ผ่านมาครึ่งทางของปี 2563 ระยะเวลา 6 เดือนที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ (COVID-19) ติดเชื้อรวมกันทั่วโลกกว่า 9 ล้านคน และเสียชีวิตรวมกว่า 4 แสนราย เศรษฐกิจพังกันยับเยิน

หากดูจากตัวเลข ณ เวลานี้ หลายๆ ประเทศก็เริ่มมีผู้ป่วยติดเชื้อลดลงกันแล้ว เริ่มเบาใจ และเริ่มผ่อนคลายมาตรการ หรืออาจรวมถึงการ ‘ปลดล็อกดาวน์’ เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อกลับสู่สภาวะปกติ

แต่... อย่าเพิ่งมองโลกในแง่ดีกันขนาดนั้น

ยังมีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังและควรจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะว่ากันว่า ‘คลื่นลูกที่ 2’ ของ ‘โควิด-19’ กำลังจะมาแล้ว

...

‘คลื่นลูกที่ 2’ คืออะไร?

คำว่า ‘คลื่น’ ในที่นี้เป็นคำที่ใช้อธิบายกราฟการแพร่ระบาดของ ‘โควิด-19’ ที่มีตัวเลขการติดเชื้อพุ่งสูงและร่วงลงต่ำ ซึ่งส่วนมากการแพร่ระบาดของ ‘ไข้หวัด’ มักจะเกิดในช่วงฤดูหนาวและลดลงในฤดูอบอุ่น

หากมีการกลับมาระบาดอีกครั้งในฤดูหนาวถัดมา ทั้งๆ ที่ ‘คลื่นลูกแรก’ ยังไม่หมดไป

ตัวอย่างง่ายๆ คือ สมัยเกิดการแพร่ระบาดของ ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อ 500 ล้านคนทั่วโลก และเสียชีวิตประมาณ 20-50 ล้านคน โดยแพร่ระบาดครั้งแรกในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2461 และมีการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันในฤดูใบไม้ร่วง แถมอันตรายกว่าเดิม เรียกกันว่า ‘คลื่นลูกที่ 2’

หาก ‘คลื่นลูกที่ 2’ กำลังจะมาจริงๆ ตอนนี้มีที่ไหนบ้างที่กำลังจะต้องเผชิญ?

แห่งแรกเลย คือ ‘เกาหลีใต้’

ซึ่งมีคำยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขมาแล้วว่า "ประเทศกำลังเดินทางเข้าสู่ ‘คลื่นโควิด-19 ลูกที่ 2’ แม้ว่าตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อจะลดลงแล้วก็ตาม"

‘เกาหลีใต้’ นับเป็นประเทศที่มีการจัดการ ‘โควิด-19’ ที่มีประสิทธิภาพมากประเทศหนึ่งในโลก แต่กลับกลายเป็นว่า ณ เวลานี้ มีการคาดการณ์ว่า "การระบาดอาจลากยาว" หลังจากที่ ‘คลื่นลูกแรก’ กินเวลาการระบาดถึงเดือนเมษายน

หากย้อนไปช่วงเดือนพฤษภาคมที่เกิด ‘คลัสเตอร์อิแทวอน’ ขึ้นในกรุงโซล และมีการติดตามอย่างแข็งขัน ก็พบว่าตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ค่อยๆ ลดลงต่อเนื่อง จากหลักพัน เหลือหลักร้อย และเป็น ‘ศูนย์’ ถึง 3 วันติดกัน

แต่ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กลับพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 17 ราย และทั้งหมดนั้นมาจากคลัสเตอร์ที่แตกต่างกัน!!

นั่นหมายความว่า ‘คลื่นไวรัสลูกที่ 2’ อาจกำลังมาถึงแล้ว...

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้จะบอกว่า "ประเทศกำลังเข้าสู่วังวนของคลื่นลูกที่ 2" แต่ทางกรมควบคุมโรคกลับยังไม่เคยบอกว่า "คลื่นลูกแรกในเกาหลีใต้จบลงแล้ว"

แม้ยังไม่ยืนยันว่า นี่เป็น ‘คลื่นลูกที่ 2’ หรือ ‘คลื่นลูกแรก’ กันแน่?

...

แต่ทางนายกเทศมนตรีกรุงโซลก็ออกมาเตือนไว้ก่อนว่า ‘โซล’ อาจกลับมาใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเข้มงวดอีกครั้ง หากอัตราการใช้เตียงในโรงพยาบาลสูงเกินกว่า 70%

ตลอดมา ‘เกาหลีใต้’ พยายามเลี่ยงการใช้ ‘ล็อกดาวน์’ แต่เน้นใช้การร่วมมือทำตามมาตรการ Social Distancing ด้วยความสมัครใจควบคู่ไปกับกลยุทธ์ ‘ติดตาม แกะรอย และตรวจ’ อย่างแข็งขันในการต่อสู้กับไวรัสแทน

แห่งต่อมา คือ ‘สหราชอาณาจักร’

ที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขออกมาเตือนว่า สหราชอาณาจักรกำลังจะต้องเผชิญ ‘คลื่นลูกที่ 2’ ที่เป็น ‘อันตรายของจริง’

การเตือนที่ว่านี้เกิดขึ้นหลังจาก นายกรัฐมนตรี ‘บอริส จอห์นสัน’ ออกมาประกาศว่า "อังกฤษหมดฤดูจำศีลแล้ว!!" เตรียมออกคำสั่ง ‘ปลดล็อกดาวน์’ และนับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคมเป็นต้นไป ผับ ร้านอาหาร และโรงแรมจะกลับมาเปิดอีกครั้ง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

...

และหากถามว่า ‘คลื่นลูกที่ 2’ จะใหญ่ขนาดไหน?

คำตอบคือ "ยังคาดการณ์ไม่ได้"

แต่จากตัวชี้วัดต่างๆ คาดการณ์ว่า ‘คลื่นลูกที่ 2’ จะเกิดการ "ปะทุในพื้นที่ท้องถิ่น" และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหราชอาณาจักร

โดยหนึ่งในทีมแพทย์ได้ออกมาวิจารณ์ด้วยว่า "นี่เป็น ‘พื้นที่แห่งความอ่อนแอ’ แทนที่จะขัดขวางคลื่นลูกที่ 2’ แทนที่จะปกป้องชีวิตประชาชน กลับเลือกที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ...ที่อาจเร็วเกินไปด้วยซ้ำที่จะทำ"

...

และอีกแห่งคือ ‘สหรัฐอเมริกา’

ที่ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ และนักการเมือง กังวลกันว่า ‘คลื่นลูกที่ 2’ กำลังจะมาถล่มในเร็วๆ นี้

ซึ่งสวนทางกับแนวคิดของ ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านโรคติดเชื้อของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่มองว่า "นี่ยังเร็วเกินไปที่จะถกกันถึง ‘คลื่นลูกที่ 2’ เพราะสหรัฐอเมริกายังไม่เคยหลุดออกจาก ‘คลื่นลูกแรก’ ของ ‘โควิด-19’ เลยด้วยซ้ำ"

และหากสหรัฐอเมริการีบยกเลิกคำสั่งเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในเร็วๆ นี้ รวมถึงรีบกลับมาเปิดธุรกิจต่างๆ อีกครั้ง ก็อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการติดเชื้อแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นไปอีก ที่สำคัญ แม้ปัจจุบันจะมีตัวเลขการติดเชื้อลดลงบ้างแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 20,000 รายต่อวัน

จากที่ว่ามานั้น จึงเป็น "บทเรียน" ช่วง 6 เดือนแรกของปี ที่เราควรเรียนรู้และเฝ้าระวัง จนกว่าจะมีการค้นพบ ‘วัคซีน’

...มาตรการความเข้มงวดอาจกลับมาอีกครั้ง!!

ดังนั้น "อย่าเพิ่งมองโลกในแง่ดี"

"การประสบความสำเร็จจากการล็อกดาวน์ ไม่ได้หมายความว่า พื้นที่นั้นเป็นอิสระจากไวรัสโคโรนาแล้ว"

ในฮอกไกโด, ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศแรกที่มีการบังคับและจำกัดพื้นที่อย่างเข้มงวดในเดือนกุมภาพันธ์ โดยในช่วงกลางเดือนมีนาคม ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อมีการลดลงเหลือ 1 หรือ 2 ต่อวัน

มาตรการดังกล่าวให้ผลดี นำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และยกเลิกในเดือนเมษายน มีการเปิดโรงเรียน แต่เพียงไม่กี่เดือนต่อมา ก็กลับมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้ง หลังพบ ‘คลื่นลูก 2 ของการติดเชื้อ’ บนเกาะ

และอีกหนึ่งคือ อย่าสูญเสียการตรวจและแกะรอย

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เกาหลีใต้มีการพัฒนาระบบจัดการตรวจวันละ 10,000 รายต่อวันฟรี ขณะเดียวกันก็ทำแอปพลิเคชันที่มีการเชื่อมต่อ GPS ในการแกะรอยผู้ติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ขยายการแพร่ระบาด

เพราะความจริงแล้ว "ไวรัสยังไม่ได้จากไปไหน และไวรัสก็ยังไม่ได้กลับมา แต่ไวรัสยังคงอยู่ ที่อาจสูงในบางสถานที่และน้อยในบางสถานที่"

ข่าวอื่นๆ :