ปี 2020 ผจญภัยมายาวนาน ครึ่งปีหลังก็ขอมีเรื่องดีๆ กับเขาบ้าง กับการค้นพบที่จุดประกายความหวังให้คนทั้งโลก ‘วัคซีนออกซ์ฟอร์ด’ ก้าวสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ตั้งเป้าสิ้นปีพันล้านโดส
‘โควิด-19’ (COVID-19) โรคร้ายที่แพร่กระจายเชื้อรวดเร็ว จนถึงเวลานี้มีคนติดเชื้อสะสมทั่วโลกแล้วกว่า 15.5 ล้านคน และเสียชีวิตอีกกว่า 6.3 แสนราย หลายคนทนทุกข์กับการสูญเสียครอบครัว หลายคนทนทุกข์กับการใช้ชีวิตที่แสนลำบาก ความสุขหายไป มีแต่ความหมองเศร้าเคล้าน้ำตา แต่ในวันนี้...คำว่า ‘ความหวัง’ เหมือนแสงปลายอุโมงค์ก็ส่องวาบขึ้นมา
เมื่อมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ค้นพบผลลัพธ์ที่น่าประทับใจของ ‘วัคซีนไวรัสโคโรนา’ (SARS-CoV-2) หลังจากทดสอบในมนุษย์แล้วเห็นผล!!
"วันนี้ถือเป็นวันที่สำคัญมากๆ"
ศาสตราจารย์ ซาราห์ กิลเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาวัคซีนและหัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวออกมาพร้อมรอยยิ้มภาคภูมิใจ แต่ก็ยอมรับว่า "การทดสอบยังมีระยะทางอีกยาวไกลที่ต้องไปต่อ..."
...
‘วัคซีนออกซ์ฟอร์ด’ เป็น 1 ในวัคซีน 23 ชนิด ที่ทำการทดสอบในมนุษย์ และเป็น ‘ความหวัง’ ว่าผลการทดสอบจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า ‘วัคซีนทำงาน’ ได้จริงและเห็นผล
โดยผลการทดสอบเบื้องต้นของ ‘วัคซีนออกซ์ฟอร์ด’ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เพิ่งได้รับการตีพิมพ์บนวารสารทางการแพทย์ ‘แลนซิต’ (Lancet) เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้เอง (20 ก.ค.) ซึ่งแสดงผลให้เห็นว่า วัคซีนออกซ์ฟอร์ดที่มีชื่อว่า ChAdOx1 nCoV-19 สามารถเร่งปฏิกิริยาการตอบสนองภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้นได้
การทดสอบของ ‘วัคซีนออกซ์ฟอร์ด’ นี้ มีอาสาสมัครเข้าร่วมกว่า 1,000 คน ช่วงอายุตั้งแต่ 18-55 ปี ที่เมื่อได้รับวัคซีนเข้าไปในร่างกายแล้ว ก็พบว่าสามารถสร้าง ‘แอนติบอดี’ (Antibody) ได้เป็นจำนวนมาก และโปรตีนยังสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระภายในเลือด รวมถึงยึดเกาะไวรัสได้ แม้ว่าแอนติบอดีก็ไม่ได้ยึดเกาะไวรัสได้ทั้งหมด ยังคงมีบางตัวที่เล็ดลอดผ่านไปได้อย่างปลอดภัย
‘วัคซีนออกซ์ฟอร์ด’ มีพลังมากแค่ไหน?
คำตอบคือ หากได้รับวัคซีน 1 โดส อาสาสมัครส่วนใหญ่ก็สามารถสร้างแอนติบอดีชนิด ‘ลบล้างฤทธิ์’ ที่คอยกีดขวางเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสได้ แต่หากรับโดสที่ 2 อาสาสมัครก็จะสามารถสร้างแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ได้ ‘ทั้งหมด’
โดยภายในร่างกายมนุษย์จะสามารถสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกัน ที่รู้จักกันดีว่า T-Cell ซึ่งคอยทำหน้าที่ในการค้นหาและทำลายเซลล์ติดเชื้อก่อนที่จะสร้างไวรัสเพิ่มมากขึ้น
แน่นอนว่า การตอบสนองของ T-Cell เป็นส่วนสำคัญของภูมิคุ้มกันไวรัสโคโรนา
เพราะจากผลการทดสอบ ‘วัคซีนออกซ์ฟอร์ด’ พบว่า ตัวยาวัคซีนได้ไปกระตุ้นการตอบสนองของ T-Cell ภายใน 14 วันหลังมีการฉีดยา และมีการตอบสนองแอนติบอดีภายใน 28 วัน ซึ่ง T-Cell นี้แหละ ที่เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สามารถเข้าโจมตี ‘เซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา’ อันเป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 ได้
ง่ายๆ ว่า จากการทดสอบขั้นต้นระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เพียงแค่ ‘วัคซีนออกซ์ฟอร์ด’ โดสเดียว พบว่า หลังจากฉีดวัคซีนไปได้ 1 เดือน กว่า 95% ของอาสาสมัคร สามารถทำให้ ‘แอนติบอดี’ เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ที่เข้าสู่ปุ่มโปรตีนของไวรัสโคโรนาได้
...
หากถามว่า มีผลข้างเคียงไหม?
ก็ตอบว่า "มี!"
จากการสังเกตการณ์อาสาสมัครกว่า 60% จะมีอาการข้างเคียงบางอย่าง เช่น อาการไข้, ปวดหัว, ปวดกล้ามเนื้อ และปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีดวัคซีน แต่อาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่ได้มีอาการหนักเป็นอันตราย
แม้ว่า ผลการทดสอบในมนุษย์จะออกมาเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า วัคซีนออกซ์ฟอร์ดจะป้องกัน ‘ผู้สูงอายุ’ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดจากโควิด-19 ได้ดีแค่ไหน...
แต่หากไปลองดูงานวิจัยอื่นๆ ที่ตีพิมพ์อยู่ข้างๆ อย่าง ‘ทีมวิจัยจีน’ ของ ‘คานซิโน ไบโอโลจิกส์’ (CanSino Biologics) บริษัทยายักษ์ใหญ่ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จีน ก็มีผลลัพธ์ที่พอจะตอบคำถามข้างบนนั้นได้ โดยจากการทดสอบในอาสาสมัครจำนวน 603 คน ที่ได้รับวัคซีนที่มีความคล้ายคลึงกันคนละ 1 โดส เรียกว่า Ad5 พบว่า กลุ่มอาสาสมัครที่มีอายุมากกว่า 55 ปี มีการตอบสนองภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับต่ำ!
...
ส่วนก้าวต่อไปหลังจากนี้ ‘ทีมวิจัยออกซ์ฟอร์ด’ เตรียมก้าวสู่การทดสอบที่ใหญ่กว่าเดิม โดยจะเพิ่มอาสาสมัครในอังกฤษเป็นจำนวนกว่า 8,000 คน โดยจากภาพรวม ณ เวลานี้ การทดสอบได้เริ่มต้นไปแล้วในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา บราซิล และแอฟริกาใต้
แน่นอนว่า การทำวิจัย ‘วัคซีนโควิด-19’ ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จะไม่ประสบความสำเร็จขนาดนี้ หากไม่มีความร่วมมือจาก 2 บริษัทเอกชนระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘แอสทราเซเนกา’ (AstraZeneca) บริษัทยาชีวเภสัชภัณฑ์สัญชาติอังกฤษ ที่เตรียมพร้อมเริ่มการผลิตวัคซีนจำนวน 1,000 ล้านโดสแล้ว
อีกบริษัท คือ ทุนใหญ่จากอินเดีย ‘สถาบันซีรั่มแห่งอินเดีย’ (The Serum Institute of India - SII) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองปูเน รัฐมหาราษฎร์ ซึ่งได้ลงนามข้อตกลงผลิตวัคซีน 1,000 ล้านโดสเช่นกัน แต่มีข้อแม้ว่า ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ จะผลิตบนพื้นฐานของการไม่หวังผลกำไร เรียกว่า ใจป๋าสุดๆ!!
อ้อ! แค่นั้นไม่พอนะ
‘สถาบันซีรั่มแห่งอินเดีย’ ยังมีการวางแผนการผลิต ‘วัคซีนออกซ์ฟอร์ด’ ไว้อีกว่า ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 นี้ จะมีวัคซีนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิต จำนวนกว่า 2-3 ล้านโดสทีเดียว
...
จากคำยืนยันของซีอีโอสถาบันซีรั่มฯ คาดว่า ประชาชนในเมืองปูเนและมุมไบประมาณ 4,000-5,000 คน จะมีโอกาสได้รับการฉีดยาวัคซีนออกซ์ฟอร์ดในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ และจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของตารางการทดลองระยะ 3 อย่างน้อย 3 เดือน หากเป็นไปได้ภายในสิ้นปี 2563 นี้ สถาบันซีรั่มฯ จะสามารถผลิตวัคซีนได้กว่า 300-400 ล้านโดส หลังจากที่การทดสอบขั้นต้นประสบความสำเร็จและได้รับใบอนุญาต (ทดลอง) ที่สำคัญ ถ้าเป็นไปตามแพลนที่วางไว้จริงๆ ChAdOx1 nCoV-19 จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 1,000 รูปีต่อโดส หรือตีเป็นเงินไทยก็ราวๆ 424 บาทเท่านั้น
อย่าเพิ่งยิ้ม! นี่คือ ราคาในอินเดีย แต่หากนำเข้ามาไทยล่ะ? คงไม่ใช่ราคานี้แน่...ก็ได้แต่หวังของเราจะก้าวสู่การทดสอบในมนุษย์สำเร็จ
เห็นการมุ่งมั่นของสถาบันซีรั่มฯ แล้ว ก็เรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่น่าจับตามอง และถูกพูดถึงอย่างมากในบรรดานักพัฒนาวิจัยทั้งหมดเวลานี้ ซึ่งคาดว่าอาจกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นแน่นอน
และใช่แล้ว...เมื่อมีการผลิตวัคซีนมาก ก็ย่อมเป็นผลดีต่อประชากรโลก
และถามว่าจะได้ใช้ ‘วัคซีน’ เมื่อไร คำตอบที่พอคะเนคร่าวๆ คือ ‘สิ้นปี’ แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอน.
ข่าวอื่นๆ:
- "โควิด-19" สายพันธุ์ G ติดง่าย ลามเร็ว ต้องลบล้างทุกทฤษฎี
- "โควิด-19" พัฒนาไม่หยุด จากฝอยละออง สู่ติดเชื้อทางอากาศ
- "หัวเว่ย" ไร้มิตรแท้ ตราหน้า "สายลับจีน" สหรัฐฯ กัดไม่ปล่อย
- "แรงงานลิง" ปีนมะพร้าว สะเทือนส่งออก บอยคอตกะทิไทย ทำยอดขายดิ่ง
- เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก ไม่สะเทือน! 530 บริษัท บอยคอตโฆษณา ต้านเมิน Hate Speech