พายุโรคร้ายโควิด-19 นอกจากทำร้ายสุขภาพแล้ว ยังได้ทุบทำลายธุรกิจทั่วโลก ไม่เว้นแต่ “หมอนวดแผนไทย” ซึ่งถือเป็นธุรกิจเบอร์ต้นๆ ที่ถูกทางภาครัฐสั่งปิดให้บริการ เนื่องจากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้คน

ฉะนั้นตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ร้านเหล่านี้ถึงกับอยู่ไม่ได้ และมีรายงานว่าต้องปิดกิจการถาวรไปแล้วมากมายถึง 50%

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับการเปิดเผยจาก นางชาลิดา ศิริธนาบุญ อุปนายกสมาคมแพทย์แผนไทย แห่งประเทศไทย และเจ้าของร้านนวดแผนไทยชาลิดา ว่า ตอนนี้ภาครัฐได้ปลดล็อกให้เปิดร้านนวดแผนไทยได้แล้วตั้งแต่ 1 มิถุนายน แต่..ก็ได้มีการออกมาตรการคุมเข้มจาก กรมสนับสนุนการบริการสุขภาพ (สบส.) เพื่อป้องกันแพร่ระบาดของเชื้อโรค

ร้านนวดเจ๊งยับ 50% วอนภาครัฐเหลียวแลผู้ประกอบการ

นางชาลิดา เผยว่า ทางร้านนวดส่วนใหญ่ก็ได้ไปลงทะเบียนกับ กรมสนับสนุนการบริการสุขภาพ (สบส.) ซึ่งเป็นมาตรการในการดูแลร้านนวด ซึ่งทางกรมได้เน้นย้ำเรื่องสุขลักษณะการปลอดภัย โดยที่ผ่านมา หลายๆ ร้านได้ทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เฟซชิลด์ เจลล้างมือ การเว้นระยะระหว่างบุคคล โดยเราจะเน้นย้ำให้พนักงานของเราไม่สัมผัสหัว หรือ ใบหน้าลูกค้า ตามนโยบายของ สบส.

...

“ที่ผ่านมา พวกเราหมอนวดแผนโบราณมีความลำบากมาก บางคนไปลงทะเบียนรับเงินเยียวยาก็ไม่ได้ แต่ที่หนักที่สุดก็คือ กลุ่มผู้ประกอบการ คือ ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากทางภาครัฐเลย ทุกคนต้องแบกรับภาระทุกอย่าง อาทิ ค่าจ้างลูกน้อง แต่ที่หนักที่สุด คือ ค่าเช่า ซึ่งยกตัวอย่างร้านของเราเองมีเช่าเดือนละ 27,000 บาท ยังดีที่ทางเจ้าของร้าน ยังลดค่าเช่าลงให้ 30% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยเราต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ไปเปล่าๆ ทั้งที่ร้านไม่สามารถเปิดได้”

ชาลิดา ศิริธนาบุญ
ชาลิดา ศิริธนาบุญ

อุปนายกสมาคมแพทย์แผนไทย แห่งประเทศไทย ยอมรับว่า เครียดมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ต้องก้มหน้าก้มตาต่อสู้ไป เพราะเริ่มต้นทำอาชีพนี้มานานแล้ว และอยากจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด แต่สิ่งที่กลัวที่สุด คือ ตอนนี้เงินเริ่มที่จะไม่มีแล้ว

เมื่อหันไปมองเพื่อนร่วมอาชีพด้วยกัน บางคนก็เลิกกิจการไปแล้วมากมาย จากข้อมูลที่ได้รับ คือ ประมาณครึ่งหนึ่งที่เลิกกิจการถาวร เพราะทุกคนไม่มีค่าเช่า เมื่อหันกลับมาดูตัวเอง ก็ยังคิดอยู่ว่าจะต้องเปลี่ยนอาชีพหรือไม่ เนื่องจากก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 จะดีขึ้นเมื่อไร

“ถึงแม้จะเปิดร้านได้ในช่วงนี้ แต่ลูกค้าก็อาจไม่กลับมาเหมือนเดิม ที่ผ่านมา ภาครัฐมีแต่จะออกมาตรการคุมเข้มด้านสาธารณสุข ทางร้านทุกร้านย่อมทำตาม แต่ไม่เคยที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านนวดด้านอื่นๆ เลย”

สบส.กระตุ้นผู้ประกอบการ เข้มป้องกันโควิด-19 เห็นใจอยากให้ได้เงินเยียวยา 

ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนการบริการสุขภาพ กล่าวว่า ตอนนี้ภาครัฐได้มีการผ่อนปรนปลดล็อกให้ร้านนวด สปา แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงงดเว้นในส่วนที่จะสัมผัสกับศีรษะหรือใบหน้า หรือ การใช้บริการร่วมกัน โดยทางเราได้มีการออกคู่มือสำหรับการใช้บริการไปแล้ว คือ การใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาในเวลาปฏิบัติงาน การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การไม่พูดคุยกับผู้ให้บริการ เพื่อป้องการสารคัดหลั่งต่างๆ

ที่ผ่านมา ทางผู้ประกอบการ อยากจะเรียกร้องให้ทางภาครัฐช่วยเหลือ เพราะมีความเดือดร้อน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับเช่าร้าน ซึ่งทางกรมฯ ก็รู้สึกเห็นใจ เพราะในตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ร้านเหล่านี้ถูกคำสั่งโดยภาครัฐให้ปิดร้านมาโดยตลอด ต้องมีการแบกค่าเช่าร้านต่างๆ

...

“ใจจริงเราอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการร้านเหล่านี้ เพราะถือว่าได้รับผลกระทบเต็มๆ แต่หน่วยงานของเรา เป็นแค่หน่วยงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยในร้านเท่านั้น จึงทำได้เท่านี้”

รองอธิบดีกรมสนับสนุนการบริการสุขภาพ เผยว่า ร้านนวดร้านสปาที่ขึ้นกับเรา มีทั้งหมด 10,500 แห่ง ทุกแห่งได้รับผลกระทบทั้งหมด บางร้านเขาก็อยู่ไม่ไหว ปิดกิจการไปก็มี โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากมีการให้บริการครบวงจร

...

“หากตีเป็นมูลค่าเม็ดเงินที่สูญหายสำหรับธุรกิจนี้ ตอนนี้คงตอบได้ยากเพราะข้อมูลต่างๆ ยังคำนวณไม่แล้วเสร็จ และเพิ่งผ่านมาได้แค่ครึ่งปี แต่หากเมื่อดูข้อมูลเมื่อปีที่ผ่านมา ก็พบว่า ธุรกิจร้านนวดสปา สามารถสร้างมูลค่าให้แก่ประเทศได้ปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยมีพนักงานนวดอยู่ประมาณ 100,000 กว่าราย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว พนักงานร้านนวดจะมีรายได้ประมาณเดือนละ 10,000 บาท 5-6 เดือนที่ผ่านมา”ทันตแพทย์อาคม กล่าว

ทันตแพทย์อาคม กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบัน ร้านนวดสปา เหล่านี้ต้องปรับตัว เนื่องจากโควิด-19 ระบาด ทางกรมจึงอยากให้มีการยกระดับการดูแลความปลอดภัยภายในร้านให้ปราศจากเชื้อโรค ซึ่ง “นวดแผนไทย” ถือเป็นมรดกโลก ทั่วโลกต่างจับตามองในธุรกิจนี้ ถ้ายกระดับการดูแลสุขอนามัยได้ ต่อไปนวดแผนไทย ก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้น

ที่ผ่านมา นวดและสปา มีมูลค่าตลาดในประเทศไทย ราว 3.5 หมื่นล้านต่อปี และมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี แต่ปีนี้ ยังไม่สามารถประเมินได้ หวังภาครัฐจะเห็นความสำคัญของธุรกิจนี้ 

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ