ตามติดชีวิตนางรำ (แก้บน) ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สร่าง แม้ถูกมอง "เต้นกินรำกิน" แต่ก็มีเกียรติ กว่าจะได้เงิน 20 บาทต่อรอบ ต้องแลกกับความอดทนนานัปการ รวมถึงเสี่ยงชีวิตทุกวินาที

ท่วงท่าร่ายรำอ่อนช้อย สวยงดงาม สวมเครื่องแต่งกายสีสดใส สวมชฏา ประดับประดาเครื่องทรงวิบวับแพรวพราวขณะ “รำแก้บน” ของ “นางรำ” แห่งศาลท่านท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ กทม. นั้น รู้หรือไม่ว่ากว่าแต่ละคนจะสลัดคราบจากคนธรรมดามาเป็น “นางรำ” รอบละ 1-2 นาทีนั้น พวกเขาเริ่มวิถีชีวิตกันอย่างไร

วันนี้ LIFE STORY พาไปตามติดชีวิตนางรำ (แก้บน) ที่เริ่มทำงานกันตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง นางวิภาพร ธูสรานนท์ หรือ เจี๊ยบ นางรำแห่งคณะรวมศิลป์ และรำแก้บนเป็นประจำที่ศาลท่านท้าวมหาพรหม หรือ ศาลพระพรหมเอราวัณที่แรกที่เดียว ใช้วิชาร่ายรำซึ่งเรียนจบนาฏศิลป์มาดำรงชีพนานกว่า 10 ปี ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตนางรำของตัวเธอเองและเพื่อนพ้องในคณะว่า ในช่วงโควิด-19 รำตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น โดยรำ 1 วัน เว้นไป 3 วัน เพราะมีนางรำทั้งหมด 4 คณะ ต้องสลับกันรำ

...

กิจวัตรประจำวันของนางรำในคณะ ตื่นตั้งแต่ตีสี่ ทำเองทุกอย่าง ทั้งแต่งหน้า แต่งตัว เย็บเสื้อเข้ารูปเพื่อให้ชุดเนี้ยบที่สุด หากวันใดหัวหน้าคณะจัดคิวให้แต่งเป็น “ตัวพระ” จะรับศึกหนักในการแต่งตัว เพราะต้องสวมเครื่องแต่งกายหลายชิ้น จะมีความลำบากเมื่อต้องเข้าห้องน้ำ ต้องเสียเวลาถอดช่วงล่างทั้งหมดออกทีละชิ้นๆ เหลือแค่เสื้อ ให้ทันเวลา 5 นาทีเพื่อเข้าห้องน้ำ

การจะเป็น “นางรำ” หากใจรักแต่ไม่ได้จบนาฏศิลป์ก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีความอดทนสูงในการฝึกรำ ตั้งวงให้สวย จีบให้เป็น รำให้ถูกต้อง ย่อให้สวยอ่อนช้อย แต่มีสิ่งหนึ่งที่น้อยคนจะรู้ว่า “นางรำ” ต้องรักษารูปร่างให้ดี ไม่อ้วน มิเช่นนั้นอาจถูกเชิญออก 

“มีใบเตือนมาบอกว่าอ้วนไปแล้วนะ ให้ลดลงภายในกี่เดือน ถ้าถึงเวลากำหนดมาดูกัน ถ้าไม่เป็นไปตามที่ตกลงก็จะเป็นอีกระดับว่าจะให้พักงานกี่เดือน ถ้าพักงานแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ต้องเชิญออก” นางรำเจี๊ยบเล่าขั้นตอน

ชีวิตนางรำใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ กว่าจะได้เงินค่ารำรอบละ 20 บาทต่อ 1-2 นาทีนั้น นอกจากทนร้อนแล้วยังต้องอดทนแบกรับน้ำหนักชุดและเครื่องประดับตั้งแต่ชฎา รวมๆ แล้วทั้งตัวหนักเกือบ 4 กิโลฯ ช่วงก่อนโควิด คนมาแก้บนเยอะเคยรำได้มากสุดประมาณ 200 รอบ รำติดต่อกันนานเกือบครึ่งชั่วโมง ส่งผลกระทบให้ปวดร้าวตั้งแต่ต้นคอถึงหลัง นางรำบางคนปวดเรื้อรังต้องไปพบหมอ และกินยา นอกจากนี้ยังเสี่ยงชีวิตทุกวินาที ทั้งเคยเกิดเหตุรถพุ่งมาตอนรำอยู่ และกรณีที่มีการลอบวางระเบิด แต่โชคดีที่ไม่มีนางรำได้รับอันตราย 

หลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลง เพราะรำได้มากสุดประมาณ 30 รอบต่อวัน เพลงรำโดยมากเป็นเพลงอวยพรที่มีหลายร้อยเพลง นักดนตรีเป็นคนเลือกว่าจะตีเพลงอะไร ส่วนนางรำก็รำท่าทางตามเพลง ขั้นตอนการรำแก้บน นางรำเจี๊ยบอธิบายว่า

“นางรำจะออกไปรำแก้บนให้ลูกค้าได้ต่อเมื่อลูกค้าเดินมาหารำที่โต๊ะ พอลูกค้ามานั่งเสร็จแล้ว ดนตรีจะตีขึ้น แล้วพี่ที่เป็นนางรำจะร้องเชื้อ คือ ร้องชื่อเจ้าภาพ เอ่ยชื่อเจ้าภาพ แล้วเราจะบอกว่าเจ้าภาพได้มาบนก็ขอให้การบนของเขาอวยพรให้เขามีความสุข สุขภาพแข็งแรงด้วย พอรำจบเพลง เราก็จะขอบคุณเจ้าภาพ”

...

นางรำก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ยังมีบางคนมองว่า "เต้นกินรำกิน ไม่มีเกียรติเหมือนอาชีพอื่น" ซึ่ง “นางรำเจี๊ยบ” ก็เคยถูกมองเช่นนั้น เธอรู้สึกเสียใจมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยต้องการให้คนอื่นเห็นว่า “อาชีพนางรำ” มีข้อดีและมีเกียรติ ไม่ได้ด้อยค่า เธอจึงพิสูจน์ด้วยการเรียนนาฏศิลป์จนจบ และยึดอาชีพนี้เลี้ยงครอบครัวมากว่า 10 ปี การเรียนจบนาฏศิลป์นอกจากไปเป็นครู ยังสามารถสร้างอาชีพอื่นๆ ได้

“เป็นครูสอนวัฒนธรรมของเรา รากเหง้าของเรา ทุกอย่างที่เป็นตัวตนของเรา มันแตกได้อีกหลายสาขา เราเรียนนาฏศิลป์มา เราอาจจะไปเก่งบัลเลต์ แจ๊สแดนซ์ ร้องดนตรีสากล คือมีทุกอย่างครบในวงจรของนาฏศิลป์ นาฏศิลป์มันกว้าง มันไม่ใช่แค่รำไทยอย่างเดียวหรือดนตรีไทยอย่างเดียว อยากให้มองลึกๆ หรือมองกว้างๆ มากกว่า” 

นี่แหละคือชีวิต “นางรำ” ศิลปะของไทยอันทรงคุณค่าที่ควรอนุรักษ์ไว้ ให้อยู่ลูกหลานคนไทยได้สืบทอดต่อไป แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วรุดหน้าเป็นสังคมแห่งเทคโนโลยีก็ตาม 

...

ทุกชีวิต มีมุมให้ค้นหาและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพราะนี่คือ LIFE STORY

ข่าวน่าสนใจ

...