เขา คือ ชายที่มีเครื่องหมายการค้า คือ ลูกยิงฟรีคิกที่เข้าเป้าได้ราวกับจรวดโทมาฮอว์ก

เขา คือ POP STAR ที่สุดแสนมากเสน่ห์ของโลกฟุตบอลแห่งยุค 90

เขา คือ คนที่โดนรัวชัตเตอร์และไล่ล่าจากปาปารัสซี่ แทบไม่ต่างจาก ‘เจ้าหญิงไดอานา’

เขา คือ ผู้นำเทรนด์แฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นทรงผม การแต่งกาย หรือรอยสัก

และเขา คือ ชายที่ 'เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน' บรมกุนซือแห่งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ให้คำจำกัดความว่า...

"หมอนั่น มันเป็นคนมั่นใจในตัวเองจนล้นเว่อร์ กระทั่งไม่เคยคิดว่าตัวเองทำอะไรผิด และไม่เคยมีสักครั้งที่คิดว่าตัวเองเล่นแย่ แต่...การคิดแบบนี้มันก็มีข้อดีนะ เพราะนั่นจะทำให้ ‘ไอ้หมอนั่น’ ไม่เคยกลัว ว่าจะต้องทำอะไรในสนาม เพราะถึงจะทำพลาด มันก็จะสามารถลืมไปได้อย่างรวดเร็ว"

ซึ่ง...อืม...อาจจะเพราะด้วยความมั่นใจที่ล้นจนเว่อร์ หรืออาจจะเรียกในภาษาไทยว่า ‘ดื้อดึง’ นี่ด้วยหรือเปล่า ที่อาจจะทำให้ ‘ป๋า’ ทำให้ ‘ไอ้หมอนั่น’ ต้องมีรอยบาดแผลที่บริเวณคิ้ว OOPS!...

คุณรู้แล้วใช่ไหมว่า ‘ไอ้หมอนั่น’ ของ ‘ป๋า’ คือใคร?

...

‘เดวิด โรเบิร์ต โจเซฟ เบคแคม’ (DAVID ROBERT JOSEPH BECKHAM) คือชื่อของ ‘ไอ้หมอนั่น!’

เขาเกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 1975 ย่านเลย์ตันสโตน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นลูกชายเพียงคนเดียวในจำนวน 3 คน ของ ‘เอ็ดเวิร์ดและซานดรา เบคแคม’ และถึงแม้ว่าพ่อจะเป็นช่างซ่อมท่อแก๊สตามบ้าน และแม่จะเป็นช่างทำผม แต่ลูกชายคนเดียวของคุณและคุณนายเบคแคมกลับหลงรักในกลิ่นสาบของลูกหนังมาตั้งแต่เด็ก และมีเพียงสโมสรเดียวในโลกที่เขาสุดแสนจะคลั่งไคล้ นั่นก็คือ...

ทีมฟุตบอลอันดับ 2 ของอังกฤษต่อจากสโมสรลิเวอร์พูล OOPS!... นอกเรื่องๆ เอาใหม่ๆ ขออภัยเหล่า RED DEVIL!

เริ่มกันใหม่อีกครั้งนะ ลืมบรรทัดข้างบนไปก่อน... นั่นก็คือ...สโมสรปิศาจแดง ‘แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด!’

โดย ‘เดวิด’ เติบโตมาพร้อมๆ กับความ CRAZY ของคนในครอบครัวที่มีต่อฟุตบอลและทีมสัญลักษณ์ปิศาจถือสามง่ามอย่างชนิดหัวปักหัวปำ เอาแค่ในวัยที่เริ่มเดินเตาะแตะ ผู้เป็นพ่อก็เอาถุงเท้ามาม้วนเป็นลูกกลมๆ เพื่อให้เจ้าลูกชายเตะเล่นแล้ว และเมื่อลูกอายุได้ 4 ขวบ ก็ยังถูกพาไปฝึกปรือสารพัดเบสิกฟุตบอลที่ลานจอดรถสาธารณะใกล้ๆ บ้าน เป็นเวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน

โดยในปี 2007 ‘ไอ้หมอนั่น’ ของ ‘ป๋าเฟอร์กี้’ ให้สัมภาษณ์สื่อเพื่อรื้อฟื้นชีวิตวัยเยาว์ในช่วงนั้นว่า...

"สมัยนั้นตอนที่ผมอยู่ที่โรงเรียน ครูมักจะถามผมว่า ‘โตไปแกอยากจะเป็นอะไร?’ แต่พอตอบไปว่า ‘ผมอยากเป็นนักฟุตบอล’ ครูเขาก็มักจะร้องขึ้นมาว่า ‘ไม่’ ก่อนที่จะถามซ้ำอีกครั้งว่า ‘อาชีพอะไรที่แกอยากจะทำจริงๆ เมื่อตอนโต’ เจอแบบนี้ ผมเลยต้องยืนกรานกลับไปว่า ‘อาชีพนักฟุตบอลคือสิ่งเดียวเท่านั้นที่ต้องการจะเป็น!’

นอกจากนี้ พ่อผมคลั่งฟุตบอลมาก และพร้อมจะสนับสนุนทุกอย่าง เพื่อให้ผมได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่สิ่งหนึ่งที่ข้อดี และในเวลาต่อมาส่งผลต่อชีวิตการค้าแข้งของผมเป็นอย่างมากก็คือ พ่อไม่เคยมารบกวนการเล่นของผม ผิดกับเพื่อนๆ ซึ่งบางคน ในตอนเด็กเล่นเก่งกว่าผมเสียอีก แต่เพราะการที่เขามีพ่อมาคอยกำกับการเล่นอยู่ที่ข้างสนามเสมอๆ ทำให้ในที่สุด เพื่อนหลายๆ คนเกิดความเครียดและเบื่อหน่าย จนกระทั่งเลิกเล่นไปเลย ซึ่งผิดกับพ่อที่ไม่เคยทำอะไรแบบนั้น จนทำให้ผมสามารถเล่นฟุตบอลได้อย่างอิสระเสรีในสนาม"

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ เริ่มรู้แล้วใช่ไหม ทำไม ‘ป๋าเฟอร์กี้’ ถึงต้องเรียก ‘ไอ้หมอนั่น’ ว่าไอ้เด็กดื้อ!

อืม...ไหนๆ จะนินทาเรื่อง ‘ดื้อดึง’ ของ ‘พี่เบค’ แล้ว เอาอีกเรื่องแล้วกัน คราวนี้คุณแม่ขอนินทาบ้าง "เดวิดเป็นคนดื้อมาก มีอยู่วันหนึ่งเขามาขอเจาะหู แต่เดี๊ยนไม่ยอม แต่สุดท้ายเชื่อไหม เย็นวันนั้นเดวิดมีต่างหูมาโชว์เดี๊ยนเลยทันที!

นอกจากนี้ เดวิดในช่วงวัยรุ่นยังชอบแอบหนีไปเที่ยวกลางคืน แล้วกลับบ้านเกือบสว่างหลายครั้ง พอเตือนแล้วก็ยังดื้อ เราจึงประกาศเคอร์ฟิว เอ๊ย...กำหนดเวลาเดดไลน์มาใช้กับพ่อเจ้าประคุณ หรือพูดง่ายๆ หากกลับบ้านเกินเวลามีบทลงโทษนะจ๊ะ!

แต่คราวนี้ เดวิดไม่กล้า ‘ดื้อดึง’ เพราะบทลงโทษที่ว่านั้นก็คือ หากแกยังขืนกลับบ้านเกินเวลาอีก พรุ่งนี้แกจะอดซ้อมฟุตบอล!"

อืม...อีกเรื่องที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมดื้อดึงและมีสายเลือดปิศาจแดงอยู่เต็มหัวใจก็คือ เมื่อช่วงเป็นเด็กเคยถูกเชิญไปฝึกซ้อมเข้าค่ายกับ ‘สโมสรทอตแนม ฮอตสเปอร์’ แต่เจ้ากรรม พี่แกดันสวม ‘เสื้อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ ลงไปหวดฟุตบอลหรากลางสนาม ‘ทอตแนม’ แบบไม่แคร์ WORLD จนกระทั่งถูกผู้ฝึกสอนสั่งให้ไปเปลี่ยนเสื้อบัดเดี๋ยวนี้!

...

นอกเรื่องอีกแล้ว เราไปกันต่อดีกว่า...

ลูกชอบทีมไหนมากที่สุดก็เลือกไปเลย?

หลังจาก เด็กชายเดวิดเริ่ม ‘ฉายแสง’ ด้วยการทำคะแนนด้านทักษะได้เป็นอันดับที่ 1 จากผู้สมัคร 5,000 ทั่วประเทศ สำหรับการเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนฟุตบอลบ็อบบี้ ชาร์ลตัน รวมถึงยังสามารถคว้ารางวัล BOBBY CHARLTON TSB SOCCER SKILL ในปี 1986 ด้วยวัยเพียง 11 ขวบเท่านั้น

ซึ่งความเก่งฉกาจ ‘เกินเด็ก’ ที่ว่านั้น สามารถยืนยันได้โดย ‘เซอร์บ็อบบี้ ชาร์ลตัน’ สุภาพบุรุษนักเตะและตำนานผู้นำทีมเมืองผู้ดีคว้าแชมป์โลกในปี 1966 ที่เคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า....

"เพียงแวบเดียวที่ผมเห็นเด็กคนนี้ซ้อม (เบคแคม ตอนอายุ 11 ขวบ) ผมก็รู้ได้เลยทันทีว่า นี่คือ ‘คนที่ใช่’ เขามีทั้งพลัง ทักษะที่ยอดเยี่ยม และความกระหายที่จะเป็นที่หนึ่ง ผมเคยแอบดูตอนเขาซ้อมคนเดียวหลังเลิกเรียน พี่แกเอายางรถยนต์มาผูกกับคานประตู และซ้อมยิงฟรีคิกระยะ 50 หลา เพื่อยิงให้ผ่านช่องยางให้ได้ นี่คือ ความขยันและทุ่มเทของคนที่จะเป็นสุดยอดในกีฬาในอนาคต"

...

ด้วยเหตุนี้ พออายุได้แค่ 14 ปี บรรดาแมวมองจากทีมระดับ BIG ในกรุงลอนดอน อย่างสโมสรไก่เดือยทอง ‘ทอตแนม ฮอตสเปอร์’ และไอ้ปืนใหญ่ ‘อาร์เซนอล’ และแน่นอนสโมสรที่ทำให้เขาถึงกับน้ำตาไหลหลังถูกทาบทาม นั่นก็คือ ‘แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ ที่ต่างไล่ตาม ‘เต๊าะ’ เพื่อหวังจะเอาไปปั้นต่อ

ทำให้สามพ่อแม่ลูก ‘ตระกูลเบคแคม’ จึงมานั่งล้อมวงคุยกันอย่างจริงจัง ว่าจะตัดสินใจเรื่องอนาคตในการเล่นฟุตบอลของเจ้าลูกชาย ว่าจะเดินหน้าไปทางไหนดี นั่นแหละจึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า "ลูกชอบทีมไหนมากที่สุดก็เลือกไปเลย?"

ฟังดูเหมือน ‘เปิดกว้าง’ ใช่ไหม ‘ท่านผู้อ่าน’ แต่เดี๋ยวก่อน...คุณต้องอ่านในบรรทัดต่อไป

เพราะประโยคต่อจากนั้นต่างหาก คือ ทีเด็ดที่ทำให้รู้เลยว่า ผู้เป็นพ่อนั้นต้องการให้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนนี้ไปอยู่กับสโมสรใด?

หากลูกเลือก ‘สเปอร์ส’ หรือ ‘อาร์เซนอล’ ก็เดินทางง่ายดี (เพราะบ้านอยู่ในกรุงลอนดอนอยู่แล้ว)

แต่ถ้าหากลูกเลือก ‘แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ พวกเราก็จะตามไปดูลูกเตะทุกสุดสัปดาห์ (ซึ่งจะต้องขับรถไกลถึง 321 กิโลเมตรจากลอนดอนไปเมืองแมนเชสเตอร์) ไม่ต้องกังวลเราพร้อมสนับสนุนเต็มที่!

อืม...จริงๆ คุณพ่อก็บอก ‘พี่เบค’ เขาไปเลยก็ได้นะว่า ควรจะเลือก ‘แมนยูฯ’ ตั้งแต่แรก!

ฉะนั้น คำตอบเดียวที่เจ้าฟรีคิกบรรจงกาหัวเลือกในใบสมัคร มันย่อมเป็นสโมสรอื่นไปไม่ได้ นอกจากการถวายวิญญาณให้กับปิศาจถือสามง่าม ซึ่งพอลูกชายเลือกทีมที่ ‘ใช่’ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ก็พร้อมเช่นกัน ยอมเหนื่อยทนขับรถมาดูลูกชายเตะเกือบทุกนัด เป็นระยะเวลาถึง 8 ปี

...

"ตลอดระยะเวลา 8 ปี พ่อของผมพลาดการมาดูผมเตะฟุตบอลเพียง 1 หรือ 2 นัดเท่านั้น!" พี่เบคของสาวๆ ยุค 90 ยืนยันเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

นักเตะเยาวชนของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ "ฟุตบอล คือ เพื่อน"

เดี๋ยวก่อนใจเย็นๆ... เราไม่ได้ออกนอกเรื่องไป เป็น ‘กัปตันซึบาสะ’

หากแต่คำว่า "ฟุตบอล คือ เพื่อน" นี้ หลุดออกมาจากปากของ "พ่อหนุ่มหัวทองคะนองฟรีคิก" ที่บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการเป็นนักเตะเยาวชนของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

หลังฝันเป็นจริง ได้ของขวัญวันเกิดเป็นสัญญาเป็นนักเตะเยาวชนของสโมสรสรปิศาจแดง ตอนอายุ 14 ปี ช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ในขณะที่เพื่อนๆ คนอื่นๆ ไปเที่ยวเฮฮากัน ผมกลับต้องฝึกซ้อมหวดลูกหนังและลงเตะลีกเยาวชนจนแทบไม่ได้ออกไปไหนกับเพื่อนๆ จนบางทีเห็นเพื่อนมีแฟนกันแล้วก็รู้สึกอิจฉาอยู่บ้างนะ แต่ไม่เป็นไร ถึงแม้จะโดดเดี่ยวแต่ก็ไม่เดียวดาย เพราะผมมีฟุตบอลเป็นเพื่อน และบางครั้งถึงแม้จะมีเรื่องอะไรมากระทบจิตใจบ้าง เพื่อนของผมคนนี้ก็ยังสามารถกลายเป็นเครื่องระบายทุกข์ให้กับผมได้อีกด้วย

ในวันที่จะมีการเซ็นสัญญา แม่ของเบคแคมนำปากกาไปเป็นของกำนัลให้กับ ‘ป๋าเฟอร์กี้’ แต่เมื่อพ่อหนุ่มนำไปมอบให้กับบรมครูแห่งค่ายโอลด์แทรฟฟอร์ด เขากลับทำให้ครอบครัวเบคแคมประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการกล่าวว่า "ฉันจะลงนามเซ็นสัญญาเพื่อนำเธอเข้าสู่ทีมด้วยปากกาด้ามนี้"

นี่คือ การสร้างความประทับใจอย่างสุดซึ้งให้กับไอ้หนูวัย 14 ปี ที่ในเวลาต่อมาให้ความนับถือ "พ่อใหญ่แห่งยูไนเต็ด" ไม่ต่างจากบิดาคนที่ 2

ซึ่งความประทับใจไม่รู้ลืมนี้ได้รับการยืนยันจากปากของ NUMBER 7 แห่งอังกฤษ ที่ให้การกับสื่อถึงเหตุการณ์ในวันนั้น ในอีกหลายปีต่อมาว่า "มิสเตอร์เฟอร์กูสันรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับตัวผมทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่คนในครอบครัวว่ามีกี่คน มีพี่น้องกี่คน และแต่ละคนชื่ออะไรบ้าง?"

"เขาคือคนพิเศษ" ครั้งแรกที่ไอ้หนูคนนี้มาอยู่กับเรา เขาจะซ้อมอย่างหนักทั้งช่วงเช้าและกลางวัน ก่อนที่จะมาปรากฏตัวร่วมกับเด็กหนุ่มเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ ในช่วงเย็น และความขยันในแบบฉบับที่เรียกว่า "บ้าซ้อม" นี้ ทำให้ ‘เบคแคม’ อยู่ในระดับที่ต่างออกไปจากนักเตะวัยรุ่นคนอื่นๆ เสมอ เวลาที่เราทำการทดสอบความฟิตในช่วงก่อนเปิดฤดูกาล ซึ่งนี่แหละคือ...คุณสมบัติของผู้ชนะที่แท้จริง! (Sir Alex Ferguson)

มุ่งหน้าสู่การเป็นนักเตะอาชีพของ ‘แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ เต็มตัว

พออายุครบ 16 ปี พ่อและแม่เห็นว่า ‘เจ้าพ่อฟรีคิก’ เริ่มโตพอที่จะอยู่คนเดียวได้แล้ว ‘เดวิด’ จึงตัดสินใจย้ายจากกรุงลอนดอนไปพักที่เมืองแมนเชสเตอร์ เพื่อจะได้สะดวกต่อการฝึกซ้อมในระบบอาชีพ ซึ่งการใช้ชีวิตคนเดียวในช่วงวัยเกรียนแบบนี้ ‘เรา’ จึงมีเรื่องเล่าเด็ดๆ มาคั่นอารมณ์ ‘พวกคุณ’ ก่อนที่เราจะไปกันต่อ...

ในฐานะนักเตะทีมสำรองของปิศาจแดง ‘เดวิด เบคแคม’ เคยสร้างวีรเวรสุดแสบร่วมกับเพื่อน จนถึงกับถูกเชิญออกจากบ้านเช่าในเมืองแมนเชสเตอร์ถึง 2 ครั้ง 2 ครา ครั้งแรกถูกจับได้ว่าแอบไปขโมยกินอาหารในครัว ในแบบที่มีฮอตดอกเป็นหลักฐานคาปาก และครั้งที่ 2 คือ พ่อหนุ่มดันไปนินทาเจ้าของบ้านเช่าว่า ทำอาหารได้รสชาติห่วยแตกสิ้นดี!

เห็นหน้าหล่อๆ แบบนี้ ‘พี่เบค’ ตอนวัยรุ่นนี่ก็ถือว่าเกรียนใช้ได้เลยทีเดียว!

แม้ว่าจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเตะอาชีพของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่ ‘เบคแคม’ ก็ไม่ได้ต่างจากดาวรุ่งทั่วๆ ไป ที่ในช่วงแรกของการก้าวขึ้นทีมชุดใหญ่ คือ มักจะไม่ค่อยได้ลงไปสัมผัสเกมมากนัก เนื่องจากยังเป็นเพียงลูกนกที่ปีกยังไม่แข็งแรงพอ อีกทั้งในช่วงนั้นบรรดาปีกพระกาฬของแมนยูฯ ในทีมชุดใหญ่ ก็มีให้ ‘ป๋า’ เลือกจิ้มเยอะเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น ‘อังเดร แคนเชสสกี’ ‘ลี ชาร์ป’ ‘ไรอัน กิกส์’ ‘แดนนี่ วัลเลซ’ หรือแม้กระทั่งกองหน้าคู่ใจของ ‘ป๋า’ อย่าง ‘ไบรอัน แม็คแคลร์’ เอง หากจำเป็นก็ยังสามารถลงไปเล่นเป็นปีกได้

ด้วยเหตุนี้ ‘พี่เบค’ ในวัย 17 ปี ที่แม้จะได้รับโอกาสให้ลงเล่นนัดแรกกับทีมชุดใหญ่ ในนัดที่พบกับไบร์จตัน ในศึกลีกคัพ (ปัจจุบันคือ คาราบาวคัพ) ในฐานะตัวสำรอง เมื่อวันที่ 23 กันยายน 1992 และกว่าจะได้ ‘เดบิวต์’ ในศึกพรีเมียร์ลีกก็โน่นเลย วันที่ 2 เมษายน 1995 ในนัดที่ยูไนเต็ด เผชิญหน้ากับลีดส์ ยูไนเต็ด ซึ่งหลังจากนั้น หนึ่งในตำนานนักเตะของอังกฤษผู้นี้ก็แทบไม่เคยได้สัมผัสเกมกับทีมชุดใหญ่ของแมนยูฯ อีกเลย!

จาก ‘แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ สู่ ‘เปรสตัน นอร์ธเอนด์’ จาก ‘พรีเมียร์ลีก’ สู่ ‘ดิวิชั่น 3’

การใช้ชีวิตในฐานะนักเตะของ ‘แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ เริ่มไม่เหมือนอย่างที่เคยฝันไว้สักนิด ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในช่วงฤดูกาล 1994-1995 พออายุได้ 19 ปี จู่ๆ เขาก็แทบช็อก เมื่อมิสเตอร์เฟอร์กูสันมีมติส่งดาวรุ่งหน้าหล่ออย่างเขาไปให้ สโมสรเปรสตัน นอร์ธเอนด์ ที่ในเวลานั้นอยู่ในดิวิชั่น 3 ยืมตัว ซึ่งสำหรับเส้นทางของนักเตะอาชีพนั้น หากอยู่ในสโมสรใหญ่แล้วถูกส่งตัวไปให้กับสโมสรเล็กๆ ในลักษณะนี้แล้ว มีความเป็นไปได้สูงเหลือเกินว่า คนคนนั้น คือ ส่วนเกินของทีม!

แต่ความกังวลนั้นค่อยๆ หายไป เมื่อบรมครูผู้นิยมชอบปลุกปั้นดาวรุ่ง เรียก 'เบคแคม' มาพบพร้อมกับยืนยันต่อหน้าว่า...

"ไอ้ลูกชาย แกยังมีอนาคต ที่ป๋าส่งแกไปที่นั่น เพราะหากให้แกใส่สนับก้นต่อไป พัฒนาการลูกหนังของแกจะย่ำอยู่กับที่ ฉะนั้นแล้ว แกจงออกจากโซนปลอดภัย แล้วไปใช้ชีวิตซะ! เพราะฉันเชื่อว่า เมื่อแกกลับมา แกจะเป็นกำลังสำคัญให้กับสโมสรของเราแน่นอน"

หน้าราวกับไอดอล แต่บทจะเปื้อนฝุ่นคลุกโคลน ‘พี่เบค’ ก็ยินดี

ทุกอย่างที่นี่มันเทียบกับที่แมนยูฯ ไม่ได้เลยสักอย่างเดียว! ชุดแข่ง สตั๊ด สนามฝึกซ้อม ทุกอย่างมันช่างดูเลวร้ายไปเสียหมด ด้วยเหตุนี้ กุนซือเปรสตันจึงยื่นข้อเสนอให้ผมกลับไปฝึกซ้อมที่แมนยูฯ แล้วค่อยกลับมาเตะในวันที่มีโปรแกรมฟาดแข้งเท่านั้นก็ได้ แต่ผมปฏิเสธข้อเสนอนั้นไป เพราะอยากจะขอร่วมหัวจมท้ายกับบรรดาเพื่อนร่วมทีม และไม่อยากให้ใครคิดว่าผมเป็นพวกสำรวยสวยกราก ดีแต่เชิดหน้าทำหยิ่งยโส เพราะแค่มาจากสโมสรที่ใหญ่กว่า

"เขาฝึก และฝึก ฝึกให้หนักกว่าเดิม เพื่อพัฒนาและพิสูจน์ตัวเอง โดยไม่มีคราบไคลของนักเตะจากพรีเมียร์ลีกเลยสักนิดเดียว" แกร์รี่ ปีเตอร์ กุนซือทีมดิวิชั่น 3 เป็นผู้ยืนยันความจริงในเรื่องนี้

ในขณะที่ ‘เดวิด มอยส์’ ผู้ถูกเลือกจากป๋าเฟอร์กี้ให้เป็น "The Chosen One" (แต่ปัจจุบันกลายเป็นกุนซือทีมเวสต์แฮมไปแล้ว) ให้สัมภาษณ์กับสื่อในปี 2019 ถึงภาพแรกของ ‘เดวิด เบคแคม’ ในวันที่ไอ้หนุ่มผอมกะหร่องวัยแค่ 19 ปี มาร่วมฝึกซ้อมกับทีมเปรสตัน นอร์ธเอนด์ ว่า ตัวเขาเองในฐานะนักเตะระดับซีเนียร์ของทีม ไม่ได้มีความคาดหวังกับเจ้าหนูน้อยรายนี้เลยสักนิดเดียว ตอนนั้นคิดแค่ว่า ไอ้หนุ่มคนนี้คงมาแล้วก็ไปเหมือนกับอีกหลายๆ คนก่อนหน้านี้ แต่แล้วเมื่อได้เห็นตอนลงเล่น มันไม่ได้เป็นไปแบบที่คิดสักนิด เพราะหมอนั่น มันวิ่งและวิ่งไปทั่วสนาม ซึ่งสุดจะเหลือเชื่อมาก เบคแคม ยอดเยี่ยมมากจริงๆ!

"ผมจำได้ว่า เขามักจะชอบฝึกฝน ยิงฟรีคิกและเตะมุมอยู่เสมอๆ และหนึ่งในประตูที่ เบคแคม ทำให้กับ เปรสตัน นอร์ธเอนด์ ได้ก็คือ ลูกเตะมุม ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ก แต่ทั้งหมดนั้นมันเกิดขึ้นจากการฝึกซ้อมเตะฟรีคิกอย่างเอาเป็นเอาตายของไอ้หนุ่มคนนี้"

แต่แล้ว...หลังลงคลุกโคลนอยู่กับ เปรสตัน นอร์ธเอนด์ ได้เพียง 5 นัด เมื่อแมนยูฯ ประสบปัญหานักเตะกำลังบาดเจ็บ ป๋าเฟอร์กี้ ก็จัดการโทรสายตรง หิ้วตัว "ไอ้หมอนั่น" กลับมาช่วยทีมทันที

แต่อนิจจา...ในฤดูกาลนั้น แม้ เดวิด เบคแคม จะได้กลับคืนสู่ทีมชุดใหญ่อีกครั้ง แต่ แมนยูฯ ก็พลาดท่าโดน แบล็กเบิร์น โรเวอร์ ภายใต้การนำของ คิงเคนนี เคนนี ดัลกลิช และศูนย์หน้าตีนระเบิดอย่าง ฮอตชอต อลัน เชียร์เรอร์ ปาดหน้าคว้าแชมป์ไปได้อย่างชนิดงามไส้

นั่นเป็นเพราะ...คู่อริสำคัญอย่าง ลิเวอร์พูล อุตส่าห์เอาชนะทีมกุหลาบไฟในนัดชี้ชะตานัดสุดท้ายของฤดูกาลให้แล้ว แต่ทีมแมนยูฯ ดันไปพลาดเสมอ เวสต์แฮม แบบล็อกถล่ม จนสะดุดขาตัวเองชวดแชมป์ในฤดูกาลนั้นไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด...

ท่ามกลาง...ความยินดีปรีดาของบรรดา THE KOP ทั้งมวล OOPS!...

และนี่คือ ปฐมบทแห่งความ "ลุ่มๆ ดอนๆ" ในช่วงแรกของชีวิตการค้าแข้งในรั้วสถาบันโอลด์แทรฟฟอร์ด ของหนุ่มน้อยเบคแคม ในตอนหน้า เราจะพาทุกท่านไปพบกับช่วงเวลาแห่ง "ความเจิดจรัส" ในเครื่องแบบ "ยูไนเต็ด" ของชายผู้นี้กัน

END CREDIT

เด็กผี CLASS OF 92 อันลือลั่น!

CLASS OF 92 หรือเหล่าเด็กๆ (ลูกทีม) ของเฟอร์กี้ ที่เติบโตขึ้นมาจากระบบศูนย์ฝึกเยาวชนของ สโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จนสามารถคว้าแชมป์ FA YOUTH CUP ได้ในปี 1992 จากนั้นได้ขึ้นติดทีมชุดใหญ่ และเป็นกำลังหลักในการพาทีมของท่านเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กวาดแชมป์ทั้งภายในและภายนอกประเทศอังกฤษมาได้มากมาย ในยุค "FERGIE ERA"

โดย STAR ชื่อดังของ CLASS OF 92 นอกจาก เบคแคม แล้ว ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน ก็เช่น...

ไรอัน กิกส์ ปีกพ่อมด ผู้ที่ท่านเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน นิยามถึงความเป็นอัจฉริยะของเขาว่า "เลี้ยงบอลราวกับเท้าไม่ได้สัมผัสพื้น"

• พอล สโคลส์ อดีตเจ้าเปี๊ยกที่ในเวลาต่อมา คือ 1 ใน 4 นักเตะระดับโลกของเฟอร์กี้

• นิคกี้ บัตต์ กองกลางฮาร์ดแมนผู้ทุ่มเททุกหยาดเหงื่อเพื่อยูไนเต็ด

• แกรี่ เนวิลล์ จอมโวยวาย ตรงเป็นไม้บรรทัด แต่วิ่งขึ้นและลงได้ไม่มีหมด

ส่วนจะเกิดอะไรขึ้นกับเพื่อนร่วมชั้น ใน CLASS OF 92 คนอื่นๆ หลังการคว้าแชมป์ FA YOUTH CUP นั้น เชิญทัศนาได้ในบรรทัดต่อจากนี้ไป

ผู้รักษาประตู

• Kevin Pilkington อยู่กับ ปิศาจแดงได้ 6 ปี ได้ลงเล่นในทีมชุดใหญ่เพียง 8 นัด

กองหลัง

• John O’Kane ออกจากแมนยูฯ ในปี 1998 หลังได้ลงเล่นในพรีเมียร์ลีกเพียง 2 นัด

• George Switzer ออกจากรั้วสถาบันโอลด์แทรฟฟอร์ดในปี 1993 หลังป๋ามองว่า ตัวเล็กเกินไปที่จะเล่นแบ็กซ้าย

• Chris Casper จากไปในปี 1998 หลังกลายเป็นส่วนเกิน และต้องยุติการค้าแข้งด้วยวัยเพียง 24 ปี หลังได้รับบาดเจ็บหนัก

• Lenny Taylor ตัวสำรอง ในตำแหน่งแบ็กขวาของ แกรี่ เนวิลล์ ใน CLASS OF 92 อำลาทีมไปหลังไม่มีโอกาสขึ้นทีมชุดใหญ่

กองกลาง

• Simon Davies ออกจากทีมในปี 1997 หลังได้ลงเล่นในพรีเมียร์ลีกเพียง 11 นัด

• Colin McKee จากไปในปี 1994 หลังได้ลงเล่นในพรีเมียร์ลีกเพียงนัดเดียว

• Robbie Savage แย่งตำแหน่งจากบรรดา บิ๊กๆ ไม่ไหว อำลาทีมไปในปี 1994

• Ben Thornley ได้เล่นพรีเมียร์ลีกแค่ 9 นัด ก่อนอำลาไปในปี 1998

• Keith Gillespie ถูกมัดรวมกับเงินเพื่อเป็นข้อเสนอรวม 8 ล้านปอนด์ ในการซื้อ แอนดี้ โคล จากนิวคาสเซิล ในปี 1995

• Raphael Burke อำลายูไนเต็ดในปี 1993 แล้วหันไปเอาดีด้านการเป็นโค้ชฟุตบอลแทน

• Simon Davies หลังได้ลงเล่นทีมชุดใหญ่รวม 20 นัด ในช่วงปี 1992-1997 ก็ต้องอำลาทีมไป

กองหน้า

• Andy Noone ไม่เคยแม้จะได้นับโอกาสลงเล่นในทีมชุดใหญ่ แม้แต่นัดเดียว ก่อนอำลาทีมไปแบบเงียบๆ

• Colin McKee ได้ลงเล่นชุดใหญ่แค่นัดเดียว ก่อนอำลาทีมไปแบบเงียบๆ เช่นกัน.

ข่าวอื่นๆ: