ยิ่งสูงยิ่งหนาว และร่วงหล่นได้ เมื่อภาระหนี้มันล้นท่วมหัว ปีกที่แบกไว้ก็ถึงคราวหัก "การบินไทย" จำยอมรับสภาพ เข้าสู่ "แผนฟื้นฟู" ท่ามกลางมรสุม "โควิด-19"

หลังจากถกกันยืดเยื้อมานานหลายปี คัดค้านกันมาหลายหน บ้างให้ "ทิ้ง" บ้างให้ "อุ้ม" ทำเอารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับกุมขมับ เหมือนยืนอยู่ทางสามแพร่งที่ไม่รู้จะเส้นทางไหน "ดี" เส้นทางไหน "ร้าย"

แต่แล้วหลังเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้ข้อสรุป "เส้นทางที่การบินไทย" ต้องไป นั่นคือ "เส้นทางแผนฟื้นฟูของศาลล้มละลาย"

ย้อนกลับไปวันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ อนุมัติ "แผนการฟื้นฟูการบินไทย" ยืนยันนำ "การบินไทย" เข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลายกลาง โดยศาลจะพิจารณาแผนฟื้นฟูและตั้งคณะบริหารใหม่เพื่อให้การดำเนินการตามกระบวนการสำเร็จลุล่วง

ขณะเดียวกันก็ยืนกรานว่า คณะรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ยินยอมให้ "การบินไทย" ต้องเข้าสู่สถานะ "ล้มละลาย" เพื่อไม่ให้พนักงานที่มีมากกว่า 20,000 คน ต้องตกงาน

...

ทำไมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถึงตัดสินใจเลือก "เส้นทางแผนการฟื้นฟู" ให้กับ "การบินไทย" ...?

จริงๆ แล้วการเลือกเส้นทางแผนการฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลาง ไม่ได้เหนือความคาดหมายของหลายๆ คนมากนัก เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เลือกเส้นทางนี้ แต่เลือกที่จะดึงดันเข้าสู่เส้นทางการ "ล้มละลาย" ด้วยการยินยอมให้ "กระทรวงการคลัง" ที่ถือหุ้นการบินไทยอยู่ 51% ค้ำประกันเงินกู้ตามสัญญา มูลค่า 54,000 ล้านบาท ก็อาจทำให้แผนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและสถานะทางการเงินกลับไปสู่เส้นทางแห่งการสูญเสียอีกครั้ง เรียกง่ายๆ ว่า "วนอยู่ในอ่างกองหนี้" เหมือนเดิม

"การบินไทย" เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลางดีอย่างไร?

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ให้ความเห็นผ่าน "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ว่า ข้อแรก คือ การบินไทยยังอยู่, ข้อ 2 การบินไทยตัดต้นทุนทางการเมือง มีการปรับให้ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การบินไทยแบ่งแยกอย่างทุกวันนี้ คือ การเมืองที่เยอะมาก ในส่วนแผนการฟื้นฟูถือเป็นตัวชี้อนาคตของการบินไทย แต่แค่การฟื้นฟูอย่างเดียว ไม่พอ ไม่ใช่แค่การตัดหนี้ การตัดต้นทุนทางการเมือง อีกต่อไป โลกไม่เหมือนเดิมแล้ว นี่คือ การบ้านที่การบินไทยต้องทำ

แม้การบินไทยจะยังคงดำเนินธุรกิจได้ต่อไปตามปกติ แต่ก็มีข้อกังวลตามมา คือ การบริการเสริมโดยการบินไทยอาจได้รับผลกระทบ หรืองานบางตำแหน่งอาจหายไป โดยจากรายละเอียดแผนการฟื้นฟูที่มีการเผยแพร่ออกมาบางส่วน มีความเป็นไปได้ว่า การบินไทยอาจต้องหั่นกองบินลงเพื่อง่ายต่อการควบคุม หมายความว่า พนักงานบางคนต้องถูกหั่นออกด้วย ล่าสุด มีข่าวออกมาว่า การบินไทยอาจปลดพนักงานมากถึง 6,000 คน

สำหรับสถานะการเงินของ "การบินไทย" ค่อยๆ เลวร้ายสลับดีมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งในปีนั้นเป็นปีที่มีการรายงานการขาดทุนครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2503 ที่เป็นการร่วมทุนกับสายการบินสแกนดิเนเวียน หรือ เอสเอเอส (SAS) ซึ่งถูกซื้อในปี 2520 และการบินไทยกลายเป็น "รัฐวิสาหกิจ" องค์กรที่ดำเนินการโดยภาครัฐในสัดส่วนการถือหุ้น 51%

และหากดูรายงานประจำปีของ "การบินไทย" เห็นได้ว่ามีการ "ขาดทุน" อย่างหนักต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560-2562 โดยปี 2560 ขาดทุน 2,100 ล้านบาท, ปี 2561 ขาดทุน 11,000 ล้านบาท ส่วนปี 2562 แม้จะเป็นปีที่เจิดจรัสของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 40 ล้านคน แต่กลับขาดทุนถึง 12,000 ล้านบาท ขณะที่ ไตรมาสแรกของปี 2563 การบินไทยก็สูญรายได้ไปแล้วอย่างน้อย 18,000 ล้านบาท จากวิกฤติโควิด-19 ที่มีการปิดประเทศและห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศ ที่มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563

ปัจจุบัน การบินไทย เป็นรัฐวิสาหกิจที่ติดหนี้มากที่สุดในบรรดา 58 รัฐวิสาหกิจในประเทศไทย มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 250,000 ล้านบาท และแม้ว่า ช่วงบ่ายวันอังคารที่ 19 พฤษภาคม หุ้นการบินไทยจะตอบรับการอนุมัติแผนการฟื้นฟูด้วยการดีดขึ้น 14.6% แต่ตลอดปี 2563 หุ้นการบินไทยดิ่งลงแล้วถึง 32%

...

และตลอดช่วงอายุ 60 ปีของการบินไทย ครั้งหนึ่งเคยเป็นสายการบินที่ดีที่สุดในโลก มีประสิทธิภาพ การจัดการต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม และเคยเป็นที่เคารพนับถือในด้านการบริหาร แต่แล้วในระยะหลังๆ กลับมีแนวโน้มไปในทางที่ไม่ค่อยดีนักเกี่ยวกับ "แทรกแซงทางการเมือง" และ "คอร์รัปชัน" แม้แต่การแต่งตั้งคณะบริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัทก็เป็นที่ถูกจับตา

เปิดแฟ้มย้อนดูประวัติอื้อฉาวคอร์รัปชันฉาวโฉ่ "การบินไทย"

เดือนมกราคม ปี 2560 สำนักงานสอบสวนการทุจริตคอร์รัปชันฯ ของอังกฤษ มีการเปิดเผยหลังมีการสอบสวนคดี "โรลส์รอยซ์" เป็นเวลานานกว่า 4 ปี ที่มีการติดสินบนพนักงานภาครัฐและพนักงานการบินไทยในการรับประกันการขายเครื่องยนต์ T800 ที่มีการขายช่วงปี 2534-2548

และในช่วงต้นปี 2543 กับกรณีการซื้อเครื่องบิน A340-500 จำนวน 2 ลำ เพื่อใช้ในการบินแบบเส้นทางบินตรงระหว่างกรุงเทพมหานครไปนครนิวยอร์ก ในเรื่องนี้ "ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์" อดีตประธานการบินไทย ชี้แจงว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมือง โดยในปีนั้นเป็นสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ปัจจุบัน เครื่องบิน 2 ลำดังกล่าวปลดประจำการแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการขาย

...

"การบินไทย" ไม่ใช่สายการบินเดียวที่เข้าสู่เส้นทางนี้

สายการบินต่างๆ ทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนแทบพินาศย่อยยับ ตารางเที่ยวบินพังไม่เป็นท่า เครื่องบินต้องจอดอยู่กับพื้นดิน และพนักงานก็ต้องจำใจลางานโดยไม่รับเงินค่าจ้าง ทำให้หลายๆ สายเจริญรอยตามมุ่งเข้าสู่แผนการปรับโครงสร้างกันถ้วนหน้า

เมื่อสัปดาห์ก่อน "เอเวียนกา" สายการบินแห่งชาติของโคลอมเบีย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายของสหรัฐอเมริกา ภายใต้บทบัญญัติที่ 11 หรือที่เรียกว่า Chapter 11 Bankruptcy ซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูกิจการเกิดประโยชน์อย่างที่สุดต่อเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น

บทบัญญัติที่ 11 คืออะไร? คุ้นๆ ว่า "การบินไทย" ก็เข้าสู่เส้นทางนี้เช่นกัน

บทบัญญัติที่ 11 เป็นหนทางสำหรับธุรกิจที่ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงิน แต่ถึงวิกฤติหนักแค่ไหนก็ยังมีโอกาสที่จะฟื้นฟูกิจการได้ โดยบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้โอกาสในการจัดโครงสร้างทางการเงินของธุรกิจใหม่เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ต่อมาในเดือนเมษายน "เวอร์จิน ออสเตรเลีย" ก็ใช้เส้นทางนี้เช่นเดียวกัน

หรือแม้แต่ "ฟลายบี" สายการบินยักษ์ใหญ่ของยุโรป ที่ต้องกลั้นใจถอยออกจากวงการธุรกิจสายการบิน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพราะทนแบกรับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ไว้

และแม้ "การบินไทย" จะขาดทุนยับมาหลายปี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้มีการระงับการบินชั่วคราวมากที่สุดนับตั้งแต่เปิดดำเนินการมา

ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจสายการบินประสบกับปัญหาด้านลบหลายปัจจัย ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การผันผวนของราคาน้ำมัน และการแข่งขันที่รุนแรงจากการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งความท้าทายที่เกิดขึ้นบวกกับการเผชิญวิกฤติโควิด-19 ทำให้การก้าวเข้าสู่ "แผนการพลิกฟื้นกิจการระยะ 10 ปี" ของการบินไทยรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม

...

และบางที "การบินไทย" อาจนำไปสู่การปฏิรูประบบรัฐวิสาหกิจให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพอย่างในเวลาต่อมา ในภาวะที่ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องตัดไขมันส่วนเกินออกเท่าที่ทำได้ ซึ่งคาดว่า ปี 2563 เศรษฐกิจจะหดตัว 5-6% ทีเดียว

สุดท้าย "คุณคิดว่าแผนการบินไทยจะไปรอดหรือไม่?"

ข่าวอื่นๆ :