ปัจจุบัน วิธีการหลอกคนได้พัฒนาตามยุคสมัย ยิ่งสมัยนี้มีโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางการสื่อสารอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งทำให้ต้มตุ๋นกันง่ายขึ้น แต่..ประเด็นที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือหลอกลวงกันนั้น ก็ไม่ได้ต่างจากเดิม ความน่าสงสาร, ของราคาถูก, ลงทุนน้อย รายได้มากๆ เช่น แชร์ลูกโซ่ หรือแม้แต่บางคนอาจผนวกเอาหลายๆ อย่างมารวมกัน
3 นาทีคดีดัง โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่านย้อนกลับไป เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2560 ได้เกิดความโกลาหลขึ้น ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีประชาชนกว่า 2 พันคน รวมตัวกันโวยวายเพราะมีปัญหาอะไรบางอย่าง เมื่อไปตรวจสอบ จึงได้รู้ว่าพวกเขาถูกลอยแพ จากความหวังที่จะได้ลัดฟ้าไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น
ทุกคนล้วนเป็นสมาชิกบริษัทขายตรง อาหารเสริม บริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้บริหารบริษัทแห่งนี้คือ “ซินแสโชกุน” หรือ น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ ที่ผ่านมา มีการโฆษณาว่า หากสมัครสมาชิกด้วยเงิน 9,730 บาท ก็จะได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น ในช่วงวันที่ 11-16 เมษายน 2560
เมื่อขุดคุ้ยประวัติ น.ส.พสิษฐ์ พบโปรไฟล์ไม่ธรรมดา มีคดีติดตัวตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2559 ถูกจับมาแล้ว 6 คดี มี 3 หมายจับ ทุกคดีล้วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเงินทอง มิหนำซ้ำ ยังเคยเปลี่ยนชื่อ นามสกุล มาแล้วนับ 10 ครั้ง และยังเปลี่ยนชื่อบริษัทมาแล้ว 7 ครั้ง
...
การเปลี่ยนชื่อตัวเอง เปลี่ยนชื่อบริษัทหลายครั้ง หมายความว่าอย่างไรกันแน่...?
พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการกองปราบปราม เคยให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า “ซินแสโชกุน” เคยอ้างตัวว่าเป็นหมอดู ไปดูหมอให้เศรษฐีฮ่องกงรายหนึ่งที่กำลังจะล้มละลาย และมีการปรับฮวงจุ้ยให้จนสำเร็จ
ส่วนวิธีการที่ใช้หลอกลวงคนนั้น จะพยายามปั้นโปร์ไฟล์ให้สวยหรู จากนั้นอัดคลิปตัวเองลงสื่อว่าได้ไปเที่ยว ที่เช่าเครื่องบินเจ็ตไปที่ต่างๆ หรือพาไปเที่ยวญี่ปุ่น ฮ่องกง โดยจะล่อลวงให้คนมาสมัครซื้อของ แต่กลับไม่มีบัตรสมาชิก อะไรให้เลย ตรงนี้เองที่ดูไม่ชอบมาพากล หลังเกิดเรื่องที่สนามบิน ทำให้มีผู้เสียหาย แห่ไปแจ้งความเอาผิด บริษัทขายตรงดังกล่าว รวมไปถึงเอาผิด “ซินแสโชกุน”
แค่วันเดียว ตำรวจกองปราบก็ร่วมกับตำรวจท้องที่ จ.ระนอง ตามจับซินแสโชกุนได้พร้อมกับพวกและคนสนิท จึงได้นำตัวมาสอบสวนที่กองปราบปราม และแถลงข่าวในเวลาต่อมา โดยเจ้าตัวยังยืนยันว่า ไม่ได้ทำผิด
ตลอดระยะเวลาที่ “ซินแสโชกุน” ถูกตำรวจดำเนินคดีและฝากขัง ก็มีผู้เสียหายแห่ทยอยมาแจ้งความ รวมถึงผู้ที่เคยถ่ายรูป หรือรับจ้างงานที่อยู่ในวงการบันเทิง ก็ออกมาแสดงตัวว่าไม่เกี่ยวข้อง
14 เมษายน 2560 ซินแสโชกุน ให้การรับสารภาพ โดยให้ลงทุน สมัครค่าสมาชิก 1,380 บาท แบ่งเป็นสมาชิก 2 บริษัท แต่หากอยากไปเที่ยวญี่ปุ่น ก็ต้องอัปเกรด ต้องจ่ายเพิ่มอีกว่า 8 พันบาท หากหาสมาชิกเพิ่มได้ จะให้ส่วนลด 1,000 บาท โดยทรัพย์สินที่ได้ ส่วนหนึ่งได้พาไปเที่ยวจริง อีกส่วนเอาไปซื้อรถหรู 4 คัน คอนโดฯราคากว่า 2 ล้าน
18 เมษายน 2560 กองปราบนำกำลังเข้าตรวจสอบ บริษัทของซินแสโชกุน พร้อมอายัดทรัพย์สินเกือบ 15 ล้าน โดยแบ่งเป็นเงินสดกว่า 3,200,000 บาท ที่เหลือเป็นรถหรู และทรัพย์สินมีค่าอื่นๆ
23 มิถุนายน 2560 พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการ มีความเห็นสั่งฟ้อง ซินแสโชกุน กับพวก รวม 10 คน ในหลายข้อหา
6 กรกฎาคม 2560 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ดำเนินคดีกับบริษัทของ น.ส.พสิษฐ์ หรือ ซินแสโชกุน รวมถึงกรรมการบริษัท รวม 9 คน ฐานความผิดฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และซ่องโจร
...
กระทั่ง 12 กันยายน 2561 ศาลพิพากษา สั่งปรับจำเลยที่ 1 คือ บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ของซินแสโชกุน เป็นเงิน 435,520,000 บาท สั่งให้ริบสินค้าของกลาง
นอกจากนี้ ยังได้สั่งลงโทษจำคุก 4,355 ปี จำเลยที่ 2 คือ ซินแสโชกุน จำเลยที่ 5 เลขานุการ และจำเลยที่ 8 ผู้ดูแลด้านการเงิน จากความผิด 871 กระทง
แต่...ตามกฎหมายให้ลงโทษได้สูงสุด 20 ปี ส่วนจำเลยคนอื่นๆ ศาลยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม คดีนี้ถือว่ายังไม่สิ้นสุด เพราะมีจำเลยบางคนยังต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ชม 3 นาทีที่น่าสนใจ