หากใครกำลังรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง เพราะพิษโควิด-19 (COVID-19) หากได้ฟังเรื่องราว Life Story ในวันนี้ เชื่อว่าจะต้องมีพลังใจสู้ต่อไปอย่างแน่นอน...

“สิ่งที่ย้อนไม่ได้คือ เวลา
สิ่งที่มองไม่เห็นคือ ใจคน
ท้อแท้ได้ แต่อย่าท้อถอย”

คำกล่าวนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตของทุกคน แต่การจะก้าวข้ามผ่านอุปสรรค ปัญหาต่างๆ ไปได้ต้องมี “ใจที่แข็งแกร่ง” ดัง Life Story ของ นายราชินทร์ วัฒนวิจิตรสกุล หรือ เอก วัย 38 ปี ที่มีประสบการณ์ชีวิตแบบพลิกผัน เกิดเหตุการณ์วิกฤติหนักๆ มากมายในชีวิตแต่ไม่คิดท้อถอย

ลงทุนหนัก เปิดร้านเพื่อ “ลูก” 1 เดือนถูกโกงกว่า 2 ล้าน ได้มาแค่ 6 เสาเข็ม

จุดเริ่มต้นที่ นายราชินทร์ ตัดสินใจเปิดร้านชาบูเพื่อสร้างความมั่นคงให้ภรรยา และลูก หลังวันนั้นที่ภรรยาเดินมาบอกว่า “ท้อง” เขายอมเสี่ยงลงทุนหนักทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ แต่ก็พยายามศึษาอย่างดีแล้ว  และจ้างที่ปรึกษามาช่วยเลือกผู้รับเหมาสร้างร้าน

ขณะสร้างร้านได้เพียงเดือนเดียว เขาถูกผู้รับเหมาก่อสร้างรายแรกโกงเงินกว่า 2 ล้าน แต่ได้มาแค่เสาเข็ม 6 เสาจนเกือบล้ม แต่ไม่คิดยอมแพ้ หาผู้รับเหมารายอื่นมาสร้างร้านต่อ โชคร้ายซ้ำสองถูกโกงอีกกว่าล้านบาท รวมเงินถูกโกงทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านบาทและที่ปรึกษาก็หายตัวไปด้วย 

...

การที่เราไม่มีความรู้ ไม่ใช่ปัญหา มีใจหรือเปล่า ใจนำแล้วความรู้หาเอา คราวนี้ก็เป็นข้อเสีย เพราะการที่ไม่มีประสบการณ์ทำให้โดนโกง คิดว่าเงินสำรองยังพอเหลือ รอไม่ได้ อาจไม่พลาดอีกแล้ว แต่สุดท้ายอีหรอบเดิม เบิกเงินแล้วก็เท แต่ไม่ไปต่อไม่ได้ ผมทำงานตลาดหุ้น พอมีหุ้นก็ขายหุ้นเพื่อมาก่อสร้างต่อ แพงกว่า 2 เจ้าที่ผมใช้ แต่ผมมารู้อีกทีว่าเป็นราคาที่เป็นไปได้จริง เขาไม่โกง ทำจนงานเสร็จ" 

หมดทุน แต่ไม่ถอดใจ เปิดร้านไม่ถึงเดือน โดนพิษโควิดซ้ำ

นายราชินทร์ ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา ลุกขึ้นสู้กว่า 2 ปีจนร้านสร้างเสร็จ จากงบประมาณที่คิดไว้ 2 ล้านกว่า สุดท้ายลงทุนทั้งสิ้น 5 ล้านบาท เปิดร้านชาบู ธุรกิจแรกในชีวิตได้สำเร็จ สาขาศรีนครินทร์ ตั้งอยู่หลังห้างพาราไดซ์เมื่อ 1 มี.ค. 63 โดยที่เงินทุนแทบไม่เหลือ และตั้งชื่อว่า ร้าน “ชิน ชาบู” ตามชื่อเล่นตัวเองที่เพื่อนมักเรียกว่า “ชิน” นอกจากนี้คำว่า ชิน ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ใหม่ 

ลิฟต์อาหารลงทุนเกือบ 3 แสนบาท เพื่อความสะอาดของอาหาร และความปลอดภัยของพนักงานในร้าน
ลิฟต์อาหารลงทุนเกือบ 3 แสนบาท เพื่อความสะอาดของอาหาร และความปลอดภัยของพนักงานในร้าน

ทุกอย่างกำลังไปได้ดี แต่หลังเปิดร้านได้เพียง 21 วัน ถูกพิษโควิด-19 รายได้กลายเป็นศูนย์ ต้อง Set zero มาเริ่มต้นกันใหม่หมด แต่นายราชินทร์ ไม่เคยคิดท้อถอยและท้อแท้ นอกจากไม่ปิดร้านแล้ว ยังไม่ลดพนักงานด้วย ขอเดินหน้าสู้ต่อไปแม้ตั้งแต่เปิดมาเคยมีลูกค้ามากสุด 10 คน หรือไม่มีสักคนก็ตาม

“ร้านเราไม่ปิดไม่พอ ไม่ลดคนด้วย การลดพนักงาน พวกเขาต้องอดตาย เขาไม่ได้ทำอะไรผิด เราไม่ให้ใครออก เราไม่ให้ใครพัก เราจะลองสู้ดู สู้ได้เท่าไรเท่านั้น ขออย่างเดียวพนักงานสู้พร้อมผมนะ ก็ได้คำตอบทุกคนว่าเขาสู้ น้องสู้ ผมก็สู้ ซึ่ง 8 คนตอนนั้นยังอยู่ถึงทุกวันนี้”

วิกฤติคือโอกาส เพิ่มเมนู “อาหารตามสั่ง” วัตถุดิบคุณภาพดี หมดเวลาถือตัวเป็น MD

วิกฤติโควิด-19 นายราชินทร์ ต้องปรับตัวและคิดหาวิธีสร้างรายได้เพื่ออีกกว่า 10 ชีวิตที่ต้องดูแลและรับผิดชอบ ทั้งภรรยา ลูก เพื่อน ม.ต้นที่ลาออกงานมาเป็นผู้จัดการร้าน และพนักงาน ด้วยสถานการณ์ที่คนไม่สามารถมานั่งกินในร้านได้ นายราชินทร์ มองว่าการมีชาบูให้พนักงานส่งเดลิเวอรี่เท่านั้น ไม่มีทางอยู่รอดได้ เขาทำการบ้านอย่างหนักเพื่อหาช่องทางขายให้ได้ในช่วงโควิด รุกตลาดทั้ง ออนไลน์ ออฟไลน์ ยืนเผากุ้งหน้าร้าน และเพิ่มเมนูอาหารตามสั่งจากเนื้อวากิว เนื้อสันคอ เนื้อเบคอน อาทิ กะเพราริบอาย ต้มแซ่บเนื้อ หมู ข้าวผัดพริกแกง

...

เพราะเป็นร้านเล็กๆ เพิ่งเปิดใหม่ ไม่มีเงินโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก นายราชินทร์จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ร้านเป็นที่รู้จัก โดยไม่ถือตัวว่ามีตำแหน่งเป็นเจ้าของร้านและกรรมการผู้จัดการ (MD) บ.หลักทรัพย์ นำใบปลิวร้าน ถ่ายเอกสารทีละ 100 ชุด 200 ชุด นอกจากแบ่งให้พนักงานไปแจกตามหมู่บ้าน นิคมอุตสาหกรรม แฟลตบางนา เขาเองเมื่อมีเวลาว่างก็เข้าไปสอดใบปลิวร้านตามห้องต่างๆ ในหอพัก แม้บางครั้งต้องโดนเจ้าของหอพักด่าเสียๆ หายๆ ก็ต้องทำ

“เราไม่ทำไม่ได้จริงๆ ผมเป็นกรรมการผู้จัดการ แต่ตอนเที่ยงผมส่งอาหารให้กับบริษัทที่ทำงานอยู่ ไม่ใช่เวลามาถือตัวว่าตัวเองเป็น MD ผมเอาใบปลิวไปแจกตามบ้าน ไปแนะนำตัวว่าเราส่งอาหารตามออฟฟิศด้วย เข้าไปทุกบริษัทในตึกที่ผมทำงาน หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 พฤติกรรมคนเปลี่ยน คนจะยอมรับเรื่องเดลิเวอรี่มากขึ้น บางคนเริ่มถึงขั้นทำอาหารเป็นแล้ว ผมมีความคิดว่านอกจากขายอาหาร ต่อไปอาจจะต้องขายวัตถุดิบให้ลูกค้าไปทำ เช่น ทำชุดสำหรับทำกะเพรา ลูกค้าแกะแล้วนำไปผัดได้เลย ” 

...

โลกหลัง Covid-19 ค่าน้ำซุปเพิ่ม 4 เท่า ต้นทุนสูง แต่ต้องทำ

เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ร้านที่ปรับตัวไม่ได้ก็ปิดกิจการ ส่วนร้านที่ปรับตัวได้ก็ยังสามารถสู้ต่อไปได้เหมือนเช่น ร้านชาบูของนายราชินทร์ แต่ตั้งแต่ 3 พ.ค. 63 หลังผ่อนปรนร้านอาหารเปิดบริการตามปกติ ให้นั่งกินในร้านได้แล้ว กว่า 3 สัปดาห์ที่นายราชินทร์เปิดร้าน เขายอมรับเลยว่าอาจขาดทุนหนักกว่าก่อนหน้านั้นที่สั่งให้เปิดขายเฉพาะเดลิเวอรี่

“หลังจากนี้ผมไม่รู้เลยนะว่าร้านที่ปิดตัวไปช่วงก่อนโควิดจะกลับมาเปิดหรือเปล่า เปิดมาปุ๊บไม่รู้ว่าลูกค้าจะกลับมาหรือเปล่า ไม่รู้ว่าจะคุ้มหรือเปล่า ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเยอะมาก เนื่องจากร้านเราไม่ได้ลดคุณภาพอาหาร น้ำซุปเราต่อหม้อราคาสูงมาก จากที่มา 4 คน หม้อเดียว เราต้องเสียค่าน้ำซุป 4 เท่า แล้วลูกค้ามาไม่ได้เยอะ แต่บางทีเราต้องเปิด ปิดแอร์ เพื่อถ่ายเทอากาศให้ลูกค้า เครื่องวัดอุณหภูมิถ้าใช้คุณภาพดีก็หลายพัน ถึงจะค่าใช้จ่ายสูง แต่มันเป็นเรื่องที่ต้องทำ”

...

ชาบู New Normal เจ้าของต้องทำ Content เป็น ถึงเวลารัฐช่วย SME

หลังหมดโควิด-19 คนที่คิดอยากทำธุรกิจต่อจากนี้ นายราชินทร์แนะนำจากประสบการณ์ตัวเองที่เป็นมือใหม่ทางธุรกิจชาบูว่าควรคิดให้มาก ต้องตอบโจทย์ยากให้ได้ว่าจะขายให้ใคร ทำไมต้องมาซื้อแล้ว ต้องมีลูกค้าขั้นต่ำกี่คนถึงจะคุ้มทุน สิ่งสำคัญเจ้าของร้านต้องมีทักษะดังนี้ หนึ่ง การตลาด สองต้องถ่ายรูปเป็น สามคิดคอนเทนต์เป็น

ในฐานะเจ้าของ SME ขนาดเล็ก หลังได้รับผลกระทบวิกฤติโควิด-19 นอกจากรัฐช่วยเหลือคนตกงาน พนักงานแล้ว ควรช่วยเหลือร้านค้า ร้านอาหาร ร้านที่ยังสู้เพื่อพนักงานเพื่อไม่ให้คนเหล่านี้ไปเบิกเงินจากรัฐฯ ไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือวิธีอื่นๆ

“การบ้านที่ต้องทำคือต้องเพิ่มยอดขาย แต่เราลดรายจ่ายส่วนพนักงานไม่ได้ อันนี้อยากให้ภาครัฐมาช่วยที ในฐานะเป็นคนหนึ่งที่เคยเสียภาษีมาตลอด ช่วยหน่อยเถอะครับ ถามว่าสองเดือนขาดทุน มันถึงเวลาถอยไหม มันเร็วเกินไปที่เราจะท้อ เป้าหมายหลักที่ผมมาทำร้านทุกวันก็เพื่อลูก เรื่องแค่นี้มันไม่ทำให้ท้อ ไม่ท้อ ทุกครั้งที่ท้อ กลับบ้าน มีแรง ไม่ท้อครับ สู้อยู่แล้ว แต่ขอกำลังใจให้สู้ต่อ ว่าเราไม่ได้มีแค่ลูกคนเดียว เรามีลูกน้องด้วย ทุกวันนี้ก็เหมือนลูก ดูแลเหมือนพี่น้องกัน" นายราชินทร์กล่าวทิ้งท้าย

ชีวิตของนักธุรกิจหลายๆ คนกว่าจะประสบความสำเร็จได้นั้นทุกคนต้องเคยลองผิดลองถูกมาแล้วทั้งสิ้น รวมถึง นายราชินทร์ วัฒนวิจิตรสกุล หรือ เอก เจ้าของ ร้าน "ชิน ชาบู" ธุรกิจเล็กๆ ที่ไม่คิดทอดทิ้งลูกน้อง 

ทุกชีวิต มีมุมให้ค้นหาและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพราะนี่คือ LIFE STORY

ข่าวน่าสนใจ