นับเป็นสถานการณ์ที่ยากจะรับมือ สำหรับ ‘มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก’ (Mark Zuckerberg) เจ้าพ่อโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ ‘เฟซบุ๊ก’ (Faceboook) ที่ต้องเผชิญกับการถูก ‘บอยคอต’ จากแบรนด์ระดับโลก ถอดถอน ‘โฆษณา’ ออกจากแพลตฟอร์ม

จากแรกเริ่มเดิมทีที่การ ‘บอยคอตโฆษณา’ บนแพลตฟอร์ม ‘เฟซบุ๊ก’ มีเพียงแค่ 3 บริษัทแบรนด์เสื้อผ้า คือ ‘เดอะ นอร์ท เฟซ’ (The North Face), ‘เรย์’ (REI) และ ‘พาทาโกเนีย’ (Patagonia) กลับขยายวงกว้างสู่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกมากกว่า 530 บริษัท อาทิ ‘ยูนิลิเวอร์’ (Unilever), ‘เวอไรซอน’ (Verizon), ‘สตาร์บัคส์’ (Starbucks), ‘โคคา-โคลา’ (Coca-Cola) รวมถึง ‘คลอรอกซ์’ (Clorox)

โดยระยะเวลาการ ‘บอยคอตโฆษณา’ ก็มีตั้งแต่อย่างน้อย 1 เดือน ไปจนถึงแบบ ‘ไม่มีกำหนด’ ... ซึ่งกรณีนี้หลังนี้ที่น่าห่วง!!

เพราะหากเทียบบทบาทการพึ่งพากันแล้ว คงมิอาจปฏิเสธได้ว่า แบรนด์ไม่จำเป็นต้องมีเฟซบุ๊กก็อยู่ได้ กลับกันเฟซบุ๊กเป็นฝ่ายที่ต้องพึ่งพาแบรนด์มากกว่า

และสาเหตุที่บริษัทต่างๆ และแบรนด์ดังระดับโลกออกมา ‘บอยคอตโฆษณา’ บน ‘เฟซบุ๊ก’ ก็เป็นเพราะต้องการ ‘กดดัน’ มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก ให้ออกมาแสดงท่าทีและจัดการกับโพสต์ที่มี ‘ถ้อยคำเกลียดชัง’ หรือที่เรียกว่า Hate Speech ที่เผยแพร่เต็มฟีดบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กนั่นเอง

...

สำหรับการ ‘บอยคอต’ ครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ "Stop Hate for Profit" หรือ "หยุดสร้างกำไรจากความเกลียดชัง" ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยเป็นการร่วมมือกันของกลุ่มสิทธิพลเมือง (องค์กรสิทธิด้านมนุษยชน) ประกอบด้วย สมาคมแห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของผู้คนที่หลากหลาย (NAACP), สมาพันธ์ต่อต้านการดูหมิ่น (Anti-Defamation League) และ Color of Change

แน่นอนว่า โพสต์ที่เป็น ‘ต้นตอปัญหา’ ซึ่งหลายๆ บริษัท รวมถึงแบรนด์ดังต่างๆ มองว่า ‘มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก’ มีท่าทีที่แสนเฉื่อยชาและเพิกเฉย ทั้งๆ ที่มีการ ‘ละเมิด’ นโยบาย ‘Hate Speech’ ที่อยู่ในเงื่อนไขการให้บริการของแพลตฟอร์ม ‘เฟซบุ๊ก’ อย่างชัดเจน ก็คือ โพสต์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ นั่นเอง

ซึ่งโพสต์ที่ว่านั้นของประธานาธิบดี ‘ทรัมป์’ เกิดขึ้นในช่วงที่มีการประท้วงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำต่อชายผิวสี ‘จอร์จ ฟลอยด์’ จนเสียชีวิต โดยมีการระบุส่วนหนึ่งว่า “เมื่อการปล้นสะดมเริ่มต้นขึ้น การยิงก็เริ่มต้นเช่นกัน” ถือเป็นข้อความที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง กรุ่นโกรธ และเดือดดาลอย่างรุนแรงต่อบุคคลอีกฝ่ายอย่างเลือกปฏิบัติ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับ ‘วัคซีน’ ของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่หลายฝ่ายซัดกลับกันว่าเป็นการให้ข้อมูลแบบผิดๆ แทนที่ ‘เฟซบุ๊ก’ จะถอดโพสต์หรือแบนโพสต์กลับเพิกเฉย ไม่แสดงท่าทีใดๆ

โดยที่ผ่านมา มีการเปิดเผยว่า ผู้บริหารเฟซบุ๊กมีความพยายามที่จะเข้าหารือแบบส่วนตัวกับตัวแทนบริษัทต่างๆ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว... ความพยายามก็พังลงไม่เป็นท่า และลุกลามมาจนถึงการ ‘บอยคอตโฆษณา’ อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

หากถามว่า ‘บอยคอตโฆษณา’ แล้วเฟซบุ๊กจะเจ็บหนักมากหรือไม่?

ก็ขอตอบว่า ‘เจ็บนิดๆ นะ เจ็บนิดๆ’

เพราะหลังจากมีการบอยคอตโฆษณาได้ 2 วัน มูลค่าตลาดของเฟซบุ๊กก็ลดลงเหลือราว 1.9 ล้านล้านบาท ส่วนราคาหุ้นปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3 ก.ค.) ที่ผ่านมา ก็อยู่ที่ 233.42 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 7,266 บาท ลดลง 1.74%

ซึ่งหากว่า การบอยคอตโฆษณาบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กขยายออกไปอย่างไม่มีกำหนด ก็คาดการณ์ว่า มูลค่าหุ้นเฟซบุ๊กก็อาจตกลงราวๆ 7% และอาจลดลงต่อเนื่องไปอีกเรื่อยๆ หลังล่าสุด แบรนด์ใหญ่อย่าง ‘ยูนิลิเวอร์’ ออกมาประกาศว่า อาจขยายการบอยคอตโฆษณาบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมออกไปอีกแบบยาวๆ อย่างน้อยก็สัก 1 ปี

...

แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงๆ หากมาดูตัวเลขเพียวๆ ของเฟซบุ๊กแล้ว กลับเป็น ‘ผลกระทบที่ค่อนข้างเบา’ กว่าที่หลายๆ คนอยากให้เป็นและคิดกัน

เพราะมากกว่า 70% ของเม็ดเงินโฆษณาบนเฟซบุ๊ก มาจากบริษัทขนาดเล็กและกลาง ไม่ใช่บริษัทหรือแบรนด์ใหญ่ๆ

โดยจากข้อมูลที่มีการรวบรวมของ Group M เห็นได้ว่า ปี 2562 ที่ผ่านมา เม็ดเงินโฆษณาที่เฟซบุ๊กได้จากแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลกกว่า 100 แบรนด์ อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 6% ของรายได้ทั้งหมด ที่มีอยู่เกือบ 2 ล้านล้านบาท เท่านั้น!!

ตัดภาพมาฟากฝั่ง ‘เฟซบุ๊ก’ บ้าง ที่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็พยายามที่จะเรียกความมั่นใจและเชื่อมั่นกลับคืนมาจากแบรนด์ดังต่างๆ พร้อมกับยืนยันว่า บริษัท “ไม่ได้สร้างกำไรจากความเกลียดชัง”

ส่วนตัว ‘มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก’ เอง ก็มีรายงานออกมาว่า เขาอาจไม่ปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติต่อ Hate Speech หรือถ้อยคำเกลียดชัง อย่างที่มีการเรียกร้อง แม้ว่าตัวเลขการบอยคอตโฆษณาบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็ตาม

...

โดยหนึ่งในเหตุผลที่มีการรายงานออกมาก็คือ การบอยคอตโฆษณาของแบรนด์ใหญ่ๆ กว่า 530 แบรนด์นั้น เป็นเพียงแค่เปอร์เซ็นต์เล็กๆ เท่านั้น ไม่ได้กระทบอะไรมากมาย

เรียกว่า ‘ไม่สะเทือน!!’

แต่สิ่งที่ ‘ซีอีโอเฟซบุ๊ก’ ดูจะเป็นกังวลมากกว่าเม็ดเงินโฆษณา ก็คือ ชื่อเสียงและความสัมพันธ์กับพันธมิตรต่างหาก

ซึ่งตัวแทนเฟซบุ๊กได้ออกมาย้ำถึงข้อกังวลของซีอีโอว่า เฟซบุ๊กเคารพต่อฟีดแบ็ก (ผลตอบรับ) ที่เกิดขึ้นของเหล่าพันธมิตรทางธุรกิจทั้งหลาย และพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ปรากฏข้อความที่สร้างความเกลียดชังบนแพลตฟอร์ม ยืนยันว่า เฟซบุ๊กไม่ต้องการกำไรที่มาจากคอนเทนต์ (เนื้อหา) ประเภทนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ใช่การกดดันทางรายได้

และใช่ที่ว่า แบรนด์ดังต่างๆ รวมถึงกลุ่มสิทธิพลเมือง (องค์กรสิทธิมนุษยชน) จะใช้วิธีการกดดันทางรายได้เป็นอาวุธในการต่อสู้กับเฟซบุ๊ก แต่จริงๆ แล้ว ‘ชัยชนะ’ ของการบอยคอตโฆษณา ที่พวกเขาต้องการ คือ ‘มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก’ ซีอีโอเฟซบุ๊ก ออกคำสั่ง ‘เซนเซอร์’ และจัดการอย่างจริงจังโดยไม่มีข้อยกเว้น ในทุกๆ โพสต์ที่เป็นไปในแนวทางเหยียดเชื้อชาติ, ข้อมูลผิดๆ, อคติต่อชาวยิว, การคุกคาม, ความรุนแรง และการโพสต์ที่ส่อไปทางเสื่อมถอยอื่นๆ นั่นเอง

...

มองง่ายๆ จุดประสงค์เดียวของเรื่องราวการบอยคอตโฆษณาที่เกิดขึ้นต่อเฟซบุ๊ก จริงๆ แล้วมีเพียงหนึ่ง คือ การไม่สร้างความเกลียดชังผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย.

ข่าวอื่นๆ :