เรียนรู้ "โรคไขกระดูกบกพร่อง" ฉบับสั้นๆ เข้าใจง่าย โรคเลือดที่ "นิ้ง กุลสตรี" กำลังเผชิญนานปีกว่า ยังรักษาไม่หาย ผู้สูงวัย สูบบุหรี่ เป็นมะเร็งเสี่ยงสูง

กลายเป็นเรื่องน่าตกใจ เมื่อ “นิ้ง กุลสตรี” อดีตนางเอกสาวที่ผันตัวไปเป็นแอร์โฮสเตส ป่วยด้วย “โรคไขกระดูกบกพร่อง” มาตั้งแต่ปี 62 และรักษาอาการเป็นระยะๆ จนถึงปัจจุบัน นอกจากคนไทยห่วงใยและส่งกำลังใจให้นิ้งหายป่วยโดยเร็ววันแล้ว

หลายคนรู้สึกกังวลและสงสัยตัวเองเสี่ยงป่วยโรคนี้หรือไม่? วัยใดเสี่ยงมากที่สุด สาเหตุโรคเกิดจากอะไร? อาการบ่งชี้มีอะไรบ้าง? แล้วอาหารมีผลให้เกิดโรคได้หรือไม่? เพราะนิ้งกุลสตรีที่มีสุขภาพดียังป่วยเป็น “โรคไขกระดูกบกพร่อง” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์มีคำตอบจาก นพ.ชวลิต หล้าคำมี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา โรงพยาบาลยันฮี

...

ทำความรู้จัก “ไขกระดูก” ต้นตอป่วย

นพ.ชวลิต เริ่มอธิบายให้เข้าใจง่ายถึงไขกระดูก อวัยวะที่ทำให้เกิดโรคนี้ว่า ไขกระดูกเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณตรงกลางของกระดูกชิ้นใหญ่ๆ ทั่วร่างกาย เป็นที่อยู่ของ “เซลล์ต้นกำเนิด” หรือที่รู้จักในชื่อ สเต็มเซลล์ (Stem Cell) มีหน้าที่ผลิตเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดสู่ร่างกายตลอดเวลาในภาวะปกติ แต่ผู้ป่วยโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” (Myelodysplastic Syndrome : MDS) หรือมีอีกชื่อว่า โรคไขกระดูกเสื่อม จะเกิดความผิดปกติของไขกระดูก ทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้เหมือนคนปกติ

3 สาเหตุหลักเกิดโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” อาหารมีส่วนหรือไม่

สำหรับสาเหตุไขกระดูกบกพร่อง นพ.ชวลิต ระบุว่า ตามข้อมูลหลักฐานทางวิชาการ ดังนี้
1. ผู้ป่วยมีภาวะความผิดปกติทางพันธุกรรมเองที่เกิดจากการกลายพันธุ์ หรือขาดหายไปของยีน ซึ่งสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น แต่ไม่ถ่ายทอดพันธุกรรมไปสู่ลูกหลาน
2. ปัจจัยภายนอกที่มีหลักฐานชัดเจนคือ สารเคมีบางชนิด เช่น เบนซีน หรือสารกัมมันตภาพรังสี เช่น ในกลุ่มผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือรักษาด้วยการฉายแสง
3. ผู้สูบบุหรี่

สำหรับข้อกังวลว่าอาหารมีส่วนให้เกิดโรคนี้หรือไม่นั้น จากข้อมูลปัจจุบันทางวิชาการทั่วโลก นพ.ชวลิตยืนยันยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่มี 3 สาเหตุหลักดังที่กล่าวข้างต้น

9 สัญญาณอาการโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” วัยใดเสี่ยงที่สุด

กับข้อสงสัยนี้ นพ.ชวลิตให้ข้อมูลอ้างอิงจากสถิติกระทรวงสาธารณสุข อัตราการเกิดโรคไขกระดูกบกพร่องในประเทศไทยอยู่ที่ 4 รายต่อประชากร 1 ล้านคนต่อปี ถือว่าพบได้ไม่บ่อย หากเทียบกับโรคอื่นๆ เช่น มะเร็งตับในผู้ชาย มะเร็งเต้านมในผู้หญิง ที่มีอัตราส่วนประมาณ 100 ขึ้นต่อประชากร 2 ล้านคนต่อปี อายุเฉลี่ยของคนป่วยโรคไขกระดูกบกพร่องประมาณ 70 ปี อุบัติการณ์จะเกิดขึ้นสูงในคนอายุมากกว่า 60 ปี ในคนอายุต่ำกว่า 40 ปี พบอัตราน้อย 

อาการของโรค “ไขกระดูกบกพร่อง” มีหลากหลายสูง ทั้งไม่แสดงอาการ จะมีอาการซีด เนื่องจากไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงลดลงๆ จนเหนื่อย หอบ อ่อนเพลียง่าย เลือดออกง่าย ผู้หญิงมีจ้ำเลือดตามตัว ประจำเดือนมาเยอะผิดปกติ และติดเชื้อง่าย เพราะเม็ดเลือดขาวน้อย

...

อาการป่วยจะหนักขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือดในร่างกาย ในบางรายในอนาคตโรคอาจลุกลามเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน หากอยากรู้ว่าป่วยเป็นโรคไขกระดูกบกพร่องหรือไม่ วิธีที่ง่ายและได้ผลชัดเจน นพ.ชวลิตแนะนำว่า “ให้ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี ขอตรวจเช็กความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ซึ่งเป็นการตรวจพื้นฐานในโปรแกรมตรวจสุขภาพทั่วๆ ไปมี”

2 หลักการรักษา "โรคไขกระดูกบกพร่อง" มีวิธีเดียวหายขาด

การรักษาผู้ป่วยโรคไขกระดูกบกพร่อง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง มีความเสี่ยงต่ำที่จะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวฉับพลัน จะรักษาตามอาการ โดยให้น้ำเลือด เกล็ดเลือดในกรณีที่เกล็ดเลือดต่ำ หรือให้ยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดขาวหรือเม็ดเลือดแดง
2. กลุ่มมีอาการรุนแรง หรือเริ่มกลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน จะรักษาที่เน้นเฉพาะมากขึ้น เช่นให้เคมีบำบัด ปลูกถ่ายไขกระดูก หรือปลูกถ่ายสเต็มเซลล์

...

จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าโอกาสหายขาดจากโรคไขกระดูกบกพร่องมีวิธีเดียว คือการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูก หรือสเต็มเซลล์จากพี่น้องท้องเดียวกัน หรือบุคคลอื่นที่เข้ากันได้ แต่มีปัจจัยสำคัญ คนไข้ต้องแข็งแรงพอสมควร และอายุโดยเฉลี่ยต้องน้อยกว่า 60 ปี นพ.ชวลิตอธิบายการปลูกถ่ายไขกระดูกว่า

“การปลูกถ่ายไขกระดูก ถ้าตรวจแล้วอาจเข้ากันไม่ได้ ระหว่างผู้ให้และผู้รับ อาจจะต้องไปหาจากธนาคารสเต็มเซลล์ เพื่อหาที่เข้ากันกับคนทั่วโลก ดูว่าใกล้เคียงกับคนไข้ประเทศไหนบ้าง ปัจจุบันธนาคารสเต็มเซลล์อยู่ในที่กาชาดของเราเอง สามารถเจาะเลือดผู้ป่วยเข้าไปแมตช์ว่าเข้ากันได้ไหม หากเข้ากันได้เกือบ 100% ก็สามารถปลูกถ่ายได้” 

ทำทุกปีเป็นผลดี แนะนำการป้องกันโรค “ไขกระดูกบกพร่อง”

สาเหตุของโรคไขกระดูกบกพร่อง โดยมากเกิดจากปัจจัยภายในซึ่งแก้ไขยาก แต่ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อเซลล์ต้นกำเนิดสามารถป้องกันได้ นพ.ชวลิตแนะนำให้หลีกเลี่ยงทำงานในกลุ่มที่เสี่ยง สัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี สารเคมีบางชนิด เช่น เบนซีน

...

สำคัญที่สุดคืองดสูบบุหรี่ เพราะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขกระดูกบกพร่องได้ ดูแลสุขภาพทั่วๆ ไป และหมั่นตรวจเช็กสุขภาพประจำปี เนื่องจากหากตรวจพบโรคได้แต่เนิ่นๆ ก็จะทำการรักษาได้ถูกต้องและทันท่วงทีจากแพทย์ด้านโลหิตวิทยา

“สิ่งที่จะทำได้ดีที่สุด ณ ตอนนี้คือ การดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง ลดความเครียด ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพราะสามารถคัดกรองในกลุ่มผู้ป่วยโรคไขกระดูกบกพร่องได้ดีพอสมควร” นพ.ชวลิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตกล่าว.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ข่าวน่าสนใจ