ความน่ากลัวของคลื่น ‘โควิด-19’ ลูกที่ 2 กำลังจะถาโถมชาวโลกอีกครั้ง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มทรงตัว และหลายๆ ประเทศเตรียมตัวเข้าสู่การใช้ชีวิตแบบ "ปกติใหม่" (New Normal)

ซึ่งการมาของการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 นี้ ค่อยๆ เกิดขึ้นในบางประเทศแล้ว แม้ไม่ได้มาตู้มเดียวเหมือนระลอกแรก แต่ก็สร้างความกังวลและความวิตกให้กับรัฐบาลของแต่ละประเทศ เพราะตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา มักจะพบการแพร่ระบาดในรูปแบบที่ "ไร้ต้นตอ" รู้กันอีกทีก็พบผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว แต่หากถามว่า "ติดจากใคร?" กลับไม่มีคำตอบ ...

ล่าสุด การแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ ระลอกที่ 2 เกิดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ สร้างความหวาดระแวงทั้งชาวเกาหลีเอง ยันชาวต่างชาติที่ได้รับรู้ข่าวดังกล่าวนี้ เพราะตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย จากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันอยู่ที่หลักร้อย ก็ลดลงเหลือเพียงหลักสิบ เตรียมกลับมาใช้ชีวิตแบบ "ปกติใหม่" (New Normal)

แต่เพียงแค่การเริ่มต้นกลับมาใช้ชีวิตปกติใหม่ กลับต้องย้อนสู่ "วังวนแห่งความกลัว" อีกครั้ง!!

...

การแพร่ระบาดโควิด-19 (COVID-19) ในประเทศเกาหลีใต้ระลอกที่ 2 นี้ คล้ายๆ กับเหตุการณ์ในระลอกแรกของหญิงวัย 60 ปี ที่เข้าร่วมพิธีทางศาสนา คือ พบบุคคลติดเชื้อ 1 ราย และขยายเป็นวงกว้างในเวลาต่อมา

แต่การแพร่ระบาดระลอกที่ 2 กลับพบว่า "ซับซ้อนและเสี่ยง" มากกว่าระลอกแรกที่ผ่านมา

ที่เรียกกันว่า ‘คลัสเตอร์อิแทวอน’

‘คลัสเตอร์อิแทวอน’ กำลังกลายเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเกาหลีใต้อย่างไร?

‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ ขอพาคุณผู้อ่านไปลำดับเหตุการณ์พร้อมๆ กัน

ก่อนอื่นนั้น คงต้องย้อนกลับไปวันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2563 ชายวัย 29 ปี ปรากฏผลตรวจยืนยันเป็น "บวก"

ซึ่งนั่นหมายความว่า "เขาติดเชื้อโควิด-19"

เมื่อทำการสอบสวนโรคก็พบว่า ตั้งแต่ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม และล่วงเลยไปจนถึงวันถัดไป ชายวัย 29 ปี ได้เดินทางไปสังสรรค์ที่คลับภายในย่านอิแทวอนถึง 3 แห่ง!!

"ย่านอิแทวอน" ที่ว่านี้ ถือเป็นแหล่งสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่มีคนพลุกพล่าน และยังเป็นศูนย์รวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย

นี่คือ จุดเริ่มต้นการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน (Cluster) ที่เรียกว่า ‘คลัสเตอร์อิแทวอน’

หลังจากนั้น 3 วันถัดมา ในวันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม รัฐบาลเกาหลีใต้ออกคำสั่ง "ปิด" คลับและบาร์มากกว่า 2,000 แห่ง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ให้แผ่ขยายเป็นวงกว้าง และอาจหนักหนาสาหัสกว่าระลอกแรกที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยความที่ ‘คลัสเตอร์อิแทวอน’ เกิดมาจากย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืน หลายคนปกปิดชื่อจริงและเบอร์โทรศัพท์ จึงทำให้การทราบตัวตนของบุคคลที่เข้ามาท่องเที่ยวในย่านนี้เป็นไปได้ยากและมีความซับซ้อน

ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้จึงได้เคลื่อนกำลังพลกว่า 8,500 นายทั่วประเทศ ออกปฏิบัติการเชิงรุกแข่งกับเวลาและการส่งต่อเชื้อของโควิด-19 ที่รวดเร็ว ด้วยการลงพื้นที่ไล่ติดตามยืนยันตัวตนบุคคลที่เคยไปย่านอิแทวอน

...

โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ‘ปาร์ค วอน ซุน’ นายกเทศมนตรีกรุงโซล ได้ออกมาเตือนด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่งว่า "หากกรุงโซลสูญเสีย ประเทศก็สูญเสียด้วย”

หลังพบว่า ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อสะสมที่มีความเชื่อมโยงกับ ‘คลัสเตอร์อิแทวอน’ นั้นเกิน 100 รายแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และยังแซงหน้า ‘คลัสเตอร์คอลเซ็นเตอร์’ (Call Center) ที่มีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 97 รายในช่วงเดือนมีนาคมอีกด้วย

นับว่า ‘คลัสเตอร์อิแทวอน’ กลายเป็นการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ณ เวลานี้

ขณะที่ ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันสะสม ณ วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2563 ก็อยู่อันดับที่ 43 รวม 11,018 ราย และเสียชีวิตสะสม 260 ศพ

นอกจากมาตรการเชิงรุกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ทำอะไรอีกบ้างในการปราบปรามและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19?

หาคำตอบผ่าน "รายงานของนายกเทศมนตรีกรุงโซล" ไปพร้อมๆ กัน

เบื้องต้น ตัวเลขบุคคลที่เคยเดินทางไปย่านอิแทวอนในช่วงเวลาเดียวกับชายวัย 29 ปี ที่ทางนายกเทศมนตรีกรุงโซลสืบทราบ มีประมาณ 11,000 ราย ซึ่งต้องมีการไล่ติดตามเพื่อดำเนินการยืนยันตัวตนให้ได้โดยเร็ว

...

ซึ่งวิธีการที่นายกเทศมนตรีกรุงโซลหยิบยกมาใช้ เช่น การติดตามผ่านข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ จากนั้นส่งข้อความ หรือ เอสเอ็มเอส (SMS) แจ้งข้อมูลเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นเข้ามารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างเร่งด่วน และยังติดตามผ่านข้อมูลการทำธุรกรรมบัตรเครดิต ซึ่งทำให้พบบุคคลที่เคยไปย่านดังกล่าวในช่วงเวลานั้นเพิ่มอีก 500 รายชื่อ

และจากรายงานของหน่วยงานด้านสาธารณสุขของกรุงโซล พบว่า ณ วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา กว่า 7,000 รายที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ ‘คลัสเตอร์อิแทวอน’ ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว

แต่ก็ยังเหลืออีกประมาณ 2,000 รายที่ยังไม่ได้รับการยืนยันตัวตน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระจายกำลังไล่ติดตามแล้ว และสำหรับบุคคลใดที่มีการยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปจะต้องเข้ารับการสอบถามโดยเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ และได้รับข้อความยืนยันอีกครั้ง

เรียกได้ว่า การติดตามเส้นทางการติดต่ออย่างเข้มงวดและการตรวจสอบหาเชื้อโควิด-19 อย่างแข็งขัน เป็น "กุญแจแห่งความสำเร็จ" ในการรับมือการแพร่ระบาดของประเทศเกาหลีใต้

...

โดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขก็ได้ทำโครงร่างวิธีการที่ประเทศเกาหลีใต้ใช้ในการปราบและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ลงใน Detailed Playbook ด้วย ซึ่งประชาชนเองก็มีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือด้วยการบันทึกข้อมูลแหล่งที่ตั้งหรือหมุดหมายการเดินทางด้วยการใช้ฟังก์ชัน "Timeline" (ไทม์ไลน์) บน Google Map แอปพลิเคชันของกูเกิล ซึ่งพวกเขาสามารถแบ่งปันหรือแชร์ข้อมูลเพื่อใช้ในการแกะรอยการติดต่อ หากเจ้าหน้าที่รัฐมีความจำเป็นต้องนำไปใช้สอบสวนโรค

สำหรับแพลตฟอร์มการแกะรอยการติดต่อ หรือที่เรียกว่า Contact Tracer ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีการรวบรวมข้อมูลจาก 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการด้านโทรคมนาคม และอีก 22 บริษัทบัตรเครดิต ซึ่งช่วยให้ภาครัฐสามารถแกะรอยเคสผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้ภายในเวลาเพียงแค่ 10 นาทีเท่านั้น

กลับมาที่ ‘คลัสเตอร์อิแทวอน’ อีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังประเทศเกาหลีใต้ประกาศแนวทางเกี่ยวกับ "ความปกติใหม่" (New Normal) ที่เรียกว่า "Everyday Quarantine" ที่ออกแบบมาเพื่อให้ประเทศเดินหน้ากิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ในการฟื้นฟูช่วงระหว่างที่ประเทศมีความเสี่ยงโควิด-19 น้อย

แต่ยังไม่ทันได้หยิบมาใช้ ‘คลัสเตอร์อิแทวอน’ ก็ปรากฏออกมาซะก่อน แถมยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซับซ้อน และเสี่ยงมาก กลายเป็นความท้าทายใหม่ในการกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งก่อนที่จะมีการพัฒนา "วัคซีนไวรัสโคโรนา"

และนี่ยังเป็นลางสังหรณ์ที่สร้างความวิตกกังวลอย่างรุนแรงให้กับประชาชน ว่า รัฐบาลอาจมีการดำเนินการ "ยกเลิกและเพิกถอน" นโยบายดังกล่าว เพื่อที่จะคงอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าจุดเริ่มต้นของช่วงอันตรายที่ผ่านมา

เพราะจากแหล่งต้นตอของ ‘คลัสเตอร์อิแทวอน’ ที่เป็นสถานบันเทิง มีความเป็นไปได้ว่า ฝูงชนจำนวนมากที่อยู่ภายในสภาพแวดล้อมของคลับและบาร์มีความเสี่ยงสูงมากที่จะแพร่เชื้อสู่ชุมชน โดยจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า SAR-CoV-2 สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายเป็นพิเศษในสถานที่ที่มีการชุมนุมและรวมตัวกัน ดังเช่น คลัสเตอร์คอลเซ็นเตอร์

ปฏิบัติการเชิงรุกอย่างแข็งขันในการแกะรอยบุคคลมากกว่า 1,000 รายที่มีความเชื่อมโยงกับ ‘คลัสเตอร์อิแทวอน’ โดยปราศจากการ "ปิดเมือง" หรือ "ล็อกดาวน์" (Lockdown) อย่างเข้มข้น ของประเทศเกาหลีใต้นั้นตรงกันข้ามกับวิธีการของประเทศจีนอย่างสิ้นเชิง และยังแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มีการจัดการเก็บตัวเลขด้วยการจำกัดวงของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพื่อฟื้นฟูและกลับสู่สภาพปกติในเร็ววัน

เช่น เมืองซูหลาน ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลจีลิน หลังมีรายงานการแพร่ระบาดภายในประเทศ 11 รายเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางหน่วยงานท้องถิ่นก็ออกมาตรการปิดเมืองบางส่วนทันที คล้ายกับกลยุทธ์ของเมืองทางตอนเหนือของฮาร์บินที่มีการปิดเมืองเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หลายราย และที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของประเทศจีน ก็มีการวางแผนป้องกันการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ด้วยการดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในชาวเมือง 11 ล้านคน หลังพบการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน หรือ คลัสเตอร์ (Cluster) ที่ได้รับเชื้อมาจากแหล่งชุมชนที่พักอาศัย เมื่อช่วงวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม และวันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ไปดูกันที่อีกซีกโลกอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ กันบ้าง

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันสะสมที่มีจำนวน 1.4 ล้านรายแล้ว ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ และเป็นสิ่งที่เราเองก็ต้องรู้เอาไว้

… เพราะโควิด-19 (COVID-19) ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) สร้างผู้ชนะและผู้แพ้อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ผู้เล่นจะปรับตัวได้ทัน

     1. ร้านค้าที่ปิดกิจการชั่วคราว อาจต้องถึงคราวปิดกิจการถาวร

หมายความอย่างไร?

บริษัทด้านการลงทุนในสหรัฐฯ มองว่า ไม่ว่าพวกเขาจะยังคงปิดร้านอยู่ หรือกลับมาเปิดอีกครั้งทันทีหลังผ่อนคลาย แต่สุดท้ายแล้วในปี 2568 ร้านค้าในสหรัฐฯ มากกว่า 100,000 แห่งจะต้องปิดตัวลงอย่างแน่นอน

     2. ห้างสรรพสินค้าอาจต้องจากลาเร็วกว่าเดิม

หมายความอย่างไร?

การแพร่ระบาดโควิด-19 จะทำให้ห้างสรรพสินค้าสูญเสียรายได้ค่าเช่ามากกว่า 90% ของจำนวนผู้เช่าร้านค้าทั้งหมด และศูนย์กลางการช็อปปิ้งบางแห่งที่เร่งกลับมาเปิดใหม่ภายใต้แนวทางปฏิบัติการทางสาธารณสุขที่ไม่แน่นอนนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะต้องหายไป

     3. ฝันร้ายของเหล่าแฟชั่นดีไซเนอร์อิสระ

หมายความอย่างไร?

นับจากนี้ แบรนด์เล็กๆ อาจมีการปฏิบัติงานภายใต้ข้อจำกัดทางด้านงบประมาณที่อาจต้องมีการรัดกุมมากขึ้น ซึ่งส่วนมากมักจะใช้กำไร 1 ไตรมาส เป็นงบประมาณในการลงทุนครั้งต่อไป และสำหรับแบรนด์ทั้งหลายก็ขอบอกว่า การต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอดกำลังจะมาถึงแล้ว

     สุดท้าย 4. บางครั้งการส่งเสริมการขายอาจไม่เพียงพอ

หมายความอย่างไร?

‘จูเมีย’ บริษัทแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ในแอฟริกา รายงานว่า กว่า 7% ของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ มีรายได้อยู่ในภาวะตกต่ำ แม้ว่าจะมียอดคำสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านค้าเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าก็ตาม

ข่าวอื่นๆ :