เจาะลึกประวัติและวิวัฒนาการ เครื่องรางของขลัง “ตะกรุด” ศรัทธาจากความเชื่อตั้งแต่โบราณกาล แม้เวลาผ่านมาพันปี ตะกรุดยังเป็นที่นิยม ไม่มีวันจางหายจากสังคมไทย และราคาสูงหลักแสนถึงล้าน

“ตะกรุด” เครื่องรางชนิดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานจากความเชื่อของคนไทยมาแต่โบราณ
บางคนเชื่อว่า ช่วยปกป้องคุ้มครองให้แคล้วคลาดภัยอันตรายต่างๆ
บางคนเชื่อว่า ช่วยให้อยู่ยงคงกระพันชาตรี
บางคนเชื่อว่า ช่วยให้มีโชคลาภ เมตตามหานิยม

พุทธคุณความเชื่อเหล่านี้ แม้กาลเวลาผ่านกว่าพันปี “ตะกรุด” ไฉนไม่เคยเลือนหายจากวิถีชีวิตคนไทย และยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ต้นกำเนิด “ตะกรุด” ในไทย มาจากประเทศเพื่อนบ้าน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เผยว่า ไม่มีหลักฐานแน่นอน แต่จากภาพสลักกองทหารเดินขบวนที่ปราสาทนครวัดใส่เครื่องรางยาวๆ ลักษณะคล้ายตะกรุดห้อยที่คอ จึงสันนิษฐานและเชื่อว่าน่าจะกำเนิดจากกัมพูชาโบราณ หรือเขมรโบราณ เมื่อพันปีก่อน สำหรับต้นกำเนิดในไทย ตามพงศาวดาร ผศ.ดร.กังวล เล่าว่า

...

“ช่วงสมัยเจ้าพระยา พ.ศ.1974 มีการยกทัพไปตีเมืองนครธมแตก และกวาดต้อนผู้คนเข้ามา ผู้มีความรู้ทางเขมรโบราณได้ถูกโยกย้ายมาอยู่อยุธยา ดังนั้นจะเห็นว่าวรรณกรรม วรรณคดี มีความเป็นเขมรอย่างเข้มข้นในสมัยอยุธยาต้นๆ”

เรื่องเล่าวัดปลุกเสก "ตะกรุด" ลูกศิษย์ลองของจนเจอดี

กว่าพันปีที่ “ตะกรุด” เป็นเครื่องรางของขลังคู่คนไทยมาแต่โบราณ พระครูโสภณภัทรเวทย์ (หลวงพ่ออ๊อด ปธานิโก) เจ้าอาวาสวัดสายไหม จ.ปทุมธานี พระอาจารย์ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เผยเหตุผล เป็นเพราะวิถีชาวพุทธอยู่คู่กับเครื่องรางของขลังตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงลูกหลาน สืบทอดกันมาเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น 

ตะกรุดที่พระครูโสภณภัทรเวทย์ปลุกเสกคือ ตะกรุดลูกปืน เป็นธาตุทองคำ นำมาเขียนอักขระ 3 ตัว การฝังตะกรุดให้ลูกศิษย์ที่ศรัทธาต้องใช้หลักโยนิโสมนสิการ ใคร่ครวญ ตริตรองให้ดีว่าจะมีผลดี ผลเสียกับลูกศิษย์หรือไม่ เจตนาฝังตะกรุดเพื่อคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยอันตรายต่างๆ ผ่อนหนักเป็นเบา ไม่ส่งเสริมผู้ลองของ

“ลูกศิษย์ที่รับตะกรุดเคยเกิดอุบัติเหตุทางรถ ลูกน้องเสียชีวิตทั้ง 4 คน แต่ผู้รับเหมาล้างแอร์ที่ฝังตะกรุดตั้งแต่คอ 9 ดอก แขนอีกข้างละ 9 ดอก ไม่มีบาดเจ็บร่างกาย คลานออกมาจากรถได้ ประสบการณ์เสียชีวิตก็มี อมแล้วยิงทะลุเสียชีวิต ไม่แนะนำให้ไปลอง ให้ไปคุ้มครอง เวลามีเหตุเภทภัยต่างๆ จะได้คุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย จากหนักให้เป็นเบาได้” หลวงพ่ออ๊อด ปธานิโก กล่าวถึงพุทธคุณตะกรุดที่แท้จริง

2 เซียนพระ เปิดกรุ "ตะกรุด" หายากในอดีต อายุ 150 ปี 

ตะกรุดสร้างโดยเกจิอาจารย์ จึงเปรียบเสมือนวัตถุมงคล ทำให้แม้กาลเวลาหมุนผ่านมากว่าพันปีก็ยังเป็นที่นิยมไม่เสื่อมคลาย ผู้คนมากมายต่างแสวงหาครอบครอง แม้มีมูลค่าสูงถึงหลักแสนถึงล้าน โดยเฉพาะตะกรุดในอดีตลักษณะหลากหลาย ทำจากวัสดุพื้นถิ่น อาทิ ผ้าดิบ ตะกั่วโบราณ เงิน ทอง ทองเหลือง ครั่ง กระดูกห่าน ฯลฯ

ตะกรุดกระดูกห่าน หลวงพ่อหรุ่น วัดเก้ายอด อายุประมาณ 100 ปี
ตะกรุดกระดูกห่าน หลวงพ่อหรุ่น วัดเก้ายอด อายุประมาณ 100 ปี

...

รูปแบบตะกรุดเกจิอาจารย์รุ่นเก่าๆ อาทิ ตะกรุดหลวงพ่อทบ ตะกรุดหลวงพ่อเดิม ตะกรุดหลวงปู่ศุข บางสำนักฯ กลายมาเป็น "ตะกรุดราคาแพง" ในปัจจุบันได้นั้น นายเสมอ งิ้วงาม หรือ ป๋อง สุพรรณ ประธานมูลนิธิพระเครื่องบูชาประเทศไทย ผู้บริหารสถาบันรับรองและตรวจสอบวัตถุมงคลประเทศไทย ที่สะสมตะกรุดเล่าถึงตะกรุดเกจิอาจารย์ดังๆ ดอกหนึ่งราคาเป็นแสน แต่ขึ้นอยู่กับความงดงามและสมบูรณ์ด้วย

รูปแบบตะกรุดเกจิอาจารย์รุ่นเก่าจะพิถีพิถัน บางสำนักพอกผง ลงลัก ถักเชือก เพื่อเก็บรักษาตะกรุด เช่นตะกรุดกระดูกห่านหลวงพ่อหรุ่น อายุประมาณ 100 ปี วัดเก้ายอด หากไม่ถักเชือก กระดูกเสื่อม สึกหรอ แตกได้

ตะกรุดโสฬส หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ราคาหลายล้าน ลงยันต์มงคลโสฬสช่วยป้องกันภัยอันตรายได้ทั้ง 16 ชั้นฟ้า
ตะกรุดโสฬส หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ราคาหลายล้าน ลงยันต์มงคลโสฬสช่วยป้องกันภัยอันตรายได้ทั้ง 16 ชั้นฟ้า

...

นอกจากนี้ยังมีตะกรุดอายุมากถึง 150 ปี เป็นของสะสมที่ นายสุรเดช ลิ้มสกุล หรือ หมึก ท่าพระจันทร์ เซียนพระชื่อดังของเมืองไทยสะสมมานานหลายปี เป็นตะกรุดโสฬส หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ราคาหลายล้าน ทำด้วยทองแดง ลงยันต์มงคลโสฬสที่ช่วยป้องกันภัยอันตรายได้ทั้ง 16 ชั้นฟ้า

“ความสำคัญทำให้ตะกรุดแพง มีราคาสูงในวงการพระนิยม หนึ่งอาจารย์ปลุกเสกคนนั้นต้องเก่ง สองมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของหลวงพ่อนั้นๆ เช่น ตะกรุดไม้ไผ่ของ หลวงปู่จันทร์ วัดนางหนู จ.ลพบุรี อายุประมาณ 120 ปี นำไม้ไผ่ข้อตันใส่กระดาษสาบรรจุไว้ข้างใน อุดด้วยไม้ ปิดด้วยลัก” หมึก ท่าพระจันทร์ เผยเหตุตะกรุดยิ่งเก่ายิ่งแพง

ส่องแฟชั่นตะกรุดยุค 5G โมเดิร์นร่วมสมัย เชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบัน

จะเห็นว่าการทำ “ตะกรุด” คือ ศาสตร์และทักษะแขนงหนึ่งจากฝีมือเกจิอาจารย์ชื่อดังในอดีต ล้วนแล้วแต่มีความหมาย และแฝง "นัย" ภูมิปัญญามานานนับพันปี มาถึงยุคปัจจุบัน แม้เทคโนโลยีก้าวหน้า แต่ความศรัทธาและความเชื่อของตะกรุดยังคงมีอยู่ แต่ได้พัฒนาแปรเปลี่ยนให้ดูทันสมัยตามแฟชั่นนิยม 

...

ตะกรุดตามแฟชั่นนิยมในยุคปัจจุบันมีลักษณะอย่างไร จันทรา จันทร์พิทักษ์ชัย หนึ่งในเจ้าของแบรนด์ Leila Amulets อธิบายว่า การออกแบบได้ปรับรูปแบบเป็นกลางๆ ที่ใส่ได้ทั้งชายและหญิง มี 3 สี คือ เงิน ทอง ดำ ด้านในยังคงสืบสานความเป็นวัฒนธรรมทั้งเนื้อหา ข้อความ ความหมาย

ด้านความเชื่อ ความศรัทธาของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับตะกรุด เจนจิรา ตรีวิชาพรรณ เจ้าของแบรนด์ Leila Amulets เปิดเผยว่า บางคนเชื่อว่านอกจากช่วยปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายต่างๆ ยังช่วยเรื่องการเงิน การงาน อยู่ดีมีโชค และเมตตามหานิยม จากประสบการณ์ลูกค้าซึ่งเรียนอยู่ประมาณ ม.ปลาย นอกจากเชื่อว่าตะกรุดยุคใหม่ช่วยเรื่องเสน่ห์ การเงินดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เข้าวัดทำบุญมากขึ้น แบ่งปันมากขึ้น เพราะเชื่อว่าเมื่อได้ก็ต้องให้ด้วย

จะเห็นว่าประวัติและวิวัฒนาการของ "ตะกรุด" ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พุทธคุณแท้จริงคือช่วยยึดเหนี่ยวทางใจ หาใช่ปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต เพราะสุดท้ายแล้วผู้ครอบครองตะกรุดจะประสบความสำเร็จได้นั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตบนพื้นฐานความดี ซึ่งสอดคล้องกับคำย่อภาษาสันสกฤต “นะโมพุทธายะ” ที่นิยมเขียนบนตะกรุดในอดีตที่ ผศ.ดร.กังวล ให้ข้อมูลไว้

“นะโม” แปลว่าความนอบน้อม “พุทธายะ” แปลว่าแด่พระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น “นะโมพุทธายะ” ความหมายคือ ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีคำว่า “อิสวาสุ” เป็นบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เป็นนัยของเกจิอาจารย์ที่ปลุกเสกตะกรุด สอนให้เป็นคนดี ทำความดีละเว้นความชั่วก็จะพ้นจากอันตรายต่างๆ.

ข่าวน่าสนใจ