อ่าน เขียน ปกปิดอยู่ใต้ดิน สู่อันดับนิยายขายดีในร้านหนังสือชั้นนำ เปิดโลก "นักเขียนนิยายวาย" ที่ไม่ได้ผิดแปลกหรือแตกต่างจากนักเขียนอื่นๆ ไขคีย์ความสำเร็จ ที่มีอะไรมากกว่าการขายฉากเลิฟซีน

คงไม่ต้องเกริ่นมากความว่า ‘นิยายวาย’ คืออะไร? ... หลายคนคงพอคุ้นเคยอยู่แล้ว ร้านหนังสือชื่อดังวางขายกันให้พรึ่บ หยิบอ่าน หยิบซื้อ ง่ายกว่าแต่ก่อนนัก แถมยังพัฒนาสู่การเป็น ‘ซีรีส์’ จนกลายเป็นกระแสโด่งดังมากกมาย แต่ก็คงมีบางคนยังเข้าใจกันว่า ‘นิยายวาย’ มีแค่ชาย-ชาย (Yaoi) เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วมีหญิง-หญิง (Yuri) ด้วย ซึ่งคำว่า ‘วาย’ ก็ย่อมาจากตัวอักษร Y หน้าคำว่า Yaoi หรือ Yuri นั่นเอง

‘นิยายวาย’ ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นเพียงแค่การบรรยายความรัก การนำเสนอฉากเลิฟซีน ที่เห็นกันดาษดื่นตามเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอ่านนิยายออนไลน์ดังๆ เท่านั้น แต่มีหลากหลายเรื่องราวให้น่าติดตาม ทั้งแฟนตาซี สืบสวนสอบสวน หรือแม้วิทยาศาสตร์ การเมืองก็มี

หลายๆ คนก็คงต้องเคยมีสักแวบที่คิดกันว่า ‘นิยายวาย’ เขียนอะไรไป เขียนแบบไหน คนก็อ่าน!!

ซึ่งมันก็อาจจะมีบ้างที่เป็นแบบนั้น แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด บางอย่างต้องผ่านการคิดและไตร่ตรอง เหมือนกับนิยายประเภทอื่นๆ เพียงแต่ ‘นิยายวาย’ มักถูกเสนอภาพในลักษณะนั้นเป็นส่วนใหญ่ และการยอมรับของสังคมยังไม่มาก ทำให้ต้องถูกปกปิด อ่าน เขียน กันอย่างลับๆ ในแวดวงใต้ดิน กว่าจะมาถึงยุคที่สังคมเปิดกว้างก็หลายปี

ทำความเข้าใจตัวตนและการทุ่มเทกว่าจะมาเป็น ‘นิยายวาย’ สักเล่ม ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของ ‘ฟิล์ม พิชญา สุขพัฒน์’ สาววัย 26 ปี อดีตอินทีเรียดีไซน์ ที่ผันมาเป็น ‘นักเขียนนิยายวาย’ แบบเต็มตัว ภายใต้นามปากกา ‘Afterday’

...

"… การที่ ‘นักเขียนนิยายวาย’ หลายๆ คนปกปิดตัวตน มีองค์ประกอบค่อนข้างเยอะ ด้วยการที่จุดเริ่มต้นของ ‘นิยายวาย’ ไม่ได้มีการเปิดเผยมาตั้งแต่แรก เป็นยุคที่มีการปกปิดและอยู่ใต้ดินมากๆ อ่านกันเฉพาะกลุ่ม บางคนไม่รู้ถึงการมีอยู่ของนิยายวายด้วยซ้ำ"

นั่นคือ ‘นักเขียนนิยายวาย’ ในยุคเริ่มแรก แต่สำหรับ ‘พิชญา’ แล้ว เธอก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็น ‘นักเขียนนิยายวาย’ ในยุคที่สังคมปัจจุบันเปิดกว้างพอสมควร เสียงของ ‘นิยายวาย’ ดังขึ้นมาก เริ่มเห็นเยอะขึ้น และ ‘นักเขียนนิยายวาย’ ก็เยอะขึ้น มีการเปิดตัว ซึ่งเธอเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

"รสนิยมคนเราไม่เหมือนกัน บางคนอ่านแล้วสนุก มีพลังงานบวก แต่กับบางคนอ่านแล้วรู้สึกไร้สาระ ไม่จรรโลงใจ ซึ่งเราไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า ‘ทำไมคนนี้คิดกับผลงานเราแบบนี้ ทำไมอีกคนหนึ่งคิดแบบนั้น’ ..."

‘พิชญา’ บอกถึงเป้าหมายแรกในการเป็น ‘นักเขียนนิยายวาย’ กับ ‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ ว่า เป้าหมายแรก คือ การแต่งนิยายวายให้ "ตัวเองอ่าน" ย้อนกลับไปในตอนเริ่มแรกที่พื้นนิสัยเดิมชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว พอหาอ่านในสิ่งที่ชอบไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจตอบสนองความต้องการตัวเองด้วยการ "เขียนเอง"

"นิยายวายเรื่องแรกเขียนเมื่อปี 2557 เป็นแนวแฟนตาซี ในช่วงนั้นหาอ่านยากและมีคนอ่านน้อย เลยเขียนแล้วเอาลงเว็บไซต์ (นิยายออนไลน์) พอลงไปก็ได้รับความนิยมพอสมควร ด้วยในยุคนั้นยังมีการแข่งขันน้อยอยู่ ... การเขียนนิยายวายเริ่มต้นจากความสนใจและความสงสัยของตัวเองก่อน ทำให้เนื้อหามีความแปลกใหม่ เลยมีคนสนใจเข้ามาอ่าน"

เมื่อเขียนไปเรื่อยๆ วันหนึ่ง ‘นิยายวาย’ ของ ‘พิชญา’ ก็ไปเตะตาสำนักพิมพ์เข้า เกิดการติดต่อและทำให้กลายมาเป็น ‘นักเขียนสังกัด' มาจนถึงวันนี้ และแน่นอนเมื่อ ‘นิยายวาย’ เข้าสู่สำนักพิมพ์ หลายคนอยากรู้ถึง "รายได้"

"รายได้จากการตีพิมพ์ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละสำนักพิมพ์ บางที่เป็น 10% ของราคาหนังสือ แล้วคูณยอดขาย บางที่ก็อาจคูณยอดพิมพ์ แตกต่างกับที่มีการพิมพ์เองแน่นอน เพราะรายได้เป็นไปตามจริงหลังมีการหักค่าใช้จ่าย แต่การทำตลาดเองก็จะเล็กกว่า ซึ่งเปอร์เซ็นต์ในการได้ของรายได้ก้อนเยอะกว่าก็จริง แต่สัดส่วนของจำนวนก็น้อยลงไป"

...

เราเลือกอยู่กับสำนักพิมพ์นั้นๆ เพราะเราสบายใจที่จะทำงานร่วมกับเขา นี่คือ เหตุผลในการตัดสินใจครั้งแรกของการก้าวสู่ นักเขียนสังกัด ของ ‘พิชญา’

แล้วการเป็น ‘นักเขียนสังกัด’ แตกต่างจากนักเขียนนิยายวายอิสระอย่างไร?

"การเป็น ‘นักเขียนสังกัด’ ต้องมีความรับผิดชอบ"

‘พิชญา’ บอกว่า ความรับผิดชอบภายใต้ ‘นักเขียนอิสระ’ คือ การมีเดตไลน์ในการเขียน เพื่อไม่ให้นิยายออกมาช้าเกินไป ชื่ออาจหายไปจากวงการด้วย และเพื่อให้สำนักพิมพ์มั่นใจว่า "ชื่อเสียงของเราจะต่อยอดต่อไปได้เรื่อยๆ" เพราะทางสำนักพิมพ์เองก็คาดหวังว่า "การมีเราเป็นนักเขียนในสังกัดจะมีผลิตผลงานออกมาได้ต่อเนื่อง"

‘นักเขียนนิยายวาย’ กับคีย์ความสำเร็จ หลังก้าวผ่านยุคปกปิด

"เริ่มจากตัวเองก่อน ‘เราต้องการอะไรจากนิยายวายเรื่องนี้?’ แล้ว ‘ประสบความสำเร็จในมุมมองเราไหม?’ ถ้ามองว่าสิ่งที่เสนอไปครบองค์ประกอบ ก็ตัดสินใจแล้วว่าอยากพูดในเรื่องนี้ ถ้าคนอ่านมาเสพก็ต้องมาเสพในสิ่งที่เราตัดสินใจ เพราะนี่คือ ผลงานของเรา ถ้าวิจารณ์เพื่อติและก่อ เราก็ยอมรับ"

...

‘พิชญา’ มองว่า ความสำเร็จของแต่ละคนมาช้าเร็วแตกต่างกัน ในส่วนตัวของเธอค่อนข้างโชคดีกว่านักเขียนนิยายวายคนอื่นๆ ที่ได้รับโอกาสมากกว่า ที่สำนักพิมพ์ติดต่อเข้ามาเลย ส่วนเพื่อนๆ ของเธอยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับโอกาส ส่งต้นฉบับไปก็ยังไม่ผ่าน

ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่ใช่ว่าประสบความสำเร็จไม่ได้ แค่ต้องกล้าที่จะเริ่ม... เขียน!!

ปัจจัยที่ทำให้สำนักพิมพ์เลือก ‘นิยายวาย’ ของเราคืออะไร?

‘พิชญา’ มองว่า อันดับแรกคือ นิยายที่ดีกับนิยายที่ขายได้บางทีไม่ได้ไปด้วยกัน ดังนั้น เธอไม่อยากให้นักเขียนหลายๆ คนคิดว่า การขายนิยายให้กับสำนักพิมพ์ได้เป็น ‘นิยายวาย’ ที่ประสบความสำเร็จ ในบางครั้งขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ เช่น กลุ่มตลาด ความสนใจ หรือคนอ่าน ขอให้นักเขียนมองแค่ว่า เขียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ เขียนในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าอยากสื่อสาร แล้ววันหนึ่งจะวนมาถึงเราเอง สำนักพิมพ์จะเห็นแล้วคิดว่า ผลงานของเราเข้ากับสถานที่ของเขา เข้ากับบริษัทของเขา แล้วเขาคิดว่า "ขายผลงานเล่มนี้ได้"

...

"การวางพล็อตเริ่มจากประเด็นที่อยากทราบ สงสัย หรืออยากเล่าต่อ"

หากใครคิดว่าการเขียน ‘นิยายวาย’ ไม่ต้องใส่ใจอะไรมาก แค่มีฉากเลิฟซีน ฉากกุ๊กกิ๊กก็พอ คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะ ‘นิยายวาย’ ก็อย่างที่บอกว่าไม่ได้ต่างจากหนังสือประเภทอื่นๆ

"การอ่านหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นนักเขียน ต้องเก็บข้อมูล เก็บประสบการณ์ กลั่นออกมาเป็นผลงานตัวเอง สั่งสมเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ใช่การอ่านเพื่อลอกเลียน ข้อมูลเฉพาะก็ต้องค้นคว้า อ่านวิจัยบ้าง ฟังข้อมูลเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของคนตรงๆ"

แต่สิ่งสำคัญของการเขียนและเป็นข้อควรระวังที่ไม่ใช่แค่ ‘นิยายวาย’ เท่านั้น ‘พิชญา’ บอกว่า 1. ข้อมูลที่ใส่ในนิยายต้องถูกต้อง เพราะการตีพิมพ์ไปแล้ว คนอ่านส่วนหนึ่งจะเชื่อว่ามีการกรองมาแล้ว มีการคิดวิเคราะห์ออกมาเป็นขั้น ต้องรับผิดชอบกับผลงานที่ออกมา, 2. เนื้อหานิยายวายต้องไม่สนับสนุนสิ่งผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม หากอยากเขียนตีแผ่ก็ทำได้ แต่ไม่ใช่การสนับสนุน และ 3. ภาพลักษณ์ ที่นอกเหนือจากเนื้อหาแล้ว การใช้คำในการสร้างชื่อเรื่อง หรือแม้แต่หน้าปกเมื่อตีพิมพ์ ก็จะต้องทำให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องและดี

"ฉากเลิฟซีน เวลาเขียนต้องศึกษา หาข้อมูล อ่าน แล้ววิเคราะห์ และอะไรก็ตามที่เขียนลงไปจะต้องไม่ก่อผลร้าย อย่างน้อยๆ เราไม่สามารถบิดเบือนความเป็นจริงได้ ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือถ้าไม่ให้ข้อมูลก็ต้องเว้นตรงนั้นไปเลย"

นอกจากการนำเสนอในเรื่องที่ถูกต้องแล้ว บางทีการนำเอาอารมณ์ไปใส่ในเนื้อเรื่อง เหมือนเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งคนอ่านชอบตัดสินใจว่า เพราะนักเขียนเป็นแบบนี้เลยตัดสินใจให้ตัวละครเป็นแบบนี้ แต่ ‘พิชญา’ มองว่า เมื่อไรที่เราเอาตัวตนไปใส่ในตัวละครทุกตัวมากเกินไป ทุกตัวจะแบน เพราะทุกคนจะมีเป้าหมายเดียวกัน คิดเหมือนกัน ตัดสินใจเหมือนกัน ในบางครั้งเขียนให้ตัวละครเลือกทำสิ่งหนึ่ง ในสิ่งที่เราคิดในใจว่า ถ้าเป็นเราจะไม่ทำแบบนี้ แต่พอเป็นตัวละคร เขาเลยทำแบบนี้ แต่ถ้าเมื่อไรก็ตาม คนเขียนเอาตัวเองไปแทนในทุกๆ จุดของนิยาย นิยายก็จะไม่กลม ไม่สมบูรณ์

ถามว่า ฉากเลิฟซีนเป็นจุดขายของนิยายวายไหม? ก็ต้องถามว่า นักเขียนตั้งใจจะขายอะไร?

‘พิชญา’ เทียบนิยายของตัวเองว่า หลายๆ เรื่องแทบไม่มีฉากเลิฟซีนเลย เพราะมองว่าไม่เข้ากับเนื้อเรื่อง และการที่คนอ่านเข้ามาอ่านก็รู้ว่าเราต้องการนำเสนออะไร เขาเองก็รู้ว่าต้องการเสพอะไร ดังนั้น คนอ่านจะพาตัวเองตรงจุดนั้น หาสิ่งที่ขายในสิ่งที่เขาต้องการ

อุปสรรคสำคัญสำหรับการเขียนทุกแนวอยู่ที่ "อาการตัน" การเขียนไม่ออกมีปัจจัยเยอะมากๆ ทั้งภายใน ภายนอก ทั้งอารมณ์หลายๆ อย่าง ด้วยเวลา ด้วยภาระ ด้วยหน้าที่ มีหลายครั้งที่นักเขียนต้องทิ้งเรื่องที่เขียนไปแล้ว เพราะไปต่อไม่ได้จริงๆ สุดท้ายก็ล้มเหลว ต้องเปลี่ยนเรื่องใหม่ บางคนเขียนไป 3 เรื่อง 4 เรื่อง 5 เรื่อง ก็ยังเขียนไม่จบสักที อันนี้สำคัญมากๆ เพราะว่าถ้าเขียนไม่จบก็ไม่มีผลงาน ถ้าไม่มีผลงานก็ไม่ได้ตีพิมพ์

"สังคมไทยมีคนอยู่หลายกลุ่มมาก มีคนที่ยอมรับ มีคนที่ต่อต้าน มีคนที่ไม่ออกความเห็น เพราะฉะนั้น ถามว่ายอมรับมากขึ้นไหม เท่าที่เห็นก็มากขึ้น อย่างคนรอบตัว เขาก็มองว่าปกติ เราเขียนนิยายก็แค่ถามว่า เขียนนิยายประเภทไหน พอเราบอกเขียนนิยายวาย เขาก็ไม่ได้มีท่าทีว่าต่อต้าน ประหลาด แปลก ผิด มองว่าเปิดกว้างมากกว่าเดิมแล้ว แต่มากพอที่จะเท่าเทียมกันหรือยังอาจต้องใช้เวลา"

สุดท้าย ‘พิชญา’ เชื่อว่าความสำเร็จของการเป็น ‘นักเขียนนิยายวาย’ คีย์แรกเริ่ม คือ แค่เริ่ม แค่เขียนไปก่อน!!

"เชื่อว่าทุกคนมีจุดเริ่มต้นเสมอ และจุดเริ่มต้นไม่มีอะไรสวยงาม ทุกเรื่องเลย จุดเริ่มต้นมักจะมองว่าเป็นคนตัวเล็กมากๆ ในทุกๆ สายงาน ไม่มีที่อยู่ เวลาที่เริ่มต้นไม่มีใครให้ความสนใจ ไม่มีใครมองหรอกว่า เวลาเริ่มต้นเป็นอย่างไร เขาจะเริ่มสนใจก็เมื่อมีผลงานสักชิ้นหนึ่งออกมา นักเขียนที่ดังวันนี้ วันหนึ่งลงไปเรื่องหน้า คนอาจจะหายไปก็ได้ นักเขียนที่วันหนึ่งไม่เคยมีคนสนใจ วันหนึ่งลงไปคนดูเยอะก็ได้ มองว่าอะไรก็ตามที่ทำต้องใช้เวลา ต้องมีจังหวะ ต้องมีโอกาส แต่ถ้าไม่เริ่มทำ ไม่ลองทำก่อน ต่อให้รอแค่ไหน ก็จะไม่ได้รับโอกาส เพราะฉะนั้น การเริ่มทุกอย่าง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดีอยู่แล้ว ได้ก้าวเข้าไปแล้ว อย่างที่เข้าใจกันว่า ทำไปก่อน ไม่ผิดเลย เขียนไปก่อน เขียนดี เขียนไม่ดี ถ้าเขียนจบแสดงว่า สำเร็จไปแล้ว".

ข่าวอื่นๆ :