เจาะชีวิต ขุนอิน ณรงค์ โตสง่า หรือ ขุนอิน โหมโรง ยอดฝีมือระนาดไทย กับลมหายใจสุดท้าย "เจ้าสำนักปี่พาทย์โตสง่า" ใกล้สู่ตำนาน แต่ขอสู้และยืนหยัดด้วยปณิธานจากหัวใจ สืบสานวัฒนธรรมดนตรีไทยสู่เด็กรุ่นหลังต่อไปตราบวาระสุดท้ายของชีวิต
“ยุคเดียวกับผม และยุคปู่ หมดแล้ว หมดเลย หมดจริงๆ เหลือของผมเป็นที่สุดท้ายจริงๆ ผมว่ามันยากที่จะมานั่งเลี้ยงดูเด็ก 10-20 คน ให้กินอยู่หลับนอนด้วยกันแบบผม ผมเชื่อว่าไม่มี ยิ่งยุคนี้ เศรษฐกิจแบบนี้ ทุกคนเลือกที่จะเอาตัวรอดมากกว่า แต่สำหรับผมไม่ได้คิดเอาตัวรอด คิดให้สำนักมันรอด”
ขุนอิน ณรงค์ โตสง่า หรือ อาจารย์ปอง ในวัย 57 ปี กล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้า แต่นี่คือความจริงที่ต้องทำใจยอมรับให้ได้ เมื่อ “สำนักปี่พาทย์” หรือ “บ้านปี่พาทย์” ปัจจุบันค่อยๆ หายไปจากสังคมและวัฒนธรรมไทย สาเหตุจากส่วนใหญ่เรียนตามสถาบันต่างๆ มากกว่าเรียนใน “สำนักปี่พาทย์” ซึ่งมีกลิ่นอายวิถีโบราณ ควรค่าแก่การสืบสานและอนุรักษ์ไว้ โดยเฉพาะ “สำนักปี่พาทย์โตสง่า” ก่อตั้งมาตั้งแต่ในสมัย รัชกาลที่ 4 สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น นับตั้งแต่ นายอุทัย โตสง่า (ปู่ทวด), นายพุ่ม โตสง่า (คุณปู่), นายสุพจน์ โตสง่า (คุณพ่อ) และอาจารย์ปองคือรุ่น 4 ที่สืบทอด “สำนักปี่พาทย์โตสง่า”
...
: ความทรงจำ “สำนักปี่พาทย์” ยุคเฟื่องฟู :
สำนัก แปลว่า ที่อยู่ ที่อาศัย และผู้ที่มาอาศัยต้องไม่ใช่ญาติ “สำนักปี่พาทย์” จึงเป็นวิทยาทาน ส่งมอบให้ทั้งความรู้ วิธีคิดดีๆ สู่เด็กที่รักในดนตรีไทย เข้ามาเรียน กิน นอน ฟรี ห้ามเก็บเงินเด็ดขาด หากเก็บเงินเด็กจะเป็นโรงเรียนดนตรีทันที การเรียนดนตรีของวงปี่พาทย์ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่ตีแล้วมีเสียง อาทิ ระนาด ฆ้อง กลอง ฯลฯ
ประเพณี “วงปี่พาทย์” ในยุคโบราณ อาจารย์ปองเล่าความทรงจำที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อว่า สมัยก่อน งานบวช งานศพ ต้องมีวงปี่พาทย์ ไม่มีไม่ได้ ถึงยุคพ่อเร่ิมใช้เป็นวิชาชีพในการทำมาหากิน ช่วงเฟื่องฟูก่อนฟองสบู่แตก เฉลี่ยปีหนึ่งมีงานประมาณ 50 ครั้ง แต่หลังปี 2541 อยู่ๆ งานลดฮวบ เหลือไม่ถึง 10 งาน เหตุจากวงปี่พาทย์เพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญสุดคือเศรษฐกิจ รวมถึงความนิยมลดลง คนหันมาเปิดดนตรีแทน จนปัจจุบันมีงานปีละ 2 ครั้ง แต่อาจารย์ปองยังสู้ต่อไปเพื่ออนุรักษ์ดนตรีไทยและสำนักปี่พาทย์โตสง่าให้อยู่คู่สังคมไทยให้นานที่สุด
“ค่าน้ำค่าไฟ ค่ากินอยู่ ถามมาจากไหน สมัยก่อนได้จากแสดงดนตรี งานบวช งานศพ เด็กได้เบี้ยเลี้ยงนิดๆ หน่อยๆ ไม่ได้ค่าตัว ยุคผม ผมให้ตังค์ ถ้ามีงานก็ให้ ตอนนี้โควิด งานน้อย ถามว่าเอาเงินจากไหนเลี้ยงดูเด็กๆ ย้อนไปภาพยนตร์โหมโรงดัง งานเยอะ ผมเป็นครู ก็พอมีเลี้ยงดูจนรอดถึงทุกวันนี้” อาจารย์ปองบอกที่มาเงินสำหรับเลี้ยงดูเด็กๆ
...
: เจ้าสำนัก สุดยอดผู้เสียสละ คนสืบทอดต้องสายเลือดเดียวกัน :
การรับเด็กเข้ามาเรียนดนตรีไทยในสำนักปี่พาทย์โตสง่าที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานับร้อยกว่าปี คือ ห้ามเก็บเงิน และให้กินฟรี อยู่ฟรี เจ้าสำนักมีบทบาทสำคัญในการกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ต่างๆ ในสำนักปี่พาทย์หากไม่มีใจรักและความเสียสละ น้อยคนนักที่จะเลือกมาเป็นเจ้าสำนักเพราะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูงตามจำนวนเด็กที่เข้ามาอยู่ด้วย นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่สำนักปี่พาทย์ของไทยในปัจจุบันใกล้สูญสลาย
...
ความสมบูรณ์ของ “สำนักปี่พาทย์” อาจารย์ปองบอกเล่า ต้องมี 3 สิ่งสำคัญ ดังนี้ 1. ตัวสำนักหรือสถาปัตย์ 2. คนปกครองหรือเจ้าสำนัก 3. ความเป็นนักเรียน ความเป็นลูกศิษย์ซึ่งขาดไม่ได้เด็ดขาด
“3 สิ่งนี้หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะไม่ใช่สำนักปี่พาทย์ ถ้ามีสามอย่าง จะมีอย่างที่สี่ตามมาคือ วิถีชีวิต วิถีการเรียนรู้ วิถึการอยู่ร่วมกัน วิถีของการใช้ชีวิตที่ถูกอบรมเจ้าสำนักนอกจากมีวิชาความรู้ ความคิดรอบคอบ สำคัญมากคือต้องเสียสละ ผมเชื่อว่า ถ้าไม่ใช่ลูกแท้ๆ สืบทอดแล้ว มันยากนะที่ใครจะเป็นเจ้าสำนัก ต้องกำหนดชีวิตเด็ก จะอยู่ยังไง กินยังไง ”
: เสน่ห์กลิ่นอาย สำนักปี่พาทย์ วิถีโบราณกำลังกลายเป็นตำนาน :
วัฒนธรรมและวิถีโบราณของ “สำนักปี่พาทย์” ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น พ่อมาลูก ตลอด 27 ปี อาจารย์ปอง สืบสาน “สำนักปี่พาทย์โตสง่า” ตามแบบแผนโบราณตามบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด และทำหน้าที่ “ครู” คอยรักและห่วงใยศิษย์ทุกคนเสมือน “ลูก” ในไส้ นอกจากคอยเลี้ยงดู ให้ความรู้ทั้งด้านดนตรีไทยถ่ายทอดจากพรสวรรค์ด้านดนตรีไทยของตัวเองให้กับลูกศิษย์อย่างไม่หวงวิชา ยังสอนวิธีคิดให้เป็น “คนดี” ของสังคม
...
“การได้ฝึกซ้อมด้วยกัน เริ่มเติบโตไปด้วยกัน นอนด้วยกัน ตื่นมาเจอหน้ากัน จะเกิดความผูกพันทางพฤติกรรม มันมากกว่าเพื่อน เขาจะรู้จักความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง เด็กสำนักปี่พาทย์ทุกที่จะไม่ลามปามผู้ใหญ่ต่างกับเด็กปัจจุบันมีพฤติกรรมก้าวร้าวกับคนที่โตกว่าเพราะขาดสิ่งเหล่านี้”
: สำนักปี่พาทย์ VS สถาบันการศึกษา :
เสน่ห์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ใน “สำนักปี่พาทย์โตสง่า” ที่อาจารย์ปอง ไม่อยากให้สูญหาย นอกจากการได้กินอยู่หลับนอนร่วมกันในสำนักปี่พาทย์แล้ว ยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติโบราณที่หาไม่ได้ในห้องเรียนตามสถาบันต่างๆ นั่นคือ การไหว้ครูครั้งใหญ่หนึ่งครั้งที่ต้องปฏิบัติเหมือนเดิมสืบต่อมาทุกเพื่อขอขมา ฝากตัวศิษย์ใหม่แล้ว สิ่งสำคัญสุดคือ ศิษย์ต่างรุ่นได้คืนสู่เหย้ามาพบกัน
“สถาบันการศึกษาหรือโรงเรียน เขาไม่มีขนบปฏิบัติ ไม่ได้นอนด้วยกัน ไม่ได้เล่นด้วยัน ไม่ได้หุงข้าวด้วยกัน ตื่นนอนก็บ้านใครบ้านมัน กลิ่นอายต่างกัน ผมพูดตรงๆ มันหาไม่ได้ตามสถาบันหรือโรงเรียน หาไม่ได้จริงๆ การไหว้ครู การทำของถวายครู การเดินมาแล้วเห็นจุดธูป มีกลิ่นธูปให้ได้กลิ่น แม้กระทั่งใครซาวข้าว หุงข้าว ใครทำกับข้าว ใครเปลี่ยนดอกไม้ ใครทำดอกไม้ถวายครู ทุกคนจะมีหน้าที่อยู่”
: หรือเป็นอาถรรพณ์คำสาป หากไร้ชีวิต ขอให้เหลือซากสืบทอด :
ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูที่รักดนตรีไทยทุกลมหายใจ มุ่งมั่นตั้งใจสืบทอด “สำนักปี่พาทย์” มา 27 ปี เมื่อรู้ว่าขาดคนสืบทอดอาจารย์ปองรู้สึกห่วงและกังวลมากจนประสาทจะเสีย เคยคิดจะยกให้มูลนิธิสมเด็จพระเทพฯ หากไม่มีชีวิต กระทั่งมีคนหนึ่งบอกว่า ตระกูลดนตรีไทย หรือแม้กระทั่งศิลปะด้านอื่นๆ เช่น โมสาร์ท เบโธเฟน หากถึงจุดสุดยอดเมื่อไหร่ ต้องโดนคำสาป
“จริงๆ ผมรู้ว่ามันต้องหมด แต่สิ่งที่จะหมดขอให้เหลือซากได้ไหม ผมมานั่งคิดไล่ดู ผมคิดว่า ยากจะหานักดนตรีไทยมีชื่อเสียงแบบผม ผมว่าผมสุดแล้วแหละ คงเป็นคำสาปเดียวกันทั้งหมด พอคิดได้แบบนี้เริ่มปลง แล้วแต่โชคชะตาฟ้าลิขิต ทุกอย่างมีก็ต้องหมด สำนักปี่พาทย์หมด ลมหายใจสุดท้ายที่นี่ก็คือลมหายใจสุดท้าย สุดท้ายไม่ได้หายใจ คิดมากไม่ได้ คิดแล้วจะท้อแท้ ขอให้คิดแค่ว่าอยู่ตรงนี้ทำดีที่สุด พอแล้ว”
ท้ายที่สุดเสียงระนาดเอก และเครื่องดนตรีของวงปี่พาทย์ และวิถีเรียนรู้โบราณใน “สำนักปี่พาทย์โตสง่า” จะอยู่ดังเดิม หรือเปลี่ยนไปมากแค่ไหน ทั้งนี้ไม่ใช่สาเหตุเพราะโลกเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเพราะ “คนไทย” นั่นแหละที่เปลี่ยนกันไปเองหรือไม่
ทุกชีวิต มีมุมให้ค้นหาและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพราะนี่คือ LIFE STORY
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ