“A riot is the language of the unheard.’’ จลาจล คือ ภาษา ที่ไม่ได้ยิน
วรรคทองอมตะ จาก สุนทรพจน์ The other America ของ ด็อกเตอร์มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ที่ 3 (Martin Luther King III) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวผิวสี ใน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ในปัจจุบันอาจกำลังกลายเป็นสิ่งที่ ชาวอเมริกัน ต้องการสื่อถึง “ใครบางคน”
“ใครบางคน” ที่ทวีตข้อความที่ชวนตกตะลึง ว่า...
“When the looting starts the shooting starts” Thank you!
(แต่…เมื่อใดก็ตามที่เริ่มมีการปล้น ให้เริ่มยิงได้ทันที ขอบคุณ)
และบางที ใครบางคน นั้น อาจไม่ได้ยินเสียง "I can't breathe" (ผมหายใจไม่ออก)
รวมทั้ง ข้อมูลสำคัญชุดนี้.....
เว็ปไซต์ Mapping Police Violence https://mappingpoliceviolence.org พบว่า ในปี 2019 มีคนผิวสีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐอเมริกา “สังหาร” รวมกันมากถึง 1,099 ศพ และในทั้งปีนั้น มีเพียง 27 วันเท่านั้น ที่ตำรวจสหรัฐฯ ไม่ได้ลงมือสังหาร “ใครสักคน”
และจากสถิติดังกล่าว ยังพบอีกด้วยว่า คนผิวสี มีโอกาสที่จะถูกตำรวจฆ่ามากกว่า คนผิวขาว ถึง 3 เท่า หนำซ้ำ คนผิวสี ที่ปราศจากอาวุธ ยังมีโอกาสที่จะถูกตำรวจสังหาร มากกว่า คนผิวขาว ถึง 1.3 เท่าด้วยเช่นกัน
หากแต่...สถิติที่เว็บไซต์นี้ฟ้องต่อชาวโลก อาจทำให้ “คุณ” ต้องอึ้งขึ้นไปอีกแน่ๆ เพราะตั้งแต่ปี 2013 จนถึง ปี 2019 นั้น พบว่า ตำรวจสหรัฐถึง 99% ไม่เคยต้องรับผิดชอบใดๆ “จากการกระทำของตัวเองเลย”
...
เห็นแบบนี้แล้วใคร่สงสัยยิ่งนักว่า โฆษณาชวนเชื่อชาวโลกจากบรรดาซีรีส์และภาพยนตร์ ที่มักอวดอ้างว่า นิติวิทยาศาสตร์ของประเทศตัวเองแน่นปึกนั้น ที่จริงแล้ว มันความจริงหรือไม่?
"I can't breathe" (ผมหายใจไม่ออก) สำคัญไฉน?
นี่คือ “ประโยค” ที่ปัจจุบัน ได้กลายเป็น “นัย” เชิงตั้งคำถามถึงเสรีภาพ ความเสมอภาค และ ภราดรภาพ บนแผ่นดินเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ว่าแท้ที่จริงแล้ว...หลังการเปิดสงครามกลางเมือง ฆ่าฟันคนในชาติเดียวกัน เพื่อปลดแอกธุรกิจค้ามนุษย์ เมื่อหลายร้อยปีก่อนนั้น
ปัจจุบัน ณ ดินแดนแห่งนั้นเป็น ดินแดนแห่งความฝัน ของเสรีชนจริงหรือไม่?
เหตุการณ์ที่ดูแล้ว ไม่ต่างอะไรกับการ (จงใจ) ฆาตกรรมหนุ่มผิวสีกลางถนน ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐถึง 4 นาย ท่ามกลางประชาชนจำนวนมาก ที่ทั้งถ่ายคลิปและร้องเตือน ให้ปล่อยเหยื่อจากอุ้งมือมัจจุราช แต่กลับไม่ได้รับความสนใจใดๆ จากผู้ที่กระทำ รวมถึงนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ที่เอาแต่สนใจ “เรื่องนอกประเทศ” มากกว่า “ปัญหาบนแผ่นดินของตัวเอง”
จนกระทั่ง เหยื่อเคราะห์ร้าย ต้องมาสิ้นใจตายอย่างทุกข์ทรมาน! และทำให้เกิด “กลียุคเผาบ้านเผาเมือง” เพื่อเรียกร้องหา “ความยุติธรรม” บนแผ่นดินที่อวดอ้างว่า มี เสรีภาพทุกตารางนิ้ว และมักจะ “ชี้นิ้ว” ไปที่ประเทศอื่นๆ ว่ามี “มาตรฐาน” เรื่องเสรีภาพและความยุติธรรม ต่ำกว่า “แผ่นดินของตัวเอง”
"Please, I can't breathe" (กรุณาเถอะ...ผมหายใจไม่ออก)
"My stomach hurts," (ผมเจ็บท้อง)
"My neck hurts. Everything hurts." (คอผมเจ็บ ทั่วร่างกายของผมเจ็บไปหมดแล้ว)
"Give me some water or something. Please. Please." (ขอน้ำให้ผมดื่มสักนิดเถอะ กรุณาผมด้วย กรุณาผมด้วย)
เสียงคร่ำครวญอย่างน่าเวทนาของชายผิวสี ที่มีชื่อว่า จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยร้านอาหารมานานถึง 5 ปี ที่วินาทีนั้น เหนือร่างของที่กำลังนอนคว่ำแบบไร้ทางสู้ของ “เขา” มีเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาว เมืองมินนีแอโพลิส (Minneapolis) ที่มีชื่อว่า เดริก ชอวิน (Derek Chauvin) บรรจงทิ้งน้ำหนักทั้งตัวลงบนเข่า เพื่อ “บดขยี้” เข้าไปที่บริเวณลำคอของหนุ่มผิวสีวัย 46 ปี เป็นเวลานานถึง 8 นาที! ในขณะที่เพื่อนตำรวจอีก 3 นาย คนหนึ่ง “ยืนดูต้นทาง” คอยห้ามไม่ให้ “อเมริกันมุง” นับร้อยคน เข้ามาช่วยเหยื่อ ส่วนอีก 2 นาย คอย “ตรึงร่าง” ที่กำลังหายใจไม่ออก ให้คว่ำหน้าคาถนนต่อไป
...
MAMA! (แม่) คำพูดสุดท้ายของ จอร์จ ฟลอยด์ ก่อนที่เขาจะไม่สามารถพูดได้อีกตลอดกาล และสิ้นใจตายที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา
คำอธิบายของตำรวจทั้ง 4 นาย ต่อการเสียชีวิตของเหยื่อ คือ หมอนี่ “พยายามขัดขืนการจับกุม”
หากแต่ “คำตอบ” ดังกล่าว ทำให้เกิด “คำถาม” ตามมาดังๆ จากทั่วทุกสารทิศทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกว่า การจับกุมตัว “ผู้ต้องสงสัย” คนหนึ่งที่ไร้ทางสู้ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมากถึง 4 นายนั้น จำเป็นต้องทำถึงขนาดนี้เลยน่ะหรือ?
โดยเฉพาะเมื่อมีหลักฐานจากคลิปวิดีโอของอเมริกันมุงจำนวนมาก รวมถึงภาพจากกล้องวงจรปิดในบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่า “ผู้ต้องสงสัยคนนั้น” ปราศจากอาวุธ และไม่ได้มีท่าทีใดๆ ที่จะขัดขืนการจับกุม ดังที่ตำรวจทั้ง 4 นาย เอ่ยอ้าง!
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หลังการเสียชีวิตอย่างน่าเวทนา ผู้ลงมือใช้เข่า “กดทับคอ” กลับถูกตั้งข้อหาแสนเบาอย่าง “ข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา” และ “ให้ออกจากราชการ” เอาไว้ก่อน เท่านั้น (ปัจจุบันถูกตั้งข้อหาหนัก(ขึ้น)กว่าเดิม)
ทั้งๆ ที่ จาค็อบ เฟรย์ (Jacob Frey) นายกเทศมนตรี เมืองมินนีแอโพลิส อธิบายถึงการกระทำของตำรวจทั้ง 4 นายว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อเทคนิคการจับกุมตัวคนร้าย “ตามคู่มือการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” และไม่มีเหตุผลจำเป็นใดๆ เลยที่จะใช้ “เข่า” กดทับลงไปบริเวณต้นคอของผู้ต้องสงสัย
และในเมื่อใกล้เคียงอย่างยิ่งที่ “ชายผิวสีผู้น่าสงสาร” จะไม่ได้รับความเป็นธรรม นั่นแหละ ไฟแห่งการเรียกร้อง “ความยุติธรรม” จึงถูกจุดขึ้นบนดินแดนแห่งเสรีภาพ (อีกครั้ง)
...
และเหตุแห่งการจุดติดนั้น ก็มาจากไวรัลคลิป "I can't breathe" (ผมหายใจไม่ออก) ที่ถูกแชร์ยับบนโลกโซเชียลมีเดีย จนกระทั่งทำให้ ชาวอเมริกันทั้งผิวสีและผิวขาว ที่รักความยุติธรรม ต่างออกมาแสดงพลัง ก่อเหตุจลาจลเผาบ้านเผาเมือง จนกระทั่งทำให้มีถึง 25 เมือง ต้องออกมาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เอ๊ย...ประกาศเคอร์ฟิว หลังต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ประท้วงนับพันคนบนท้องถนน รวมถึงฝูงก้อนหิน ที่ปาเข้าตอบโต้ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง เพื่อหวังสลายการชุมนุม
หากแต่เหตุการณ์ “ชายผิวสี” ถูก “กระทำการป่าเถื่อน” จากเจ้าหน้าที่รัฐผิวขาว จนนำไปสู่ การเผาบ้านเผาเมือง ครั้งนี้ มิใช่เกิดขึ้นครั้งแรก หากแต่ USA เคยพานพบกับ เหตุการณ์ “เดจาวู” คล้ายๆ กันนี้มาแล้ว หนึ่งในเหตุการณ์นั้น คือ...
Los Angeles Riots 1992 (การจลาจล ที่ลอสแอนเจลิส)
มีนาคม 1991 ชายผิวสี ที่มีชื่อว่า ร็อดนีย์ คิงส์ (RODNEY KING) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลอสแอนเจลิส กระชากตัวลงมาจากรถยนต์ จากนั้นตำรวจผิวขาว 4 นาย ได้เข้ารุมกระหน่ำทำร้ายร่างกายชายผิวสีเคราะห์ร้าย อย่างโหดเหี้ยม กลางถนนหลวง ในขณะที่เพื่อนๆ ตำรวจอีกหลายนายทำเพียง “ยืนดูอยู่เฉยๆ” ไม่ได้คิดจะพยายามเข้าไปห้ามปราม หรือช่วยเหลือ “เหยื่อ” แม้แต่เพียงน้อยนิด และหลังจากถูก “รุมซ้อมอย่างหนักหน่วง” ร็อดนีย์ คิงส์ ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส กะโหลกร้าว กระดูกหักหลายแห่ง ฟันหลุดหลายซี่ สมองบางส่วนได้รับความเสียหาย ยังถูกตั้งข้อหา “ต่อสู้ขัดขืนการจับกุม” เป็นของแถมอีกด้วย
...
แต่โชคดีที่ เหตุการณ์ทารุณกรรมทั้งหมด ถูกบันทึกเอาไว้ได้โดยช่างภาพสมัครเล่น ที่มีชื่อว่า จอร์จ ฮอลิเดย์ (George Holliday) จากนั้นมันได้ถูกเผยแพร่ออกไป จนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก
อย่างไรก็ดี แม้จะมีวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเอาไว้ได้ แต่ก็แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ในเวลาต่อมา ตำรวจ LA ทั้ง 4 นาย ที่ถูกดำเนินคดีจากข้อหา “ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ” กลับถูก “คณะลูกขุน 12 คน” ที่ประกอบด้วย คนผิวขาวถึง 9 คน เชื้อสายลาติน 1 คน เอเชีย 1 คน บุคคล 2 สัญชาติอีก 1 คน ตัดสินว่าทั้ง 4 คน “ไม่มีความผิด” ในเดือนเมษายน ปี 1992
และจากคำตัดสิน “อันไร้ซึ่งความยุติธรรม” ในสายตาชาวแอฟริกัน-อเมริกันนี้เอง อีกเพียง 3 ชั่วโมงต่อมา เหตุจลาจลเผาบ้านเผาเมือง (LA) เป็นระยะเวลาถึง 4 วันติดต่อกัน ก็เกิดขึ้น....จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 55 ศพ อีกมากกว่า 2,300 คน ได้รับบาดเจ็บ ในขณะที่บ้านเรือนและร้านรวงต่างๆ ถูกเผาได้รับความเสียหาย มากกว่า 1,000 หลัง สร้างความเสียหายมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ!
2 เหตุการณ์ที่แทบจะ “ไม่มีความแตกต่างกัน” ทั้งๆ ที่มันผ่านมานานถึง 30 ปี เข้าให้แล้ว!
จริงหรือ? สหรัฐอเมริกา มีเสรีภาพ และ ความเท่าเทียม
ควรมีการตั้งคำถามตัวโตๆ ได้หรือยังว่า ปัญหาความไม่เท่าเทียม ระหว่าง คนผิวสี และ คนผิวขาว บนดินแดน (อวดอ้าง) เสรีภาพทุกตารางนิ้วนี้ ยังคงมีปัญหาซุกซ่อนอยู่ใต้พรม เพียงแต่รอวันที่จะระเบิดออกมาเมื่อไหร่เท่านั้น!
หากแต่ในความเหมือนที่แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างของทั้งสองเหตุการณ์นั้น ยังคงมีความ “แตกต่าง” ซุกซ่อนอยู่
แล้วอะไรคือ “ความแตกต่าง” ที่ว่านั้นน่ะหรือ?
“ผมได้ร้องขอให้มีการสืบสวนเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน และผมขอชื่นชมอย่างยิ่งกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ภายใต้กฎมายของรัฐมินนิโซตา หัวใจของผมโศกเศร้าไปกับครอบครัวและเพื่อนของ จอร์จ ฟลอยด์ ความยุติธรรมจะต้องบังเกิดขึ้น”
ทวนอีกครั้ง “พอใจอย่างยิ่งกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ” อืม.....
และเมื่อประชาชนในเมืองมินนีแอโพลิส ลุกฮือก่อจลาจล บุกสถานีตำรวจ เพื่อต่อต้าน ความ “อยุติธรรม” ที่เกิดขึ้น ท่านผู้นำทรัมป์ ได้ทวีตข้อความว่า “ผมไม่สามารถก้าวถอยหลัง หรือเอาแต่เฝ้าดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองมินนีแอโพลิส หลังจากเมืองนี้มี นายกเทศมนตรีที่เป็นพวกซ้ายจัด และสุดแสนจะอ่อนแอ (เนื่องจากเป็นนายกเทศมนตรี ที่มาจากพรรคเดโมแครต) และหากเขายังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงได้ ผมจะส่งกองกำลัง National Guard เข้าไปจัดการเอง!”
ทวนอีกครั้ง “จะส่งกำลังทหารจาก รัฐบาลกลาง เข้าไปจัดการ ประชาชน” อืม....
และหนักหนาสาหัสมากยิ่งไปกว่านั้น คือ ประโยคจากทวีตนี้...
อันธพาล (กลุ่มผู้ประท้วง) เหล่านี้ ทำลายความระลึกถึง จอร์จ ฟลอยด์ ลงเสียสิ้น และผมจะไม่ยอมปล่อยให้มันเกิดขึ้น ผมบอกกับ ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา แล้วว่า กำลังทหาร (จากรัฐบาลกลาง) พร้อมให้การสนับสนุน และไม่ว่าจะยากเย็นแค่ไหน เราจะควบคุมมันให้ได้
และจากนั้น ก็ถึง “วรรคทอง” ที่โลกต้องจดจำ...
“When the looting starts the shooting starts” Thank you! (แต่…เมื่อใดก็ตามที่เริ่มมีการปล้น ให้เริ่มยิงได้ทันที ขอบคุณ) สาบานได้ว่า....นี่คือทวีตของท่านผู้นำแห่งโลกเสรี ณ พ.ศ.นี้
ทั้งๆ ที่ท่ามกลางเหตุจลาจลเผาบ้านเผาเมือง ประเทศสหรัฐอเมริกา แทบจะร้อนเป็นไฟ ท่านผู้นำโดนัลด์ ทรัมป์ กลับสาดน้ำมันลงบนกองเพลิงในหัวใจอันโกรธกริ้วของประชาชนเข้าให้ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายรัฐ “ยอมสยบ” ต่อประชาชนด้วยการ “คุกเข่า” ให้กับกลุ่มผู้ประท้วง เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเสียใจต่อเหตุการณ์ “อยุติธรรม” ที่เกิดขึ้นกับ จอร์จ ฟลอยด์
อืม.....เราขอตัดภาพ เพื่อแสดงความ “แตกต่าง” กันต่อดีกว่า
แล้ว ผู้นำสหรัฐอเมริกา ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ “ร็อดนีย์ คิงส์” ล่ะ....MR.PRESIDENT ณ เวลานั้น พูดกับอเมริกันชนแตกต่างจาก ท่านผู้นำทรัมป์ ว่าอย่างไร?
“น่าขยะแขยง”
ประธานาธิบดีจอร์จ บุช (George Bush) จาก พรรครีพับลิกัน (พรรคเดียวกันกับ ท่านผู้นำทรัมป์) ซึ่งในเวลานั้น นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ เรียก การกระทำอันโหดเหี้ยมของ ตำรวจทั้ง 4 นาย ที่ลงมือรุมทำร้าย “ร็อดนีย์ คิงส์” ว่า “น่าขยะแขยง”
“การกระทำอันโหดเหี้ยมนั้น กระตุกพวกเราทุกคนให้พยายามหาทางยุติความรุนแรงและโหดร้ายที่ไร้เหตุผลในทุกรูปแบบ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่อาจวางตนให้อยู่เหนือกฎหมาย ที่พวกเขาให้สัตย์สาบานว่าจะปกป้อง
และมันน่าขยะแขยงสิ้นดี ที่ต้องมาพบเห็นการทำร้ายร่างกายในลักษณะนี้ มันไม่มีทางเลย ไม่มีทางเลยในความเห็นของผม ที่จะมีคำอธิบายใดๆ สำหรับการกระทำอันแสนอุกอาจในครั้งนี้” บุช ผู้พ่อ กล่าวด้วยความอัดอั้นตันหัวใจ
แน่นอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ “น่าขยะแขยง” ดังที่ ท่านประธานาธิบดีบุช เรียก เพียงแค่ 2 เหตุการณ์นี้เท่านั้น ในอดีตที่ผ่านมา มันเคยเกิด ปรากฏการณ์ ข่มเหง รังแก หรือแม้กระทั่งสังหารคนผิวสีอย่างไร้เหตุผล โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ควบคู่มาตลอดประวัติศาสตร์ของประเทศนี้
ไม่เชื่อเราลองไปย้อนความหลังของ ประเทศแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แห่งนี้กัน
ประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton)
“หากมีวัยรุ่นผิวขาวอยู่ในละแวกของคนผิวขาว เรื่องแบบนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น”
ในระหว่างที่ “ท่านผู้นำรูปหล่อ” นั่งเก้าอี้ในห้องทำงานรูปไข่ (กรุณาอย่าคิดลึก ถึงเหตุการณ์อื้อฉาวคาวโลกีย์ในห้องนั้นประกอบ) เกิดซีรีส์เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังทำร้ายคนผิวสีหลายต่อหลายครั้ง แต่ที่รุนแรงที่สุดคือ เหตุการณ์ที่ เจ้าหนุ่ม (AMADOU DIALLO) วัย 23 ปี จากประเทศกินี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์ก 4 นาย รุมระดมยิงเข้าร่างถึง 19 นัด จากทั้งหมดที่รัวไปอย่างบ้าคลั่งถึง 41 นัด จนเสียชีวิต ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1999
ประธานาธิบดีบิล คลินตัน กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า ผมรู้สึกกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับข้อกล่าวหาที่ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ประพฤติผิดอย่างร้ายแรง รวมถึงมีรายงาน เรื่องเหยียดเชื้อชาติ ที่สั่นคลอนต่อความน่าเชื่อถือในองค์กรตำรวจอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆที่พวกเขา (ตำรวจ) ควรที่จะปกป้อง (ความน่าเชื่อถือ) นั้นเอาไว้ และเรื่องนี้มันจะต้องไม่เกิดขึ้นแต่เฉพาะ “คดี” ของ (AMADOU DIALLO) เท่านั้น
ผมคงไม่อาจก้าวล่วง การพิจารณาคดีของ “คณะลูกขุน” ได้ แต่...ผมรู้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาทุกเชื้อชาติ เชื่อมั่นว่า หากมีวัยรุ่นผิวขาว อยู่ในละแวกของคนผิวขาว เรื่องแบบนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา (Barack Obama)
“เมื่อใดที่ใครก็ตามในประเทศนี้ ไม่ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม นั่นคือ ปัญหา!”
และนี่คือ ต้นฉบับของ "I can't breathe" (ผมหายใจไม่ออก)
เจ้าของเสียงต้นฉบับคนนี้ คือ (Eric garner) หนุ่มแอฟริกัน-อเมริกัน วัย 43 ปี ที่ในอดีตเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์ก (อีกแล้ว) จับกุมตัวถึง 30 ครั้ง จากข้อหาขายบุหรี่ผิดกฎหมาย ต่อสู้และขัดขืนการจับกุม ในช่วงปี 1980 พอถึงปี 2014 เขาถูกตำรวจนิวยอร์กเข้าจับกุมตัวอีกครั้ง ในฐานะเป็นผู้ต้องสงสัยใน “คดีเดิมๆ”
แต่คราวนี้ เขาถูกตำรวจผิวขาว “ล็อกคอ” จากด้านหลังอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน จนกระทั่ง หลุดคำพูดออกมาว่า "I can't breathe" (ผมหายใจไม่ออก) ก่อนที่จะหมดสติลง แล้วไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา
โดย ประธานาธิบดีโอบามา กล่าวถึงเหตุการณ์นั้นว่า
“เราเห็นกันมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ที่ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจว่า จะได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม บางกรณีอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แต่ในบางกรณีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง
มันจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราชาวอเมริกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติไหน ภูมิภาคใด หรือ ความเชื่อแบบใด จะต้องรับทราบร่วมกันแล้วว่า นี่คือปัญหาของชาวอเมริกันทั้งผอง หาใช่ปัญหาของคนผิวดำ ผิวน้ำตาล หรือ ชนพื้นเมือง
แต่นี่คือ...ปัญหาของชาวอเมริกัน เมื่อใดที่ใครก็ตามในประเทศนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม นั่นคือ ปัญหา!”
และอีกไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อ หนุ่มน้อยผิวสี แอฟริกัน-อเมริกัน MICHAEL BROWN วัยเพียงแค่ 18 ปี ถูกตำรวจสายตรวจผิวขาว ยิงเสียชีวิตกลางถนน ในเมืองเฟอร์กูสัน (Ferguson) รัฐมิสซูรี ทั้งๆ ที่ไม่มีอาวุธ
ผู้นำผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์ของ ประเทศแห่งเสรีภาพ กล่าวว่า...
“พวกเราต้องรับทราบร่วมกันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของ ชาวเมืองเฟอร์กูสัน (Ferguson) แต่มันคือปัญหาของ ชาวอเมริกัน ทั้งมวล เราร่วมกันพัฒนากระบวนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติ ให้เติบโตและก้าวหน้ามาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งผมได้เห็นประจักษ์แก่สายตามาตลอดชีวิต และหากมีการปฏิเสธกระบวนการดังกล่าว ผมคิดว่านั่นคือ การปฏิเสธ การนำประเทศสหรัฐอเมริกาไปสู่การเปลี่ยนแปลง”
หากคุณอ่านมาถึงบรรทัดนี้ “คุณ” อาจรู้สึกซาบซึ้งไปกับ “สุนทรพจน์อันสุดแสนซาบซึ้งกินใจ” ของผู้นำอเมริกาทั้ง 3 ท่านใช่หรือไม่?
แต่เดี๋ยว เดี๋ยวก่อน...หาก “คุณ” ได้อ่านบรรทัดต่อจากนี้ไป “คุณ” อาจจะรู้สึก “พีค” ถึงความมาดมั่นและเด็ดเดี่ยว ในการพิทักษ์เสรีภาพและความเท่าเทียมของ คนทุกชนชั้น ในประเทศแห่งเสรีภาพ จนกระทั่งชายผู้นี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่คนผิวสีรักมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และอาจมากกว่า 3 ผู้นำสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ ก็เป็นได้...
โปรดอย่าถามว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามว่า ท่าน ได้ให้อะไรแก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา บ้าง?
อ่านเพียงแค่นี้ “คุณ” คงรู้แล้วใช่หรือไม่ว่า “เรา” กำลังจะเล่าถึง “ความมุ่งมั่นและเด็ดเดี่ยว” ของ “ใคร”?
ปี 1962 เมื่อ James Meredith Jr. หนุ่มผิวสี เชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน และทหารผ่านศึก ถูกปฏิเสธ ความพยายามเพื่อขอเข้าเรียนต่อ ที่มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี ถึง 4 ครั้ง บุรุษผู้กล่าว “สุนทรพจน์ที่ดีที่สุดในโลกการเมือง” ผู้นั้น โทรศัพท์สายตรงถึง อัยการสูงสุด และผู้ว่าการรัฐมิสซิสซิปปี เพื่อขอเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้นทันที แต่ในเบื้องต้น ความพยายามเพื่อหาทาง “แก้ปัญหา” ด้วยการเจรจาทุกรูปแบบ “ล้มเหลว”
และเมื่อบุรุษผู้นั้นสั่งให้เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลกลาง เดินทางไปพร้อมกับ หนุ่มทหารผ่านศึก เพื่อเข้าไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยเดิมอีกครั้ง คราวนี้พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐมิสซิสซิปปีเข้าขัดขวาง จนเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายขึ้น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบราย
นั่นแหละ บุรุษแห่งอเมริกา จึงหมดความอดทน โทรศัพท์สั่งหน่วยกองกำลัง “National Guard” เข้าไปที่มหาวิทยาลัย เพื่อจบปัญหาทันที จากนั้น James Meredith Jr. ก็ได้เข้าเรียนสมใจอยาก และเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ที่ไม่ได้อยากจะรับ “เขา” เข้าเรียนในที่สุด
และอีกครั้ง....
เมื่อ “George Wallace” เจ้าของ มอตโต้ "segregation now, segregation tomorrow, and segregation forever." (แยกกันตอนนี้ แยกกันพรุ่งนี้ และ แยกกันตลอดไป” ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืน ต่อต้านนโยบายการแบ่งแยกเชื้อชาติของรัฐบาลกลาง จนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐแอละแบมา ได้ประกาศต่อสาธารณชนว่า “จะขอปักหลักยืนอยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัย” เพื่อป้องกันไม่ให้ Vivian Juanita และ Malone Jones 2 นักศึกษาผิวสีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน เข้าไปสมัครเรียนที่ มหาวิทยาลัยแอละแบมา อย่างเด็ดขาด!
และเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อคำประกาศนั้น ผู้ว่าการรัฐแอละแบมา ได้สั่งการให้ “ตำรวจรัฐ” เข้าไปยืนขวางหน้าทางเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อ “ข่มขู่” 2 นักศึกษาผิวสี ทันที!
แต่เพียงสิ้นคำนั้น...กองกำลัง “National Guard” ถูกส่งมาคุ้มกัน 2 นักศึกษาผิวสี เดินฝ่ากองกำลังตำรวจรัฐ ที่ปิดทางเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อเข้าไปสมัครเรียนทันทีเช่นกัน!
จากนั้น “เขา” ได้กล่าวสุนทรพจน์ อันจับใจ อีกครั้งว่า...
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือ เรื่องของคุณธรรม เช่นเดียวกับ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฉะนั้น กฎหมายเรื่องการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงต้องได้รับความเห็นชอบ จาก “สภาคองเกรส” เพื่อเป็นหลักรับประกันว่า ประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน (การศึกษา) “อย่างเท่าเทียม”
และเจ้าของความมุ่งมั่นและคำพูดอันจับใจนั้น ก็คือ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ประธานาธิบดีคนที่ 35 แห่งสหรัฐอเมริกา
ช่างแตกต่าง....ทั้ง “คำพูด” และ “การกระทำ” จนแทบไม่น่าเชื่อว่า ทั้ง “จอห์น เอฟ เคนเนดี้” และ “ใครคนนั้น” คือ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เหมือนๆ กัน
และเพราะความ “แตกต่าง” เช่นนี้หรือไม่ ที่ทำให้...
“ประเทศสหรัฐอเมริกา ล้มเหลว ที่จะได้ยิน ชะตากรรมของคนผิวสีที่ยากจน และนับวันจะยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มันคือ ความล้มเหลว ที่จะได้ยิน คำมั่นสัญญา เรื่องเสรีภาพ และความยุติธรรม ที่พวกเรา (คนผิวสี) ไม่เคยพานพบ และมันคือความล้มเหลว ที่จะได้ยิน คนส่วนใหญ่ในชุมชนของคนผิวขาว ที่เอาแต่วิตกกังวลกับเรื่องความสงบสุข และสถานะทางสังคม มากกว่าความยุติธรรม ความเสมอภาค และ ความเป็นมนุษย์” ด็อกเตอร์มาร์ติน ลูเธอร์ คิง บันทึกไว้ ณ ค.ศ.1967
แต่จนถึงปัจจุบัน 53 ปี ผ่านพ้น ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือใครคนนั้น “ยังคงไม่ได้ยิน” เสียงของคนผิวสีเช่นเดิม!
ซึ่งมันคงไม่ต่างอะไรกับ ไฟในทำเนียบขาวทุกดวงที่ต้องดับลง ในวันที่ ชาวอเมริกัน พยายามไปร้องขอ ความยุติธรรม จาก ผู้นำคนปัจจุบัน ของ พวกเขา เช่นกัน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ชมสกู๊ปที่น่าสนใจ