‘โควิด-19’ (COVID-19) ผ่านมากว่า 7 เดือน กับการมาของ ‘คลื่นลูกที่ 2’ ที่มาพร้อมๆ กับการกลับลำยอมรับของ WHO ว่า ‘ติดเชื้อทางอากาศ’ ได้ และการกลายพันธุ์สู่ ‘สายพันธุ์ G’
เข้าสู่ครึ่งปีหลัง 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ รอบโลกยังน่าวิตก ยอดติดเชื้อสะสมทะลุ 13 ล้านคน เสียชีวิตอีกมากกว่า 5 แสนราย หลายๆ ประเทศยังคงตึงมือกับ ‘คลื่นลูกแรก’ และบางประเทศกลับต้องตั้งการ์ดรับ ‘คลื่นลูกที่ 2’ ที่ไม่รู้ว่าจะซัดแรงแค่ไหน อาจจะหนักกว่า หรือเบากว่า ก็ยังเดาทางกันไม่ถูก...
แถม ‘องค์การอนามัยโลก’ (WHO) ที่ยืนกรานเสียงแข็งมาตลอด ว่า "โควิด-19 แพร่ระบาดทางฝอยละออง (Droplets) เท่านั้น!!"
อยู่ดีๆ ก็กลับลำกันกลางทาง ออกมาตั้งโต๊ะแถลงยอมรับ "โควิด-19 สามารถแพร่กระจายทางอากาศ (Airborne) ได้เช่นกัน..."
แทบล้มทั้งยืน!!
เพราะนั่นหมายความว่า ‘หน้ากากผ้า’ ที่ประชากรไทยสวมใส่ป้องกันโควิด-19 ทดแทน ‘หน้ากากอนามัย 2.50’ ที่หายากแสนยาก (ณ วันนี้ ก็ยังหาไม่เจอ) อาจเอา ‘ไวรัสร้าย’ นี้ไม่อยู่ซะแล้ว
ยัง...ยังไม่จบ!!
ยังไม่ทันได้หายใจหายคอ ก็มี ‘คลื่นเล็กๆ’ ซัดถาโถมให้ได้หนาวกายยะเยือกกันต่อเนื่องแบบไม่หยุดพัก
ณ วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2563
‘CELL’ วารสารวิชาการ ได้ตีพิมพ์บทความวิจัยที่มี ‘หัวข้อ’ และ ‘เนื้อหา’ ดั่งภาพยนตร์แนวเอาชีวิตรอด ที่ว่า... "ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์"
...
ความเป็นมาของ ‘คลื่นเล็กๆ’ หรือบทความวิจัยที่ว่านั้น มาจาก ‘ผลวิจัย’ ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อ แห่งคณะแพทยศาสตร์ไฟน์เบิร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ที่ได้พบ ‘ความผิดแปลก’ ของ ‘โครงสร้างพันธุกรรม’ ที่มาจากตัวอย่างเชื้อไวรัสโคโรนาของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา
‘ความผิดแปลก’ ที่ว่านั้น ทำให้ ‘ความเชื่อ’ ว่า ไวรัสโคโรนาที่เกิดในแต่ละที่บนโลกเป็น ‘สายพันธุ์เดียวกัน’ กับ ‘จีน’ ต้องเปลี่ยนแปลงไป...
ณ เดือนมกราคม 2563
พบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกในเมืองชิคาโก และก็ค่อยๆ ทยอยมีรายใหม่ๆ ปรากฏออกมาเรื่อยๆ กระทั่งในวันนี้ กลางเดือนกรกฎาคมทะยานแตะ 50,000 ราย
ไม่เพียงเท่านั้น ‘ผลวิจัย’ ยังพบความเชื่อมโยง ‘ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์’ ในพื้นที่แพร่ระบาดอื่นๆ อีก โดยเฉพาะ ‘ทวีปยุโรป’ และ ‘นครนิวยอร์ก’
แต่นั่นไม่ได้จบแค่ 2 ที่นี้แน่ๆ เพราะท้ายที่สุด... เชื่อว่าอาจเชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดในทุกหัวระแหงเมืองต่างๆ ทั่วโลก
โดยจาก ‘ฐานข้อมูล’ ของนักวิจัยทั่วโลก พบว่า ราว 70% ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีอยู่ประมาณ 50,000 จีโนม ได้ขยายไปสู่สเต็ปของ ‘การกลายพันธุ์’ แล้ว
แน่นอนว่า การกลายพันธุ์ไม่ได้เป็นเหมือนในหนัง ที่ปุปปัปจนหนีกันแทบไม่ทัน แต่เป็นแบบทีละนิดๆ ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงแบบเล็กๆ น้อยๆ
คร่าวๆ คือ โครงสร้างพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาจะมี Amino Acid อยู่ และในบรรดา Amino Acid ทั้งหมดนั้น จะมีเพียงตัวเดียวที่กลายพันธุ์ คือ ‘Number 614’ ที่เปลี่ยนจาก ‘D’ (Aspartic Acid) ไปเป็น ‘G’ (Glycine)
มีการกำหนดชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘D614G’
แต่เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกันดีในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่า ‘สายพันธุ์ G’
ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น คือ สายพันธุ์ G จะมี ‘Spike Protein’ ยื่นออกมาจากตัวไวรัสโคโรนา (มากกว่าเดิม) คล้ายกับ ‘มงกุฎ’ ซึ่งคอยทำหน้าที่ ‘ยึดเกาะ’ แบบเหนียวแน่น เข้าสู่ ‘เซลล์มนุษย์’ ลักษณะการกระทำคล้ายๆ กับ ‘ตีนแมว’ ที่แอบสะเดาะกลอนประตูหน้าต่างแบบแยบยล
โดยจากการทดลองในห้องปฏิบัติการอย่างน้อย 5 การทดลอง พบข้อบ่งชี้ว่า ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ตัวนี้ สามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านๆ มา
แต่...อย่างที่บอกมาตอนต้น จนบรรทัดนี้ ว่านี่เป็น ‘ผลวิจัย’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของบทความวิจัยที่ผ่าน Peer-Review เพียงหนึ่งบทความเท่านั้น จึงยังไม่อาจสรุปได้ทั้งหมดว่ารุนแรงแค่ไหน?
หากจะถามว่า "แล้วถ้าป่วยด้วย ‘สายพันธุ์ G’ จะแตกต่างกับสายพันธุ์ก่อนหน้าอย่างไร?"
คำตอบที่อิงผลวิจัยที่มาจากตัวอย่างของ ‘ผู้ป่วยโควิด-19’ ในเมืองชิคาโก ก็พออธิบายได้ว่า เมื่อได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ G เข้าไปในร่างกายแล้ว ปริมาณไวรัสที่เวียนวนอยู่ภายในจะมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า และนั่นอาจเป็นผลทำให้ ‘แพร่กระจายเชื้อไวรัส’ ไปสู่บุคคลอื่นๆ ได้มากกว่าที่ผ่านๆ มาเช่นกัน
ข้อสำคัญของ ‘สายพันธุ์ G’ อีกอย่าง คือ มันไม่สามารถมีชีวิตหรือแพร่พันธุ์ได้ด้วยตัวมันเอง แต่มันจะต้องมีที่ ‘ยึดเกาะ’ ด้วยการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ ในการทำ ‘สำเนา’ ตัวเองนับพันๆ ตัวออกมา
แต่อย่าเพิ่งตกใจกันไป ณ ตอนนี้ ยังไม่มีหลักฐานที่ปรากฏยืนยันชัดเจนว่า ผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์ G จะมีอาการหนักกว่าสายพันธุ์อื่นๆ หรือไม่ แม้ว่าตัวเลขการแพร่กระจายที่รวดเร็วอันมีความเชื่อมโยงกับ ‘สายพันธุ์ G’ จะทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลถึงการติดต่อที่ง่ายดายมากก็ตาม
...
และนั่นก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่อธิบายความจริงที่เกิดขึ้นได้ว่า ทำไม ‘ทวีปยุโรป’ และ ‘สหรัฐอเมริกา’ ถึงมีตัวเลขการติดเชื้อพุ่งอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง!!
แต่! (อีกแล้ว) จากข้อมูลพันธุกรรมที่นักวิจัยได้มีการรวบรวมพบว่า ความรุนแรงที่ส่งผลอย่างฉับพลันของ ‘ไวรัสโคโรนา’ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่สายพันธุ์อย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับ ‘ช่วงเวลา’ และ ‘ร่างกาย’ ที่เป็นแหล่งรับเชื้อไวรัสนั้นด้วย
ดังนั้น ‘คนสูงวัย’ ถึงเป็นกลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุด ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนก็ตาม
การถอดรหัสพันธุกรรมในครั้งนี้ นำไปสู่การกลายพันธุ์ปริศนาของ ‘ไวรัสโคโรนา’ ที่ถือเป็นความท้าทายท่ามกลางมรสุมการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต้องเผชิญ
และถือเป็นบททดสอบที่ ‘นักวิทยาศาสตร์’ จะต้องทะลวงระดับความรู้ ทัศนคติ และความเชื่อของตัวเอง เพื่อต่อสู้และรับมือกับข้อมูลที่พุ่งกระจายออกมาอย่างรวดเร็ว เพื่อทำให้ประชากรโลกมั่นใจได้ว่า "มันถูกต้อง!!"
...
สำหรับประชากรไทยทั้งหลายเอง นี่เป็นเพียงการทดลองจากตัวอย่างผู้ป่วยในเมืองชิคาโกเท่านั้น ในโซนเอเชียยังไม่พบ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ทวีปยุโรป ซึ่งเป็นแห่งแรกที่มีการแพร่ระบาดสายพันธุ์ G และสหรัฐอเมริา แต่ก็อย่าประมาท เพราะก็ไม่ได้หมายความว่า สายพันธุ์ G จะเข้ามาในไทยไม่ได้ ขอเพียงมีเซลล์มนุษย์ให้มันยึดเกาะข้ามน่านฟ้า เราก็มีโอกาสได้เจอมัน...