"ไม่ใช่ที่ของเรา..." ตัวอักษรทำร้ายจนเจ็บ จมทุกข์ Cyberbullying นานกว่า 5 ปี จากเวที THE STAR 8 ยืนหยัดนักร้องแถวหน้า ‘โดม จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม’ ก้าวข้ามคำด่าทอ เห็นคุณค่าตัวเอง กับความกดดันภายใต้ ‘หน้ากาก’
‘โดม จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม’ เด็กชาย ป.6 ที่ชื่นชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่เคยคิดฝันว่าจะมีวันนี้วันที่ได้เป็น ‘โดม เดอะสตาร์ 8’ จนวันหนึ่งได้ดูรายการ THE STAR จึงเกิดความใฝ่ฝันว่า "สักวันหนึ่งอยากมีโอกาสได้เข้าไปในรายการนี้บ้าง" ...แต่แล้วเมื่อได้ยืนบนเวทีอย่างที่หวัง กลับพบเจอกับสิ่งที่ยากจะรับมือ... ย้อนวันวานเส้นทางเด็กชาย ‘โดม จารุวัฒน์’ การจับไมค์ร้องเพลงภายใต้ความกดดันและมรสุม Cyberbullying
เมื่ออายุถึง 15 ปี ความฝันของ ‘โดม เดอะสตาร์’ ก็เริ่มต้นขึ้น
"ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะได้เข้ารอบ แค่อยากลองหาประสบการณ์ ก็ถือว่าคุ้มค่า"
...
ประสบการณ์ยังไม่มี เป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่ชอบการร้องเพลง ทำให้ ‘โดม จารุวัฒน์’ ไปไม่ถึงดวงดาว พลาดปี 4 และปี 5 ติดต่อกัน ก่อนหายไปราว 2 ปี และกลับมาอีกครั้งกับการเติบโตที่พร้อมด้วยประสบการณ์ ควบคุมความตื่นเต้นและสติตัวเอง ก้าวขึ้นเวทีคว้าแชมป์ THE STAR 8
"เกินฝัน! เราไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเหมาะกับการเป็น THE STAR พอเราย้อนกลับไปผ่านมาตั้งกี่ปีๆ ไม่มีคนแบบเราอยู่ในนั้นเลย"
เด็กวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตปกติ กลับมี ‘หัวโขน’ อันใหม่มาสวม ...จาก ‘เด็กชายโดม’ เป็น ‘โดม เดอะสตาร์ 8’
"การเป็น THE STAR ไม่ใช่แค่เครื่องหมายของการยืนยันว่า ‘เราประสบความสำเร็จ’ หรือ ‘เครื่องหมายที่ทำให้เรามีความสุข’ มันไม่ใช่ แต่เป็น ‘หัวโขน’ ที่ทำให้เรารู้ว่าจากนี้ต่อไปเราต้องทำงานเหนื่อยแล้วนะ เราเข้าสู่การเป็นนักร้องอาชีพในวงการบันเทิงแล้ว เป็นหัวโขนที่หนักอึ้งใช้ได้"
การเปิดหน้าร้องบนเวทีการแข่งขันร้องเพลงในวันนั้น มาสู่การแข่งขันร้องเพลงภายใต้ ‘หน้ากาก’ ในวันนี้
"รู้สึกโล่งจริงๆ การแข่ง ‘THE MASK งานวัด’ ก็เหมือนกับการกลับไปทำอะไรแบบเดิมอีกครั้งเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว"
การแข่งขันภายใต้ ‘หน้ากาก’ กลายเป็นความท้าทายอีกระดับหนึ่ง ที่ ‘โดม’ ต้องใช้ประสบการณ์และสิ่งที่มีอยู่มาพัฒนาให้มากขึ้นไปอีก ก้าวผ่านสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ ให้เกิดขึ้นให้ได้
"เราต้องทำอะไรที่ข้ามขีดจำกัดไปอีกขั้น!"
นี่คือ ความคิดของ ‘โดม’ ที่บอกกับ ‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ ว่า "THE STAR เป็นการแข่งขันกับคนอื่น แต่ THE MASK เราคิดว่าเป็นการแข่งขันกับตัวเอง"
และ ‘โดม’ ก็ทำให้ทุกคนได้เห็นว่า "เขาทำได้!"
เหตุผลของการเลือกอยู่ภายใต้ ‘หน้ากากเมียงู’ ของ ‘โดม’ เป็นเหมือนภาพสะท้อนตัวเองในวงการบันเทิง
‘เมียงู’ เป็นความแปลก ความแหวกแนว ที่แตกต่างจากหลายๆ สิ่งที่โชว์ภายในงานวัด หลายคนอาจเคยดูหรือไม่เคยดูก็ได้ มีความน่าลึกลับค้นหา ก็เหมือนกับ ‘โดม’ ที่เมื่อเทียบแล้ว "ผมถือว่าเป็นของแปลก"
ตลอด 8 ปีที่ยืดหยัดในวงการบันเทิง การได้ทำตามฝัน การร้องเพลง จนถึงการคว้าแชมป์หน้ากาก ‘โดม’ ต้องทนจมทุกข์นานกว่า 4-5 ปี กับสิ่งที่เรียกว่า Cyberbullying หรือ ‘ไซเบอร์บูลลี่’ ที่สร้างผลกระทบเป็นแผลทางจิตใจ
...
"เขาอยากดูเราไหม?"
"เขามีความสุขกับเราขนาดไหน?"
คำถามที่ ‘โดม’ เฝ้าถามกับตัวเอง ตลอดช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับคอมเมนต์และคำวิจารณ์ต่างๆ นานา ทุกข้อความ ทุกตัวอักษร ที่อ่านผ่านสายตา ส่งผลต่อความมั่นใจของตัวเอง
"ช่วง 4-5 ปีแรก ไม่รู้เลยว่า ‘ที่นี่ใช่ที่ของเราจริงหรือเปล่า?’ ไม่มั่นใจ ก้าวซ้ายก็ไม่มั่นใจ ก้าวขวาก็ไม่มั่นใจ กลัวไปหมด เหมือนกับว่าเราไม่ภูมิใจในตัวเองด้วย เหมือนเราเองก็ไม่ค่อยเชื่อมั่นในความสามารถในตัวเอง ค่อนข้างจะดูถูกตัวเองประมาณหนึ่ง"
กว่า ‘โดม’ จะเริ่มเข้าใจได้ก็ประมาณปีที่ 6 ปีที่ 7 แล้ว
ช่วงเริ่มต้นในฐานะนักร้องที่มอบความสุขให้กับคนฟัง ‘โดม’ ก็หวังว่าจะได้ความสุขตอบแทนกลับคืนมาบ้าง แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ได้เรียนรู้ว่า "จริงๆ แล้วหน้าที่ของเราไม่ใช่มารับ แต่หน้าที่ของเรามีแค่ให้เท่านั้น"
หากถามอะไรคือ ‘จุดเปลี่ยน’ ที่ทำให้ ‘โดม’ หลุดพ้นจากทะเลทุกข์ ‘ไซเบอร์บูลลี่’
คำตอบคือ ค่อยๆ เรียนรู้ไปกับมัน
"เราเห็นคนรอบข้างทุกข์ทรมานกับสิ่งที่คนพูด บางคนเคยมั่นใจกับตัวเอง เคยรู้สึกดีกับตัวเอง แต่เวลาเจอคนพูดอะไรที่ไม่ดีใส่ก็รู้สึกแย่ เราเลยหันมามองว่า ‘เอ้อ! จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดจากเสียงคนรอบข้าง’ แต่เกิดจากตัวเราเองว่า ‘เราภูมิใจในตัวเองพอหรือยัง? เห็นคุณค่าของตัวเองมากพอหรือเปล่า?’ ค่อยๆ เรียนรู้จากตรงนั้น เริ่มหันมามองตัวเอง ‘เออ! จริงๆ แล้วตัวเราเองมีดีขนาดไหน ตัวเราน่าภูมิใจขนาดไหน’ ..."
‘โดม’ ยอมรับว่า ‘คนรอบข้าง’ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผ่านพ้นมาได้
...
"ตัวเราคือ ปราการด่านแรกที่จะเข้าใจข้อความเหล่านั้นแล้วปรับความรู้สึกตัวเอง แต่ถ้ามันไม่ไหว คงต้องพึ่งคนรอบข้าง ล้มตัวไปกับใครสักคนหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้เขาช่วยเราได้ ประคองเราได้"
ตลอดการสนทนา ‘โดม’ ย้ำเสมอว่า "จงมั่นใจ จงภูมิใจในตัวเอง ...ทุกคนดีพอ ทุกคนมีดีพอที่จะเป็นตัวเอง และไม่ต้องกลัวที่จะเป็นตัวเอง" เพราะเคยผ่านช่วงที่ต้องจมกับทะเลทุกข์ มัวแต่คิดถึงคำของคนอื่นจนลืมฟังเสียงตัวเอง
ในมุมมองของ ‘โดม’ ปัญหาของ ‘ไซเบอร์บูลลี่’ ในทุกวันนี้ เกิดจากการที่ ‘คนเห็นใจกันน้อยลง’ และเอาอารมณ์ตนเองเป็นที่ตั้ง
"ไม่ต้องไปตั้งกฎหมายอะไร ไม่ต้องมีกฎระเบียบอะไร แค่สอนให้คนเข้าใจหัวจิตหัวใจของคนอื่น เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น และรู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ไปได้เยอะมาก"
เพราะเรารู้แล้วว่า ‘ตัวอักษร’ ทำคนเจ็บมากขนาดไหน
เพราะเรารู้ว่าถ้าคนอ่านแล้วจะรู้สึกอย่างไร
...
ไม่ต้องรอให้ทุกคนโดน ‘ไซเบอร์บูลลี่’ แล้วค่อยมาคิดได้ อยากให้ทุกคนคิดได้ด้วยตัวเองว่า "ส่งผลต่อความรู้สึกคนอื่นจริงๆ"
บทสนทนาทิ้งท้ายจาก ‘โดม จารุวัฒน์’ ที่หวังว่าคนที่อ่านอาจฉุกคิดในทุกๆ ตัวอักษรที่กำลังจะพิมพ์.
ข่าวอื่นๆ :
- Life Story : ไซเบอร์บูลลี่ รอยกรีดใจทำร้ายถึงพ่อแม่ หยุดได้ถ้าเคารพกัน
- เรื่องเล่าน้ำตาซึม "เจ ชนาธิป" ฝันใหญ่ จากนักฟุตบอลตัวเล็ก
- จาก "ไวรัสตับอักเสบบี" ถึง "มะเร็งตับ" ความเสี่ยงของคนวัย 40 บวก
- "คิม โย จอง" คือใคร? เบื้องหลัง "เงา" ของผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ
- "ตั้ว ศรัณยู" เก้าอี้ขาวในห้องแดง ละครสุดลึกซึ้ง แจ้งเกิดดาวรุ่ง