LIVE START!! ดราม่าสตรีมเมอร์ 2 ชั่วโมง ห้ามจัดแข่งเกม FPS ควบคุมประพฤติกระหายเรตติ้ง รายได้ หยาบโลน ปลุกวงการ ‘สตรีมเกม’ ร้อนระอุ เจาะมุมลึก... ‘โยนหินถามทาง’ ที่ไม่มี ‘ตรงกลาง’

ความเป็นมาต้นตอ ‘ดราม่าสตรีมเมอร์’ ที่ร้อนระอุทั่วทั้งวงการ ‘เกม’ ทั้งอีสปอร์ต (e-Sport) และสตรีมเกม เริ่มมาจากควันคละคลุ้งที่ว่ากันว่าอาจเป็น ‘ร่างกฎหมายฉบับใหม่’ ที่จะเข้ามา ‘ควบคุม’ เหล่าเกมเมอร์และสตรีมเมอร์ทั้งหลายให้อยู่ในกรอบที่ขีดไว้ให้ และกรอบที่กลายเป็นไฟร้อนลามวงการก็คือ 1. ห้ามสตรีมเกมเกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ที่เกี่ยวโยงกับปัญหาสุขภาพ 2. ห้ามจัดการแข่งขันเกม FPS และ 3. ต้องขออนุญาตก่อนการแข่งขันเกม

เสียงโต้แย้งเซ็งแซ่ ลิดรอนสิทธิ์กันเกินไป บางคนสร้างรายได้ หากจำกัดเวลาแค่ 2 ชั่วโมง กระทบกันทั้งแผงแน่ๆ แต่มุมมองน่าสนใจคงหนีไม่พ้นการมาควบคู่กับ พ.ร.บ.อีเซอร์วิส (e-Service) ที่พ่วงมาด้วย ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ ที่หวังเก็บจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ!!

ซึ่งก่อนที่ไฟจะลามจนคนตามกันไม่ทัน ‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ ก็ต้องขออธิบายให้กับคนที่เพิ่งผ่านมาเข้าใจกันคร่าวๆ ก่อนว่า ‘สตรีมเมอร์’ และ ‘เกม FPS’ ที่พูดๆ ถึงกันนั้นคืออะไร?

เริ่มที่ ‘สตรีมเมอร์’ (สตรีมเกม) คือ ‘เกมเมอร์’ หรือ ‘คนที่เล่นเกม’ แต่การเล่นจะเป็นแบบถ่ายทอดสดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่เห็นกันเยอะๆ ก็บนยูทูบ (YouTube) บางคนทำเป็นอาชีพสร้างรายได้กันเป็นกอบเป็นกำ

ส่วน ‘เกม FPS’ เป็นตัวย่อมาจาก First-Person Shooter คือ เกมมุมมองบุคคลที่หนึ่ง เน้นการยิงด้วยอาวุธปิน ซึ่งคนนอกวงการเกมมองว่าเป็นประเภทเกมที่มีความรุนแรง

...

เมื่อพอรู้คร่าวๆ แล้ว ก็มาถึงคราวเจาะมุมลึก ‘สตรีมเมอร์’ ทำไม 2 ชั่วโมงถึงไม่พอ?

"สตรีมเกม 2 ชั่วโมง ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ‘เขาเอาอะไรมาวัด?’ ถึงบอกว่าต้องสตรีมแค่ 2 ชั่วโมง"

แม้ ‘อมร วิวัฒน์สุนทร’ หรือ ‘เซียนโอ๊ตโตะ’ หนึ่งในเกมเมอร์ที่คร่ำหวอดในวงการมายาวนาน จะสงสัยในประเด็น ‘เวลา’ แต่ก็มองว่า "ความเป็นจริงแล้ว ‘กฎหมาย’ ที่ว่านั้น อาจเป็นไปไม่ได้เลยก็ได้"

‘เซียนโอ๊ตโตะ’ อธิบายถึงเหตุผลในมุมมองตัวเองว่า กฎหมายเพิ่งเริ่มร่าง และยังใช้คำว่า ‘เยาวชน’ แต่ถ้าอายุเกิน 18 ปีแล้ว การมาห้าม ก็ถือเป็นการ ‘ลิดรอนสิทธิ์’ กันนิดนึง และในส่วนการกำหนดให้สตรีมเกม 2 ชั่วโมง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเกมประเภทรุนแรงหรือไม่รุนแรง แค่การเปิดห้องรอ บางทีก็เกินครึ่งชั่วโมงแล้ว กว่าจะได้เล่นเกมก็ 2 ชั่วโมงพอดี แทบไม่ได้เล่นอะไรเลย แต่ที่บอกว่า ‘สตรีม’ นี่มีการจำกัดคอนเทนต์ไหม นับเฉพาะ ‘เกมเมอร์’ หรือเปล่า รูปแบบประมาณไหน ยังไม่ค่อยมีความชัดเจน จึงอยากรอให้บางอย่างชัดเจนก่อนแล้วค่อยตัดสินกัน

สตรีมเกม 2 ชั่วโมง ด่านสุดหินของ ‘เกมเมอร์’

"ยาก ยากเลย แคสเกมลำบากมาก และแน่นอน สุดท้ายทุกคนจะกลับมาที่เรื่องของการทำ ‘คลิป’ อย่างที่รู้กันว่า การเสพออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมหลังจากการทำคลิปหรือยูทูบเบอร์ ก็จะเป็นสายของ ‘สตรีมเมอร์’ ที่ง่ายและรวดเร็วกว่า"

คำว่า ‘ง่าย’ ในที่นี้ ในความเห็น ‘เซียนโอ๊ตโตะ’ ก็ไม่เชิงจะว่าง่ายดายมากขนาดนั้นซะทีเดียว แต่เป็นการทำที่รวดเร็วกว่า เพราะการทำ ‘คลิป’ ต้องมีการตัดต่อ แต่การ ‘สตรีมเมอร์’ จบในคราวเดียว สะดวกกับหลายๆ คนที่อาจไม่สะดวกทำคลิป แต่หากต้องจำกัดเวลาจริงๆ การทำสตรีมเกมต้องเตรียมพร้อมให้ครบถ้วน 2 ชั่วโมง ต้องใช้ให้คุ้ม

"สงสารคนเล่นเกมแนวเนื้อเรื่องมากกว่า 2 ชั่วโมง บางทีไปไหนไม่ได้เลย คุยกันยังไม่ทันจบ ต้องไปต่อกันวันพรุ่งนี้"

โยนหินถามทาง ที่ยังไม่มี ‘ตรงกลาง’

ถามว่า ดราม่าสตรีมเมอร์มีนัย ‘โยนหินถามทาง’ หรือไม่? ‘เซียนโอ๊ตโตะ’ เองก็ยอมรับกลายๆ ผ่านมุมมองตัวเองว่า บางทีผู้ใหญ่ก็อยากทดสอบหรือทดลองบางอย่าง อยากรู้ว่า ‘ข้อบังคับเหล่านี้สามารถใช้งานได้หรือไม่?’ ลองโยนหินถามทางดู แต่บังเอิญเรื่องนี้เซนซิทีฟ เพราะความเข้าใจในวงการเกมของเรากับผู้ใหญ่ยังไม่ชนกัน ยังไม่มีตรงกลาง

...

แค่ไหนที่เรียกว่าตรงกลาง?

"มองว่าต้องเกิดจากคนหมู่มากคุยกัน ปรับความเข้าใจกันก่อน เพื่อหา ‘ตรงกลาง’ อีกทีที่เท่ากันก่อน แต่ถ้าวันนี้ต่างคนต่างพูด ตีกัน ยื่นข้อเสนอไปมา ตรงกลางคงอีกยาว"

คุมประพฤติ ‘สตรีมเมอร์’ หยาบ กระหายเรตติ้ง

โลกหมุนเร็ว การเข้าถึงมากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ผ่านสายตา ‘เซียนโอ๊ตโตะ’

"เยาวชนเข้าถึงสตรีมได้มากเกินไป เข้าถึงได้ทุกแบบ มองว่าควรหาข้อจำกัดที่สามารถกั้นพวกเขาได้ เพื่อที่จะได้เข้าตามความเหมาะสมของอายุ เพราะตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นน้องๆ เด็กๆ ก็จะพุ่งตรงเข้าไปที่สตรีมเมอร์เอง และต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า สตรีมเมอร์เองก็มีหลากหลายแนว โดยเฉพาะที่ได้รับความนิยม คือ แนวที่ค่อนข้างเอ็นเตอร์เทน และปฏิเสธไม่ได้อีกเหมือนกันว่า ส่วนใหญ่ค่อนข้างใช้คำที่หวือหวา หยาบคายบ้าง หยาบโลนบ้าง"

‘เซียนโอ๊ตโตะ’ คิดว่านี่เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทุกคนตระหนักกันดี เพียงแต่ยังหามาตรการตรงนี้ไม่ได้ แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีมากที่ผู้ใหญ่เริ่มตระหนัก ก็ถือเป็นอีกมุมหนึ่งที่ต้องมอง อย่ามองเพียงแค่เพื่อความสนุกอย่างเดียว หรือคิดว่าจะเป็นการปิดกั้นความสุข แต่ต้องคิดถึงภาพกว้างด้วย

ด้วยการเติบโตขึ้น ทัศนคติที่มองวงการเกมก็เปิดกว้างขึ้น ‘เซียนโอ๊ตโตะ’ ยอมรับว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่ และเป็นห่วงเด็กๆ รวมถึงเยาวชนที่เข้าถึงสตรีมเกมได้ง่ายและหลากหลาย

"ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความคิด แนวคิด เปลี่ยนไปมากขึ้น ยอมให้คนเข้ามาวางกรอบ แต่อย่างน้อยๆ กรอบเหล่านั้นไม่ได้กดความสร้างสรรค์"

...

จำกัดเรตติ้ง จำกัดสิทธิ์

"การเข้าไปควบคุมก็เหมือนการลิดดรอนสิทธิ์ แต่คร้านจะบอกว่าขอความร่วมมือ ก็ใช่ว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือ"

‘เซียนโอ๊ตโตะ’ ยกตัวอย่างกรณียูทูบ (YouTube) ที่มีการกำหนดเรตคอนเทนต์ ซึ่งหากนำมาทำในบ้านเราก็คงลำบาก เพราะแพลตฟอร์มเป็นของเมืองนอก แต่หากจะเป็นตามที่มีการแชร์ผ่านโซเชียลว่าจะเป็นแพลตฟอร์มรัฐบาลมาคุม ก็จะมีปฏิกิริยาตอบกลับทันที สุดท้ายก็ต้องมานั่งคุยกันใหม่ว่า สรุปแล้ว "อะไรคือตรงกลางระหว่างคุณกับผม?"

"ควบคุมไม่ได้หรอก ยากมาก แต่เขาคงไม่ได้อยากจะควบคุมหรอก อาจจะโยนหินถามทางเพื่อที่จะลองจำกัดบางอย่างมากกว่า เรตการเข้าถึง? อาจจะไม่ได้ละเอียดอ่อนอะไรขนาดนั้น แต่ว่าการจำกัดเนื้อหาหรือจำกัดความมากเกินไป ผมว่าพูดยากมาก พูดยากจริงๆ เพราะจริงๆ แล้วคนที่ทำสตรีมเมอร์อยู่ก็ไม่ใช่เยาวชน"

‘เซียนโอ๊ตโตะ’ เปิดอีกมุมที่น่าสนใจว่า หากสื่อสารกับคนจำนวนมาก การมีกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานบางอย่างช่วยได้ อย่างน้อยก็กรอบให้ได้เห็นว่า ‘อันไหนควร ไม่ควร’ แต่ตอนนี้ ‘ไม่มี’ คือ ‘มี’ แต่เป็นลักษณะที่ไม่ชัดเจนหรือเจาะจงลงไปกับการสตรีมเมอร์ มีแต่การขอความร่วมมือ และก็เตือนบนแพลตฟอร์ม หากมีการใช้คำหยาบคายหรือความรุนแรงก็จะแบนหรือส่งใบเตือน แต่แพลตฟอร์มส่วนใหญ่อยู่บนบรรทัดฐานของความเป็นสากลหรือต่างประเทศเป็นคนทำ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น บรรทัดของพวกเขากับเราบางทีก็อาจจะไม่เหมาะสมกับสังคมของเราก็ได้

วงการเกมบ้านเรา ดำเนินมาจนถึง ‘อีสปอร์ต’ และ ‘สตรีมเมอร์’ แต่ภาพจำกลับหนีไม่พ้นวังวันของ ‘เด็กติดเกม’ ที่ถูกนำคำว่า ‘สุขภาพ’ มาตั้งกรอบ

...

ประเด็นที่ว่านี้ เพียงแค่ได้ยิน ‘เซียนโอ๊ตโตะ’ ถึงกับภาพดับวูบ เพราะจาก ‘ม้าขาว’ ที่เป็นดั่งแสงสว่าง ในอีกฟากมุมมองกลับเป็น ‘อัศวินแห่งความตาย’

‘อีสปอร์ต’ ถูก ‘สตรีมเมอร์’ ชิงพื้นที่

“อี-สปอร์ต คือ ‘ม้าขาว’ ของผมเลยนะ ทำให้วงการเกมที่ดำมืด ไม่มีแสงสว่างเลย แต่มี ‘ม้าขาว’ หรือ ‘อีสปอร์ต’ คำว่า ‘อีสปอร์ต’ ทำให้เหมือน ‘อัศวินม้าขาว’ พุ่งทะยาน เอ้า! ตอนนี้โดนอีกแล้วเหรอ ตอนนี้ ‘ม้าขาว’ กำลังเป็น ‘อัศวินแห่งความตาย’ อีกแล้วเหรอเนี่ย ผมไม่เข้าใจเหมือนกัน”

แม้จะบอกแบบนั้น แต่ ‘เซียนโอ๊ตโตะ’ ก็พยายามทำความเข้าใจถึงในมุมมองผู้ใหญ่ที่เป็นห่วงเด็ก

"เอาจริงๆ วงการอีสปอร์ตเหมือนซาลง แต่บังเอิญว่าวงการสตรีมเมอร์ที่แยกเป็นบุคคลกลับขึ้นมา แล้วยิ่งมาเป็นสถานการณ์โควิด ณ ปัจจุบัน ชัดไปอีก แต่ส่วนอีสปอร์ตนี่พูดไม่ได้จริงๆ ยังไม่เห็นคำว่า ‘ทำลายสุขภาพ’ อยู่ที่ใคร? อยู่ที่ ‘อีสปอร์ต’ จริงๆ ใช่ไหม? อยู่ที่ ‘สังกัด’ จริงๆ ใช่ไหม? แต่เท่าที่รู้จักคนที่ทำอีสปอร์ตมาเขามีตารางชัดเจน เขามีตารางงาน มีตารางซ้อม มีอะไรที่แบบว่าเหมือนนักกีฬาเลย เอาจริงๆ เหมือนนักกีฬาเลย เพียงแต่เปลี่ยนจักรยานมาเป็นหน้าคอมพิวเตอร์ แค่นั้นเลย เปลี่ยนจากปืนลมมาเป็นเมาส์ แต่ว่าพฤติกรรมในการเข้าแบบอีสปอร์ตจริงๆ เกิดสมมติในฐานะที่ทำทีมอีสปอร์ตจริงๆ มีตารางซ้อม ตารางนอน ตารางออกกำลังกายอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น ถามว่าที่ผู้ใหญ่ยังมองว่า ทำร้ายสุขภาพของเยาวชน เขามองที่ตัวของน้องๆ ที่ทำพฤติกรรมเลียนแบบอีสปอร์ตหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้น ขอโทษจริงๆ พูดได้ไม่เต็มปากจริงๆ ว่าไม่ทำร้าย ถ้าตราบใดน้องๆ สามารถดูแลตัวเองได้ คิดว่าไม่มีอะไรทำร้ายพวกเขาเลยจริงๆ"

สตรีมเมอร์ ด่ากันเองก่อน อย่าเพิ่งด่าเขา

"การมีเงินได้ก็สำคัญระดับหนึ่ง เสร็จแล้วการที่จะมีเงินมากได้ แน่นอนเรื่องเรตก็ต้องเข้ามา ถ้าคุณไม่ได้รับความนิยมเลย คุณเป็นคนที่แบบทำตัวไม่น่าสนใจ สุดท้ายก็จะอยู่วงการสตรีมเมอร์ไม่ได้ สตรีมเมอร์จะต้องควบคู่กันเป็น Circle คือ เขาต้องโดดเด่นระดับหนึ่ง เขาต้องสามารถทำคอนเทนต์ที่สามารถทำให้คนที่ติดตามสนับสนุนต่อไป แล้วพอสนับสนุนต่อไป ก็จะมีแรงทำคอนเทนต์ต่อไป สตรีมต่อไป วนอย่างนี้ เป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ"

สตรีมเมอร์ คือ จุดกำเนิดคอนเทนต์ที่ดีก็จริง แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องคำนึงถึงสิ่งที่ตามมาด้วยเช่นกัน เพราะนั่นหมายถึง Circle ที่จะเกิดขึ้น คุณมีคนทำความดี ก็แน่นอนว่าก็ต้องมีคนที่เข้ามาหากินกับวงการในอีกแบบอยู่แล้ว

"รายได้ทำให้ทุกวงการเปลี่ยน มีเงินเข้ามา ทุกอย่างเปลี่ยน สุดท้ายแล้ว คือ สิ่งที่สังคมประเมินเอาไว้ และใช้ดำรงชีวิต มีคำว่าสนุกอยู่แล้ว ต้องเป็นอะไรที่แข่งกัน ก็ต้องทำเพื่อให้ได้มาเพื่อเลี้ยงดู รายได้ส่งผลอยู่แล้ว"

ทุกอย่างคือ วัฏจักรที่วนไม่รู้จบ ‘เซียนโอ๊ตโตะ’ พยายามเข้าใจในทุกๆ คน แม้แต่ตัวเอง ตอนนี้เมื่อมองเห็นปัญหาที่หลักๆ คือ ‘สตรีมเมอร์’ เขาจึงอยากให้คิดใหม่อีกครั้งว่า

"ด่ากันเองก่อนไหม อย่าเพิ่งไปด่าเขา"

ถามว่าเพราะอะไร?

คำตอบง่ายๆ จาก ‘เซียนโอ๊ตโตะ’ คือ เพราะเขาไม่เข้าใจสุดเลย เราเข้าใจกันเองสุดยังทำร้ายกันเองอยู่เลย เข้าใจความหมายไหม เขาหรือเรากันแน่ที่ควรจะคุยกัน เขาไม่เข้าใจเรา เราเข้าใจกันเองชัวร์แล้วใช่ไหม เราเข้าใจกันเองแล้วใช่ไหมว่าไม่หยาบโลน ทำแบบนี้ได้ ทำแบบนี้เหมาะสม ไลฟ์สตรีมเหมาะสมเข้าใจกันแล้วใช่ไหม ทำให้วงการเกมมั่นคงตรงนี้ก่อนไหม แล้วหลังจากนั้นค่อยให้ผู้ใหญ่มาตัดสิน เพราะตอนนี้ผู้ใหญ่ตัดสินไปแล้ว เพราะเราทำแบบนี้.

ข่าวอื่นๆ :