‘ซีรีส์’ เป็นกระจกสะท้อนสังคม และ ‘ซีรีส์’ ก็เป็นไฟนำทางสังคม ... ประโยคที่ว่านี้ คือ นิยามที่บ่งบอกถึง ‘ซีรีส์เกาหลี’ ได้เป็นอย่างดี และ The World of the Married ก็เป็นทั้ง 2 อย่างในเรื่องเดียว โดยเฉพาะเรื่องราวการ "หย่าร้าง"

The World of the Married หรือ A World of Married Couple คือ ซีรีส์ที่บอกเล่าเรื่องราว "ชีวิตหลังแต่งงาน" ผ่านคู่รักชนชั้นกลางในเกาหลีใต้ ที่สร้างประวัติศาสตร์เรตติงผู้ชมสูงที่สุดในบรรดาซีรีส์ช่องเคเบิล จากเรตติง 6.260% ในตอนแรก ทะยานสู่เรตติง 28.371% ในตอนสุดท้าย ทำลายสถิติของซีรีส์ SKY Castle (23.78%) เมื่อปี 2562 เรียบร้อย

ขอไม่ขยายให้มากความ แต่บอกเลยว่า ซีรีส์ The World of the Married นั้นมีดีที่ "เนื้อหา" ที่เป็นทั้งกระจกสะท้อนและไฟนำทางสังคม

"คู่รักชนชั้นกลาง" มีชีวิตหลังแต่งงานอย่างไร? ถึงได้กระแทกใจผู้ชมนัก!!

ก่อนอื่นต้องบอกว่า ซีรีส์ The World of the Married มีการดัดแปลงเค้าโครงเรื่องมาจากซีรีส์ของช่องบีบีซี (BBC) ที่ชื่อว่า Doctor Foster แล้วนำมาปรับให้เข้ากับบริบทของสังคมเกาหลีใต้ ด้วยการเพิ่มบทสนทนาที่ออกแนวจิกกัด การนำเดินเรื่องโดยเชื่อมโยงให้เข้ากับสภาพสังคมที่มีการกีดกันและความไม่เท่าเทียมทางเพศ

ซึ่งประเด็นเรื่อง "เพศ" หากคนที่ติดตามซีรีส์เกาหลีใต้ หรือสนใจในวัฒนธรรมประเทศนี้ ก็คงพอทราบกันดีว่าเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมานานจนยากจะถอนโคนออกง่ายๆ

"คู่รักชนชั้นกลาง" ที่เกริ่นมาตั้งแต่ต้นนั้นก็คือ ‘จี ซอน อู’ หมอประจำโรงพยาบาลท้องถิ่นในโกซาน และ ‘อี แท โอ’ สามีที่มีความใฝ่ฝันเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ซึ่งหลังแต่งงานพวกเขาก็ได้อาศัยอยู่ภายในบ้านที่แสนอบอุ่น มีการตกแต่งอย่างสวยงามน่าอยู่ และมีลูกชาย 1 คน

...

ชีวิตดูราบรื่น ... แต่แล้วกลับไม่เป็นแบบนั้น ชีวิตครอบครัวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย

เมื่อ "คนหนึ่งทรยศ" ความสัมพันธ์ก็แตกละเอียดไม่เป็นชิ้นดี!!

‘หมอจี’ ผู้หญิงที่เคยภาคภูมิใจในความสำเร็จทั้งครอบครัวและหน้าที่การงาน กลับต้องพบกับชีวิตการแต่งงานที่แหลกเหลว หลัง "สามีนอกใจ" แอบมีสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับหญิงวัย 24 ปี และยิ่งชอกช้ำซ้ำเติมไปอีก เมื่อรู้ว่า... คนในสังคมรอบๆ ตัวต่างรับรู้ถึงความสัมพันธ์ลับนี้

…นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้น The World of the Married

อย่างที่บอกว่า ซีรีส์มีการนำเสนอโดยมีการเชื่อมโยงกับปัญหาทาง "เพศ" ดังนั้น ชีวิตหลังจากแต่งงาน ไปจนถึงสามีนอกใจ ‘หมอจี’ จึงต้องเผชิญกับความเจ็บช้ำต่อเนื่องเป็นโดมิโนอีกมาก

ซึ่งในส่วนรายละเอียดของเนื้อเรื่องขออนุญาตสงวนไว้... คุณผู้อ่านสามารถไปหารับชมเพิ่มต่อได้... แต่!! เราจะมาเรียนรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจในบางประเด็นของซีรีส์ The World of the Married กันต่อ

The World of the Married ไม่ได้เพียงแต่ได้รับความนิยมในเกาหลีใต้เท่านั้น ยังลามไปจนถึงประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียด้วย อย่างที่ ‘อินโดนีเซีย’ ก็ได้รับความสนใจอย่างมาก ทำสถิติซีรีส์ที่มียอดผู้ชมสูงสุดอีกด้วย แถมยังกลายเป็นประเด็นร้อนให้ถกกันทั้งโซเชียลมีเดีย

เพราะอะไร?

ผู้ชมในอินโดนีเซียต่างบอกว่า ซีรีส์ The World of the Married เหมือนกระจกสะท้อนสังคมผู้หญิงในประเทศตนเอง ความน่าสนใจคือ พวกเขาสามารถหยิบยกเรื่องราวจากซีรีส์มาถกกันในประเด็นของ "อำนาจ" หลังมีการแต่งงาน หรือแม้แต่การข่มเหงทารุณ รวมถึงการอบรมเลี้ยงดูลูกในภาวะครอบครัวผิดปกติ ซึ่งในชีวิตจริงพวกเธอแทบจะหาความเท่าเทียมทางเพศไม่ได้เลย

โดยเฉพาะการ "หย่าร้าง" ที่เป็นบั้นปลายชีวิต ‘หมอจี’ ก็แสนจะตรงกับพวกเขา แตกต่างออกไปตรงที่ซีรีส์ The World of the Married แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของกลุ่มสตรี แต่ในอินโดนีเซียกลับเป็นการตำหนิผู้หญิงด้วยกันเอง

กลับมาที่เกาหลีใต้ หลังจากซีรีส์ The World of the Married มีการนำเสนอถึงประเด็นความรุนแรงในการกีดกันทางเพศในสถานที่ทำงาน ก็ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้หญิงหลายๆ คนกล้าที่จะออกมาเปิดเผยและแชร์ประสบการณ์อันเลวร้ายจากการทำงานร่วมกับผู้ร่วมงานชาย ซึ่งหลายๆ โพสต์ต่างบอกว่า เกลียดหัวหน้าโรงพยาบาลใน The World of the Married มากๆ เพราะมันทำให้พวกเธอนึกถึง "เจ้านาย" ตัวเอง และบอกอีกด้วยว่า ไม่มีสถานที่ทำงานไหนในเกาหลีใต้ที่ปราศจากการกีดกันทางเพศอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยจะต้องมีหมูสกปรกสัก 1 คน

...

และหากเป็นสภาพสังคมปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่เกาหลีใต้ หรือแม้แต่ประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย "ผู้หญิงก็มักจะเป็นช้างเท้าหลัง" ซึ่ง ‘หมอจี’ เองก็เช่นกัน ก่อนที่เธอจะรับรู้ถึงการทรยศหัก เธอก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่คอยสนับสนุนความสำเร็จของสามีอย่างเงียบๆ แม้ว่าตัวเธอจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่าก็ตาม

แต่การสนับสนุนเงียบๆ ของ ‘หมอจี’ กลับไม่ได้ทำให้เธอได้รับสิ่งดีๆ กลับมาสักเท่าไร สามีของเธอทรยศหักหลัง แถมยังเพิกเฉยปล่อยให้ "คนนอก" พยายามบีบคั้นให้เธอต้องออกจากตำแหน่งงานและออกจากเมืองหลังการ "หย่าร้าง"

ซึ่งการ "หย่าร้าง" สำหรับเกาหลีใต้ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้หญิงหลายๆ คน เพราะเมื่อชีวิตการแต่งงานจบสิ้นลง พวกเธอหนีไม่พ้นที่จะโดนดูถูกเหยียดหยาม เผชิญหน้ากับความอับอายที่ไม่สมควรจะได้รับ

ถึงแม้ว่าในวันนี้ เกาหลีใต้จะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการหย่าร้างสูงที่สุดท่ามกลางกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปี 2562 อยู่อันดับ 14 (จีนอันดับ 27, ญี่ปุ่นอันดับ 28) จนเหมือนว่าการหย่าร้างเป็นเรื่องปกติ แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะยังมีผู้หญิงอีกหลายคนยังต้องเผชิญกับมลทินทางสังคม และหากเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว... ลูกก็ได้ผลกระทบด้วย

...

หนึ่งในประสบการณ์ของผู้หญิงเกาหลีใต้ที่ได้มีการแชร์ต่อจากซีรีส์ The World of the Married บอกว่า หลังการแต่งงานเธอต้องย้ายออกจากโซลมาอยู่ที่ฮงซาน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของสามี แต่แล้วเมื่อหย่าร้างกัน ชีวิตก็พลิกคว่ำลงทันที เธอกลับเป็นคนเดียวที่ถูกบีบบังคับให้ย้ายออกไปพร้อมกับความเกลียดชัง

แม้ในซีรีส์หลายๆ เรื่องที่เคยมีการนำเสนอ รวมถึง The World of the Married จะมีชีวิตหลังการหย่าร้างที่สวยหรูแค่ไหน แต่ในความเป็นจริงแล้ว แทบไม่มีให้ได้ยินเลยว่า ชายโสดขอออกเดทกับหญิงที่ผ่านการหย่าร้างและมีลูกติด หรือแม้แต่การพบรักกับมหาเศรษฐีรูปหล่อก็ไม่มีให้ได้เห็น และหากมีโอกาสได้เริ่มต้นชีวิตแต่งงานใหม่อีกครั้ง ถ้าไม่ใช่คนชนชั้นเดียวกันก็อย่าหวังว่าจะรอดคำครหา เพราะเธอจะถูกมองว่าเป็น "ผู้หญิงใฝ่สูง ผู้หญิงละโมบ" ทันที

The World of the Married เป็นซีรีส์ที่มีการเสนอมิติหนึ่งของการหย่าร้าง ที่แม้ความสัมพันธ์จะจบสิ้นกันแล้ว แต่ความเจ็บปวดยังคงอยู่เสมอสำหรับ ผู้หญิง และกลายเป็นความบอบช้ำทางจิตใจ

ซึ่งผู้หญิงหลายๆ คนในเกาหลีใต้เองต่างก็มองว่า นี่มันโบราณคร่ำครึ มีการหย่าร้างเกิดขึ้นมากมาย แม้แต่ดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงก็ตาม ดังนั้น ในวันนี้มันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย.

...

ข่าวอื่นๆ :