พอหลายๆ ประเทศกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ‘โควิด-19’ (COVID-19) ก็ต้องมีเรื่องมีราวให้ได้ชะงักกันทุกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่การมาของ ‘คลื่นลูกที่ 2’ แต่เป็น ‘การติดเชื้อทางอากาศ’

เรียกว่าจำยอมกลับลำแบบงงๆ สำหรับ ‘องค์การอนามัยโลก’ หรือ WHO ที่ตลอดมากว่า 7 เดือน แถลงยืนกรานมาตลอดว่า ‘โควิด-19’ มีการแพร่กระจายผ่านทาง ‘ฝอยละออง’ หรือ Droplet เท่านั้น

แม้ว่าจะมีเสียงพูดเสียงแย้งมาตลอดว่าอย่าเพิ่งปักใจเชื่อ ‘โควิด-19’ มีอะไรอีกมากที่เรายังไม่รู้

"ไม่ยืนยัน ถ้าหลักฐานไม่พอ!!"

การแพร่กระจาย ‘ฝอยละออง’ ที่องค์การอนามัยโลก ยึดมั่นถือมั่นมาโดยตลอดนั้น หากจะมีการติดเชื้อจากคนสู่คนก็ต้องเป็นการสัมผัสใกล้ชิดกันจริงๆ หรือเป็นการสัมผัสกับพื้นผิวสัมผัสที่ไม่เชื้อไวรัสโคโรนาปนเปื้อน เช่น โต๊ะหรือลูกบิดประตู รวมถึงการฝอยละอองของน้ำลายที่มาจากการไอ จาม หรือสารคัดหลั่งที่ออกมาจากจมูก

หากถามว่า "ทำไมองค์การอนามัยโลกถึงยืนกรานแบบนั้น?"

ก็อย่างที่บอกว่าประโยคข้างบน คือ เขามองว่า ‘การแพร่กระจายทางอากาศ’ หรือที่เรียกว่า ‘แอร์บอร์น’ (Airborne) ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอ แม้จะมีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ขอยืนยัน

...

แต่การไม่ยืนยันก็ใช่ว่าจะปัดตกลงไปเลย มีการเปิดโต๊ะโต้วาทีกับนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกันมาตลอด จนสุดท้ายก็ยอมจำนนในหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่งัดมาโชว์

โดยการออกมายอมรับแบบจำยอมกลับลำของ ‘องค์การอนามัยโลก’ ในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีการลงนามกดดันจากนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา จำนวน 239 คน จาก 32 ประเทศทั่วโลก

ซึ่งการอธิบายถึงการแพร่กระจายทางอากาศ (Airborne) ของนักวิทยาศาสตร์ 239 คนนั้น เล่าเป็น 3 สเตปให้เห็นภาพกันง่ายๆ ว่า

เริ่มจาก ‘ฝอยละออง’ ที่ออกมาจากการหายใจออก การพูดคุย การไอ และการจาม ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-10 ไมครอน รวมๆ แล้วมีน้ำหนักประมาณหนึ่ง และตกกระจายลงพื้นผิวสัมผัสต่างๆ ได้ในระยะ 1-2 เมตร

แต่ ‘ฝอยละออง’ ที่ออกมานั้น มีหลากหลายขนาด บางอันมีขนาดเบากว่า เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 5 ไมครอน เรียกว่า ‘ละอองอากาศ’ หรือ ‘แอโรซอล’ (Aerosol) กระจายได้ไกลประมาณ 2 เมตร

และในบรรดา ‘ละอองอากาศ’ ก็จะมีบางส่วนที่สามารถลอยตัวอยู่ในอากาศได้อีก ซึ่งอันนี้นี่แหละที่เป็นตัวการให้เกิด ‘การติดเชื้อทางอากาศ’ มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และสามารถกระจายได้ไกลอย่างน้อย 6 เมตร

ที่สำคัญ เจ้า ‘ละอองอากาศ’ เล็กๆ น้อยๆ นี้ มีความเสี่ยงมากๆ หากว่าอยู่ในสถานที่ที่เป็นแบบ Indoor หรือพื้นที่ในร่ม โดยเฉพาะที่มีการรวมตัวกันหนาแน่น ผับ บาร์ ร้านอาหาร และฟิตเนส

เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง!!

ยิ่งหากว่า สถานที่ที่ว่ามานี้มีการระบายอากาศไม่ดี การแพร่กระจายก็อาจมากกว่าที่กล่าวมาข้างต้นได้

โดยหนึ่งในผลการศึกษาเกี่ยวกับการแพร่กระจายทางอากาศ พบว่า ละอองฝอยที่มีขนาดแตกต่างกันก็จะมีการคงอยู่บนอากาศแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ที่ลอยอยู่ก็จะเป็นขนาดเล็กๆ เล็กมากๆ ส่วนมากจะลอยออกมาตอนที่เราพูดหรือไอ

แต่การไอหรือพูดที่ว่า ก็มีตัวแปรที่ทำให้ละอองอากาศแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความดังของเสียงตอนพูดด้วย ถ้าตะโกนมากๆ ก็จะกระจายออกมาได้มาก เขาเลยเป็นห่วงกลุ่มที่ต้องมีการฝึกซ้อมร้องเพลงประสานเสียงร่วมกันเป็นพิเศษ

และถึงแม้ว่า ละอองอากาศที่ลอยมานั้นจะมีไวรัสอยู่เพียงเล็กน้อย ไม่ได้เยอะจนถึงขั้นทำให้เราติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่หากว่าหายใจหรือสูดเข้าไปหลายๆ ครั้ง ก็อาจไปสะสมจนทำให้เพียงพอต่อการที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้

แน่นอนว่า คนที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการทำหัตถการและเกิดละอองฝอยออกมา ดังนั้น จำเป็นมากๆ ที่จะต้องสวมชุด PPE และหน้ากาก N95 ในทุกๆ ครั้ง

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมลงนามก็ออกมาบอกกันความตระหนกว่า การติดเชื้อทางอากาศยังคงมีความเสี่ยงระดับต่ำอยู่ หากว่าคุณอยู่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิดโรคหรือผู้ป่วยติดเชื้อ

...

ในเวลานี้ องค์การอนามัยโลกก็พยายามศึกษาเพื่อหาข้อยืนยันที่ชัดเจน เพราะหากว่ามีการแพร่กระจายทางอากาศแบบรุนแรง อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางการรับมือใหม่ทั้งหมด ที่นำไปสู่การบังคับสวมหน้ากาก การเข้มงวดกับการเว้นระยะห่าง โดยเฉพาะบาร์ ร้านอาหาร และขนส่งสาธารณะ

และสำหรับเราเองในตอนนี้ คำแนะนำที่ย้ำมาตลอดก็คือ สวมหน้ากากให้ถูกต้องและเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม

ส่วนพื้นที่ปิดอย่างโรงเรียน ออฟฟิศ หรือโรงพยาบาล ก็ควรเพิ่มการระบายอากาศอย่างเหมาะสมด้วยการเปิดหน้าต่างก็ช่วยบรรเทาความเสี่ยงการติดเชื้อลงได้

ข่าวอื่นๆ :