หลังจบการติดตามรับชมซีรีส์ The Last Dance ของ Netflix ที่ยาวนานกว่า 10 ชั่วโมง คุณสัมผัสได้ถึงอะไรบ้าง?

"ราชา" ที่อยู่เหนือ "ราชา" ทั้งปวง

นักบาสเกตบอลที่เก่งและยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ของ "มนุษยชาติ"

ชายผู้คลั่งไคล้ "ชัยชนะ" ชนิดที่เรียกว่า "แพ้ไม่เป็น"

บุรุษที่เล่นบาสเกตบอลราวกับไม่จำเป็นต้องมี "เพื่อนร่วมทีม"

มนุษย์ที่สามารถ "ลอยตัวอยู่ในอากาศ" ได้ราวกับ "กำลังเดินอยู่บนผิวน้ำ"

หรือ "ใครสักคนหนึ่ง" ที่ประกาศ "ถึงความเย่อหยิ่ง" ในฝีมืออันมากล้นเกินมนุษย์มนาในวันที่พิชิตแชมป์ NBA สมัยที่ 6 ว่า

"แ_ง จะไม่มีใครได้แชมป์
ไปจนกว่าพวกเรา แ_ง จะเลิกเล่น"

คนที่สามารถพูดอะไรแบบนี้ได้...ในโลกนี้ อาจมีเพียง "เขา" ผู้นี้แค่เพียงคนเดียวเท่านั้น!

บุรุษผู้นี้มีนามว่า "ไมเคิล เจฟฟรีย์ จอร์แดน" (Michael Jeffrey Jordan) นักบาสเกตบอล ที่ไม่มีใครหน้าไหนบนโลกใบนี้สามารถต่อกรได้ และใครก็ตามที่แม้แต่เพียงคิด "อยากลองดี" จะถูก "ชายคนนี้" หมายหัวและจ้องบดขยี้ "บี้" จนไม่เหลือซากคาคอร์ท

เพียงเพื่อ...ให้รู้ว่า "ไอ้หนู แกกับฉัน ในโลกของบาสเกตบอลมันยังห่างชั้นกันเยอะ"

ทำไม "ผู้ชายคนนี้" จึงยิ่งใหญ่ในโลกกีฬายัดห่วงมากมายขนาดนั้นน่ะหรือ?

"The Jordan era" คือคำตอบที่ว่านั้น...

ตั้งแต่ปี 1984 ที่เขาเป็น Rookie ใน NBA ลีกบาสเกตบอลที่ดีที่สุดในโลก จนถึงวันรีไทร์รอบที่ 2 ในปี 1998 เขาพาทีม "ชิคาโกบูล" กวาดแชมป์ NBA ได้รวม 6 สมัย และยังเป็น 6 ครั้ง ที่ได้แชมป์แบบ 3 ปีติดต่อกัน คือ ระหว่างปี 1991-1993 และ 1996-1998

...

อ่อ...แต่หากคุณเห็น ค.ศ. แล้วเกิดสงสัยขึ้นมาว่า อ้าว...แล้ว 2 ปีที่ขาดวิ่นไป ทำไม "เขา" ไม่ได้แชมป์กันล่ะ?

นั่นเป็นเพราะ... "พี่แก" จู่ๆ เกิดประกาศ "ขอเลิกเล่นชั่วคราว" แล้วหันไปลองเล่น "เบสบอล" แบบขำๆ แทน จบนะ!

และอืม...ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเหตุพ่อของเขาถูกฆาตกรรมอย่างเหี้ยมโหด

ซึ่งนั่นแปลว่า ในช่วงเวลาที่หายไป ซึ่งชายผู้นี้กำลังอยู่ในช่วงพีคของอาชีพ หากยังกระโดดชู้ตแต้มอยู่ เขาอาจกวาดแชมป์ NBA ได้มากกว่า 6 สมัยก็เป็นได้!

ส่วนเกียรติประวัติส่วนตัว "ก็ไม่ได้มากมายอะไรนะ" บุรุษผู้ลืมตาดูโลกที่รัฐนอร์ธแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา พาทีมมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา คว้าแชมป์บาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา ในปี 1982 ทั้งๆ ที่เขาเพิ่งเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง! และพอขึ้นปี 2 กลายเป็น "ผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปี" ของวงการบาสเกตบอล มหาวิทยาลัยสหรัฐอเมริกา

จากนั้นพาทีมชาติสหรัฐอเมริกาคว้าเหรียญทองบาสเกตบอลในกีฬาโอลิมปิก ปี 1984 ที่ลอสแอนเจลิส (และครั้งที่ 2 กับผองเพื่อนเหนือมนุษย์ ในนาม "ดรีมทีม" เมื่อปี 1992 ที่บาร์เซโลนา)

และในปีเดียวกันนี้เอง นักศึกษาปีที่ 3 "จอร์แดน" ตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัย กระโดดเข้าสู่วงการ NBA ก่อนจะถูก DRAFTED ไปร่วมทีม "ชิคาโกบูล"

และประวัติศาสตร์มันได้ถูกขีดเขียนขึ้นจากนั้นเป็นต้นมา...

แค่เพียงปีแรกในฐานะผู้เล่นอาชีพ เขาก็คว้าตำแหน่ง Rookie of the Year ได้สำเร็จ! จากนั้น... "อภิมหาสถิติแห่งตำนาน" ก็รัวตามมาเป็นชุดๆ ผู้ทำสถิติทำคะแนนสูงสุด 7 ฤดูกาลติดต่อกัน ด้วยค่าเฉลี่ยสุดเหลือเชื่อ! 33 คะแนนต่อเกม

ผู้เล่นคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ NBA ต่อจาก "วิลท์ แชมเบอเลน" (Wilt Chamberlain) ที่ทำสกอร์ได้ถึง 3,000 แต้มในฤดูกาลเดียว (1986-87) และผู้ครองตำแหน่ง MVP (ผู้เล่นทรงคุณค่า) ถึง 5 สมัย (1988, 1991, 1992, 1996, 1998) ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ NBA

แต่เดี๋ยวก่อน...และหากคุณคิดว่า "เขา" ทำแต้มเป็นอย่างเดียว คุณกำลังคิดผิด... เพราะจอร์แดนได้รางวัลผู้เล่นเกมรับยอดเยี่ยมแห่งปีถึง 2 ครั้ง ในปี 1988 และ 1993 ด้วย! (จริงๆ แล้ว พี่แกอาจไม่คิดจะแบ่งรางวัลให้ใครเลยก็เป็นได้)

เดี๋ยวๆ...ยังไม่หมด ปี 1996 จอร์แดนถูกเลือกเป็น 1 ใน 50 ผู้เล่นยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลในประวัติศาสตร์ของ NBA และต่อมาในปี 2009 ถูกเลือกเข้าสู่ "หอแห่งเกียรติยศ" (Hall of Fame) ตบท้าย

...

เจ้าของส่วนสูง 1.98 เมตร และสวมใส่รองเท้าบาสเกตบอลข้างซ้ายไซส์ 13 และข้างขวาไซส์ 13.5 ยุติเส้นทางนักบาสเกตบอลอาชีพ ด้วยสถิติทำคะแนนรวม 32,292 แต้ม และมีค่าเฉลี่ย 30.12 แต้มต่อเกม

ซึ่งความยิ่งใหญ่ในแบบฉบับ Best of the Best นี่เอง ที่ทำให้ชื่อของเขายังคง "ขายได้" และแถมยังมีมูลค่าทางธุรกิจนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตราบจนถึงปัจจุบัน

แต่แน่นอน ฝีมืออันมากล้นเกินมนุษย์ หาใช่คำตอบเดียวของการสร้างมูลค่าทางการตลาดที่ล้นเหลือนั้น...

จาก MICHAEL JORDAN สู่ AIR JORDAN จาก "ตำนาน" สู่ "การตลาดพันล้าน" (ดอลลาร์สหรัฐ)

"ตอนแรกที่ผมสนใจ คือ อาดิดาส (ADIDAS) นะ ไม่ใช่ไนกี้ (NIKE)" จอร์แดนพูดเอาไว้แบบไม่เกรงอกเกรงใจ "แบรนด์คู่บารมี" ใน THE LAST DANCE

ย้อนความกลับไปก่อนที่โลกจะรู้จัก "สนีกเกอร์" ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกนั้น ในช่วงที่ "จอร์แดน" เป็น ROOKIE ที่มีแววสูงมากว่าน่าจะเจิดจรัสใน NBA สองแบรนด์กีฬาชั้นนำของโลก (หรืออาจเป็น 3 หากรวมคอนเวิร์ส (Converse) เข้าไปด้วย) จึงต่าง "เล็งเป้า" ส่งข้อเสนอทางธุรกิจที่งดงามมาที่ตัวเขาพร้อมๆ กัน ด้วยเพราะมั่นใจว่า แบรนด์น่าจะทำยอดขายจากการที่มีชายผู้นี้เป็นเครื่องดึงดูดแฟนๆ บาสเกตบอลได้ไม่ยาก

ในตอนแรก "จอร์แดน" อยากร่วมทำธุรกิจกับ "อาดิดาส" ที่ชื่อเสียงโด่งดัง ณ ขณะนั้นมากกว่า แต่หลังจากทางครอบครัวเตือนสติว่า อย่าเพิ่งรีบร้อนด่วนตัดสินใจ และควรไปฟังข้อเสนอจากทาง "ไนกี้" ดูเสียก่อน

"จอร์แดน" จึงตัดสินใจ "ลองไปฟังดู" ทั้งๆ ที่ใจตอนนั้น "บินไปหา" แบรนด์กีฬาเยอรมนีแล้วกว่า 80%!

"ผมไปเพราะพ่อและแม่บังคับให้ผมไป" จอร์แดนพูดใน "The Last Dance"

...

แต่แล้ว...ไนกี้ก็สามารถปิดดีล "เป่ากระหม่อม" แชมป์ NBA 6 สมัย ด้วยการทุ่มสัญญามูลค่าถึง 500,000 เหรียญสหรัฐ ต่อปี เป็นระยะเวลายาวนานถึง 5 ปี ทั้งๆ ที่ในตอนนั้น "จอร์แดน" เป็นแค่ ROOKIE ยังไม่ได้โด่งดังอะไรมากมาย และบรรดาสตาร์ NBA ชื่อดังในขณะนั้น ได้รับสัญญาในระดับเพียง 100,000-200,000 เหรียญสหรัฐ เท่านั้น!

แถมด้วยข้อเสนอที่ว่า "เขา" จะได้เป็น "เจ้าของ" SIGNATURE ผลิตภัณฑ์ชุดกีฬา และแน่นอน "รองเท้ากีฬา" ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ก้าวข้ามกรอบการทำธุรกิจ "ขายรองเท้า" ไปสู่ "การขาย" แทน

ซึ่ง Concept ฉีก "ขนบเดิมๆ" นี้ ในเวลาต่อมาได้เข้ามาเปลี่ยนแปลง "ธุรกิจรองเท้ากีฬาโลก" ไปตลอดกาล

ในขณะที่แบรนด์ฝ่ายตรงข้าม ซึ่ง "จอร์แดน" เทใจให้มากกว่าตั้งแต่แรก "ไม่มีอะไรแบบนี้เลย"

"ไนกี้" ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า พวกเขาต้องการใช้ "ไมเคิล จอร์แดน" เป็นชื่อ "ไลน์ผลิตภัณฑ์" เช่นเดียวกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับสุดยอดนักกีฬาเทนนิสโลกอย่าง "จิมมี คอนเนอร์ส" (Jimmy Connors) และ "สแตน สมิธ" (Stan Smith)

...

ว่าแต่...แล้วทำไม "ไม่มี" ผลิตภัณฑ์ชื่อ "ไมเคิล จอร์แดน" ออกมาล่ะ?

คำตอบคือ ในระหว่างการดีล ผู้บริหารไนกี้เกิดปิ๊งไอเดียว่า ทำไมเราไม่เอาคำว่า "AIR" ซึ่งมาจากเทคโนโลยีล่าสุดที่บริษัทกำลังพัฒนาสำหรับนำไปใช้กับ "รองเท้ากีฬารุ่นใหม่" รวมถึงคำว่า "AIR" ยังเป็น "คำจำกัดความ" ถึงลีลาการเล่นบาสเกตบอลอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สามารถลอยตัวอยู่ในอากาศได้เนิ่นนานกว่าชาวบ้านชาวช่องของ "ตำนานผู้นี้" ไปผสมกับชื่อ "จอร์แดน" กันล่ะ มันน่าจะทำให้มีจุดขายมากกว่าการที่จะนำชื่อ "ไมเคิล จอร์แดน" มาใช้แบบตรงไปตรงมา

และนี่แหละ...คือ "AIR JORDAN" ชื่อที่ต่อมา คือ "ตำนานไลน์ผลิตภัณฑ์กีฬา" มูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ ปัจจุบัน

และแน่นอน "ไลน์ผลิตภัณฑ์" ที่สร้างชื่อมากที่สุดก็คือ... "รองเท้า" หรือคนยุคนี้เรียกว่า "สนีกเกอร์"

จากค่าปรับ 5,000 เหรียญสหรัฐ ที่น่าอับอาย สู่ยอดขาย 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ!

"สนีกเกอร์คู่แรก" ที่ "ไนกี้" ให้ "ไมเคิล จอร์แดน" สวมใส่ในปี 1985 มีชื่อว่า "AIR JORDAN 1" ถูกออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องบินเจ็ต สปอร์ตคาร์ ดนตรีแจ๊ซ และธรรมชาติ รวมถึงยังเป็นการเปิดตัวเทคโนโลยี AIR อันแสนน่าภาคภูมิใจ

แต่...รู้ไหม? ด้วย "สีแดงดำสุดเตะตาของมัน" ซึ่งถือว่า "แปลกประหลาดอย่างยิ่ง" ในวงการกีฬายุคนั้น จึงทำให้ "AIR JORDAN 1" ถูกมองว่า เป็นของ "แปลกปลอม" ที่ขัดต่อ "นโยบายการแต่งกายนักกีฬาของ NBA" ที่ระบุว่า "ผู้เล่น" ในยุคนั้น ควรจะต้อง "สวมรองเท้า" ที่ไม่เพียงจะต้อง Matched กับยูนิฟอร์มของตัวเอง แต่ควรจะต้อง Matched กับรองเท้าที่เพื่อนร่วมทีมสวมใส่ด้วย!

ซึ่ง "นโยบาย" ที่ใครฟังแล้วคงต้องแทบตกเก้าอี้นี้ นำไปสู่ "กฎ 51%" คือ "รองเท้า" จะต้องมีพื้นที่สีขาวถึง 51% เพื่อให้สอดคล้องกับที่นักกีฬาคนอื่นๆ เขา "สวมใส่" กันอยู่ ณ เวลานั้น!

ถ้าจะแปลความง่ายๆ เป็นภาษามนุษย์ คือ สิ่งที่ NBA ต้องการ คือ รองเท้านักบาสเกตบอล NBA ควรจะเป็น "สีขาว" เพราะนักกีฬาสมัยนั้นส่วนใหญ่เขาสวมใส่กันแต่ "รองเท้าสีขาว" จบนะ!

แต่เพราะไอ้เจ้า "AIR JORDAN 1" นี้ มันดันเป็น "สีแดงดำ" ที่ไม่เข้ากฎดังกล่าวสักข้อ ด้วยเหตุนี้ "เดวิด สเติร์น" (David Stern) อดีตผู้บริหารของ NBA จึงมีคำสั่ง "แบน" มันทันทีที่เห็นเจ้า ROOKIE วัย 21 ปี ที่เพิ่งเข้ามาเล่น NBA แท้ๆ

แต่ดันกล้าหาญชาญชัยสวมใส่มันลงแข่งกับ "ทีมนิวยอร์ก นิกส์" ในวันที่ 18 ตุลาคม 1984 พร้อมกับ "เรียกขาน" รองเท้าของไอ้หนุ่มคนนี้ ว่า "the Devil's colors" 

อืม...ซึ่งก็แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า "ประเทศแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" จะมีกฎเกณฑ์อะไรแบบนี้ได้ และกว่าที่จะถูก "ยกเลิก" ก็ต้อง "ล่วงเลย" เข้าสู่ยุคมิลเลนเนียมเลยทีเดียว!

แต่ด้วยความมั่นใจว่าของ "แปลกปลอมคู่นี้" ต้องขายดีแน่ๆ ไนกี้จึงยอมจ่ายเงินค่าปรับถึง 5,000 เหรียญสหรัฐ ในทุกๆ นัดที่ "จอร์แดน" สวมใส่มัน "เหาะทะยานในอากาศ" ดังก์ทำแต้มทุบคู่แข่ง ในศึก NBA!

แถมเมื่อบอร์ดบริหาร NBA สุดทน ทำหนังสือเตือนถึงเรื่อง "กฎนักเรียนประถมและมัธยมต้น ต้องไว้ผมทรงนักเรียน" อุ๊ยๆ...ผิดประเทศ ขอโทษที

ดึงสติแล้ว "อ่านอีกทีนะ" เมื่อบอร์ดบริหาร NBA สุดทน ทำหนังสือถึง "ไนกี้" ที่แม้จะไม่พูดตรงๆ ว่า "ห้ามน้องจอร์แดนแต่งกายผิดระเบียบ" แต่ความหมายที่ต้องการสื่อไม่แตกต่างกันสักนิด ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1985

แต่นอกจาก "ไนกี้" จะไม่สนใจแล้ว ยังใช้ "กฎ" ที่ว่านี้ โหมทำแคมเปญทางการตลาด ดันยอดขาย "AIR JORDAN 1" ด้วย

ซึ่งโฆษณาที่ประสบความสำเร็จและเรียกเสียงเกรียวกราวได้มากที่สุด คือ งานที่มีชื่อสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ‘Banned’

และในที่สุด "การใส่ไป ยอมถูกปรับไป" ก็ส่งผลทันทีที่ถูกวางจำหน่าย "มัน" ที่ในตอนนี้มี Story ห้อยท้าย ว่า "BANNED" ถูกขายหมดเกลี้ยงไม่เหลือสักคู่เดียว เพียงในปีแรกที่ออกวางจำหน่าย และสามารถทำเงินได้ถล่มทลายถึง 126 ล้านเหรียญสหรัฐ!

ทั้งๆ ที่ในตอนแรก "ไนกี้" คาดการณ์เอาไว้ว่า "AIR JORDAN 1" น่าจะสามารถทำเงินให้พวกเขาได้ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลาการขายถึง 4 ปี! แท้ๆ

จากนั้นเป็นต้นมา...ซีรีส์สนีกเกอร์ "AIR JORDAN" จึงถูก "จุดติด" เพื่อ "เผาผลาญ" เงินในกระเป๋าของ "พวกเรา" มาจนถึงปัจจุบัน...

เพราะมันคือ... "สนีกเกอร์" ที่วัยรุ่นทุกคนต้องมี ขนาด "จัสติน ทิมเบอร์เลค" (Justin Timberlake) POP STARS ระดับโลก ยังยอมรับเลยว่าช่วงที่เป็นวัยรุ่น เขาต้องตั้งหน้าตั้งตาทำงานพิเศษ เพื่อเตรียมเก็บเงินเอาไว้เป็นทุนสำหรับซื้อสนีกเกอร์ AIR JORDAN ที่จะออกมาในทุกๆ ปี

แต่หากคุณ ไม่ได้อยู่ในวงการ "STREETWEAR" และอ่านมาถึงบรรทัดนี้ ก็ยัง "จินตนาการ" ไม่ออกว่า สนีกเกอร์ "AIR JORDAN" มันถูก "คลั่งไคล้" ในระดับไหน?

งั้น "คุณ" ตามมาทางนี้... เว็ปไซต์ Stockx.com เว็บซื้อขายแลกเปลี่ยน "Rareitem" ชื่อดังสำหรับสาวกสนีกเกอร์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงช่วงรอบพรีเมียร์ The Last Dance ในวันที่ 18 เมษายน "AIR JORDAN 1 CHICAGO" รุ่นปี 2015 ที่แทบจะถอดโมเดล AIR JORDAN 1 ทั้งดุ้น มาผลิตเพื่อวางขายใหม่ ถูกเจรจา ซื้อ-ขาย ในเว็ปไซต์มากถึง 217 คู่ ในราคาเฉลี่ยถึงคู่ละ 925 เหรียญสหรัฐ หรือ 29,458 บาท และ 2 สัปดาห์ต่อมา อีก 60 คู่ ถูกขายออกไปด้วยราคาเฉลี่ย 1,241 เหรียญสหรัฐ หรือ 39,522 บาท

ราคาของ "มัน" เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งราคาที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ อาจทำให้ผู้ขายมีกำไรมากกว่า "เก็งกำไร" ทองคำเสียอีก!

และล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา "AIR JORDAN 1" ที่มีทั้งลายเซ็นและเป็นคู่ที่ "มนุษย์เหินเวหา" เคยสวมใส่ลงแข่งขันเมื่อปี 1985 ถูก "ทุ่มประมูลซื้อ" ในราคาที่แพงสุดเหลือเชื่อ 560,000 เหรียญสหรัฐ! หรือ 17,834,283 บาท ขึ้นแท่นเป็นสนีกเกอร์ที่มีราคาแพงที่สุดในโลกไปในบัดดล (ทั้งๆ ที่ราคาเปิดตัวของมันเมื่อปี 1985 อยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐ เท่านั้น!)

ปัจจุบัน สนีกเกอร์ AIR JORDAN มีไลน์การผลิตยืนยาวมาถึง 34 ปีแล้ว (1985-2019) โดยรุ่นล่าสุด คือ AIR JORDAN XXXIV โดยออกวางจำหน่ายเมื่อเดือนกันยายน 2019 และมีราคาเปิดตัวที่ 180 เหรียญสหรัฐ

ในขณะนี้ หากนับยอดขายทั้งหมดเฉพาะสนีกเกอร์ AIR JORDAN ทุกรุ่นนั้น เบื้องต้นคาดว่าน่าจะทำเงินไปแล้วมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!

ในขณะที่ ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ "AIR JORDAN" ทั้งหมดนั้น ล่าสุด สามารถทำเงินได้รวมถึง 3.14 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังสิ้นสุดปีงบประมาณในเดือนพฤษภาคม ปี 2019 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เติบโตขึ้น 10% จากปี 2018

และหากใคร "ยังไม่รู้" แม้ปัจจุบัน "จอร์แดน" จะรีไทร์ไปนานเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว แต่เขายังคงสามารถทำเงินจากชื่อเสียงอันเกรียงไกรได้เรื่อยๆ ชนิดที่เรียกว่า บรรดา "สตาร์รุ่นน้อง" ที่ได้รับการจับตาว่า น่าจะมาเป็น "ทายาทคนต่อไป" ของ "ราชาที่สละบัลลังก์" อย่าง "โคบี ไบรอันท์" (KOBE BRYANT) หรือ "เลอบรอน เจมส์" (LEBRON JAMES) ได้แต่ปรายสายตาแลมอง

นั่นเป็นเพราะสนีกเกอร์ของ MJ ทำเงินรวมอย่างน้อย 130 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ถึง 4 ครั้ง ในขณะที่ "เลอบรอน เจมส์" ในฐานะผู้ทำเงินจากสนีกเกอร์มากเป็นลำดับที่ 2 ในโลกบาสเกตบอล สามารถทำเงินสูงสุดได้เพียง 32 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่านั้น! ในขณะที่ ลำดับที่ 3 คือ KD "เควิน ดูแรนท์" (KEVIN DURANT) ทำเงินไปได้เพียง 26 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ สตาร์ผู้ล่วงลับเจ้าของฉายา BLACK MAMBA "โคบี ไบรอันท์" (KOBE BRYANT) ทำเงินจากสนีกเกอร์ได้ราว 16 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่านั้น

ห่างกันไกลชนิด "มองไม่เห็น" เงาหลังอันยิ่งใหญ่ของชายผู้เป็นตำนาน!

และหากนับเฉพาะรายได้จากสนีกเกอร์เพียงอย่างเดียวของ "จอร์แดน" นั้น ยังสูงกว่าที่แชมป์นักกีฬา (ที่ยังเล่นอยู่) ที่สามารถทำเงินได้สูงสุดในโลก (127 ล้านเหรียญสหรัฐ) ประจำปี 2019 อย่างสตาร์ลูกหนัง "ลีโอเนล เมสซี" อัจฉริยะชาวอาร์เจนตินาอีกด้วย!

โดย (John Kernan) นักวิเคราะห์จาก Cowen & Co บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก วิเคราะห์การเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า แบรนด์ AIR JORDAN กำลังเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จากความคิดสร้างสรรค์เรื่องการเพิ่มสีสันใหม่ๆ ลงบนผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวออกมาเรื่อยๆ รวมถึงยังสามารถบริหารจัดการเรื่อง "อุปทาน" และ "อุปสงค์" เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ "มีราคาสูงได้ตลอดเวลา" อย่างน่าทึ่ง ทำให้ "มัน" กำลังจะค่อยๆ ขยายตัวไปมากกว่าเป็นเพียงแค่ Lifestyle Brand ไปแล้ว

แต่โลกเรา "มี 2 ด้านเสมอ" เมื่อมี "ความงดงาม" จากความ "คลั่งไคล้" ได้ มันก็ย่อมมี "ความเหี้ยมโหด" จากความ "คลั่งไคล้" ได้เช่นกัน

และนี่คือ Story ที่สุดแสนขมขื่น ซึ่งมี "ต้นเหตุ" มาจาก...สนีกเกอร์แห่งความฝันของวัยรุ่นอเมริกาและทั่วโลก

เดือนพฤษภาคม ปี 1989 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม James David Martin วัย 17 ปี หลังก่อเหตุฆาตกรรมด้วยการบีบคอ Michael Eugene Thomas หนุ่มน้อยเพื่อนบ้านวัย 15 ปี จนเสียชีวิต ขณะกำลังเดินกลับบ้าน ก่อนขโมยรองเท้า AIR JORDAN มูลค่า 115 เหรียญสหรัฐ ไป แล้วทิ้งศพเหยื่อในสภาพ "เท้าเปลือย" หมกไว้ในป่าใกล้โรงเรียน

หนุ่มน้อย "เหยื่อฆาตกรโหด" ผู้มี "ไมเคิล จอร์แดน" เป็น "ไอดอล" เพิ่งได้รองเท้าคู่นี้มาเพียง 2 สัปดาห์ เขาเก็บรักษาและทำความสะอาด "มัน" เป็นอย่างดี หลังสวมใส่มันไปโรงเรียนด้วยความภาคภูมิใจทุกวัน ก่อนที่จะเกิดเหตุสลด

ทั้งๆ ที่คนในครอบครัวต่างเตือน "หนุ่มน้อย" ด้วยความเป็นห่วงหลายครั้งแล้วว่า "อย่าสวมมันไปโรงเรียน" เพราะ "มัน" เป็นที่ "หมายตา" ของวัยรุ่นทุกคนในยุคนั้น

เดือนธันวาคม ปี 2012 Joshua Woods วัยรุ่นอเมริกัน วัย 22 ปี ถูก (Daron Taylor) วัย 16 ปี ที่มาพร้อมกับเพื่อนร่วมแก๊งอีก 3 คน ยิงเสียชีวิต ขณะกำลังเดินกลับบ้าน เพียงเพื่อต้องการ "ชิงรองเท้า" Nike Air Jordan XI ‘Bred’ มูลค่า 185 เหรียญสหรัฐ ไปครอบครอง

แม่ของ "เหยื่อฆาตกรรมชิงรองเท้า" กล่าวด้วยความเศร้าสร้อยว่า เด็กวัยรุ่นทุกคนต้องการรองเท้ารุ่นนี้ และ "บางคน" พร้อมที่จะทำทุกอย่างเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ได้ "มัน" มาครอบครอง

เดือนธันวาคม ปี 2017 เจมส์ แอนโทนี่ สมิธ (James Anthony Smith) หนุ่มน้อยชาวอเมริกัน วัย 17 ปี สุดตื่นเต้นหลังได้รับของขวัญคริสต์มาสจากแม่ เป็นรองเท้าในฝันสีแดง-ขาว Air Jordan 11 "win like 96" มูลค่า 250 เหรียญสหรัฐ

แต่แล้ว... เพียง 4 วันหลังความตื่นเต้นยินดี หนุ่มน้อยถูกแก๊งวัยรุ่นใช้อาวุธปืนเล็งหมายเอาชีวิตคาสนามบาสเกตบอลในกรุงวอชิงตัน พร้อมกับสำรอกคำพูดออกมาว่า "เอารองเท้าแกมาให้ฉันซะดีๆ"

และเมื่อ "หนุ่มน้อย" พยายามวิ่งหนีเพื่อรักษารองเท้าคู่สำคัญในชีวิตเอาไว้ เสียงปืนก็ดังขึ้น แก๊งวัยรุ่นสุดอำมหิตยิงใส่หลังของหนุ่มน้อยทันที

จากนั้นร่างของเขาก็ถูกทิ้งเอาไว้บนถนนที่ห่างจากจุดที่เขาถูก "ปล้น" เพียงไม่กี่มากน้อย แต่...รองเท้าคู่สำคัญได้ถูกถอดเอาไป เหลือทิ้งไว้เพียง "ถุงเท้าที่ห่อหุ้มเท้าอันเปลือยเปล่า" เอาไว้เท่านั้น

"ฉันเจ็บ" หนูน้อยเจมส์ร้องบอกเพื่อนที่วิ่งมาดูอาการ และหลังถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลเพียง 2 ชั่วโมง เขาก็สิ้นใจลง ท่ามกลางคราบน้ำตาของคนในครอบครัว โดยแม่ผู้มอบของขวัญชิ้นพิเศษให้กับหนุ่มน้อย เนื่องในเทศกาลคริสต์มาส กล่าวหลังจากเกิดเหตุสลดว่า

"หากฉันรู้แบบนี้ ฉันคงไม่ซื้อมันให้กับลูก ถึงแม้จะรู้แก่ใจดีว่า เขาอยากได้มันขนาดไหนก็ตาม"

หนูน้อย "ตาย" ด้วยน้ำมือของฆาตกรวัยเพียง 16 ปี ซึ่งเป็น "เพื่อนบ้าน" ของ "เจมส์" และสาเหตุที่ลงมือ ก็เพียงเพราะต้องการได้ "รองเท้าคู่นี้" เท่านั้น!

และหาก "คุณ" ยังรู้สึกไม่อยากจะเชื่อกับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ มันยังมีข้อมูลอีกชุดที่น่าตกตะลึงกว่า นั่นก็คือ จากสถิติอาชญากรรมในสหรัฐอเมริกา พบว่า ในแต่ละปีจะมีวัยรุ่นถึง 1,200 คน ที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับด้านมืดแห่งวัฒนธรรม "คลั่งสนีกเกอร์" ที่เกินพอดีนี้ (นี่ขนาดยังไม่นับรวมปรากฏการณ์เอะอะ อาละวาด ชุลมุนวุ่นวายห้างแตกของวัยรุ่นทั่วโลกในเกือบทุกๆ ปี ที่สนีกเกอร์ "AIR JORDAN" วางจำหน่ายนะ!)

ซึ่งแน่นอนเมื่อมี "เรื่องอื้อฉาว" ก็ย่อมทำให้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะบรรดาผู้ปกครองของเหล่าวัยรุ่นทั้งหลาย ต่างมองแบรนด์ JORDAN ด้วยสายตาเชิงลบไปอย่างช่วยไม่ได้ โดยเฉพาะในประเด็นความพยายาม "ยั่วยุเด็ก" ให้เกิดความต้องการจนเกินพอดี เพื่อหวังผลทางการตลาด จนกระทั่งนำไปสู่เหตุอาชญากรรมดังที่กล่าว

แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการมองมุมต่างของเรื่องนี้ เราไปฟัง MJ พูดถึงเรื่องนี้กัน

"ผมแทบไม่อยากจะเชื่อเรื่องที่เกิดขึ้น ผมคิดว่า คนทุกคนควรจะพยายามเลียนแบบในสิ่งดีๆ ที่ผมทำ และควรพยายามทำมันให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งแน่นอนว่า "มันต้องไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย"

และผมไม่เคยคิดเลยว่า เพราะการที่ผมแค่มาโฆษณาขายรองเท้า หรือผลิตภัณฑ์อื่นใด จะทำให้มีคนไป "คุกคามเอาชีวิตของผู้อื่นได้" ..." บุรุษผู้สามารถเดินในอากาศได้ กล่าว

ในขณะที่ "ฮาวเวิร์ด ไวท์" (Howard White) ผู้บริหารระดับสูงของ JORDAN BRAND มองอีกมุมจากกระแสความคลั่งไคล้นี้ว่า "หากเราลองมองโลกในแง่ดีจากกระแสความคลั่งไคล้สนีกเกอร์ที่เกิดขึ้น คุณจะพบว่า กลุ่มคนหนุ่มสาวเหล่านี้ ส่วนใหญ่ต่างมีแรงจูงใจที่จะหางานทำ เพื่อเก็บเงินก้อนแรกเอาไว้ สำหรับซื้อสนีกเกอร์ AIR JORDAN ให้ได้สักคู่นะ

ความเก่งฉกาจ ทุ่มเทสุดตัว ผู้ชนะ และแบบอย่างที่ดี ทั้งหมดนี้ อาจคือคำตอบ ของ คำถามที่ว่า เหตุใด ผู้ชายคนหนึ่ง จึงยิ่งใหญ่ ในโลกบาสเกตบอล และสร้างมูลค่าทางการตลาดได้อย่างน่าตกตะลึงถึงเพียงนี้

ถึงแม้นว่า...ในโลกที่สวยงามนั้น อาจมีร่องรอย ที่อาจไม่ถูกใจ ใครบางคนอยู่บ้างก็ตามทีเถอะ!

แล้วคุณล่ะ คิดอย่างไร กับ AIR JORDAN?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ข่าวอื่นๆ :