ทุกครั้งที่เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ หลายคนมักจะนึกถึงเหตุการณ์นี้ ที่ถือเป็นฝันร้ายที่ไม่มีวันลืมเลือน ไฟไหม้โรงงานที่เป็นบาดแผลในใจคนนับพันชีวิตที่รอดตาย อีกกว่า 500 ชีวิตที่บาดเจ็บ หนีตาย และอีกกว่า 200 ครอบครัวต้องสูญเสียคนที่รัก

มันคือเหตุการณ์ ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตา “เคเดอร์”

จุดเริ่มต้นของเพลิงนรก ก่อตัวขึ้น เมื่อช่วงเย็น วันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ซึ่งเวลานั้น แรงงานนับพันคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง อาคารโรงงาน บริษัทเคเดอร์ อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ หมู่ 6 ต.กระทุ่มล้ม อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยมีอาคารโรงงาน 4 ชั้น 2 อาคาร คือ อาคาร 1 และอาคาร 2 นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 อาคารเป็นของบริษัทในเครือ ที่เรียงรายติดต่อกัน โดยเป็นการลงทุนร่วมระหว่างนักธุรกิจไทย ไต้หวัน เพื่อผลิตตุ๊กตาส่งออก

เมื่อเปลวเพลิงเริ่มติด ไม่นานนักเสียงผู้คนเริ่มตะโกน “ไฟไหม้ ไฟไหม้” พนักงานบางคนก็ลังเลว่าจะหนีดีไหม เพราะก่อนหน้านั้นก็เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้

แต่..ไฟนั้น ลุกลามอย่างรวดเร็ว ด้วยวัสดุอุปกรณ์ซึ่งเป็นโรงงานตุ๊กตา จึงทำให้ยากต่อการจะควบคุม

ความผิดปกติได้เกิดขึ้น คือ ทางออกเพียงทางเดียวกลับถูกล็อก โดยใครบางคน และทุกอย่างก็สายเกินไป

ในเรื่องนี้ นายอัญวุฒิ โพธิ์อำไพ หรือ ยอด เจ้าของนามเรียกขาน “นคร 45” มูลนิธิร่วมกตัญญู ได้เล่าเบื้องหลัง ว่า วันนั้นหลังรับแจ้งจึงมุ่งตรงไปยังโรงงานเคเดอร์ทันที

...

“ภาพแรกที่เห็น คือ ช็อก เห็นคนพยายามกระโดดลงมาจากอาคารที่กำลังไฟไหม้ เราเข้าไปห้ามบอก “อย่าโดดๆ” แต่เขาก็ไม่ฟัง ก็ยังมีทยอยโดดลงมา ส่วนที่พื้น ก็มีคนนอนนับสิบคน ซึ่งมาทราบทีหลังคือ เขาเสียชีวิตทั้งหมด”

นอกจากนี้ นายอัญวุฒิ ยังได้เล่าเบื้องหลังการทำงานอย่างยากลำบาก และที่น่าสลดใจที่สุด คือ จุดที่พบศพ ซึ่งอยู่ในส่วนของบันไดหนีไฟ แต่เป็นบันไดอยู่ในตัวอาคาร ซึ่งตรงนั้นพบศพมากกว่า 100 ศพ 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต 188 ศพ เป็นหญิง 173 คน ชาย 15 คน และมีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 485 คน

ต่อมา พล.ต.ท.เฉลิม โรจนประดิษฐ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ ได้เดินทางไปตรวจที่เกิดเหตุและตั้งข้อสังเกตว่า อาคารดังกล่าวมีการติดเหล็กดัด ทั้งที่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว และไม่มีการติดตั้งสัญญาณเตือนภัย

ขณะที่ พล.ต.ต.สุริยะ โมรานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 ยังระบุว่า จากการตรวจสอบที่อาคาร 4 ที่ยังไม่ถล่ม พบว่า ทางขึ้นลงตัวอาคารมีความกว้างประมาณ 1.30 ม. ชั้นที่ 2 มีสะพานเชื่อมติดต่อกับอาคารอื่นๆ ซึ่งใช้สำหรับวางของห้ามพนักงานเดินผ่าน ซึ่งในแต่ละชั้นมีประตูกระจกขนาด 1.75 ม. ปิดกั้น ใส่กุญแจล็อกตลอด และบันไดหนีไฟก็ไม่มี!

พล.ต.ต.วิวัฒน์ ปิยาภิมุข รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 กล่าวว่า “เหล็ก” ที่นำมาเป็นโครงสร้างนำมาจากประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งทนความร้อนได้น้อยกว่าเหล็กที่ใช้ในบ้านเรา จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาคารยุบตัวอย่างรวดเร็ว

ในเวลาต่อมา ตำรวจได้จับกุมช่างตัดเย็บ คนหนึ่งที่ทำงานใน อาคาร 1 โดยแจ้งข้อหากระทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ชีวิต ซึ่งผู้ต้องหายอมรับว่าสูบบุหรี่จริง แต่อ้างว่าต้นเพลิงไม่ได้อยู่ในห้องเก็บของ แต่เกิดจากแผงวงจรควบคุมไฟฟ้าที่อยู่ใกล้กับห้องเก็บของ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายศาลได้ตัดสินจำคุก 8 ปี 6 เดือน แต่เขาเสียชีวิตในระหว่างสู้คดี

...

อย่างไรก็ตาม คดีนี้กลายเป็นที่มาของกฎหมายช่วยเหลือแรงงานฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และกำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุ เป็น “วันปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ”

ชม 3 นาทีคดีดังเรื่องที่น่าสนใจ