) ได้โดย “การออกกำลังกาย”

...

“มีอาการนอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ ตื่นกลางดึก ความจำไม่ค่อยดี เคยขับรถจะกลับบ้าน แต่หลงทาง 7 กิโล กลับบ้านไม่ได้ ลูกสาวเป็นพยาบาลบอกว่าเป็นอาการของโรคซึมเศร้า เพราะเกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัวจากการดูแลคนป่วย” นางบุปผา เล่าอาการ

ดื้อจนพบทางออก 4 เดือนหายป่วยโรคซึมเศร้า 

คนเมามักบอกว่าตนเองไม่เมา เช่นเดียวกับนางบุปฝา ที่ไม่เชื่อว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ จึงไม่ยอมไปพบหมอทั้งๆ ที่ลูกสาวขอร้องให้ไปรักษา เพราะหากอาการรุนแรงมากขึ้นอาจทำให้รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ได้

เมื่อ นางบุปผา ไม่ยอมไปพบแพทย์เพื่อรักษา ลูกสาวซึ่งทำงานต่างจังหวัดจึงต้องฝากคนรอบข้าง ใกล้บ้าน รวมถึงผู้นำในหมู่บ้านคอยเป็นหูเป็นตา ช่วยดูแล ในระหว่างนี้เอง เพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิก “กลุ่มคนรักสุขภาพ” ได้ชักชวนนางบุปผาเข้าร่วมกิจกรรมของหมู่บ้าน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และเพื่อดูแลสุขภาพ

ทุกเย็น หลังดูแลพ่อสามี นางบุปฝามาเต้นออกกำลังกายที่ตลาดนัดของหมู่บ้าน จากคนที่ไม่เคยสนใจออกกำลังกายกลายเป็นเสพติดการออกกำลังกาย เพราะรู้สึกผ่อนคลาย สนุกจนไม่รู้ตัวว่าเต้นออกกำลังกายไปวันละเกือบ 20 เพลง

หลังนางบุปผา หายป่วยโรคซึมเศร้า ผันตัวเป็นผู้นำ เพื่อให้ผู้สูงวัยห่างไกลโรค
หลังนางบุปผา หายป่วยโรคซึมเศร้า ผันตัวเป็นผู้นำ เพื่อให้ผู้สูงวัยห่างไกลโรค

ผลดีของการออกกำลังกายเป็นประจำนาน 3-4 เดือน ทั้งเต้น รำดาบล้านนา เกิดเรื่องไม่คาดคิด นางบุปผาหายจากการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ รวมถึงคนอื่นๆ ก็หายจากอาการป่วยด้วย

“บางคนเคยเป็นตะคริวทุกคืน มาเต้นออกกำลังกายได้เกือบปีก็ไม่ต้องไปพบหมอ คนนิ้วล็อกเพราะเย็บผ้าก็หาย ยายก็หายจากป่วยซึมเศร้า นี่ถ้าไม่เจอกับตัวเองยายก็ไม่เชื่อหรอก ถ้าใครไม่เชื่อยายก็ลองไปออกกำลังกายกันดู ” นางบุปผากล่าว

เพราะการออกกำลังกายช่วยให้หายป่วยจากโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ปัจจุบันนางบุปฝายังดูแลพ่อสามีอย่างดีเช่นเดิม และผันมาเป็นผู้นำออกกำลังกาย ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตตัวเองเพื่อให้คนในชุมชนสุขภาพดี

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ชอบกินยาหม้อ ยาต้ม พึงระวัง

การออกกำลังกายช่วยให้หายป่วยจากโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้จริงหรือ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สอบถามจาก พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล หรือ หมอแอร์ จิตแพทย์ทั่วไป รพ.ตำรวจ และ รพ.พญาไท นวมินทร์ อธิบายว่า “โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ” เป็นภัยเงียบที่น่ากลัว เพราะอาการป่วยคล้ายโรคอัลไซเมอร์

...

โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุพบได้มากถึง 10-20 % ของประชากร ในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และยิ่งมีอายุมาก ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่หย่าร้าง อยู่ตัวคนเดียว รู้สึกผิดหวัง น้อยอก น้อยใจ หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จะมีความเสี่ยงกับภาวะนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ ภาวะซึมเศร้าในผุ้สูงอายุยังมีสาเหตุจากปัจจัยทางร่างกาย อาทิ พันธุกรรม มีประวัติซึมเศร้าในครอบครัว ความผิดปกติสารเคมีในสมอง โรคสมองเสื่อม ยารักษาโรคบางชนิด ยาลดความดัน ยารักษามะเร็ง ยาขับปัสสาวะบางตัว หรือยาที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์ ผู้สูงอายุที่ชอบกินยาหม้อ ยาต้ม อาจพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้

อาการ วิธีรักษา โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ภัยเงียบที่น่ากลัว 

อาการเตือนของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ได้แก่ 1. นิ่ง เงียบ พูดน้อย 2. เก็บเนื้อเก็บตัว 3. กินข้าวน้อยลง แทบไม่กิน ไม่อยากทำอะไร เฉื่อยชา 4. ชวนไปไหนไม่ค่อยไป 5. นอนไม่หลับ 6.  อารมณ์แปรปรวน ฉุนเฉียว 7. บ่นว่าเบื่อ บ่นว่าเป็นภาระลูกหลาน อยากตาย

...

วิธีดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ได้แก่ 1. ให้ความรัก ความอบอุ่น 2. ให้เวลา 3. ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ ชวนออกกำลังกาย มีกิจกรรมร่วมกัน 4. ให้กินให้นอนให้พอ

ทั้งนี้โรคซึมเศร้าในเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ สาเหตุหลักคือ “ความผิดปกติการทำงานของสมอง” หลักทางการแพทย์พบว่าเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นคนที่คิดบวก ไม่เครียด

วิธีรักษา คนไทยต้องกล้าพบจิตแพทย์มากขึ้น เนื่องจากบางคนเสียโอกาสรักษาให้หายขาดเพราะหลายคนไม่มารักษา จนปล่อยให้มีอาการรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง เพราะฉะนั้นหากคนใกล้ตัวรู้สึกไม่มีความสุข ให้พยายามแก้ไข หากภายใน 2 อาทิตย์ยังไม่หาย ให้แนะนำมาปรึกษาจิตแพทย์ทันที

“อาการป่วยซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ที่แตกต่างจากหนุ่มสาว คือ ผู้สูงอายุ อาการจะเหมือนคนป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ความจำเสื่อม จะหลงลืมจำอะไรไม่ค่อยได้ คนที่เป็นเล็กน้อย อาการมีเล็กน้อย ไม่ถึงขั้นอยากตาย ทำร้ายตัวเอง การออกกำลังกายช่วยได้ แต่หากเป็นรุนแรงต้องพบหมอ เพื่อรับยาปรับสารเคมี เพราะโรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติการทำงานของสมอง” พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล แนะนำ

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ข่าวน่าสนใจ