ร้านค้าปิดหมด คนตกงาน กิจกรรมต่างๆ หยุดชะงัก ความระส่ำระสายในสังคม ทุกคนหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ผลกระทบทางเศรษฐกิจพุ่งสูง ...เหล่านี้คือ ผลพวงจากพิษ ‘โควิด-19’ ที่เราได้เห็นมาตลอด 5 เดือน และยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติเมื่อไร ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ สะดุ้งเป็นพักๆ กับเสียงแว่วๆ มาว่าต้องใช้เวลาถึง 5 ปี!!
โควิด-19 เริ่มซา... ค่อยๆ ปล่อย และ "เงิน" หายไป
"หากท่องเที่ยวเปิด และต่อให้รู้สึกปลอดภัย แต่เงินมันหายไป หรือหากบางคนไม่หาย แต่ใจก็กลัว บอกได้เลยว่ากว่าจะฟื้นตัวให้เข้าสู่สภาวะปกติ 5 ปี"
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ เปิดบทวิเคราะห์กับ ‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ ถึงทิศทางเศรษฐกิจและการรับมือหลังวิกฤติ ‘โควิด-19’ ที่บอกเลยว่า งานนี้มีทั้งรอด! และไม่รอด!
โดยเฉพาะ "สายการบิน" ที่หยุดก็เจ๊ง! และพอเปิดก็ยังจะเจ๊ง!
"สายการบินเวลาเขาปล่อย เขาจะค่อยๆ ปล่อยทีละเส้นทาง พอค่อยๆ ปล่อยก็จะเกิดปัญหา ข้อแรก ไม่ได้ไปทุกสาย จะบินเฉพาะบริเวณที่ปลอดภัยที่สุด ฉะนั้น เส้นทางบินที่เหลือกระทบแน่นอน ข้อที่ 2 ปล่อยเส้นทางบินภายในก่อนเส้นทางบินภายนอก แถมการบินเส้นทางภายในยังจัดที่นั่งเว้นที่นั่ง ซึ่งตรงนี้ เจ้าของสายการบินเคแอลเอ็ม (KLM) เขาบอกว่า ‘ตาย!!’ แล้วที่สำคัญที่สุด หากเปิดการท่องเที่ยวขึ้นมา บริเวณสถานที่ท่องเที่ยวก็จะต้องมีโรงแรมและโรงพยาบาลเพียงพอด้วย"
...
แล้วเชื่อไหม? ร้านอาหารบางประเภทพอเปิดปั๊บ! ก็เจ๊งแล้ว!
รศ.ดร.สมชาย ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ เทียบกับสมัยก่อนให้เห็นภาพว่า การแข่งขันของร้านอาหารสมัยก่อน ร้านอาหารหลายๆ แห่งยังพออยู่ได้บ้าง เช่น หากร้านอาหารเราทำอร่อย ส่วนร้านอาหารของคู่แข่งอร่อยมาก ร้านอาหารเราก็อยู่ได้
คำถามคือ ที่ว่า "อยู่ได้" เพราะอะไร?
คำตอบคือ ร้านอาหารเราอร่อยและอยู่แถวนี้ ใกล้ๆ แต่การแข่งขันสมัยนี้ มีโลกออนไลน์และเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายคนไม่เลือกร้านอาหารอร่อย แต่เลือกสั่งร้านอาหารที่อร่อยมากผ่านแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ต่างๆ ฉะนั้น ร้านอาหารหลายๆ แห่งเริ่มไปแล้ว และไปแล้ว... ไม่กลับมา
"ผลจากโควิด-19 ที่เรียกว่า New Normal (ความปกติใหม่) ทำให้ธุรกิจจำนวนไม่น้อยต้องปรับ หลายๆ บริษัทจึงหันมาเล่นในเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่แค่ IT (ไอที) อย่างเดียว แต่เป็นเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชน (Blockchain) หรือ Augmented Reality (AR)"
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาไม่ได้มีแค่พิษจากโควิด-19 เพียงเท่านั้น รศ.ดร.สมชาย บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า มันมีสาเหตุที่ฝังรากมากกว่านั้น
สิ่งนั้นคือ "ระบบ" ระบบที่เรียกว่า "ทุนนิยม"
"ในวันนี้ เรามีทุนนิยมเสรี ใช้จีดีพี (GDP) เป็นตัวตั้ง หากจีดีพีขยายตัว 3% ก็จะเป็นคนรวย 2.8% แม้ว่าโควิด-19 จะบอกว่า ‘รวยกับจนตายเหมือนกันหมด’ แต่คนที่จะตายมากๆ คือ พวกคนจน... ที่ไม่มีอะไรจะกินเลย"
ถึงเวลาเปลี่ยน "สมการ"
ทุน ผู้ถือหุ้น แรงงาน กับโรค สมการนี้ไม่ยุติธรรม!
ฉะนั้น หลังวิกฤติโควิด-19 จึงต้องดำเนินการ 3 ข้อ เพื่อแก้ไขสมการที่เป็นปัญหานี้ทันที ข้อแรกคือ นำเงินที่เตรียมไว้มาบังคับให้บริษัทต่างๆ ประชาธิปไตยภายในบริษัท พูดง่ายๆ ให้แรงงานมีบ้าง, ข้อ 2 นำเงินที่ช่วยเหลือส่วนหนึ่งมาประกันรายได้ขั้นต่ำ เพื่อที่คนจะได้ไม่ไปขอทาน แล้วเอากำไรจากเขาน้อยลง และข้อ 3 โควิด-19 ทำให้โลกเปลี่ยน ร้อนขึ้น จึงต้องนำเงินเหล่านี้ไปปรับโลกใหม่ นี่คือตัวอย่างง่ายๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรป และสิ่งหนึ่งที่หลายๆ ประเทศเป็น รวมถึงประเทศไทย คือ กำลังมีการเรียกร้องว่า "ทำไมภาครัฐไม่ช่วยคนยากคนจน? ทำไมเกิดการผูกขาด?" แรงเรียกร้องสูงขึ้นทุกที โควิด-19 สัมพันธ์กันทั้งทางตรงและทางอ้อม
...
รศ.ดร.สมชาย ย้ำว่า โควิด-19 ไม่ใช่สาเหตุ เป็นอาการของโรค ที่เกิดจากสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เพราะระบบทุนนิยมพังทำลายสภาพแวดล้อม น้ำท่วมมากขึ้น ที่ดินทำกินน้อยลง แต่คนเกิดไม่หยุด เมื่อจำนวนคนเพิ่มขึ้นและที่ดินน้อยลงก็ไปใกล้ชิดกับสัตว์ พอใกล้ชิดกับสัตว์ก็เกิดเรื่องของเอดส์ (AIDS), อีโบลา (Ebola), ซาร์ส (SARS) และ H1N1 ทำนายได้เลยว่า ทุกๆ 4-5 ปีจะมีเรื่องประเภทนี้เกิดขึ้น ดังนั้น ต้องแก้ไขที่สาเหตุ สาเหตุที่มาจากคุณ มาจากระบบทุนนิยมที่มีปัญหา
"จีดีพี (GDP) เป็นตัววัด แต่ไม่พอแล้ว ต้องมีตัววัดว่า ‘ทำลายสภาพแวดล้อมขนาดไหน? มีการกระจายรายได้แบบไหน? แรงงานเป็นอย่างไรบ้าง?’ นี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับในบางประเทศ เห็นเป็นภาพใหญ่เลย"
หากอยากอยู่รอดหลังวิกฤติโควิด-19 ขอขีดเส้นเน้นๆ ว่า "ต้องยกเครื่องใหม่!!"
ที่ว่า "ยกเครื่อง" ยกเครื่องอย่างไร?
ข้อแรกคือ สร้างความเพียงพอ
ข้อ 2 คือ ชาตินิยม อาจต้องพึ่งพาคนอื่นน้อยลง หลังจากนี้ต้องวิเคราะห์แล้วว่า วิกฤติโควิด-19 มีอะไรบ้างที่เราไม่พอ ดังนั้น ต้องสร้างความเพียงพอ โดยเฉพาะสุขภาพ เพราะไม่รู้ว่า 4-5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
...
ข้อ 3 คือ ประเทศเดียวไม่พอ ต้องร่วมมือระหว่างประเทศ
และหลังจากนี้ รศ.ดร.สมชาย ย้ำกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ต้องจับตา New Supply Chain ที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19
New Supply Chain จะเป็นอย่างไร?
ย้อนกลับไปครั้ง ‘โลกาภิวัตน์’ ที่ต้นทุนต่างๆ ถูกลง แต่กลับตายกันเรียบ!!
ตัวอย่างเช่น เราอยู่สหรัฐอเมริกา จ้างคนงานจีนทำสินค้าตัวหนึ่ง เสร็จแล้วจ้างคนงานเวียดนามทำสินค้าอีกตัวหนึ่ง และจ้างคนงานไทยทำอีกตัวหนึ่ง ก่อนจะส่งทั้งหมดกลับมาที่สหรัฐอเมริกาเพื่อมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ ห่วงโซ่การผลิตที่เกิดขึ้นเรียกว่า Supply Chain
"อย่าใช้ประเทศเราเป็นฐาน ให้ใช้ประเทศอื่น เพราะที่อื่นถูกกว่า และที่อื่นมีเอฟทีเอ (FTA) เราจะได้กำแพงภาษี 0 อีกอย่างคือ Outsourcing อะไรที่เราทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ดี ก็ให้คนอื่นทำ คนอื่นที่อยู่นอกประเทศเรา"
นี่คือ นิยาม Supply Chain ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น แต่เมื่อเกิดโควิด-19 กลับทำให้พบว่า นี่เป็น "จุดบอด" ที่เรามองข้ามมาตลอด ต้องได้รับผลกระทบถึงจะรู้!!
...
ตัวอย่างง่ายๆ จาก รศ.ดร.สมชาย คือ ‘โทรศัพท์มือถือ’ ที่ไม่สามารถประกอบออกวางจำหน่ายได้ เพราะอะไหล่ไม่มี ถามว่าทำไมถึงไม่มี? นั่นก็เพราะอะไหล่แต่ละชิ้นผลิตคนละประเทศ เมื่อประเทศหนึ่งปิด ประเทศหนึ่งเปิด ก็ไม่สามารถประกอบโทรศัพท์มือถือได้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เรียกว่า Supply Chain
เปลี่ยนแปลงอย่างไร?
ข้อแรก กลับประเทศ
ข้อ 2 เรียกว่า Reshoring คือ อย่าไปแต่ละจุดๆ แต่เอาที่ผลิตอยู่ใกล้ๆ ในส่วนนี้หากเป็นอาเซียนก็อาจเป็นที่ประเทศไทย ซึ่งไทยเป็นทั้งบวกและลบ แต่บางก็อาจถูกกระทบ เป็นแบบข้อแรก คือ หนีจากบริเวณใกล้ๆ กลับประเทศตัวเองเลย
นี่จึงเป็นการบ้านที่ยิ่งใหญ่มาก!!
ขอฝากให้รัฐบาลคิดต่อ...
แต่ปัจจุบัน การดิ้นรนเพียงคนเดียวคงไม่พอ มันถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกัน เพราะยิ่งโลกแตกแยก ก็ยิ่งทำให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 ช้าลง
"หากความร่วมมือระหว่างประเทศดี การฟื้นฟูก็จะเร็วขึ้น แต่พอเป็นแบบนี้กลายเป็นต่างคนต่างพาย แถมสงครามการค้ายังอยู่ การฟื้นตัวของประเทศต่างๆ ก็ยิ่งช้าลง และต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ถ้าร่วมมือเร็ว การแก้ปัญหาโควิด-19 ก็จะทำได้"
โดยเฉพาะความร่วมมืออาเซียน ที่ รศ.ดร.สมชาย มองว่า ยังเป็นแบบหลวมๆ เรียกว่า International Organization หรือ Intergovernmental Organization ไม่เหมือนอย่างอียู (สหภาพยุโรป-EU) ที่แน่นแฟ้น
แล้วเมื่อเป็นแบบนี้ ประเทศไทยต้องทำอย่างไร?
รศ.ดร.สมชาย มองว่า เม็ดเงิน 1.99 ล้านล้านบาท เป็นเพียงทำให้ประเทศไทยฟื้นเท่านั้น และยังขาเป๋อยู่ สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำยังไงให้หลังโควิด-19 เข้มแข็ง ซึ่งต้องย้อนถามกลับว่า ทรัพยากรมีไหม? เงินพอไหม? เพราะแค่การปรับใช้งบประมาณที่มีอยู่สำหรับปีหน้าคงไม่เพียงพอ ซึ่งการเตรียมพร้อมสำหรับโลกกำลังเปลี่ยนแปลงหลังจากโควิด-19 ขาดหายไปจากประเทศไทย
"ไทยอยู่ในกลุ่มที่ผมชมเชย ดูแลด้านสาธารณสุขได้ดี หากทำดีๆ ไทยไปถึง Pharmaceutical Hub ได้เลย การท่องเที่ยวก็ยังเป็นไปได้อยู่ การเกษตรดีเยี่ยม อาหารดีเยี่ยม ต้องทำต่อ แต่ส่วนที่ไทยคิดว่าจะลอง กลับทำไม่ค่อยได้ เช่น บล็อกเชน (Blockchain) เรียนรู้ได้ ไอทีทำได้ระดับหนึ่ง นวัตกรรมไม่ใช่ของง่าย ต้องเรียน ต้องคิด แต่การสอนของเราเป็นแบบจำ นี่เป็นตัวที่ขาดหายไป"
สำหรับการฟื้นการท่องเที่ยว อันดับแรก รศ.ดร.สมชาย มองว่า ควรทำการฟื้นภายในก่อนฟื้นภายนอก แต่ต้องดูด้วยว่า ภายในจะฟื้นตรงไหนก่อน ต่อมา ต้องเตรียมการรองรับการท่องเที่ยว เช่น การสวมหน้ากาก ขั้นตอนการตรวจโรค และสุดท้าย คือ เส้นทางการท่องเที่ยวต้องมีโรงพยาบาล มีจำนวนหมอและเตียงเพียงพอ การรับประทานอาหารในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ต้องทำอย่างไร ต้องคำนึงว่า หากนั่งเครื่องบินห่างกัน สายการบินจะอยู่รอดหรือไม่
"หลังจากนี้ ค่อยๆ เปิด ค่อยๆ เปิด ปรับท่องเที่ยวภายในก่อน แล้วค่อยออกมาภายนอก รักษาสถานภาพเข้าสู่ Normalization (ปกติ) ที่มี 2 อย่าง คือ เริ่มเข้าสู่ปกติ กับปกติหลังจากฟื้นแล้วจะแข็งแรง ซึ่งขณะนี้ เราเพียงแต่รักษาสถานภาพไว้ และกำลังเริ่มต้นเข้าสู่ภาวะปกติ ที่ยังไม่รู้ว่าปกติแค่ไหน"
โควิด-19 กำลังทำให้เกิด New Normal
แต่ New Normal ไม่ใช่สวมหน้ากาก หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพราะนั่นคือ Abnormal มันผิดปกติ!!
หมายความว่าอย่างไร?
"ในเมืองไทย พอเห็นอะไรที่ไม่เหมือนเดิมก็เรียก New Normal ซึ่งไม่ใช่ คำว่า Normal แปลว่า ปกติ คือ ปกติทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ดังนั้น New Normal คือ พฤติกรรมใหม่ที่จะกลายมาเป็นปกติ"
รศ.ดร.สมชาย อธิบายเพิ่มว่า การใส่หน้ากาก การทำ Social Distancing เหล่านี้เป็น Aberration หรือ Abnormal คือ ผิดปกติ เมื่อเทรนด์เป็นแบบนี้ แต่บางช่วงเกิดปัญหา ก็มีการไหลออกจากเทรนด์บ้าง อีกหน่อยพอโควิด-19 หายไป ก็กลับมาเหมือนเดิม แต่ New Normal จะเป็นแบบนี้ตลอด เช่น การซื้ออาหารผ่านเทเลคอม การสอนผ่านเทเลคอม โลกเทคโนโลยีต่างๆ และอีกอันหนึ่ง คือ New Normal ระหว่างประเทศ คือ Supply Chain จะสั้นลง
"New Normal ไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดตราบเท่าที่โควิด-19 ยังอยู่ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและกินระยะเวลานาน ซึ่งไม่ได้เป็นนิรันดร์ เพราะอีกหน่อยมันก็มีดีกว่านั้น ฉะนั้น ตอนนี้มันคือ Abnormal"
โควิด-19 บอกกับเราว่า ไม่ใช่ต้องปรับเพื่อการอยู่รอด ไม่ได้ปรับเพื่อให้เดินออกไปได้ แต่ปรับเพื่อให้เราแข่งชนะเขา ...ตรงนี้คือ "สิ่งที่เราขาดหายไป" และทำให้เราเสียเปรียบ.
ข่าวอื่นๆ :
- 100 ปีไม่เปลี่ยน! หมอ VS ผู้นำสหรัฐฯ ดื้อด้าน อ่อนด้อย ไวรัสฟื้นคืนชีพ
- ทำไม "โควิด-19" ถึงต้อง Lockdown แต่การระบาดไวรัสอื่นถึงไม่ใช้
- "การบินไทย" แบกหนี้ปีกหัก เส้นทาง "แผนฟื้นฟู" ในมรสุม "โควิด-19"
- คลัสเตอร์อิแทวอน คลื่นลูกที่ 2 โควิด-19 ถล่มโซล เกาหลีใต้เสี่ยงหายนะ
- Lockdown เปลี่ยนชีวิตกลับด้าน แม้ "โควิด-19" พ้นไป แต่มาตรการอาจถาวร