ครึ่งปีหลัง...กับความหวังมวลมนุษยชาติ ‘วัคซีนโควิด-19’ เริ่มเห็นแวว ล่าสุดในไทยทุ่มวิจัยมากกว่า 10 ล้านบาท ‘จุฬาฯ’ ถึงขั้นทดสอบฉีดเข็มที่ 2 กับลิง ลุ้นข่าวดีทดสอบคน ...ที่มาพร้อมคำถาม "คุณพร้อมจ่ายสักเท่าไร?"
เป็นเวลา 6 เดือนเต็มๆ ที่ประชากรโลกต้องเผชิญกับ ‘ไวรัสร้าย’ ที่มีชื่อว่า ‘โควิด-19’ (COVID-19) ลุกลาม เข้าถึง ทุกพื้นที่ ป่วยไปแล้วกว่า 10 ล้านคน ...ส่วนที่เหลืออีกหลายพันล้านคนก็หวาดผวา กลัว วิตก สงสัยในตัวเอง "ฉันติดเชื้อแล้วหรือยัง?"
สวมหน้ากาก ล้างมือ เลี่ยงรวมตัวแออัด ทำทุกวิถีทางแล้วก็ยังไม่อาจสบายใจเหมือนเก่า
มีแต่คำถามวนซ้ำๆ ว่า เมื่อไร ‘วัคซีน’ จะสำเร็จสักที?, ‘วัคซีนโควิด-19’ ไปถึงไหนแล้ว?
‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ หาคำตอบทุกข้อสงสัยกับ ‘นายแพทย์นคร เปรมศรี’ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ที่ยืนยัน ‘ข่าวดี’ ของ ‘วัคซีนโควิด-19’ ล่าสุดในไทย ว่า "อยู่ขั้นทดสอบใน ‘ลิง’ แล้ว"
...
ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นตอนทดสอบใน ‘ลิง’ นี้ ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การค้นคว้าและพัฒนา ‘วัคซีนต้นแบบ’ ที่คิดว่าใช้การได้ แล้วนำไปทดสอบกับ ‘หนู’ หากได้ผลดีและมีความปลอดภัยเพียงพอก็จะขยับมาทดสอบกับ ‘ลิง’ ที่มีความใกล้เคียงกับ ‘คน’
แต่การจะขยับลำดับขั้นการทดสอบจาก ‘หนู’ ไป ‘ลิง’ และต่อด้วย ‘คน’ ก็ต้องมาดูกันอีกว่า
1. ฉีดแล้วปลอดภัย ไม่ได้มีผลต่อร่างกายของ ‘หนู’
2. ฉีดแล้วกระตุ้นให้เกิด ‘ภูมิคุ้มกัน’ ที่จำเพาะต่อเชื้อโควิด-19 จนสามารถที่จะยับยั้งโควิด-19 ได้
แล้วรู้ไหม? ณ เวลานี้ ‘ไทย’ มีการวิจัยและพัฒนา ‘วัคซีนโควิด-19’ กว่า 20 รูปแบบแล้ว!!
โดย ‘วัคซีน’ ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด คือ ‘mRNA’ ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ‘DNA’ ของบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด
"DNA วัคซีนของไบโอเนท-เอเชีย เตรียมทดสอบในลิง ส่วน mRNA วัคซีนของจุฬาฯ ทดสอบในลิงไปแล้ว ฉีดครบ 2 เข็ม กำลังรอผลอีกสัก 2 สัปดาห์ ว่าผลการทดสอบในลิงเป็นอย่างไร...
ผลการทดสอบ ‘mRNA’ วัคซีนของจุฬาฯ กระตุ้นให้ร่างกายหนูสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูง หลังฉีดไปแล้ว 2 เข็ม ทำให้รู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะขยับมาทดสอบในลิง ซึ่งเมื่อทดสอบไปแล้ว ผลวัคซีนที่ออกมา ‘ปลอดภัย’ และกระตุ้นให้ร่างกายของลิงสร้างภูมิคุ้มกันได้ในลักษณะเช่นเดียวกับหนู เพียงแต่ระดับยังไม่สูงนัก เพราะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มแรก เลยให้การฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน เพื่อที่จะดูว่า ‘เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นมาจะขึ้นไปสูงอีกหรือเปล่า?’ ..."
ถามว่า ทำไมต้องวิจัยพัฒนาหลายรูปแบบ?
คำตอบคือ "เราไม่รู้ว่ารูปแบบไหนจะเวิร์กและใช้การได้"
‘นายแพทย์นคร’ ขยายความว่า ‘โควิด-19’ ไม่เหมือนโรคติดต่ออื่นๆ ที่รู้จัก ‘ไวรัส’ เป็นอย่างดี แล้วค่อยเริ่มวิจัยพัฒนา ‘วัคซีน’ กัน แต่ ‘โควิด-19’ เพิ่งได้รู้จักแค่ 6 เดือน ก็ต้องเริ่มวิจัยพัฒนา ‘วัคซีน’ กันเลย และหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น บางส่วนของเชื้อไวรัส, สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส หรือแม้แต่การใช้เชื้อไวรัสทั้งตัวมาทำให้ตาย ถ้าอันไหนเวิร์กก็จะได้ใช้การได้โดยทันที ไม่ต้องย้อนกลับไปใหม่ เสียเวลา ไม่ทันการ
...
และขอย้ำว่า ‘วัคซีน’ ต้องใช้กับคนที่ยัง ‘ไม่ติดเชื้อ’
คำว่า ‘วัคซีน’ คือ ‘วัคซีนป้องกัน’
เมื่อเป็นวัคซีนป้องกันก็จะไม่สามารถเอาไปใช้กับคนที่ป่วยได้ เพราะคนป่วยต้องรักษาด้วยยา แต่การฉีดวัคซีนจะให้กับคนที่ไม่ป่วย คนที่อาการไม่รุนแรง ที่ยังไม่เคยป่วยเป็น ‘โควิด-19’
ถ้า ‘วัคซีน’ ได้ผล... ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า "จะมีวัคซีนสักกี่โดส?"
"ประเทศไทยมีคนที่ยังไม่ป่วยอีกตั้ง 60 กว่าล้านคน หรืออย่างประเทศจีนที่มีคนติดเชื้อประมาณเกือบ 1 แสนคน แต่ยังมีอีกเป็นพันล้านคนที่ยังต้องฉีดวัคซีน ดังนั้น เวลาที่พูดถึงวัคซีนต้องคำนึงถึง ‘ปลายทาง’ คือ แล้วเราจะต้องผลิตวัคซีนจำนวนสักเท่าไรให้กับประชากรทั้งโลกและประเทศไทย?..."
‘นายแพทย์นคร’ อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ‘วัคซีนโควิด-19’ เป็นความพยายามของทั้งโลกที่จะไม่ให้มี ‘ราคาแพง’ เหตุผลเพราะเป็นความต้องการของคนทั้งโลก กว่า 180 รูปแบบ ที่ทั่วโลกกำลังวิจัยพัฒนาให้ผลออกมาเวิร์กพร้อมๆ กัน จนสามารถใช้การได้พร้อมๆ กัน เป็นหลักประกันได้ว่า "วัคซีนจะออกมาเป็นจำนวนมากและราคาไม่แพง" แต่หากกลับกัน เกิดว่ามีแค่ ‘บริษัทเดียว’ ที่วิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้ ก็จะ ‘แพง’ แน่ ลองนึกถึงความขาดแคลน ที่ว่า "มีเงินเท่าไรก็หาซื้อไม่ได้"
...
เมื่อ ‘วัคซีนโควิด-19’ ที่ผลิตออกมาไม่เพียงพอ ราคาแพง เกิดการแย่งกัน ตามมาด้วยคำถามที่ว่า "จะฉีดให้ใครดี?"
‘นายแพทย์นคร’ ยกตัวอย่างสมมติว่า คนที่ควรได้รับมี 60 ล้านคน แต่วัคซีนมีแค่ 1,000,000 โดส ก็ต้องพิจารณาต่อ เรารู้อยู่แล้วว่า 85% อาการไม่รุนแรง 15% ควรต้องนอนโรงพยาบาล และในจำนวนนี้ 5% อาจเสียชีวิตได้ ทำนองเช่นนี้อาจพิจารณาเอากลุ่มคนที่มีโอกาสเสียชีวิตมารับการฉีดวัคซีนก่อน เพื่อป้องกันว่า หากบังเอิญติดเชื้อแล้วอาการจะไม่รุนแรง
"หากปีครึ่งข้างหน้า มีวัคซีนที่จะมารักษาไม่เพียงพอ จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของคนที่จะได้รับ ถ้ามี 1,000,000 โดส ให้คนกลุ่มนี้ ถ้ามีเพิ่มอีก 1,000,000 โดส ก็เอาไปให้อีกกลุ่มหนึ่ง ถ้ามีวัคซีนจำนวนมากขึ้นก็ค่อยๆ ทยอยไปตามลำดับความสำคัญ"
ส่วนที่คนคิดกันว่า "เดี๋ยวมีวัคซีนแล้ว ฉันไปฉีดเลย" นั้น ‘นายแพทย์นคร’ บอกว่า "มันจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อมีวัคซีนอย่างเพียงพอ"
...
แม้ว่าการวิจัยพัฒนา ‘วัคซีนโควิด-19’ จะยาก แต่ก็มี ‘ความหวัง’ เร็วสุดอาจอยู่ในกรอบที่ 12-18 เดือน
เบื้องต้น มีการใช้ทุนวิจัยพัฒนาอยู่ที่ระดับ 10 ล้านบาท และด้วยยังอยู่ในการวิจัยขั้นต้น คือ ทดสอบในหนูและลิง จึงใช้เงินไม่มากนัก แต่ถ้าเมื่อไรที่ขยับเริ่มทำการทดสอบในคน ‘นายแพทย์นคร’ คาดว่า วัคซีน 1 ตัว ต้องใช้เงินเป็นระดับ 50 ล้านบาททีเดียว!!
ทำไมทำการทดสอบในคนถึงใช้เงินเยอะ?
คำตอบคือ การ ‘ทดสอบในคน’ ต้องมีค่าใช้จ่ายในการตรวจเลือดและการตรวจร่างกาย ค่าใช้จ่ายในการติดตาม เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว ก็ต้องให้อาสาสมัครกลับไปใช้ชีวิตปกติ ต้องมีค่าประสาน ค่าเดินทาง กลับมาหาหมอ เพื่อตรวจเลือดอย่างละเอียด ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ‘วัคซีนมีความปลอดภัย’
แต่ในโลกนี้ยังไม่มี ‘วัคซีน’ ชนิดใดที่มีประสิทธิผล 100%
"เวลาถามว่า ‘วัคซีนเป็นคำตอบสุดท้ายใช่ไหม?’ ก็เลยไม่ใช่ 100% ต้องมีเครื่องมือในการป้องกันโรคอื่นๆ ร่วมกับมาตรการอื่นๆ หมายความว่า ถ้าเรามีวัคซีนใช้ เราก็ต้องป้องกันตัวเองอยู่ดี เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการติดเชื้อหรือป่วย"
สุดท้ายแล้ว...
‘วัคซีน’ ต้องใช้ ‘เวลา’
‘วัคซีนโควิด-19’ เป็นเรื่องการวิจัยและพัฒนาที่ยากและต้องแข่งกับเวลา ...นักวิจัยไทยพยายามเต็มที่ เดินหน้าอย่างไม่ย่อท้อ เพราะมีความหวังว่า ‘เราจะมีวัคซีนใช้’ ไม่ต้องคอยซื้อคนอื่นเขา.
ข่าวอื่นๆ :